Skip to main content
sharethis

รังสิตโพลเผยสำรวจ 8,000 คน ใน 350 เขตเลือกตั้ง ระบุคนไทยตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 83% พลังประชารัฐ จะได้ 8.310 ล้านเสียง, ประชาธิปัตย์ 7.045 ล้าน และเพื่อไทย 6.532 ล้าน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 'สังศิต พิริยะรังสรรค์' คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เคยประกาศยุติการทำโพล เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นกลาง เพราะผลโพลชี้ 'ประยุทธ์' จะได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ด้าน'ซูเปอร์โพล' ระบุประชาชนกว่า 72% ห่วงความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง

สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมาว่า รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตได้เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 จำนวน 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้ง ทั้งในและนอกเขตเทศบาล ตามโครงสร้างประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 11,182 คน มากกว่าผู้สมัครในปี 2554 ที่มีเพียง 2,422 คน นั่นคือผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นร้อยละ 360 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งสัดส่วนที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายต่อจำนวน ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงเกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมากที่ส่ง ส.ส. เพื่อหวังได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. มีจำนวนมากมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวของคนไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย

จากตัวเลขของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มี 51.44 ล้านคนในการสำรวจครั้งนี้พบว่าคนไทยมีความตื่นตัวที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 83 ผู้ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ได้ใช้สิทธิค่อนข้างต่ำคือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจในการเลือกตั้งอยู่ในร้อยละ 13

ผลการสำรวจโดยใช้การประมาณการว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิ ร้อยละ 75 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด (ราว 38.6 ล้านคน) โดยเลือก 12 พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับ ดังนี้ คือ 1.พลังประชารัฐ 8.310 ล้านเสียง (21.5%) 2.ประชาธิปัตย์ 7.045 ล้านเสียง (18.3%) 3. เพื่อไทย 6.532 ล้านเสียง (16.9%) 4. ภูมิใจไทย 3.153 ล้านเสียง (8.2%) 5. อนาคตใหม่ 2.874 ล้านเสียง (7.4%) 6. รวมพลังประชาชาติไทย 2.216 ล้านเสียง( 5.7%) 7. เสรีรวมไทย 2.150 ล้านเสียง (5.6%) 8. ชาติไทยพัฒนา 1.626 ล้านเสียง (4.2%) 9. เพื่อชาติ 1.317 ล้านเสียง (3.4%) 10. ชาติพัฒนา 1.215 ล้านเสียง (2.19%) 11. ประชาชาติ 0.989ล้านเสียง (2.6%) 12. ไทยรักษาชาติ 0.887 ล้านเสียง (2.3%)

จากข้อมูลข้างต้นนี้ ผู้สำรวจใคร่ตั้งข้อสังเกตว่า

1. คะแนนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงแนวโน้มไม่ใช่คะแนนเสียงจริง คะแนนจริงจะทราบได้ในราวสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

2. คะแนนความนิยมรวมอาจจะแตกต่างจากจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดที่ได้รับเลือกตั้งได้ นั่นคือพรรคที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดอาจไม่ได้ ส.ส. เขตมากที่สุด

3.พรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ไม่ครบ 350 เขต จะเสียเปรียบพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ครบทุกเขตในแง่ของการนับคะแนนและจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เว้นแต่พรรคการเมืองนั้นจะสามารถชนะ ส.ส. เขตเลือกตั้งได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยที่ส่ง ส.ส. เพียง 350 เขต เพราะต้องการแบ่งพื้นที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคให้แก่พรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนเสียงรวมของเพื่อไทยมาเป็นอันดับ
ที่ 3

4. ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคที่ได้คะแนนรวมสูงคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย อาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อย หรือไม่ได้เลย แต่พรรคที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า คือ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ รวมพลังประชาติไทยและพรรคที่เหลือทั้งหมดจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะอาจมี ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต

5. เนื่องจากการสำรวจทำกับ 12 พรรคการเมืองที่น่าจะได้คะแนนนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น อย่างไรก็ดีน่าจะมีพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่น่าจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อต่ำกว่า10 คน ลงมาอีกหลายพรรค 

6. ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคค่อนข้างแน่นอน ถ้าพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่เข้าร่วมน่าจะเป็นภูมิใจไทย รวมพลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา หากมีการเลือกตั้งวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีเสียงรวมกันมากกว่า 300 เสียง แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่จะเข้าร่วมได้แก่ อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติและอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาอาจกลายเป็นตัวแปรทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งที่จะเสริมความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ หากมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมาและเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า 200 เสียง และหากมี 3 พรรคหลังเข้าร่วมจะมีเสียงรวมกัน 270 เสียง แต่ถ้า 3 พรรคหลังไม่เข้าร่วมกัน พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะจะมีเสียงประมาณ 200 เสียงเท่านั้น ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพพอ

เคยประกาศยุติทำโพล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า รศ.ดร.สังศิต ได้ส่งข้อความชี้แจงว่าเนื่องจากผลการสำรวจรังสิตโพลที่ออกเผยแพร่ในช่วงวันนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลจำนวนหนึ่งว่าไม่เป็นกลางเพราะไม่น่าเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง

"เพื่อรักษาชื่อเสียงและความเป็นกลางทางการเมืองของมหาวิทยาลัยรังสิต ผมในฐานะผู้อำนวยการโครงการจัดทำโพลจึงขอประกาศยุติการทำรังสิตโพลล์นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากในอนาคตผมจะทำการสำรวจโพลจะถือว่ามิได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยรังสิตแต่ประการใดทั้งสิ้น จึงเรียนมาเพื่อทราบครับ"นายสังศิต ระบุ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 รศ.ดร.สังศิตในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของประชาชนต่อบุคคลและพรรคการเมืองที่จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 24 ก.พ.2562 (กำหนดการเลือกตั้งเดิม) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต  เปิดเผยผลสำรวจครั้งที่ 5  ระบุว่า คะแนนนิยมที่ประชาชนต้องการบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนิยมอันดับ1 คือ 26.04 % ตามมาด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 25.28 % และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 22.68 % 

ส่วนคะแนนนิยมของประชาชนตามภาคต่างๆที่มีต่อพรรคการเมืองถ้ามีการเลือกตั้งในวันนี้ ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองใดพบว่า 1.พรรคพลังประชารัฐ 26.03% 2.พรรคเพื่อไทย 25.38% 3.พรรคประชาธิปัตย์ 22.62% ผลโพลดังกล่าวยังระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 1 แล้วพบว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาวะมีเสถียรภาพพอสมควร เพราะสามารถสร้างคะแนนนิยมจากที่เคยได้น้อยกว่าคุณหญิงสุดารัตน์ ขึ้นมานำได้สำเร็จ และแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถผูกขาดชัยชนะแบบเด็ดขาดเหมือนในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากพรรคถูกพรรคพลังประชารัฐเข้ามาแบ่งคะแนนไปค่อนข้างมากในแง่ของตัวผู้นำพรรค 

'ซูเปอร์โพล' ระบุประชาชนกว่า 72% ห่วงความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง

17 ก.พ. 2562 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความกังวลของประชาชนช่วงเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,054 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 10-16 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่าเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.2 ติดตามข่าวสารบ่อยๆ ร้อยละ 36.6 ติดตามไม่บ่อย และร้อยละ 7.2 ไม่ได้ติดตาม

ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 กังวลต่อความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 27.5 ไม่กังวล อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 72.4 ไปอย่างแน่นอน ในขณะที่ ร้อยละ 27.6 ไม่แน่ ไม่ไป

ดร.นพดล กล่าวว่าที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบบที่ต้องการ (สเปค) ของประชาชน พบว่าเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.6 ระบุเป็นผู้ชาย อายุ 50 ปีต้น ๆ และเป็นอดีตผู้บริหารธุรกิจระดับสูง อดีตผู้บริหารประเทศระดับสูง แก้ปัญหาผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมทประชาสัมพันธ์ตัวเอง ฯลฯ รองลงมาคือ ร้อยละ 22.8 ระบุ เป็นผู้ชาย อายุประมาณ 40 ปี เคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และร้อยละ 13.9 ระบุ เป็นผู้ชาย อายุกว่า 60 ปี เคยเป็นทหารระดับสูง และผู้บริหารประเทศระดับสูงแก้ปัญหาหลายอย่าง

ดร.นพดล กล่าวอีกว่านอกจากนี้ ร้อยละ 10.4 ระบุ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ต้องการ เป็นผู้ชาย อายุ 50 ปีกว่า เป็นนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศ แก้ปัญหามากมาย ร้อยละ 7.4 ระบุ เป็นผู้ชาย อายุ 50 ปีต้น ๆ เคยเป็นนักวิชาการ อดีตผู้บริหารประเทศระดับสูง เด่นด้านคมนาคม ฯลฯ ร้อยละ 6.1 ระบุ เป็นผู้หญิง อายุเกือบ 60 ปี เป็นนักการเมือง และเคยบริหารประเทศระดับสูง เด่นด้านสุขภาพ ฯลฯ ในขณะที่ ร้อยละ 5.4 ระบุ เป็นผู้ชาย อายุประมาณ 70 ปี อดีตตำรวจระดับสูง ผลงานมากมาย และร้อยละ 8.4 ระบุอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net