10 พรรคกับนโยบายศิลปวัฒนธรรม ยกเลิกกม.จำกัดเสรีภาพ ส่งเสริมคุณค่าทางเศรษฐกิจ

'ผึ้งหลวง' หนุนท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมสู่ตลาดโลก 'อนาคตใหม่' ชูยกเลิก กม.จำกัดเสรีภาพ สร้างพื้นที่ศิลปะร่วม ให้ทุนศิลปิน 'สามัญชน' อุดหนุนศิลปิน-กระจายวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย 'พลังท้องถิ่นไทย' สร้างคุณค่าแต่ละจังหวัดด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น 'ชาติพัฒนา' ชี้ปัญหาศิลปวัฒนธรรมไทยคือ “เห็นหลุยส์วิกตองดีกว่าย่านลิเภา” 'ชาติไทยพัฒนา' ยืนพื้นบนความเป็นไทย 'รวมพลังประชาชาติไทย' ปฏิรูปงบฯ ส่งเสริมท่องเที่ยว-สินค้า 'พรรคกลาง' ลดผูกขาดตีความ เก็บ VAT เพิ่มที่จังหวัด 'มหาชน' ไม่จำกัด ไม่แบน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและร่วมสมัย 'ประชาธิปัตย์' ศิลปวัฒนธรรมควรอยู่สืบไปอีกนาน


จากซ้ายไปขวา ปวิตร มหาสารินันทน์, องอาจ คล้ามไพบูลย์, พาลินี งามพริ้ง, สุขทวี สุวรรณชัยรบ, ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ, นิกร จำนง, วิทิตนันท์ โรจนพานิช, ชื่นชอบ คงอุดม, ลักษณารีย์ ดวงตาดำ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ก้องภพ วังสุนทร

 

19 ก.พ. 2562 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม “เวทีสาธารณะ พรรคการเมืองกับนโยบายศิลปวัฒนธรรม” ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีให้พรรคการเมืองได้นำเสนอแนวคิดและนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมสู่สาธารณะ สำหรับพรรคการเมืองที่ตอบรับคำเชิญและมาร่วมแลกเปลี่ยนมี 10 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคผึ้งหลวง พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคกลาง พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปัตย์

 

ผึ้งหลวง: แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมสู่ตลาดโลก

ก้องภพ วังสุนทร พรรคผึ้งหลวงชี้ว่า นโยบายพรรคเรื่องศิลปวัฒนธรรมของพรรคคือพยายามเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมเข้ากับเศรษฐกิจ หนึ่งในโครงการที่จะทำคือจะมีกองทุนธนาคารภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมประจำตำบล แต่ละพื้นที่จะมีคนที่มีความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมาให้ความรู้และให้จดรวบรวมไว้เป็นตำรา ถ่ายทอดฟื้นฟูให้แก่คนรุ่นหลัง โดยให้ทุกหมู่บ้านทำแบบนี้ ในอนาคตก็จะชูศิลปวัฒนธรรมไทยสู่ตลาดโลก ต่อยอดเป็นการท่องเที่ยว ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้ก้าวสู่สากล ทุกหมู่บ้านชุมชนจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘หนึ่งตำบล หนึ่งโรงเรียน สี่ภาษา เจ็ดความฉลาด’ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะคือสี่ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน และภาษาท้องถิ่นนั้นๆ

 

อนาคตใหม่: ยกเลิกกฎหมายจำกัดเสรีภาพ สร้างพื้นที่ศิลปะร่วม ให้ทุนศิลปินและสนับสนุนงานที่เกี่ยวกับศิลปะ

ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า วัฒนธรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหลตลอดเวลา เป็นพลวัต แต่วัฒนธรรมไทยสร้างขึ้น ถูกกดทับ กำหนดให้ความเป็นไทยมีแบบเดียวกันหมด ยกตัวอย่างเช่น หลังรัฐประหารมีการออกแบบค่านิยมสิบสองประการ คือการเป็นคนดีแบบไทย จึงขัดแย้งกันเองกับลักษณะวัฒนธรรมที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปได้

ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพการแสดงออกก็จะไม่สามารถสร้างศิลปวัฒนธรรมได้ รัฐไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่เป็นอุปสรรค ที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมน้อยเกินไป รวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่สนับสนุน

จากปัญหาทั้งหมดนี้ พรรคเห็นและออกแบบนโยบายโดยตั้งอยู่บน 3 กรอบ คือ การเมือง ความคิดสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจ ทั้ง 3 กรอบนี้จะไปสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในฐานะเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่แสดงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลาย โดยมีนโยบาย 3 ประการคือ

1. จะยกเลิกหรือแก้ไขบรรดากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพแสดงออก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายหมิ่นประมาท พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์

2. พื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันปิดเร็วมาก ก็จะขยายเวลาเปิด รวมทั้งพิพิธภัณฑ์แบบเดิมถูกยึดกุมโดยชาตินิยม อำนาจนิยม ไม่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงจะสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แบบท้องถิ่น ให้เทศบาลทำเอง เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองอุดร ฉายประวัติศาสตร์ของอุดรธานี หรือพิพิธภัณฑ์ที่วัดม่วง ราชบุรี ซึ่งเล่าเกี่ยวกับชนชาติมอญ

3. สร้าง community art space หรือพื้นที่ใช้สอยร่วมด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น โรงหนัง โรงละคร เวทีแสดงดนตรี เพื่อเป็นการกระจายอำนาจวัฒนธรรมไทยออกไปไว้ที่ท้องถิ่น ทั้งนี้ปัจจุบันเศรษฐกิจด้านวัฒนธรรมมีการผูกขาด ต้องลดการผูกขาด ไม่ใช่มีแต่รายใหญ่ ทั้งโรงหนังหรือสายส่งหนังสือ

4. สนับสนุนศิลปินด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น ตั๋วหนัง ซีดีเพลง และนำรายได้จากภาษีเหล่านี้ไปใช้กับกิจกรรมวัฒนธรรมโดยตรง มีกองทุนสนับสนุนศิลปิน ให้ทุนสร้างผลงาน ก่อตั้งสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมศิลปินทุกด้าน สนับสนุนศิลปินข้างในและส่งออกต่างประเทศ เชื่อว่าวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้โดยที่งานศิลปะต้องไม่เป็นแบบเดียว ต้องเสมอภาค เท่าเทียม เท่าทันโลก

“พรรคเชื่อมั่นว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ถ้าจะให้เป็นสังคมที่มีความหลากหลายจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้” ปิยบุตรกล่าว

 

สามัญชน: รัฐต้องอุดหนุนศิลปิน และกระจายวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ พรรคสามัญชน กล่าวว่า เสรีภาพและความเท่าเทียมสำคัญมากในการจัดการศิลปวัฒนธรรม วัฒนธรรมบ้านเราทำให้ศิลปะไม่โต เรามีเพดานต่ำมาก ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไปได้ไม่ไกล มีกฎหมาย มีเซ็นเซอร์ ดังนั้นต้องมีเสรีภาพให้คนทำงาน เสพงาน

การรวมศูนย์อำนาจทางวัฒนธรรม ทำให้การศึกษาสอนแต่วัฒนธรรมจากศูนย์กลาง แต่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย รัฐทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นของสูงส่งแตะต้องไม่ได้ ถ่ายทอดไปยังโครงสร้างต่างๆ ระบบการศึกษา ไม่ได้คืนอำนาจการจัดการให้ท้องถิ่น ทำให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใส่ใจเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมทางศิลปวัฒนธรรม

จึงต้องการให้รัฐบาล subsidize ศิลปิน ผู้จัดงาน ให้เขาสื่อสารแนวคิดต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ การมีหอศิลป์แต่ละจังหวัดก็เป็นเรื่องน่าสนับสนุน นอกจากนั้นถ้าศิลปะไปอยู่ในที่สาธารณะ สื่อสารกับคนทั่วไปได้ และไม่ถูกจับผิดจากอำนาจส่วนบน ศิลปินก็จะกล้า มั่นใจ คนก็เข้าถึงผลงานได้มากขึ้น มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน

ศิลปะควรรับใช้ประชาชนและความเชื่อด้วย แต่ถ้าความเชื่อไม่ถูกเอามาเปิดเผย แลกเปลี่ยน ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะก้าวต่อไปของวงการศิลปะ

 

พลังท้องถิ่นไทย: สร้างคุณค่าของแต่ละจังหวัดด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น

ชื่นชอบ คงอุดม พรรคพลังท้องถิ่นไทยกล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมมีคุณค่าอยู่แล้ว แต่ถ้าสร้างมูลค่าได้ด้วยจะทำให้ทุกอย่างจับต้องได้ง่ายขึ้น  โลกศิลปะไม่มีถูกผิด แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของคนแตกต่างกัน ถ้าเรานำเสนอให้ทุกคนภาพเดียวกันได้ จะทำให้ทุกคนค่อยๆ ขยับไปด้วยกัน

ถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่พร้อมเดินไปกับเรา ต่อให้แก้กฎหมายกี่แบบปัญหาเดิมก็ยังอยู่ ตัวพรรคต้องการนำทุกอย่างมาผสมผสานเพื่อให้วัฒนธรรมและศิลปะก้าวไปพร้อมกันในโลกยุคใหม่ซึ่งมีเอไอเข้ามาแทนที่ โครงสร้างทางสังคมจะเปลี่ยนไป และวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

เราต้องพยายามทำให้วัฒนธรรมบ้านเราเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมของโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่น หมีคุมะมง ก็เป็นคาแรกเตอร์ที่สร้างให้จังหวัดฮิมาโมโตะจนเป็นที่ที่รู้จักไปทั่วโลก ถ้าเราสร้างคุณค่าของจังหวัดนั้นๆ ด้วยของแบบนี้ ก็จะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง สร้างมูลค่าให้ท้องถิ่น เป็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้ มีรายได้ และคนรู้สึกใกล้ชิดกับมัน

 

ชาติพัฒนา: ปัญหาศิลปวัฒนธรรมของไทยคือ “เห็นหลุยส์วิกตองดีกว่าย่านลิเภา”

วิทิตนันท์ โรจนพานิช พรรคชาติพัฒนากล่าวว่า หากเปรียบประเทศเป็นคน เศรษฐกิจอาจจะเป็นร่างกาย สมองคือการศึกษา แต่ศิลปวัฒนธรรมจะเป็นชีวิต จิตวิญญาณ และความเชื่อ ศิลปะเป็นฉากหน้าของสัจธรรม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่บางทีเรามองไม่เห็นมัน

ปัญหาของศิลปวัฒนธรรมในไทยคือ เราไม่เข้าใจ ไม่เหลียวแล พ่ายแพ้คู่ต่อสู้ ไม่เชิดชูพวกเดียวกัน ปล่อยโอกาสให้หลุดไปพรรคอยากให้เราร่วมใจกันกลับมาเชิดชูของที่มีอยู่แล้ว ให้มันดียิ่งขึ้นไป โลกพัฒนาไปเท่าไหร่ แต่ศิลปะจะยังอยู่ เพราะจิตวิญญาณไม่เคยตาย

วัฒนธรรมไทยเรามีมากมาย หลากหลาย แต่กระทรวงวัฒนธรรมไม่สนับสนุอย่างเต็มที่ ศิลปินไทยก็ไม่ถูกทำให้แข็งแกร่ง เราไม่เสพงานของเราเอง เห็นหลุยส์วิกตองดีกว่าย่านลิเภา พรรคจึงอยากมีนโยบายทำ Thailand Art Culture Center และปฏิรูปกระทรวงวัฒนธรรม เกาหลีเองก็นำประเทศด้วยด้านวัฒนธรรม จึงอยากให้คนไทยช่วยอุดหนุนศิลปินของเราเอง ให้คนไทยนิยมของไทย

 

ชาติไทยพัฒนา: ยืนพื้นบนความเป็นไทย

นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า เรามีนโยบายมุ่งมั่นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เอาท้องถิ่นมาศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา เผยแพร่ ให้เกิดความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต เกิดศิลปวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน

ส่วนใหญ่ศิลปวัฒนธรรมจะถูกนำไปวางในด้านการท่องเที่ยว แต่อย่างฟูลมูนปาร์ตี้ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยแต่เป็นตัวดูดนักท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ขยายความปลอดภัย รักษาความเป็นอัตลักษณ์ของไทยไว้ ถ้านักท่องเที่ยวมากันเยอะก็อาจจะเป็นการทำลายด้วย แต่ทั้งนี้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งสวยงาม ดังนั้นนโยบายของพรรคเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจะยืนพื้นบนความเป็นไทย เพราะเริ่มเลือนหายไป

 

รวมพลังประชาชาติไทย: ปฏิรูปงบประมาณ จ่ายตรงไปที่จังหวัด ส่งเสริมท่องเที่ยว-สินค้า

ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ พรรครวมพลังประชาชาติไทยกล่าวว่า เรามีแนวคิดจะสนับสนุนความร่วมสมัยของศิลปะไทย ให้ศิลปะไทยถูกส่งออก โน้มน้าวต่างชาติให้มาสนใจ เช่น อาหาร เสื้อผ้า

พรรคจะบรรจุเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นอุดมการณ์พรรค เราจะต้องรักษาและภูมิใจความเป็นไทย และชุดความคิดความเป็นไทยไม่ควรมาจากส่วนกลาง ที่เป็นชุดความคิดเดียว แบบนี้เท่านั้นไทย แบบอื่นไม่ใช่ ความเป็นไทยมีหลายแบบ แต่เราควรสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา

พรรคอยากปฏิรูปงบประมาณแผ่นดิน จากเดิมแต่ละจังหวัดได้ผ่านกระทรวงมหาดไทย แต่อยากเปลี่ยนเป็นจ่ายตรงไปที่จังหวัด สิ่งนี้จะทำให้จังหวัดที่เดิมได้แค่หลักร้อยล้านจะกลายเป็นได้จังหวัดละหมื่นล้าน สิ่งนี้จะทำให้อัตลักษณ์ชัดขึ้นจากแรงเสริมที่มากขึ้น เช่น เสริมเรื่องผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว เป็นต้น แต่แน่นอนว่ากระทรวงยังอยู่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายจากส่วนกลาง

นอกจากนี้พรรคยังอยากสนับสนุนอาชีวศึกษา ซึ่งควรถูกร่วมทุนโดยบริษัทเอกชน ผลิตเด็กที่จบแล้วเข้าไปทำงานได้เลย เช่น โรงแรม ร้านค้า กูเกิ้ล หัวเว่ย และพรรคอยากให้ความเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะอย่างศิลปากรสูงส่งแบบที่อ.ศิลป์ พีระศรีตั้งใจ

 

พรรคกลาง: ลดกฎข้อบังคับ ลดการผูกขาดการตีความ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จังหวัด

สุขทวี สุวรรณชัยรบ พรรคกลางกล่าวว่า ต้องเริ่มจากเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองที่แบ่งฝักฝ่าย การให้ศิลปวัฒนธรรมเติบโต ต้องมีระบบนิเวศที่ส่งเสริม ทั้งในเชิงกฎหมาย โครงสร้างประเทศ ประชาชน การศึกษา สร้างตลาดของศิลปวัฒนธรรม

ประเทศต่างๆ ศิลปะเติบโตได้อย่างไร หนึ่งศาสนา ผู้มีอำนาจทางศาสนาที่จะอุปถัมภ์ศิลปะ แต่เราอยากรวมถึงความเชื่อทางศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง ความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งรวมถึงความเชื่อในการไม่มีพระเจ้า ไม่นับถือศาสนา เมื่อมีเป้าเราก็จะกลับไปแก้กฎหมาย เราอาจปรับให้บัตรประชาชนไม่ต้องลงศาสนา

สองรัฐอุปถัมภ์ศิลปะ ปัจจุบันยังเป็นการรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม ทำให้ปรับตัวไม่ทัน ช้า กระจายอำนาจจึงเป็นคำตอบ เอกชน บริษัท หรือระบบโควตา เทคโนโลยี จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการเรียนรู้จากทั่วโลก โดยทั้งหมดนี้รัฐช่วยส่งเสริมได้ นอกจากนี้ยังคงความหลากหลาย ลดกฎข้อบังคับ ลดการผูกขาดการตีความประวัติศาสตร์  ศิลปวัฒนธรรม อยากให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จังหวัด เพื่อให้มีเงินหมุน เปลี่ยนโมเดลการจ่ายเงินของภาครัฐ

 

มหาชน: ไม่จำกัด ไม่แบน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและร่วมสมัย

พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชนกล่าวว่า ทัศนคติสังคมมุ่งเน้นเรื่องอำนาจนิยม วัตถุนิยม มีการจำกัดความคิด จำกัดสิทธิ มีการเหยียด ตีตราผู้อื่น เช่น การแบนหนัง เราจำกัดความคิด เราตีตรา แต่หนังสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ศิลปวัฒนธรรมถ้าบูรณาการไปพร้อมกับวงการอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยวก็ยังมีในด้านอื่นอีก

คำว่าชาตินิยมไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ชาติเป็นแบบเดิม แต่หมายความว่าทำอย่างไรให้ชาติดีกว่าเดิม ดังนั้นเราต้องมีวัฒนธรรมที่เลื่อนไหลด้วยถึงจะอยู่ยืนยง การตลาดจึงสำคัญกับศิลปะเพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตงาน ทั้งศิลปะพื้นถิ่น ศิลปะร่วมสมัย  และเราควรมองผู้ผลิตชิ้นงาน ส่งเสริมท้องถิ่นโดยการเปิดอิสระ ไม่ใช่จำกัด ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือส่งเสริมทางเศรษฐกิจ

 

ประชาธิปัตย์: ศิลปวัฒนธรรมควรอยู่สืบไปอีกนาน

องอาจ คล้ามไพบูลย์ พรรคประชาธิปัตย์ นโยบายแรกสุดที่จะทำคือการแก้กฎหมายให้การใช้จ่ายเพื่อศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องถูกต้อง เช่น การมีอยู่ของ BACC เป็นต้น แต่เรื่องสำคัญคือปัญหาเรื่องหอศิลป์สะท้อนสภาพศิลปวัฒนธรรมของไทย ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่หอศิลป์มีปัญหา ปัจจุบันที่เราไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สภาพบ้านเมืองที่รัฐประหาร ผู้นำเห็นความสำคัญด้านศิลปะน้อย ทุกพรรคควรเห็นความสำคัญ เพราะศิลปวัฒนธรรมอยู่กับชีวิตและประเทศเรามาตลอด และควรอยู่สืบไปอีกนาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท