ควรเกณฑ์ทหารหรือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเด็นนโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคการเมืองบางพรรค และการตอบโต้จากผู้นำทหารบางคน กำลังเป็นประเด็นได้รับความสนใจ เรื่องนี้มีทางออกที่สามารถปฏิบัติได้ ถ้าต้องการพัฒนาทหารอย่างจริงจัง

เริ่มจากวันที่ 30 ธ.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 เพื่อเรียกกำลังพลสำรองในการตรวจสอบฝึกวิชาทหาร ปฏิบัติราชการ หรือทดลองความพรั่งพร้อม ซึ่งจะมีการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ภายใน 240 วัน

ต่อมาวันที่ 21 ม.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2518) ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่ให้บุคคลที่มีภูมิลำเนาตามท้องที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประกอบด้วยประชากรที่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ และชาวมอแกน ในพื้นที่ชายแดนหลายร้อยหมู่บ้าน นั่นทำให้ชาวเขาและชาวมอแกนที่มีสัญชาติไทยทุกพื้นที่ ต้องเข้าสู่การเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น

ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี เป็นการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือเกณฑ์ทหาร ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันเพราะมีทั้งดาราจำนวนมากมาเข้าร่วมการตรวจเลือก และชายไทยที่แต่งกายเป็นหญิง เนื่องจากเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดมารับการตรวจเลือก

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวการทำร้ายทหารเกณฑ์บาดเจ็บถึงเสียชีวิต ทำให้เกิดคำถามในสังคมถึงระบบในการเกณฑ์ทหารและดูแลทหารกองประจำการ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ได้ระบุหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องรับราชการทหาร และ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 7 ระบุว่า ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

มาตรา 8 การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการ ให้กระทำด้วยวิธีเรียกมาตรวจเลือกหรือจะรับเข้าเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้ถ้ามีความจำเป็น การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการจะไม่กระทำในบางท้องที่ก็ได้

อีกทั้งมาตรา 9 ก็ระบุว่า ทหารกองเกินซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างที่จะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

ทางกระทรวงกลาโหมได้เปิดโอกาสให้สมัครใจเข้ารับราชการทหารกองประจำการ แต่เนื่องจากผู้สมัครใจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงกำหนดให้มีการคัดเลือกวิธีการจับสลากในการคัดเลือกทหาร

ข้อมูลปี 2557 พบว่ากองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ ต้องการทหารกองประจำการ 100,865 นาย มีผู้สมัครใจเข้ากองประจำการเพียง 33,500 คน คิดเป็น 33.21% ต่อมาในปี 2558 มีความต้องการ 99,373 นาย มีผู้สมัครใจเพิ่มขึ้นเป็น 43,446 คน คิดเป็น 43.72% ล่าสุดปี 2561 มีผู้สมัครใจ 44,797 คน

จากภาพรวมพบว่า ในช่วงปี 2554 – 2557 เฉลี่ยผู้สมัครใจ 31% ส่วนในปี 2558 – 2561 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 46% โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี

แม้อัตราผู้สมัครใจเป็นทหารจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทางกระทรวงกลาโหมมีข้อมูลชัดเจนว่าผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร มีความพร้อมความเอาใจใส่ และปฏิบัติราชการได้ดีกว่าผู้ที่ถูกบังคับหรือจับสลากเข้ามา อีกทั้งการหลบหนีจากการฝึกและการปฏิบัติราชการของผู้สมัครใจก็มีน้อยกว่ากลุ่มผู้ถูกบังคับหรือจับสลากเข้ามามาก

ดังนั้น การส่งเสริมให้บุคคลเข้ารับราชการทหารโดยวิธีสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

นั่นเพราะ นอกจากได้ทหารที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 ที่ระบุว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา

ในหลายประเทศมีปัจเจกชนอ้างสิทธิที่จะปฏิเสธเข้าร่วมภารกิจทางทหาร และการบังคับการเกณฑ์ทหาร โดยเห็นว่าขัดต่อเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และความเชื่อทางศาสนาที่เขานับถือ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศต่างๆ ที่ร่วมรบในสงคราม อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี รวม 103 ประเทศ ได้ยกเลิกการเข้ารับราชการทหารโดยบังคับ มาเป็นการคัดเลือกโดยสมัครใจเพียงอย่างเดียว

ในหลายประเทศได้ปฏิรูปกองทัพด้วยการพัฒนาทหารอาชีพ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ สามารถตอบสนองสภาพสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป ด้วยการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ยังสงวนอำนาจในการรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารในยามสงครามหรือเกิดวิกฤตการณ์ไว้ อาทิ ประเทศแอลบาเนีย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2553 ประเทศยูเครน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2556 และประเทศไต้หวัน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2558

ขณะนี้จึงเหลือเพียง 24 ประเทศ ที่ยังคงคัดเลือกโดยถูกบังคับ และมี 45 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่คัดเลือกทั้งโดยสมัครใจและถูกบังคับ

ดังนั้น เพื่อให้ได้ทหารกองประจำการที่มีคุณภาพประสิทธิภาพและสมัครใจอย่างแท้จริง กระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย ควรส่งเสริมหรือมีการจูงใจต่างๆ ต่อการสมัครใจเข้าเป็นทหารกองประจำการที่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การบรรจุเป็นข้าราชการ การได้รับการฝึกอาชีพ การได้เลื่อนยศตำแหน่ง และก้าวหน้าในระบบราชการ รวมถึงค่าตอบแทน ฯลฯ ตลอดจนพัฒนาทหารกองประจำการไปสู่ระบบทหารอาชีพ ซึ่งมีความยั่งยืน เชี่ยวชาญ และได้รับการพัฒนาฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ ต้องกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจนในการลดทหารกองประจำการที่ถูกบังคับหรือถูกเกณฑ์ทหารลงตามลำดับ จนไปสู่ทหารกองประจำการโดยสมัครใจอย่างแท้จริง เช่น กำหนดเป้าหมายให้การคัดเลือกทหารเข้ากองประจำการปี 2562 เป็นทหารเกณฑ์หรือถูกบังคับ 50% เป็นทหารที่สมัครใจ 50% และลดอัตราส่วนของทหารเกณฑ์หรือถูกบังคับลง ขณะที่เพิ่มอัตราส่วนของทหารที่สมัครใจตามลำดับ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 5 -10 ปี จนได้ทหารที่สมัครใจทั้ง 100%

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ที่สมัครใจเข้าเป็นทหารกองประจำการในพื้นที่ที่มีการสมัครใจมากกว่าความต้องการในพื้นที่ สามารถเป็นทหารกองประจำการได้โดยไม่ต้องเสียสิทธิ

ท้ายที่สุด กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ทันสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อให้มีการรับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีสมัครใจ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ทั้งหมดจะนำไปสู่การเป็นทหารที่มีคุณภาพ เป็นทหารอาชีพ เป็นทหารโดยสมัครใจ และเป็นทหารที่มีอนาคตมีความก้าวหน้าในอาชีพทหาร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท