Skip to main content
sharethis

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ชี้กรณีโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่เข้าข่ายยุบพรรคการเมือง เผยกรณีจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะไม่เป็นโมฆะ เพราะปกติศาลสั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะเพียงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยตรงและลับ และการไม่จัดเลือกตั้งในวันเดียวกันเท่านั้น

12 มี.ค. 2562 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงปัญหาเรื่องความผิดพลาดเกี่ยวกับเอกสารแจ้งเจ้าบ้านว่า เกิดจากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งจึงทำให้เอกสารแจ้งเจ้าบ้านมีความบกพร่อง ซึ่งกกต.ได้แจ้งให้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตชี้แจง และ กกต.จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มี.ค. หรือการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. ขอให้ดูข้อมูลล่าสุดที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ที่จะมีบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รวมทั้งแจ้งว่าผู้สมัครคนใดถูกเพิกถอนสิทธิ ประกอบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายละเอียดของผู้สมัคร และบัญชีลำดับการใช้สิทธิของผู้มีสิทธิได้ ด้วยการโหลดแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต ที่มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยทั้งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขต ซึ่งการศึกษาผ่านสมาร์ทโหวตดังกล่าวจะทำให้ทราบลำดับการใช้สิทธิซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิไม่ล่าช้า แต่ถ้าไม่อัพเดตก็สามารถดูข้อมูลที่หน้าหน่วยเลือกตั้งได้อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่าความผิดพลาดดังกล่าวจะทำให้ถูกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ความผิดพลาดเรื่องเอกสารและการถอนสิทธิผู้สมัคร แต่เชื่อว่าผู้มีสิทธิคงมีคนและพรรคอยู่ในใจ เพียงแต่ขอให้ดูว่าผู้สมัครที่จะเลือกถูกถอนสิทธิในการรับสมัครหรือไม่ ประกอบกับในปัจจุบันทางสื่อโทรทัศน์ก็มีการจัดดีเบตและแถลงนโยบายของพรรคต่างๆค่อนข้างมาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้มีสิทธิ

“ส่วนจะมีการฟ้องร้องภายหลังการเลือกตั้งหรือไม่ คงเป็นสิทธิที่สามารถฟ้องได้ แต่ กกต. ก็ได้ออกเอกสารใบแก้ไปแล้ว คงไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งที่ผ่านมาการที่ศาลจะสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มีเพียงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยตรงและลับ และการไม่จัดเลือกตั้งในวันเดียวกันเท่านั้น” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 17 มี.ค.นี้ว่า มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิกันจำนวนมาก ได้จัดเตรียมหีบบัตร คูหาไว้เพียงพอ รวมทั้งแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยสำรองไว้ด้วย เบื้องต้น กกต.ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)  ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิ โดยเฉพาะด้านการจราจร นอกจากนี้ยังจัดรถสุขา และรถพยาบาล อยู่ตามหน่วยเลือกตั้งด้วย ประกอบกับ กกต.ทั้ง 7 คน ก็เป็นห่วง จะลงพื้นที่ โดยจะแบ่ง กกต.และมอบหมายให้รองเลขาธิการ กกต.กระจายกับไปตรวจดูหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ในพื้นที่ต่างๆ

เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า กรณีสถานทูตมาเลเซียใช้ลังกระดาษทำคูหาเลือกตั้งนั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งยังถือว่าเป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับ ทั้งนี้ สถานทูตได้จัดการเลือกตั้งที่สถานทูต และจัดรถโมบายไปยังจุดต่างๆ เพียงแต่มีผู้มาใช้สิทธิที่สถานทูตเป็นจำนวนมาก ไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ขอย้ำว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ยังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้ว เพราะถือว่ามีความผิดอาญาและสามารถเอาผิดได้แม้ความผิดจะเกิดนอกราชอาณาจักรก็ตาม

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ภาพจากแฟนเพจเฟสบุ๊ค พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนการสอบสวนคำร้องเรื่องการจัดโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบนิติบุคคล 40 ราย และบุคคล 84 คน ไม่พบการบริจาคจากต่างชาติ จึงถือว่าไม่มีความผิดเข้าข่ายยุบพรรค ซึ่งจะมีการสรุปเรื่องดังกล่าวส่งให้ กกต.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า การระดุมทุนตะจีนของพรรคพลังประชารัฐ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 โดยในวันนั้นสำนักข่าวอิศราได้ออกมาเปิดเผยป้ายรายชื่อผู้จองโต๊ะจีนทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ใช้ชื่อจองคล้ายกับหน่วยงานของรัฐคือ คลัง-ททท-กทม. นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังตรวจสอบพบอีกด้วยว่าในบรรดาผู้ร่วมระดมทุนโต๊จีนพลังประชารัฐนั้นมีเอกชนทั้งบริษัทขนาดเล็กและใหญ่อย่างน้อย 12 รายที่เป็นคู่สัญญากับรัฐบาล ซึ่งต่อมาในวันที่ 20 ธ.ค. 2561 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า กรณีที่มีการใช้ชื่อหน่วยงานของรัฐนั้น แม้พิสูจน์แล้วพบว่าไม่มีการใช้เงินของรัฐ หากแต่มีใช้ชื่อหน่วยงานรัฐมาเพื่อระดมทุนเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว

ต่อมาวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ศรีสุวรรณ จรรยา ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. โดยของให้ทำการตรวจสอบการจัดงานระดมทุนดังกล่าว 22 ธ.ค. เลขาธิการ กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทันที เพราะตามกฎหมายแล้วพรรคการเมืองจะต้องจัดทำเอกสารรายการการระดมทุนพรรคการเมืองให้กับ กกต. ภายใน 30 วันหลังจากที่การจัดกิจกรรม จึงจะสามารถเริ่มตรวจสอบเอกสารต่างๆ ได้ ต่อมา 18 ม.ค. 2562 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นเอกสารรายงานการระดมทุนพรรคการเมืองให้ กกต. โดยแบ่งบัญชีการระดมทุน 90,000,000บาท 24 รายการ ส่วนอีก 532,350,000 บาทจะนำเข้าบัญชีการบริจาคแทน 29 ม.ค. เลขาธิการ กกต. แจ้งว่า พปชร. ต้องยื่นเอกสารเอกสารหลักฐานเพิ่ม เพราะเงินจำนวน 532,350,000 บาท ถือเป็นเงินระดมทุน ไม่ใช่เงินบริจาค โดยให้ชี้แจ้งหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมภาย 15 วัน

ต่อมา 26 ก.พ. 2562 สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า หลังจากกที่ กกต. มีคำสั่งให้พรรคพลังประชารัฐยื่นเอกสารเพิ่มเติมนั่น ทางพรรคได้ยื่นเพิ่มเติมแล้ว โดยเปิดรายชื่อเพิ่มอีก 60 รายชื่อจำนวนเงิน 262 ล้านบาท รวมยอดทั้งหมดที่ยื่นต่อ กกต. 352 ล้านบาท ยังขาดอีก 270 ล้านบาทตามที่มีการแจงไว้ในตอนแรก โดยณัฏฐพล ให้สัมภาษณ์กับอิศราว่า

“ขั้นตอนตรงนี้คือ เมื่อแจ้งยอดเฉพาะวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ไปแล้ว 90 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเราต้องแจ้งคนที่สนับสนุนอีกครั้งว่า ให้เขียนวัตถุประสงค์การจ่ายเงินว่าเป็นการบริจาค แต่พอ กกต. ไม่อนุญาต เราเลยต้องทำหนังสือแจ้งคนที่สนับสนุนอีกครั้งว่า เขียนวัตถุประสงค์การจ่ายเงินบริจาคไม่ได้ ให้เขียนเป็นการระดมทุนแทน เขาก็บอกเราว่า ทำไมวุ่นวายจัง ทำไมไม่จบในทีเดียว หลายคนกังวลตรงนั้น ทีนี้ในกระบวนการต่าง ๆ พอมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ออกมา จะมีปัญหาหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหลายคนกังวลที่คุณ (สำนักข่าวอิศรา) นำเสนอข้อมูลยอดเงินระดมทุนอีก เขาเกรงว่า หากเขาจ่ายเงินตอนนี้ จะถูกเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ตามที่คุณ (สำนักข่าวอิศรา) เสนอ เพราะหลายคนบอกตรง ๆ ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลไม่มีใครสบายใจ เขาอาจเป็นบุคคลธรรมดา แต่กลับนำมาเปิดเผยกัน” ณัฏฐพล กล่าว

ณัฏฐพล กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นหลายคนที่ประสงค์จะสนับสนุนจ่ายเป็นเงินระดมทุนในตอนแรก จึงไม่พร้อมจะจ่ายเงินในตอนนี้ ทำให้ยอดเงินปัจจุบันมีจำนวน 352 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศราเสนอ ส่วนจะมีการจ่ายเงินระดมทุนเพิ่มเติมหรือไม่ คงต้องรอดูต่อไป แต่มีหลายคนอยากบริจาคหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วมากกว่า ทำให้ยอดเงินเหลือเท่านี้ 

“เดี๋ยวเขาคงทยอยมาอีก แต่คงทยอยหลังเลือกตั้ง ยืนยันว่า สาเหตุที่ทำเรื่องนี้ ไม่มีการเมคอัพ (Make Up) ยอดเงิน ไม่มีผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างที่ทำเป็นเรื่องปกติในงานระดมทุน เหตุผลที่ผมจัดงานนี้ เป็นอะไรที่เปิดโอกาสให้เงินเข้ามาทีเดียว เป็นอีเวนต์ (Event) ให้คนสนับสนุนเงินมาได้ ทีนี้พอยอดเหลือ 352 ล้านบาท ก็ต้องบริหารจัดการเท่าที่มี” ณัฏฐพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net