Skip to main content
sharethis

ชวนอ่านรัฐธรรมนูญไทย 3 ฉบับ 2540 2550 และ 2560 ในการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบห่วงโซ่ความชอบธรรมที่ย้อนกลับไปหาประชาชนเจ้าของอำนาจค่อยๆ ลดลง ขณะที่ กกต. ชุดปัจจุบัน ถูกสรรหาโดยตุลาการและ สนช. ทำหน้าที่เสนอชื่อขึ้นทูลเกล้า ทำให้ห่วงโซ่ความชอบธรรมขาดตอน

  • ห่วงโซ่ของความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยจะต้องสืบสาวย้อนกลับไปหาประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้
  • การคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญ 2540 สร้างห่วงโซ่ความชอบธรรมโดยสืบย้อนกลับไปหาประชาชน
  • รัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับอิทธิพลจากตุลาการภิวัตน์ทำให้ตุลาการมีอำนาจมากขึ้นในการสรรหาองค์กรอิสระ
  • กกต. ชุดปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีห่วงโซ่ความชอบธรรมใดๆ ที่สามารถย้อนกลับไปสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจได้เลย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวมากกว่า 1 ครั้งถึงห่วงโซ่ของความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่ผู้ใช้อำนาจรัฐจะต้องสืบสาวห่วงโซ่นี้กลับไปหาประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ในขณะที่สังคมกังขาต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสร้างแรงกดดันเพื่อถอดถอน ‘ประชาไท’ ชวนย้อนอ่านรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ปี 2540 2550 และ 2560 ถึงที่มาของคณะกรรมการเลือกตั้งที่ห่างเหินและขาดตอนออกจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญต้องการ

รัฐธรรมนูญปี 2540

ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน โดยในมาตรา 138 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คนทำหน้าที่สรรหาผู้สมควรเป็น กกต. จำนวน 5 คนแล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภา

ขณะเดียวกันก็กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 5 คนเสนอต่อประธานวุฒิสภา

จะเห็นได้ว่าในกระบวนการสรรหามีตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย 4 คน และในขั้นตอนการคัดเลือกก็ให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็น ‘ผู้ลงคะแนนคัดเลือก’

รัฐธรรมนูญปี 2550

หลังการยึดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 กันยายน 2549 และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จะเห็นอิทธิพลจากกระแสตุลาการภิวัตน์ที่ถูกดึงเข้ามาเป็นผู้สรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญมากขึ้น

รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มีคณะกรรมการเลือกตั้ง 5 คน โดยมาตรา 231 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คนเป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. จำนวน 3 คน

เห็นได้ว่าตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 2 คนเท่านั้นคือประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน ขณะที่มีตัวแทนจากฝ่ายตุลาการถึง 5 คน และยังคงให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกบุคคลที่สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อีก 2 คน

จากนั้นจึงส่งรายชื่อทั้ง 5 คนให้วุฒิสภาเป็น ‘ผู้ให้ความเห็นชอบ’ แต่ต้องไม่ลืมว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดมีวุฒิสภา 150 คนโดยมีที่มาจาก 2 แหล่งคือจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง

และถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบต่อรายชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ส่งรายชื่อกลับไปยังคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่

และถ้าคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภา และยังมีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์หรือด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่ารายชื่อนั้นได้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภาอีก ซึ่งยิ่งทำให้ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมที่เชื่อมร้อยกลับไปสู่ประชาชนเปราะบางกว่ารัฐธรรมนูญ 2540

รัฐธรรมนูญปี 2560

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คน ตามมาตรา 222 และให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหามาตรา 203 เป็นผู้คัดเลือกซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นกรรมการ บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คนเป็นกรรมการ

จากเนื้อหาข้างต้นจะเห็นได้ว่าตุลาการยังคงมีส่วนในการคัดเลือกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคืออำนาจองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีเพียง 2 เสียง

นอกจากนี้ ในมาตรา 203 ยังระบุด้วยว่า กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการตาม (2) และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระองค์กรละ 1 คนเป็นกรรมการตาม (4) ก็ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่เป็นผู้สรรหาซึ่งหมายถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ขณะที่กรรมการสรรหาตาม (4) ให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่งแต่งตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่องค์กรอิสระที่ต้องมีการสรรหา

ซึ่งชัดเจนว่าในการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ไม่มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าร่วมสรรหาด้วยเลย และเมื่อยังไม่มีวุฒิสภา รายชื่อดังกล่าวจึงถูกส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีอำนาจเป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามมาตรา 263 ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันจึงไม่มีห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมที่จะสืบย้อนกลับไปหาประชาชนได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net