Skip to main content
sharethis

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเปิดหลักฐานที่ กกต.ใช้ยื่นยุบพรรคก้าวไกล ชี้กระบวนการยื่นยุบพรรคไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย อีกทั้งหลักฐานของหน่วยงานความมั่นคงที่เคยใช้ในคดีสั่งยุติการแก้ไข ม.112 ทั้งที่มีเรื่องเท็จก็ไม่เปิดโอกาสให้พรรคได้โต้แย้งแต่ยังคงถูกเอามาใช้ในคดียุบพรรค ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสพรรคก้าวไกลได้ชี้แจง

16 ก.ค.2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวชี้แจงหลักฐานที่ใช้ยื่นโต้แย้งพยานหลักฐานของคณะกรรมการการเลือกตั้งกรณีที่พรรคก้าวไกลถูกยื่นคำร้องยุบพรรคโดยกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งกำลังจะมีนัดพิจารณาคดีในวันพรุ่งนี้(17 ก.ค.) โดบชัยธวัชได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหากระบวนการยื่นยุบพรรคของ กกต.ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า ฝ่ายกฎหมายได้ดำเนินการยื่นคำร้องโต้แย้งพยานหลักฐานถึงศาลรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด 2 คำร้อง หลังจากได้เห็นพยานหลักฐานของ กกต.ซึ่งเป็นผู้ร้องในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

กระบวนการไม่เป็นตามกฎหมาย

ชัยธวัชกล่าวว่าในส่วนแรกเป็นการโต้แย้งพยานหลักฐานของ กกต.ที่ยื่นมาในสำนวนที่เป็นการชี้ชัดให้เห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวนในประเด็นที่โต้แย้งไปและเรียกตัวเขาเองในฐานะหัวหน้าพรรคและสุรพล นิติไกรพจน์ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของ กกต. ในปัจจุบันเข้าเป็นพยานเพื่อไต่สวนในประเด็นดังกล่าวและขอให้ศาลเรียกหลักฐานที่ถูกอ้างอิงถึงอยู่ในหลักฐานส่วนที่ กกต.ส่งเข้าสำนวนมาแล้ว

 

ส่วนที่สองเป็นพยานหลักฐานจากหน่วยงานความมั่นคงทั้งจากสำนักงานตรวจแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติที่กล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลมีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 112 ในหลายกรณี โดยเอกสารชุดนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้อ้างถึงในวินิจฉัยคดีที่มีคำร้องให้พรรคก้าวไกลและพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แต่ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงพรรคก้าวไกลจึงไม่สามารถต่อสู้ในข้อเท็จจริงเพราะไม่มีโอกาสโต้แย้ง ในคดียุบพรรคนี้พรรคก้าวไกลจึงยื่นคำร้องเพื่อให้มีการไต่สวนและขอให้ศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและเป็นเพียงความเห็นที่ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ รวมถึงขอให้มีการไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวอ้างในเอกสารด้วย

ชัยธวัชกล่าวว่าย้อนถึงที่มาของคดียุบพรรคนี้ว่าเริ่มมาจากวันที่ 15 พ.ค.2566 พชรนน คณาโชติโภคินยื่นคำร้องถึง กกต. ว่าพรรคก้าวไกลฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) มีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กกต.ก็รับมาดำเนินการ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการตรวสอบข้อเท็จจริงคณะที่ 2 ไปตรวจสอบแล้ววันที่ 26 ก.ย.2566 ก็มีความเห็นออกมาว่าเมื่อตรวจสอบแล้วข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาว่าการเสียงของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้แก้ มาตรา 112 เป็นการขัดต่อกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดมาตรา 6 รวมถึงไม่มีข้อเท็จจริงด้วยว่าพรรคก้าวไกลได้กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง จึงเป็นคำร้องที่ไม่มีหลักฐานหรือมีข้อมูลเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรองเลขา กกต.ได้รับทราบผลตรวจสอบแล้วก็มีความเห็นว่าคำร้องของพชรนนท์นี้เป็นประเด็นเดียวกับคำร้องที่ขอให้พรรคก้าวไกลและพิธาเลิกการกระทำของธีรยุทธ สุวรรณเกสรที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไป จึงควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวก่อน และเรื่องนี้ เลขา กกต.ก็รับทราบเรื่องนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 ว่าห้ามพรรคก้าวไกลให้แสดงความเห็นยกเลิกมาตรา 112 และห้ามไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 โดยไม่ใช่กระบวนการตามนิติบัญญัติ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และธีรยุทธ สุวรรณเกษรต่างก็ไปยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่าพรรคก้าวไกลได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่งแยกกันเป็น 2 คำร้อง

จากนั้นในวันที่ 12 ก.พ.2567 ว่า สำนักกิจการพรรคการเมืองมีความเห็นไปยัง เลขา กกต. ว่าเมื่อพิจารณาคำร้องของพชรนนท์และคำร้องใหม่ของเรืองไกรและธีรยุทธ ประกอบกับมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ออกมาแล้ว สำนักกิจการพรรคการเมืองก็มีความเห็นออกมาว่านี่เป็นกรณี กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลอาจกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามฐานความผิดมาตรา 92 กฎหมายพรรคการเมือง จึงทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าควรให้รับไว้ดำเนินการทั้ง 3 คำร้องนี้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน และควรมอบหมายให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงคณะที่ 6 ไปรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบของ กกต.

ทั้งนี้ชัยธวัชแถลงว่า จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นให้ยื่นคำร้องยุบพรรคถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 ทั้งที่คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งยังเพิ่งมีความเห็นถึง เลขา กกต. เพื่อขอขยายระยะเวลารวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่ม ซึ่งเลขา กกต.เพิ่งลงนามให้ขยายเวลาเพิ่มในเช้าวันที่ 12 แต่ในเย็นวันเดียวกันนั้น คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ ก็ขอยุติการดำเนินการตรวจสอบต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไปด้วย หลังจาก กกต. ยื่นคำร้องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ชัยธวัชชี้ว่ากรณีนี้มีปัญหาว่า การกระทำดังกล่าว อาจผิดระเบียบเรื่องการรวบรวมข้อเท็จจริงสำหรับกรณียุบพรรคการเมือง ตามกฎหมาย มาตรา 93 พ.ร.ป. ที่ระบุว่า การยุติการรวบรวมพยานหลักฐานจะเกิดขึ้นได้แค่ในกรณีมีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว หรือไม่สามารถรวบรวมหลักฐานได้มากพอ หรือก็คือคดีไม่มูล แต่ไม่ใช่การยุบพรรคโดยที่ยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ

“เมื่อเราตรวจพยานหลักฐานของ กกต.แล้วยิ่งตอกย้ำว่าการยื่นคำร้องยุบพรรคในคดีนี้ของ กกต.ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง”

หลักฐานมีความเท็จ

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่โต้แย้งเรื่องหลักฐานของฝ่ายความมั่นคงที่เชื่อมโยงพรรคก้าวไกลกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งพรรคไม่ได้มีโอกาสโต้แย้งในคดีที่แล้ว แต่ในคดีนี้มีการกล่าวหาที่ร้ายแรงกว่านั้นว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองให้ยุบพรรคและจะมีการตัดสิทธิทางการเมือง จึงจำเป็นต้องโต้แย้งพยานหลักฐานชุดนี้ด้วย

ชัยธวัชกล่าวว่าเอกสารชุดดังกล่าวนี้มสามารถรับฟังได้และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรรับฟัง ไปนถึงไต่สวนพยานบุคคลทั้งหมดใหม่เพื่อพิสูจน์กันให้ถึงที่สุด ชัยธวัชได้ยกตัวอย่าง เช่นในกรณีการไปร่วมกิจกรรมของธิษะณา ชุณหะวัน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2564 โดยถูกระบุในเอกสารว่าเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลไปยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการกฎหมายว่ามีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างไร้มาตรฐาน ทั้งที่ในเวลานั้นธิษะณาไปด้วยตัวของเธอเองในฐานะปัจเจกบุคคลยังไม่เป็น สส. และก็เป็นการร้องเพื่อให้ กมธ.ตรวจสอบการดำเนินคดีเท่านั้นไม่ใช่การล้มล้างการปกครองด้วย จึงเป็นการให้ความเห็นที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นอกจากนั้นยังมีกรณีของวิศรุต สมงาม ที่จัดกิจกรรมถามความเห็นประชาชนเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ในจังหวัดลพบุรีเมื่อ 8 ธ.ค.2564 ก็ถูกระบุว่าเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกลจัดกิจกรรมทั้งที่ในเวลานั้นวิศรุตก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลและกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล

 

“เราสันนิษฐานว่าเอกสารนี้ทำขึ้นภายหลังเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ทำเอกสารวิศรุตมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแล้ว ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล และเราก็ย้อนไปตรวจสอบทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 วิศรุตยังไม่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล”

ชัยธวัชกล่าวว่าเอกสารเหล่านี้ถูกนำมาใช้โดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งเลยแล้วก็ถูกใช้ตัดสินความผิดพรรคก้าวไกลไปแล้วด้วยในคดีก่อน เมื่อมาถึงคีดนี้เราจึงต้องคัดค้านว่าหลักฐานเหล่านี้ไม่สามารถรับฟังได้ เพราะยังมีตัวอย่างอีกมากในเอกสารเหล่านี้ที่เอาพรรคก้าวไกลไปเชื่อมโยงกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 112 และพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ไม่มีข้อเท็จจริงใดเลยที่พิสูจน์ได้เลยว่าพรรคก้าวไกลเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งการสนับสนุนซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ หรือที่เป็นข้อเท็จจริงก็ยังเป็นการกระทำส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net