Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 1 ปี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬประกาศปิดชุมชนอย่างเป็นทางการ ปิดฉากการต่อสู้ ต่อรองไม่ให้ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ อัพเดทชีวิตชาวชุมชนกลุ่มใหญ่สองกลุ่มที่ต่างหาที่อยู่ใหม่ จนถึงตอนนี้ชีวิตยังไม่มั่นคง ประหนึ่งฉายหนังม้วนเก่า พวกเขาอาจต้องโยกย้ายกันอีกรอบ ในขณะที่แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ยังคงเงียบเชียบ ไม่มีความคืบหน้า

บ้านไม้หลังหนึ่งในชุมชนป้อมมหากาฬก่อนจะถูกรื้อย้าย

ช่วงสัปดาห์นี้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนชานพระนครที่ตั้งอยู่หลังป้อมริมคลองโอ่งอ่างมานานกว่า 200 ปีมีความเคลื่อนไหวคึกคัก มีการจัดตั้งร้านรวง เชิญสื่อมวลชน นักวิชาการ เครือข่ายประชาสังคมมาร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายในงานปิดตัวชุมชนป้อมมหากาฬ หลังต้องย้ายออกจากพื้นที่ภายในปลายเดือน เม.ย. ปิดฉากการต่อสู้ ต่อรองกับ กทม. ที่จะนำพื้นที่ไปทำสวนสาธารณะเวลายาวนานถึง 26 ปีนับตั้งแต่เริ่มเวนคืนที่ดินในปี 2535

ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลา ยุติมหากาพย์ 25 ปี ย้าย 25 เม.ย. นี้

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน

บ้านเก่า ใหม่ สถาปัตยกรรมทั้งที่ถูกเก็บไว้และดัดแปลงเพื่อการอยู่อาศัย และวัฒนธรรม วิถีชุมชนถูกแทนที่ด้วยการปรับหน้าดิน ลงหญ้า ปรับสภาพเป็นสวนสาธารณะตามโครงการปรับปรุงพื้นที่และอนุรักษ์โบราณสถานของชาติที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2502

อัพเดทชีวิตกลุ่มชาวชุมชน ชีวิตใหม่ยังไม่มั่นคง อาจโยกย้ายกันอีกรอบ

ปัจจุบัน ชาวชุมชนต่างเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่ๆ แตกต่างกัน กลุ่มก้อนใหญ่ที่เห็นได้ตอนนี้มีอยู่สองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนหน้าในช่วงปลายปี 2560 จำนวนราว 60 ชีวิต นับเป็น 21 ครัวเรือน โดยย้ายไปอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าแยกแม้นศรีที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) จัดสรรให้อยู่ก่อนดำเนินการจัดหาที่อยู่ใหม่ อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวชุมชนชุดสุดท้ายที่ย้ายออกหลังปิดชุมชนอย่างเป็นทางการจำนวนราว 8-9 ครัวเรือน โดยไปอาศัยที่ชุมชนกัลยาณมิตรพลางจัดหาที่ดินใหม่เช่นกัน

สำนักงานการประปาเก่าย่านแม้นศรี บริเวณเดียวกันกับอาคารที่ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายออกมา ซึ่งในรั้วสำนักงานเดียวกันก็มีอาคารที่ถูกเปิดให้เป็นที่พักพิงกับคนไร้บ้าน (ภาพถ่ายเมื่อปี 2560)

พีระพล เหมรัตน์ อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายมาอยู่การประปาแม้นศรี ให้ข้อมูลอัพเดทว่าขณะนี้ ชาวชุมชนป้อมที่แม้นศรีจำนวน 18 ครัวเรือนได้เช่าที่ดินกรมธนารักษ์แล้ว หลังจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ร่วมกับชุมชนองค์การทอผ้าราว 18-32 ครัวเรือนเพื่อเข้าโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยที่ดินใหม่จะอยู่บริเวณสี่แยกเกียกกาย หลังรัฐสภาแห่งใหม่

อย่างไรก็ดี พีระพลกล่าวว่าเขาและชาวชุมชนที่แม้นศรีกำลังเดือดร้อน เนื่องจากทาง กทม. จะคืนพื้นที่การประปาฯ ที่อาศัยอยู่ให้กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นเจ้าของที่ภายในเดือน มิ.ย. นี้ แต่บ้านที่เกียกกายจะสร้างเสร็จในช่วงปลายเดือน พ.ย. - ธ.ค. ปีนี้ และจนถึงปัจจุบัน ทาง กทม. ยังไม่มีคำตอบว่าจะให้ผู้พักอาศัยในตึกการประปาฯ ทำอย่างไร

อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬเล่าว่า ขณะที่พวกเขายอมทำตามนโยบายรัฐ ยอมคืนพื้นที่ในชุมชนป้อมฯ ให้แล้วยินยอมออกมาอยู่ข้างนอก ดำเนินการหาที่อยู่ใหม่ตามขั้นตอนหมด แต่กลับจะถูกเวนคืนพื้นที่อีกครั้ง การให้ออกจากตึกการประปาฯ ก่อนกำหนดจะทำให้ต้นทุนชีวิตทุกอย่างกลับมาตกที่ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเดินทาง ค่ารื้อย้าย การเปลี่ยนงาน ความกระจัดกระจายก็ทำให้การรวมตัวเพื่อประชุมยากขึ้น

พีระพลมีแผนว่าจะทำหนังสือถึงทาง กทม. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้อยู่ในตึกการประปาฯ ได้จนถึงปลายปีนี้

ปัจจุบันพีระพลเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ชื่อ “โครงการบ้านมั่นคง สหกรณ์บ้านมั่นคงเคหะสถานเกียกกายพัฒนา จำกัด”

อีกกลุ่มที่ย้ายไปที่ชุมชนกัลยาณมิตรก็อาจจะเผชิญปัญหาเดียวกัน พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาอิสระเล่าว่า ขณะนี้ทางชาวชุมชนป้อมราว 8 ครัวเรือนได้ซื้อที่ดินที่พุทธมณฑลสายสองขนาด 106 ตร.ว. แล้วตั้งแต่ ส.ค. 2561 โดยเงินที่ใช้ซื้อนั้นประกอบด้วยเงินออมของชาวชุมชนรวมกับเงินกู้จากสินเชื่อบ้านมั่นคงจากสถาบันพัฒนาองค์กร (องค์การมหาชน) หรือ พอช. โดยตอนนี้ที่ดินดังกล่าวถูกทำแนวกันดินแล้ว เดือน มิ.ย. นี้จะทำการตอกเสาเข็ม และจะยกเสาเอกในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค.

อดีตชาวป้อมมหากาฬชุดสุดท้าย 8 ครอบครัวซื้อที่ดินใหม่ คาดครึ่งปีสร้างบ้านเสร็จ

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ

ภาพซ้าย 8 ครอบครัวอดีตชาวชุมชนจดโฉนดที่ดิน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค พรเทพ บูรณบุรีเดช): ภาพขวา สภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ปัจจุบัน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ก Pisut Openspace)

พรเทพ ผู้ที่วันนี้ครบรอบหนึ่งปีในการย้ายไปอยู่ที่ชุมชุนกัลยาณมิตรพอดิบพอดี เล่าว่า ตามข้อเสนอของชุมชนกัลยาณมิตร จะให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬเช่าที่พักอาศัยปัจจุบันเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในวันนี้ก็ครบหนึ่งปีแล้ว ทางกรรมการชุมชนกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

สำหรับชีวิตของพรเทพนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เมื่อปีที่แล้วเขาแยกทางกับคู่ชีวิตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ ปัจจุบันอาศัยในชุมชนกัลยาณมิตรกับสุนัขสองตัว เขาเล่าว่าชาวชุมชนก็ยังคิดถึงชีวิตในป้อม ยังคงมีคนอัพเฟสบุ๊คเกี่ยวกับพิธีสมาพ่อปู่ สิ่งศักดิ์สิทธิที่ชาวชุมชนนับถือที่เคยทำทุกๆ สัปดาห์ที่สามของเดือน เม.ย. ส่วนตัวของเขาแม้ว่าจะต้องแบกรับต้นทุนเรื่องหนี้สิน ผ่อนที่ดิน จ่ายค่าเช่าปัจจุบันแต่ก็ยังดีที่ยังมีคนรู้จัก

“กรณีนี้อยากฝากว่าการพัฒนาของคนเมืองกรุงเก่าทั้งระบบที่จะทำกันอยู่ อยากให้อนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมที่มีรากเหง้า วัฒนธรรมให้คู่กับเมืองเก่า ดีกว่าเป็นสวนแล้วมีแต่ขยะ”

“ไม่อยากให้มีการทำลายล้างชุมชนเก่าออกจากพื้นที่ (ทั้ง) รัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลเก่า ผู้ว่าฯ คนใหม่หรือคนเก่า ขอฝากว่าอย่าทำลายล้างเลย อย่างทางเลียบแม่น้ำก็อยากให้คนอยู่คู่กับแม่น้ำด้วย” อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬกล่าว

แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ยังเงียบเชียบ

การต่อสู้และจุดจบของชุมชนป้อมมหากาฬเป็นหนึ่งในผลพวงตามการดำเนินแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ แผนที่จัดทำโดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า (ชื่อเดิม-คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี 2546 ขยายขอบเขตงานไปยังพื้นที่เมืองเก่าในจังหวัดอื่นๆ) เป็นความพยายามวางกรอบแนวทางอนุรักษ์คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ แผนแม่บทที่ใช้ในปัจจุบันคือฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรองเมื่อปี 2540

ในแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน (2540) การเปลี่ยนแปลงรูปธรรมที่เห็นชัดในแผนก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 20 โครงการ เช่นปรับปรุงพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณวัด มัสยิด พื้นที่คุ้มครอง ปรับปรุงพื้นที่รอบโบราณสถาน โดยกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ 20 ปี แต่ละโครงการใช้เวลาไม่เท่ากัน การแทนที่ชุมชนป้อมมหากาฬด้วยสวนสาธารณะคือหนึ่งในนั้น

ปัจจุบันมีการจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ขึ้น เมื่อปี 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการกรุงฯ ว่าจ้างให้ศูนย์บริการทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำร่างแผนแม่บทฉบับใหม่ ขณะนี้ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว สผ. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ ก่อนส่งให้ ครม. พิจารณาขั้นสุดท้าย

แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ (ใหม่) กับเสียงมนุษย์ (เก่า) ในม่านฝุ่นการพัฒนาเมือง

ทาง สศช. รับร่างแผนแม่บทนี้ไปตั้งแต่ ก.ย. 2560 ตามกรอบเวลาที่กำหนด สศช.มีเวลาพิจารณา 30-45 วัน แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีความเคลื่อนไหว เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ประชาไทสอบถามไปยัง สศช. ได้ข้อมูลว่าจะต้องรอให้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน เมื่อประกาศแล้วจึงจะเริ่มกระบวนการพิจารณาแผนแม่บทกรุงฯ ซึ่งเป็นแผนระดับรองลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ สศช.คาดหวังว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติน่าจะประกาศใช้ภายในไม่เกินสิ้นเดือน ก.พ. 2562 หรือภายในรัฐบาล คสช. แต่จนถึงตอนนี้ (เม.ย. 2562) ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ประชาไทติดต่อไปยัง สศช. ในวันที่ 26 เม.ย. 2562 แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า เป็นเวลาหกเดือนแล้วที่แผนแม่บทฯ ไปค้างที่ สศช. จึงอยากจะฝากให้ภาคประชาชนช่วยติดตามต่อ เพราะว่าหากไม่มีการประกาศใช้แผนแม่บทฯ รัฐก็ขาดกรอบแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ และคนเสียประโยชน์คือประชาชน

ยงธนิศร์ยกตัวอย่างกรอบการอนุรักษ์ในแผนแม่บทฯ ที่ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ คือบัญชีอาคารเก่าที่หากได้รับการรับรองแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นก็สามารถเอาไปบังคับใช้ในมาตรการช่วยเหลือเจ้าของที่ดินในเรื่องการลดหย่อนภาษีหากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลใช้บังคับ (ตามกำหนดคือ 1 ม.ค. 2563 ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ)

แม้ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาทั้งเล่ม แต่จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาพบว่าแผนแม่บทฯ ใหม่มีการขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น แบ่งเป็นห้าประเภทดังนี้

1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม

5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

การขยายพื้นที่มาถึงริมคลองผดุงกรุงเกษมจะทำให้อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ กินพื้นที่ราว 8,000 ไร่ หรือ 12.8 ตร.กม. จากปัจจุบันเนื้อที่ประมาณ 5.8 ตร.กม.และจะมีชุมชนที่อยู่ในอาณาเขตอย่างน้อย 77 ชุมชน

ภาพโดย นัฐพล ไก่แก้ว
 คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ไทม์ไลน์ชุมชนป้อมมหากาฬ

ก่อนถูกไล่รื้อ ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบเป็นผลจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. 2560 หน่วยทหาร-พลเรือน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ

ก่อนหน้าที่ชาวชุมชนชุดสุดท้ายจะย้ายออกมา มีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน

22 เม.ย. 2561 ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน 'อำลามหากาฬ' หลังมีการรื้อถอนบ้านอย่างต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในชุมชนมีผู้ทยอยเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งชาวบ้านที่เคยอยู่ในชุมชน อาจารย์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน อาทิ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมกสรสิทธิมนุษยชน, นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมฯ สถาปนิกสยาม และนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือที่ชุมชนได้รับ

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่าชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานวันนี้เพื่อรำลึกอดีต 25 ปีเต็มที่ต่อสู้ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 26 เราได้รับการสนับสนุนจากผู้สื่อข่าวที่นำเสนอเรื่องราวให้เรียนรู้ ได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด ใจจริงอยากจากไปแบบเงียบๆ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีคนที่เคารพ มีพี่น้องภาคประชาสังคมมีคนที่แบ่งปันให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง มีพี่น้องสื่อที่ตนอยากบอกว่าอย่าทิ้งเรา

"26 ปีของการต่อสู้ เหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง เป็นเรื่องยากที่อธิบายได้ว่า เราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่คนชุมชนป้อมมหากาฬจำต้องเอ่ยคำเชื้อเชิญเพื่อน พี่น้อง มิตรสหาย กัลยาณมิตรทุกคนมารวมกันเป็นครั้งสุดท้าย การรวมพลเพื่ออำลาและปิดฉากชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ที่เราพยายามทำทุกทางเพื่อรักษาความเป็นชุมชนเอาไว้ ตลอดระยะเวลา 26 ปีบนเส้นทางนี้เราได้ผ่านทั้งร้อน หนาว ผ่านทุกข์และสุข ได้พบเจอมิตรสหาย กัลยาณมิตรมากมาย มีความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนได้ มีการต่อสู้ที่มิอาจลืมลง และขณะเดียวกัน เราก็เผชิญกับการจำพราก ความขัดแย้งและความสูญเสียมากมาย เผชิญกับความเจ็บปวดและอ่อนแอภายในตัวตนของเราเอง สูญเสียมากมาย เผชิญกับแรงเสียดทานที่โถมทับเข้ามาจนเราไม่อาจต้านทานได้อีก และท้ายที่สุด เราจะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าวันหนึ่งข้างหน้า ชุมชนป้อมมหากาฬอาจเป็นเพียงชื่อเรียกขาน เป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อกัน ในไม่ช้าก็จะลบหายไปจากประวัติศาสตร์ชนชั้นของมหานครแห่งนี้

มันช่างยากเหลือเกินที่เราจะอธิบายความรู้สึก อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยตัวอักษรเพียงไม่กี่ประโยค ไม่กี่ย่อหน้า และหวังไปว่ามันจะสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันนี้เราเจ็บปวด เราจะพยายามเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ด้วยความหวัง เพราะเป็นเช่นนี้ ในช่วงเวลาสุดท้ายเราจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวนี้แก่ทุกคน อยากจะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่หวังเหลือเกินว่า ทุกคนที่มีความผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้จะมาร่วมกันบันทึกเรื่องราว สร้างความทรงจำครั้งสุดท้ายบนผืนที่แห่งนี้ ในสถานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ในวันอาทิตย์ที่ 22 เม.ย. 2561 นี้

ก่อนที่พวกเราจะเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้บอกกับลูก หลานสืบไปว่าครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเรา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ต่อสู้กับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับชุมชน เราสู้เรื่องกฎหมายไม่ได้แน่นอน วันหนึ่งเราจึงต้องจากไป เราอยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬเป็นกรณีศึกษา ในครั้งต่อไปถ้าหน่วยงานภาครัฐจะไล่รื้อชุมชนใดก็แล้วแต่ ก็คงตระหนักถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่าพวกเขามีวิถีชีวิตและต่อสู้มายาวนานขนาดไหน สิ่งเหล่านี้จะบอกกับสังคมได้ว่า ชีวิตคนหรือว่าวัตถุกันแน่ที่สำคัญ การที่คุณทำให้ชุมชนต้องล่มสลาย ต้องกระจัดกระจาย ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างไร้ที่อยู่ สุดท้ายแล้วพวกคุณได้ตามดูชีวิตพวกเขาเหล่านั้นหรือเปล่า"

"ณ วันนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬขอปิดตัวลง"

ตัวแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวคำแถลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net