Skip to main content
sharethis

'พะเยาว์-เพนกวิน-จ่านิว' วางมาลัยวัดปทุมฯ จุด 'กมนเกด' พยาบาลอาสาลูกสาวพะเยาว์ถูกทหารยิงเสียชีวิต ช่วงสลายชุมนุม นปช. ปี 53 ก่อนเดินเท้าไปรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่น กกต. จากการเข้าร่วมกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ที่ สน.พญาไท ย้ำ "เมื่อความอยุติธรรมันกลายเป็นกฎหมาย มันก็ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาต่อต้านกันแล้ว"

ภาพจากเฟสบุ๊ค อานนท์ นำภา 

30 เม.ย.2562 ที่บริเวณวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. วันที่ 19 พ.ค.2553 จำนวน 6 ศพ โดย 1 ในนั้นคือ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ซึ่งเป็นลูกสาวของ พะเยาว์ อัคฮาด ซึ่งวันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น.ที่ผ่านมา พะเยาว์ ได้เดินทางมาเพื่อ วางมาลัยพร้อมบอกกล่าวเพื่อขอให้เป็นกำลังใจให้ เนื่องจากตนโดนคดี ยืนยันว่าตนจะสู้จนถึงที่สุด

"เมื่อความอยุติธรรมันกลายเป็นกฎหมาย มันก็ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาต่อต้านกันแล้ว นี่คือสิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องสุ้กันต่อไป สู้แบบสันติวิธี" พะเยาว์ กล่าว

จากนั้นทั้ง พะเยาว์ พร้อมด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง และจ่านิว หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เดินเท้าจากวัดปทุมฯ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อรับทราบข้อกล่าว กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจากการเข้าร่วมกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาโดยมี พ.ต.อ เจษฎา คุ้มศาสตรา ผกก.พญาไท ร่วมกันทำการสอบปากคำในครั้งนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พะเยาว์ เปิดเผยก่อนเข้าห้องประชุมว่า ตนยืนยันว่าไม่เคยให้ร้ายใคร ความจริงเป็นเช่นไรสังคมย่อมเห็นประจักษ์ชัด และพร้อมจะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวน โดย นางพะเยาว์ ให้การปฎิเสธ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปพิมพ์มือเพื่อตรวจสอบประวัติ และปล่อยตัวไป

พ.ต.ท.พนม เชื้อทอง รอง ผกก.สอบสวน เปิดเผยว่า วันนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกทั้งหมดมาพบพนักงานสอบสวน ซึ่งถูก กกต.แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และเมื่อทำการสอบปากคำทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำตัวไปทำประวัติ ก่อนจะปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อที่จะให้มาพบพนักงานสอบสวนใหม่ ภายใน 30วัน เพื่อไปหาหลักฐานมาสู้คดี

 

เกี่ยวกับ คดี 6 วัดปทุมวนาราม ซึ่งมี กมนเกด เป็น 1 ในนั้น ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตตั้งแต่ 6 ส.ค.2556 แล้ว ว่า สุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, อัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแห่ง ผู้เสียชีวิตที่ 2, มงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสีย ชีวิตที่ 3, รพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับ รถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และ อัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัย อภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ศาลสั่งว่าผู้ตายที่ 1,3-6 ถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ ขณะเกิดเหตุ ส่วนผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุน .223 จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ.  และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนของมือทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา 

นอกจากนี้ ภายหลังการอ่านคำสั่งในวันนั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทยังรายงานด้วยว่า ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งในครั้งนั้นให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net