Skip to main content
sharethis

ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 53 พร้อมครอบครัวของ "วันเฉลิม" ที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชาเมื่อ 2 ปีก่อนติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาจากกลาโหมหลังจากไม่มีความคืบหน้านานนับปี สืบเนื่องจากเมื่อปลายมิ.ย.ที่ผ่านมากลาโหมประกาศเปิดช่องพูดคุยกับคนเห็นต่าง 

5 ก.ค. 2565 สำนักข่าวราษฎร และ The Reporter รายงานถึงกรณีที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 พร้อมครอบครัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชาเมื่อมิถุนายน2 ปีก่อน เดินทางไปทวงความคืบหน้าในการติดตามคดีของคนในครอบครัวพวกตนที่กระทรวงกลาโหม หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงประกาศเปิดช่องพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากับผู้เห็นต่างเมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมลเกด อัคฮาด ที่มาพร้อมกับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ กล่าวว่าที่ตนมาในวันนี้เพื่อติดตามกรณีผู้เสียชีวิต 6 รายในวัดปทุมวนารามซึ่งมีกมลเกดเป็น 1 ในนั้น ทั้งที่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีผลการไต่สวนการตายแล้วว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องโดยระบุว่าทหาร 8 นายบนรางรถไฟฟ้านั้นเป็นผู้กระทำ แต่พนักงานอัยการส่งคดีกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม

สำนักข่าวราษฎรรายงานอีกว่า เบื้องต้นวงพูดคุยญาติผู้เสียชีวิตจากสลายชุมนุมปี 53 ต่างกล่าวถึงคดีความของญาติของตนในปี 53 ยังไม่มีความคืบหน้า แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 12 ปีเป็นเสียงเดียวกัน

ด้าน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลทั้งหมดด้วยใจเป็นกลาง การพบปะในครั้งนี้ถือเป็นการช่องทางในการพูดคุยกัน และเห็นใจกับผู้ที่สูญเสีย ในวันนี้เรารับข้อมูลมาเพื่อจะนำไปดูว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็อยากให้เดินหน้าต่อไป

ส่วน The Reporter รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ว่า ตนได้ทิ้งประเด็นคำถามกับทางกลาโหมไว้เรื่องที่คำสั่งของ คสช. ที่ออกมาโดยมิชอบจนทำให้วันเฉลิมต้องลี้ภัยและถูกบังคับให้สูญหาย รวมไปถึงผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่โดนหมายเรียกจาก คสช.ให้มารายงานตัวหลังรัฐประหาร ส่วนคำตอบก็ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไรมีความจริงจังหรือไม่หรือจะกลายเป็นทางตัน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องให้โอกาสเพราะเป็นการหาทางออกร่วมกัน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า กระทรวงกลาโหมมีการพื้นที่มันเปิดก็จริง แต่ด้วยโครงสร้างและกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีโอกาสที่จะเกิดการละเมิดสิทธิอยู่และการที่ประชาชนจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังเป็นเรื่องยาก แม้ว่ากระทรวงกลาโหมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องความมั่นคงไม่ใช่แค่เรื่องจะสนทนาเพราะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดรัฐประหารอีก

พรเพ็ญกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลในเวลานั้นด้วยว่า จากตอนนั้นก็ยังไม่มีทหารรายใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแม้แต่รายเดียวแม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งหลังรัฐประหารปี 57 ที่บางคนถูกติดตามตัว มีบางคนในห้องเล่าว่าเคยถูกเอาถุงคลุมศีรษะ หรือมีญาติต้องลี้ภัยไป บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ เธอเชื่อว่าทางกระทรวงกลาโหมมีทั้งชื่อและประวัติ การเยียวยาและแก้ผลการกระทำที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net