Skip to main content
sharethis

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสท์แจง ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล แบ่งกระทรวง พรรคกำลังฟังเสียงประชาชน หลังจำนวน ส.ส. ประกาศเป็นทางการ ท่าทีที่ผ่านมาแทงกั๊กมาตลอดบนเงื่อนไขยอมรับนโยบายพรรค ร่วมงานกันได้ ด้านโบว์ ณัฏฐา มหัทธนาโพสท์จดหมายเปิดผนึก ตั้งคำถาม 5 ข้อวัดจุดยืนพรรคภูมิใจไทยและอนุทิน

(คล้องพวงมาลัย) อนุทิน ชาญวีรกูล (ที่มา:Facebook/อนุทิน ชาญวีรกูล)

9 พ.ค. 2562 เฟสบุ๊คของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมีการโพสท์ชี้แจง ใจความว่า “ขอเรียนว่ายังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลและแบ่งกระทรวง ภูมิใจไทย กำลังฟังเสียงประชาชน”

การโพสท์มีขึ้นหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจำนวน 499 จาก 500 ที่นั่งแล้ว โดยพรรคภูมิใจไทยที่ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะร่วมกับขั้วพรรคเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐนั้นได้ ส.ส. ไปจำนวน 51 ที่นั่ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่ผ่านมาอนุทินยังไม่มีท่าทีชัดเจนใดๆ ต่อการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเมื่อ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา อนุทินแถลงข่าวหลังประชุมใหญ่สามัญประจำปี 1/2562 ว่ายังไม่สามารถกำหนดท่าทีทางการเมืองใดๆ ได้ เพราะยังไม่ทราบผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พรรคจึงตัดสินอยู่อย่างเงียบๆ รอให้ทุกอย่างได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ การจะไปทางไหนนั้นไม่ได้ดูว่าอยู่ฝั่งไหน แต่จะดูว่าสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ พร้อมสนับสนุนนโยบายพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ มีความขัดแย้งใดๆ หรือไม่ และเห็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักหรือไม่

เมื่อ 25 มี.ค. 2562 หนึ่งวันหลังการเลือกตั้งทั่วไป หลังทราบว่าพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวน 39 ที่นั่งแล้ว อนุทินให้เงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลคือจะร่วมกับพรรคที่ยอมรับนโยบายทลายทุกข้อจำกัดของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะนโยบายปลดล็อคกัญชาเสรี

7 มี.ค.2562 เว็บไซต์พรรคภูมิใจไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมือง เรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็นส.ส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งไม่เป็นด้วยที่ให้ 250 ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ 

ด้านณัฏฐา มหัทธนาหรือ ‘โบว์’ นักกิจกรรมการเมืองโพสท์จดหมายเปิดผนึกต่ออนุทิน สอบถามถึงทิศทางของอนุทินและพรรคว่าจะตัดสินใจเลือกอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่าย คสช. ใจความว่า

จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ในช่วงเวลาที่การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการด้วยสูตรคำนวณที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพิ่งเกิดขึ้น และผลปรากฏว่า

  • เจ็ดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงรวม 245 ที่นั่ง
  • ฝ่ายประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์มี 138 ที่นั่ง
  • พรรคที่ยังไม่ประกาศตัวมี 116 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจน ความสนใจย่อมพุ่งมาที่พรรคภูมิใจไทยกับ 51 ที่นั่งที่ได้รับจากเสียงของประชาชน พร้อมกับการทบทวนคำมั่นสัญญาก่อนการเลือกตั้ง

เพียงสองวันก่อนการเลือกตั้ง คุณอนุทินประกาศในการแถลงข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยยึดถือว่าผู้จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ จะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของส.ส. พรรคไม่ต้องการให้เกิดปัญหารัฐบาลเสียงข้างน้อย เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ แต่ไม่มีความมั่นคง

“ขอให้ ส.ส.เคารพศักดิ์ศรีของตนเองรวมเสียงให้ได้ 376 คน เลือกนายกรัฐมนตรี อย่าให้คนอื่นมาช่วยเราเลือกเลย”

22 มีนาคม พรรคภูมิใจไทยประกาศชัดว่า “ถ้าภูมิใจไทยได้รับการเลือกตั้ง มาเป็นอันดับ 1 นายกฯ ต้องชื่ออนุทิน เท่านั้น แต่หากมาเป็นอันดับ 2 เรายอมให้พรรคเบอร์ 1 ตั้งรัฐบาล เราไม่ขัดหลักประชาธิปไตย เราเห็นด้วยที่หลายพรรคไม่ต้องการให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง”

และในทุกโอกาส ภูมิใจไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการผลักดันนโยบายต่างๆของพรรค นั่นหมายถึงความตั้งใจที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาล ในวันนี้ที่จะต้องเลือกด้วย 51 ที่นั่งที่จะกลายเป็นตัวชี้ขาด คำถามคือพรรคภูมิใจไทยจะเลือกให้ใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล? จุดยืนที่ประกาศก่อนการเลือกตั้งยังอยู่ที่เดิมหรือไม่?

ต่อไปนี้คือคำถามที่ต้องตอบตัวเองและประชาชน

พรรคยังยืนยันศักดิ์ศรีในการเลือกของส.ส. พร้อมต้านการโหวตเลือกนายกโดยส.ว.หรือไม่? หรือเปลี่ยนใจคิดเลือกร่วมทางที่ง่ายกว่ากับ 250 เสียงสว.ที่หัวหน้าคสช.เตรียมไว้โหวตให้ตัวเอง?

  • ภูมิใจไทยมีความเห็นอย่างไรกับการคัดเลือก 250 สว.ตามบทเฉพาะกาล ที่ละเว้นทุกข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ จนเกิดสว.ที่เดินย้ายจากเก้าอี้ครม.และสนช.จำนวนมากมานั่งรอโหวตเลือกนายกฯ ไม่เว้นแม้แต่น้องชายแท้ๆของหัวหน้าคสช.?
  • มีความเห็นอย่างไรกับการพลิกสูตรคำนวณส.ส. ที่ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนที่นั่งในฝ่ายประชาธิปไตย และเพิ่มจำนวนให้พรรคเล็กที่ได้เสียงไม่ถึง 71,000 คะแนนตามเกณฑ์ที่จะได้ส.ส.พึงมีตามรัฐธรรมนูญ? และรู้สึกอย่างไรที่ทั้ง 11 พรรคเล็กนั้นคือพรรคที่จะเข้าร่วมสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์?
  • ประชาธิปไตยสำหรับภูมิใจไทยยังหมายถึงการเคารพคะแนนเสียงของประชาชนหรือไม่ หรือเสียงของคนยศพลเอกหนึ่งคนที่เลือก 1 ใน 3 ของรัฐสภาได้นั้นมีความหมายกว่าซะแล้ว? คำว่าธรรมาภิบาล และความชอบธรรมสำหรับพรรคภูมิใจไทยมีความหมายว่าอย่างไร?
  • คุณอนุทินมีศรัทธาในหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมาเกือบห้าปี กับสภาที่ไร้ฝ่ายค้าน การออกคำสั่งอย่างไร้การตรวจสอบ ใช้งบประมาณอย่างอิสระกับโครงการประชารัฐและบัตรสวัสดิการเพื่อสร้างคะแนนสียงให้พรรคการเมืองชื่อเดียวกันที่เสนอตัวเองเป็นแคนดิเดทนายก มากพอจะสนับสนุนให้เขาสืบทอดอำนาจสำเร็จอย่างนั้นหรือ?
  • ภาพการถูกตั้งข้อหา ถูกจำคุก ข่มขู่คุกคามสารพัด ของนักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน ประชาชน ที่พยายามปกป้องสิทธิพลเมืองขั้นต่ำที่สุดตลอดห้าปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลคสช. มีความหมายอะไรกับหัวใจติดปีกของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบ้างหรือไม่?

หากภูมิใจไทยเลือกอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะเกิดรัฐบาล 296 เสียงที่พร้อมบริหารประเทศทันที แต่ถ้าไม่ ก็จะเกิดฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแทน ด้วย 245 เสียงจากเจ็ดพรรคบวกกับบางส่วนของประชาธิปัตย์ที่อาจตัดสินใจรักษาหลักการประชาธิปไตยและเลือกเป็นฝ่ายค้านอิสระ อาจเกิดปัญหารัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างที่คุณอนุทินเคยประกาศว่าไม่ต้องการ

แต่เหนือสิ่งอื่นใดการตัดสินใจนั้นจะเป็นเครื่องกำหนดเองว่าพรรคภูมิใจไทยได้ทำสิ่งที่น่าภูมิใจทั้งต่อตนเองและประเทศชาติในฐานะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้วหรือยัง

“The time is always right to do what is right.”

ด้วยความหวังและปรารถนาดี

โบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา

9 พฤษภาคม 2562

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ไทยรัฐ Thai PBS

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net