Skip to main content
sharethis

ส.ว. รัฐแอละแบมาผ่านร่างกฎหมายที่จะเทียบเท่ากับการสั่งห้ามการทำแท้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นการจุดชนวนให้ผู้หญิงหลายคนออกมาโพสต์ถึงประสบการณ์แย่ๆ ที่พวกเธอต้องเผชิญเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยเพราะรัฐไม่รองรับในแฮชแท็ก #youknowme

17 พ.ค. 2562 เมื่อไม่นานนี้รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่เป็นเสมือนการสั่งห้ามทำแท้ง โดยในกฎหมายระบุให้มีบทลงโทษจำคุกแพทย์ที่เป็นคนทำแท้ง แต่อาจจะคุ้มครองไม่ให้คนตั้งครรภ์ถูกดำเนินคดีไปด้วย ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวจะงดเว้นในกรณีการตั้งครรภ์จากการข่มขืนและการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างญาติหรือคนในครอบครัวเท่านั้น

กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นการท้าทายคำตัดสินในคดีประวัติศาสตร์ Roe v. Wade เมื่อปี 2517 ที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินให้คนตั้งครรภ์มีสิทธิในการเลือกได้เองว่าจะทำแท้งหรือไม่ ในช่วงที่มีการอภิปราย ส.ว. รอดเจอร์ สมิธเทอร์แมน จากพรรคเดโมแครตถามว่ากฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์อะไร ส.ว. ไคลด์ แชมบลิส จากพรรครีพับลิกันตอบว่า "เพื่อให้พวกเราสามารถท้าทายศาลสูงสุดในคดี Roe v. Wade ได้โดยตรง"

ส.ว. ฝ่ายพรรคเดโมแครตโต้แย้งว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้คนตั้งครรภ์ต้องแสวงหาวิธีการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยแทน รวมถึงสร้างความยุ่งยากอย่างไม่จำเป็นต่อคนที่เป็นเหยื่อการข่มขืนและการมีเพศสัมพันธ์กับญาติหรือคนในครอบครัว นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังจะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์จากการต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่พอ ส.ว. พูดอภิปรายถึงเรื่องความปลอดภัยของคนตั้งครรภ์แล้ว สิ่งที่แชมบลิสอภิปรายตอบมีเพียงแค่ว่า "ผมหวังว่าจะไม่มีผู้หญิงคนใดต้องทำแบบนั้นในอนาคต"

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ สเตเฟน เบรเยอร์ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการตัดสินพิจารณาคดี Roe v. Wade ใหม่อีกครั้ง แต่ตัวเบรเยอร์เองก็มีความคิดเห็นสนับสนุนคำตัดสินเดิมโดยบอกว่า "เป็นการตัดสินที่มีเหตุผลอ้างอิงอย่างดี" และ "ไม่ได้สร้างปัญหาในเชิงปฏิบัติมาโดยตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา"

สตาซี ฟ็อกซ์ ประธานกรรมการบริหารขององค์กรด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์แพลนด์พาเรนฮูดเซาธ์อีสต์แถลงต่อต้านกฎหมายใหม่นี้เนื่องจากมองว่ามันจะเป็นการทำร้ายผู้หญิงอีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด "ชาวแอละแบมาเป็นแค่เบี้ยหมากในเกมการเมืองที่จะสร้างปัญหาให้กับการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายในระดับประเทศเท่านั้น" ฟ็อกซ์กล่าว

ทั้งนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านในเรื่องนี้กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดียในรูปแบบที่คล้ายกับ #MeToo คือการเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า #youknowme มีผู้ริเริ่มคือพิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ชื่อ บีซี ฟิลิปส์ โดยที่ฟิลิปส์เริ่มต้นด้วยการระบุว่า "มีผู้หญิง 1 ใน 4 เคยทำแท้งมาก่อน มีคนจำนวนมากที่คิดว่าพวกเขาไม่รู้จักคนที่เคยทำแท้ง แต่ #youknowme" และบอกให้มีคนเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านทางแฮชแท็ก #youknowme นี้

นอกจากฟิลิปส์แล้วยังมีดาราคนอื่นๆ ที่ต่อต้านกฎหมายห้ามทำแท้งฉบับใหม่ของรัฐแอละแบมา โดยมีคริส อีแวน นักแสดงที่รับบทเป็นกัปตันอเมริกาในภาพยนตร์ของมาร์เวลคอมิค รวมถึงดาราเพลงป็อบ เลดีกาก้าก็เรียกกฎหมายใหม่นี้ว่าเป็น "อะไรที่จอมปลอม" และ "ขอภาวนาเผื่อผู้หญิงเหล่านี้ทุกคนและหญิงเยาว์วัยที่ต้องทนทุกข์ภายใต้น้ำมือของระบบนี้"

มีหลายคนที่ร่วมเล่าประสบการณ์ทำแท้งผ่านแฮชแท็กนี้ เช่น รายหนึ่งเล่าว่าเธอเคยทำแท้งในตอนอายุ 22 ปี ในตอนนั้นเธอกลัวมาก เพิ่งผ่านประสบการณ์เจ็บปวดจากการสูญเสียแม่ของตัวเอง กำลังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น และร้องไห้หนักมาก แต่ก็ไม่เสียดายที่ตัดสินใจทำ มีอีกรายหนึ่งเป็นนักแสดงรายการใน Netflix ชื่อ จามีลา จามิล เธอเล่าว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับทั้งตัวเธอเองและตัว "เด็ก" เพราะในตอนนั้นเเธอไม่พร้อมทั้งทางการเงินและทางจิตใจ

ขณะเดียวกันไม่เพียงแค่เรื่องเล่าของคนที่ทำแท้งสำเร็จเท่านั้น มีรายหนึ่งพูดถึงกรณีของเรื่องที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับคนทำแท้งอย่างผิดกฎหมายแล้วเสียชีวิต

เรียบเรียงจาก

Alabama abortion bill ignites women's stories with #youknowme, BBC, May 16, 2019

Republicans in Alabama Just Passed a Bill to Outlaw All Abortions, Mother Jones, May 14, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net