Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียตัดสินให้ผู้ตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ ด้านนักสิทธิเผยแม้อยากผลักดันให้การทำแท้งสามารถทำได้ทุกกรณี แต่แค่นี้ก็ถือก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์แล้วสำหรับประเทศที่นับถือคริสต์คาทอลิก 

กลุ่มรณรงค์สิทธิการทำแท้งออกมาเฉลิมฉลอง หลังศาล รธน. ตัดสินให้การทำแท้งอายุครรภ์ ไม่เกิน 24 สัปดาห์ ไม่เป็นอาชญากรรม (ภาพจาก Center for Reproductive Rights อ้างอิงจาก Victoria Holguín / Causa Justa)

ประเทศโคลอมเบีย กลายเป็นประเทศล่าสุดในทวีปลาตินอเมริกาที่ขยายสิทธิในการทำแท้งของผู้ตั้งครรภ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญลงมติอนุญาตให้การทำแท้งภายใน 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย

แม้ว่ากลุ่มรณรงค์สิทธิทางเลือกในการทำแท้ง ต้องการให้การยุติการตั้งครรภ์ได้รับอนุญาตในทุกกรณีอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น แม้ทางกลุ่มมองว่า คำตัดสินของศาล รธน. 9 รายในครั้งนี้ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ทั้งหมด แต่ยังคงมองว่า เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์สำหรับประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมีประชากรยุติการตั้งครรภ์ราว 400,000 คนต่อปี 

ก่อนหน้านี้ โคลอมเบียอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์เฉพาะกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์ตกอยู่ในอันตราย กรณีที่ตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติ และกรณีการตั้งครรภ์ที่เป็นผลมาจากการถูกข่มขืนเท่านั้น

หลังคำตัดสินของศาลครั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์จะได้รับอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายโดยที่ไม่ต้องมีเหตุผลรองรับใดๆ ถ้าหากมีอายุครรภ์ยังไม่เกิน 24 สัปดาห์ แต่กรณีที่มีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว ยังคงมีข้อจำกัดในการทำแท้งอยู่

คริสตินา โรเซโร ทนายความจากศูนย์เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Center of Reproductive Rights) ที่มีสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 องค์กรสิทธิที่ยื่นฟ้องให้ศาลสูงของประเทศโคลอมเบียทบทวนกฎหมายการทำแท้งใหม่ในปี 2563 กล่าวด้วยว่า เขาพยายามทำให้การทำแท้งไม่เป็นอาชญากรรมในทุกกรณี แต่แค่นี้ก็คือเป็นก้าวที่สำคัญของประวัติศาสตร์แล้ว

ในคำร้องต่อศาลระบุว่า การจำกัดการทำแท้งถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีที่มีรายได้น้อยและมีความยากลำบากในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากเขามีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงบุคลากรทางแพทย์ ทนายความ หรือนักจิตวิทยา ที่จะช่วยพวกเขาตรวจพิสูจน์ว่าการตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาอย่างไรบ้าง หรือจะมีอันตรายหรือไม่

โรเซโร กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายโคลอมเบียนี้จะทำให้คนจนสามารถเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาท้าทายต่อไปคือการทำให้แน่ใจว่าจะมีการนำกฎหมายนี้มาใช้จริง

ในประเทศอื่นๆ แถบลาตินอเมริกาอย่าง อาร์เจนตินา อุรุกวัย และคิวบา ต่างอนุญาตให้มีการทำแท้งได้โดยไม่มีข้อจำกัดเว้นแต่จะมีอายุครรภ์ถึงช่วงเวลาหนึ่ง ขณะที่ศาลสูงสุดในเม็กซิโกเพิ่งตัดสินให้ผู้ทำแท้งไม่ควรถูกดำเนินคดีในศาล แต่บางประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว ฮอนดูรัส และสาธารณรัฐโดมินิกัน ยังคงห้ามทำแท้งโดยมีข้อยกเว้นแค่บางกรณี

เนื่องด้วยโคลอมเบียเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่งผลให้ประเด็นการทำแท้งกลายเป็นข้อถกเถียงมานาน แม้ว่าทางผู้พิพากษามีการนัดประชุมหารือ เพื่อพิจารณาปรับแก้กฎหมายทำแท้งหลายครั้งจากที่มีการยื่นคำร้องโดยกลุ่มสิทธิสตรี แต่ก็ไม่มีการลงมติใดๆ และหลังมีคำตัดสินดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนทางเลือกในการทำแท้ง ออกมาโบกธงสีเขียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มบนถนนกรุงโบโกต้า ขณะที่เบื้องหน้าของพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านกองทำแท้ง ซึ่งสวมชุดสัญลักษณ์สีน้ำเงิน  

โจนาธาน ซิลวา นักกิจกรรมของกลุ่มต่อต้านการทำแท้งในนาม "ยูไนเต็ดฟอร์ไลฟ์" (United for LIfe) กล่าวว่า เขาประหลาดใจต่อคำตัดสินของศาลเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และประกาศว่าจะทำการประท้วงต่อไป รวมถึงเรียกร้องให้รัฐสภาทำการกำกับควบคุมการทำแท้ง

ทั้งนี้ ผลโพลในโคลอมเบีย เมื่อปี 2564 ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25 มองการทำแท้งเป็นอาชญากรรม ขณะที่ร้อยละ 42 ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว สำหรับกฎหมายโคลอมเบีย ผู้ที่ทำแท้งผิดกฎหมายอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี


เรียบเรียงจาก

Colombia's highest court legalizes abortion up to 24 weeks, NPR, 21-02-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net