วุฒิสภาฝรั่งเศสผ่านร่างบัญญัติการรับรอง 'สิทธิในการทำแท้ง' ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ฝรั่งเศสมีโอกาสที่จะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่จะมีการรับรองสิทธิในการทำแท้งเอาไว้ในระดับรัฐธรรมนูญหลังจากที่ วุฒิสภาโหวตผ่านร่างบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการระบุสิทธิในเรื่องนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ขั้นตอนที่เหลือคือการผ่านร่างรอบสองในสภาแห่งชาติและให้การทำประชามติในเรื่องนี้

มีความก้าวหน้าสำคัญในเรื่องสิทธิในการทำแท้งเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสหลังจากที่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ส.ว. ของฝรั่งเศสได้ลงมติให้มีการระบุสิทธิในการทำแท้งเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดกระบวนการในลำดับขั้นถัดไปได้ ถึงแม้ว่าหนทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ได้ยังอีกยาวไกล

หลังจากที่มีการอภิปรายในเรื่องนี้ ส.ว. ของฝรั่งเศสได้โหวตสนับสนุนให้มีการเพิ่มเรื่องสิทธิในการทำแท้งลงไปในรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 166 เสียง คัดค้าน 152 เสียง ทางวุฒิสภาได้อนุมัติร่างบัญญัติที่เสนอโดย ส.ส. ในสภาแห่งชาติจากพรรคซ้ายจัดของฝรั่งเศส ลา ฟรองซ์ อันซูวมีส์

การพยายามผลักดันให้สิทธิในการทำแท้ได้รับการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อปี 2565 ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินในเชิงที่จะเป็นการยกเลิกสิทธิในการทำแท้งของชาวอเมริกั

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2518 แล้ว และมีการขยายเงื่อนไขอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้สูงสุดคือ 14 สัปดาห์เมื่อปี 2565 กลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการระบุสิทธิในการทำแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญบอกว่ามันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่แล้วให้หนักแน้นมากขึ้นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญนั้นเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ากฎหมายลูก

สภาแห่งชาติของฝรั่งเศสผ่านร่างบัญญัติดังกล่าวนี้เมื่อเดือน พ.ย. 2565 แล้วส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อจนกระทั่งมีการโหวตผ่านร่างเมื่อต้นเดือน ก.พ. ร่างบัญญัติดังกล่าวนี้ร่างขึ้นโดย ฟิลิปเป บาส ส.ว. จากพรรครีพับลิกันของฝรั่งเศส

บัญญัติในชั้นวุฒิสภานั้นเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 34 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เพื่อให้มีการรับรองว่าสิทธิในการเลือกจะทำแท้งนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยระบุว่าประชาชน "มีเสรีภาพที่จะยุติการตั้งครรภ์"

บัญญัติในระดับสภาแห่งชาตินั้นเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะรับรองเรื่องนี้ในฐานะเสรีภาพส่วนบุคคล และจะรับรอง "สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ"

ถ้าหากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้ว่าร่างบัญญัตินี้จะไม่ผ่านร่างในระดับวุฒิสภา จากที่ก่อนหน้านี้วุฒิสภาฝรั่งเศสเคยปฏิเสธร่างบัญญัติเดิมเมื่อเดือน ต.ค. 2565

มีการตั้งข้อสังเกตว่าส.ว.เสียงข้างมากพรรครัพับลิกันซึ่งเป็นพรรคเดียวกับบาสผู้เสนอร่างบัญญัตินี้ได้โหวตคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเกินความจำเป็น และอ้างว่าไม่ได้มีปัญหาการลิดรอนสิทธิในการทำแท้งเกิดขึ้นในฝรั่งเศส

หลังจาก ส.ว. ผ่านร่างบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว ตามกระบวนการของฝรั่งเศสก็จะมีการส่งร่างกลับไปให้สภาแห่งชาติพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ทั้งสองสภาจะต้องมีความเห็นชอบร่วมกันในร่างบัญญัติก่อนที่จะนำออกทำประชามติให้คนลงคะแนนสนับสนุนหรือคัดค้าน หลังจากนั้นถึงจะแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญได้

ซึ่งถ้าหากว่าร่างนี้ผ่านขั้นตอนสภาขั้นสุดท้าย ก็จะทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำให้สิทธิในการทำแท้งกลายเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากฝรั่งเศสแแล้ว ที่อื่นๆ ในยุโรปก็มีความคืบหน้าในเรื่องสิทธิในการทำแท้งเกิดขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในสเปนเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 มีการผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้คนอายุ 16-17 ปี สามารถทำแท้งได้โดยไม่ต้องผ่านความยินยอมของพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งกฎหมายนี้ก็ยังคงรอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายอยู่ แต่ในบางประเทศอย่างโปแลนด์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือมีการแก้กฎหมายการทำแท้งเมื่อปี 2563 ให้มีการห้ามทำแท้งอย่างเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ในฮังการีก็เพิ่งจะมีการแก้กฎหมายเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาซึ่งจะมีการจำกัดเงื่อนไขการทำแท้งมากขึ้น

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท