Skip to main content
sharethis

ผู้หญิงหลายพันคนในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคละตินอเมริกาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิทางเลือกในการทำแท้ง ซึ่งในหลายประเทศของละตินอเมริกายังมีกฎหมายเข้มงวดในเรื่องนี้ส่งผลให้ผู้หญิงหลายร้อยคนถูกลงโทษจำคุกเพราะเรื่องการทำแท้ง

ภาพการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ป้ายผ้าใหญ่เขียนว่า จะไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียวต้องตายจากการทำแท้งแบบลับๆ อีกแล้ว (ที่มา: iwhc.org)

30 ก.ย. 64 สำนักข่าวสัญชาติฝรั่งเศส “France24” รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 64 ผู้ประท้วงในหลายประเทศของละตินอเมริกาประท้วงเรียกร้องสิทธิทางเลือกในการทำแท้งในวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล ผู้ประท้วงจำนวนมากสวมผ้าพันคอสีเขียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวสนับสนุนสิทธิทางเลือกการทำแท้งทั่วโลก บางส่วนถือป้ายระบุเรียกร้องกฎหมายอนุญาตทำแท้ง และระบุว่า "สิทธิที่จะเลือก"

ในประเทศเอลซัลวาดอร์ มีผู้หญิงหลายร้อยคนประท้วงหน้าอาคารสภานิติบัญญัติโดยถือป้ายที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกทำแท้ง ในเอลซัลวาดอร์นั้นมีกฎหมายห้ามทำแท้งในทุกกรณี ใครก็ตามที่พยายามทำแท้งจะถูกลงโทษจำคุก 8 ปี โดยอ้างว่าเป็นการ "ฆาตกรรมรุนแรง" มีผู้หญิง 17 รายที่อยู่ในเรือนจำเพราะถูกลงโทษในเรื่องนี้เพียงเพราะพวกเขาจำเป็นต้องทำแท้งด้วยภาวะฉุกเฉินทางร่างกาย

เรื่องนี้ทำให้ผู้ประท้วงเสนอต่อสภาว่าขอให้มีการอนุญาตทางกฎหมายในการทำแท้งสำหรับกรณีที่ทำให้ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อชีวิต กรณีที่ตัวอ่อนในครรภ์ไม่น่าจะรอดชีวิตหลังคลอด หรือกรณีของผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะเผชิญกับความรุนแรงทางเพศอย่างการข่มขืน

ข้อเสนอของผู้ประท้วงนี้ออกมาหลังจากที่ประธานาธิบดี นายิบ บูเกเล ของเอลซัลวาดอร์ ยกเลิกไม่ทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลของเขาเองเป็นผู้ร่างปฏิรูปรัฐธรรมนูญซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำให้การทำแท้งในเชิงบำบัดรักษาหรือความจำเป็นทางการแพทย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายได้

นอกจากเอลซัลวาดอร์แล้ว ประเทศฮอนดูรัส, นิคารากัว, สาธารณรัฐโดมินิกัน และเฮติ ต่างก็มีกฎหมายห้ามทำแท้งทุกกรณีและในประเทศอื่นๆ ของละตินอเมริกาก็มักจะอนุญาตให้ทำแท้งได้เฉพาะกับสาเหตุทางการแพทย์ หรือในกรณีการถูกข่มขืนเท่านั้น

ในประเทศชิลี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการผ่านร่างกฎหมายที่ระบุยกเลิกการลงโทษการทำแท้งถ้าหากทำแท้งภายใน 14 สัปดาห์หลังตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศที่มีกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่ต่อต้านการทำแท้งอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ยังต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาชิลี ที่มีความอนุรักษ์นิยมจัดมาก

คามิลา วัลเลโฮ ส.ส.พรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งในผู้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ของชิลี กล่าวว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำหรับผู้ทำแท้งที่ถูกลงโทษและถูกเอาผิดทางอาญา วัลเลโฮ กล่าวอีกว่า "ขอให้ปิตาธิปไตยจงล่มสลาย จงล่มสลายไป!" และ "ขอให้สตรีนิยมจงเจริญ และจะชนะ จะชนะ!"

สำหรับประเทศที่มีการทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายในละตินอเมริกานั้นมี อุรุกวัย, คิวบา, อาร์เจนตินา และกายอานา รวมถึงกรุงเม็กซิโกซิตี และ 4 รัฐของประเทศเม็กซิโก ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของเม็กซิโกตัดสินให้การทำแท้งไม่ผิดกฎหมาย

ในกรุงเม็กซิโกซิตี ก็มีผู้หญิงหลายสิบคนเดินขบวนในเมืองเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอาผิดการทำแท้งทั่วประเทศ มีป้ายประท้วงจากผู้ประท้วงระบุว่า "การทำแท้งไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย การข่มขืนต่างหาก" มีนักกิจกรรมบางคนที่ตะโกนว่า "ให้พวกเหยียดเพศจงสั่นเทา ละตินอเมริกาจะเป็นสตรีนิยม"

มีการประท้วงอีกแห่งหนึ่งในกรุงลิมา ประเทศเปรู ผู้คนหลายสิบคนเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลเปรูทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ซึ่งในกฎหมายเปรูตอนนี้อนุญาตให้แต่เฉพาะกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงในเปรูอาจจะต้องรับศึกหนักหน่อย เพราะถึงแม้ว่าจะเพิ่งเลือกตั้งได้ผู้นำเป็นฝ่ายซ้ายอย่าง เปโดร คาสติลโล แต่คาสติลโลคนนี้ก็เป็นพวกหัวอนุรักษนิยมในประเด็นทางสังคมเขาปฏิเสธไม่ยอมให้การทำแท้งถูกกฎหมายในช่วงที่เขาหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่ภาคประชาสังคมเก็บสถิติว่ามีการลอบทำแท้งเกิดขึ้นประมาณ 370,000 กรณีต่อปีในเปรู

 

เรียบเรียงจาก

Thousands march for abortion rights in Latin America, France 24, 29-09-202

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net