Skip to main content
sharethis

ประชาธิปัตย์ตั้งเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญในการร่วมรัฐบาล เผยเย็นนี้เตรียมคุยสรุปผลการตัดสินใจภายในพรรค คาดรู้ผลทันทีคืนนี้

28 พ.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพบปะพูดคุยกันระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐกับเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่ได้พูดคุยประเด็นร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เป็นเพียงการพูดคุยและหลักการทำงาน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีหลักการชัดเจนคือ ประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งหลักการทำงานจะยึดนโยบายที่หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยมีชุดนโยบายแก้จนสร้างคนสร้างชาติเรื่องสำคัญ 

พลังประชารัฐเทียบเชิญร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ยังไม่ตอบ-ขอประชุมพรรคก่อน

“แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข ซึ่งแนวทางเหล่านี้พรรคพลังประชารัฐจะนำกลับไปหารือกันในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อได้ผลจะแจ้งมาที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเวลา 17.00 น.วันนี้ ก่อนจะประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคในเวลา 17.30  น.” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ราเมศ กล่าวว่า พรรคจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ที่ประชุมร่วมจะพิจารณาความเห็นของทุกฝ่าย ขอให้ประชาชนวางใจ เพราะกระบวนการพรรคประชาธิปัตย์มีขั้นตอนค่อนข้างชัดเจน จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยคนเดียว แต่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคข้อ 96 ตามมติระหว่างคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคที่จะพิจารณาด้วยเหตุและผล เมื่อมีมติออกมาจะชี้แจงเหตุผลรองรับ ยืนยันว่ายึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยหลักการที่ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐไปนั้นมีดังนี้

1.พรรคมีหลักการที่สำคัญคือยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.นโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ ประกันรายได้ เรื่องการเกษตร และชุดนโยบายแก้จน เป็นต้น

3.แก้รัฐธรรมนูญที่พรรคมีจุดยืนตั้งแต่ครั้งลงประชามติ ซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ สิทธิของประชาชนที่ลดน้อยถอยลง การปราบทุจริตยังมีช่องโหว่ กระบวนการทางการเมืองที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และหลายเรื่องที่พรรคการเมือเห็นร่วมกันว่าควรแก้ไข

ส่วนกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุพาดพิงว่าพรรคประชาธิปัตย์พยายามต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจนถึงการตั้งเงื่อนไขการรัฐธรรมนูญ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ธนาธรควรศึกษารัฐธรรมนูญให้แตกฉาน เพราะการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินเป็นขั้นตอน โดยประกาศอาสาเป็นผู้นำในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงแยกออกจากประเด็นร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดว่าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของ ส.ส. ยืนยันว่าผลที่ออกมาไม่ได้มาจากการต่อรอง แต่เป็นเพราะ ส.ส. เห็นแล้วว่าชวน หลีกภัย เป็นบุคคลที่มีศักยภาพ

ส่วนจุดยืนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยประกาศไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สืบทอดอำนาจ นายราเมศ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ประกาศไว้ช่วงการเลือกตั้ง และเป็นเรื่องสำคัญที่ที่ประชุมจะนำมาพิจารณาช่วงเย็นนี้ด้วย แม้พรรคพลังประชารัฐจะเสนอเงื่อนไขให้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ได้ผูกมัดกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการประกาศจุดยืนของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวานนี้(27 พ.ค.) ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของที่ประชุมเช่นเดียวกัน  

“ยืนยันว่าจะเป็นไปตามมติพรรค โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่มีการต่อรองตำแหน่งหรือต่อราคาทางการเมือง ส่วนที่สมาชิกบางส่วนที่ยกอุดมการณ์พรรคข้อ 4 ว่า พรรคจะไม่สนับสนุนเผด็จการทุกรูปแบบ ขอให้สมาชิกร่วมกันแสดงความเห็นกันเยอะ ๆ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาความเห็นของทุกฝ่าย”  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net