Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มักมีคนมองอย่างผิวเผินว่าแนวคิดจริยศาสตร์ของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) เป็น “จริยศาสตร์ที่ไร้หัวใจ” เหตุผลเพราะคานท์ยืนยันว่าการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรม ต้องเป็นการกระทำที่เป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึกหรือความต้องการต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบ ดังนั้น การกระทำด้วยแรงจูงใจด้านบวก เช่น การกระทำด้วยความรักหรือความสงสารจึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ดีทางศีลธรรม

แต่การอ้างเหตุผลเช่นนั้นเพียงพอที่จะสรุปว่าจริยศาสตร์คานท์ไร้หัวใจจริงหรือ เราชินกับการแยกเด็ดขาดระหว่าง “หัวใจ” กับ “เหตุผล” แล้วบอกว่าหัวใจเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ หรือความปรารถนาต่างๆ ส่วนเหตุผลไม่เกี่ยวกับเรื่องพวกนั้น แล้วยังอ้างว่าเหตุผลเป็นเรื่องของ “สมอง” ทั้งๆ ที่ในทางวิทยาศาสตร์ ทั้งอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลต่างก็เป็นการทำงานของสมองเช่นกัน แต่ประเด็นคือ คานท์ยังพูดถึง “เจตจำนง” (will) ด้วย และคำถามก็คือ เจตจำนงเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจหรือไม่

แน่นอนว่าคานท์พูดถึง “เจตจำนงเสรี” (free will) ที่สามารถเป็นอิสระจากกฎทางชีววิทยาและกฎทางสังคมวิทยาได้จริง และ “เจตจำนงดี” (good will) ที่ป็นเจตจำนงทำตามกฎศีลธรรมที่เราบัญญัติขึ้นจากการใช้เหตุผลของตนเอง แต่กฎศีลธรรมที่เราบัญญัติขึ้นนั้นจะต้องเป็นกฎที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพ “ศักดิ์ศรีในตัวเอง” ของความเป็นมนุษย์เสมอ ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเอง ก็คือความเป็นผู้มีเหตุผลของตนเอง มีเสรีภาพ และความเสมอภาค พูดแบบคานท์สั้นๆ ก็คือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดมิได้” แนวคิดจริยศาสตร์ที่เสนอให้เราใช้เหตุผลและเจตจำนงบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอ จะใช้ความเป็นมนุษย์เป็น “เครื่องมือ” เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของอารมณ์ความรู้สึก หรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ได้เช่นนี้ คือจริยศาสตร์ที่ไร้หัวใจจริงหรือ

ทำไมคานท์ถึงคิดว่าศีลธรรมควรเป็นอิสระจากแรงจูงใจด้านบวก เช่น ความรักเป็นต้น ผมคิดว่าคานท์น่าจะเห็นปัญหาสำคัญบางอย่างในประวัติศาสตร์ศีลธรรมศาสนาคริสต์แบบยุโรปยุคกลาง สงครามครูเสดมีการปลุกใจชาวคริสต์โดยพระสันตะปาปาที่ใช้ “ความรัก” เป็นแรงจูงใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความรักพระเจ้า ความรักดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ความรักพี่น้องชาวคริสต์ด้วยกันเอง อีกด้านหนึ่งของความรักคือความเกลียดชังจากการวาดภาพว่านักรบมุสลิมเป็นปีศาจ ศัตรูของพระเจ้า เป็นพวกคนเถื่อนที่สมควรถูกปราบให้สิ้นซาก คำสอนของเยซูที่ว่า “จงให้อภัยแก่ศัตรู” ใช้ไม่ได้ผลในกรณีสงครามครูเสด สงคราม 30 ปีระหว่างพวกคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ การล่าแม่มดพวกนอกรีต และความรุนแรงในนามศาสนาอีกมากมาย


ไม้กางเขนอันเป็นสัญลักษณ์ระลึกถึงการสละชีวิตเพื่อไถ่บาปแก่มวลมนุษย์ของเยซู
ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของนักรบครูเสด
ที่มา https://stock.adobe.com/search?k=crusaders&asset_id=796679838


ดังนั้น การกระทำจากแรงจูงใจของความรัก จึง “ไม่แน่นอน” ว่าจะเป็นการกระทำที่ดีเสมอไป ความรักพระเจ้า รักธรรมะ รักชาติ รักศาสนา รักกษัตริย์ (เป็นต้น) บางครั้งก็นำไปสู่ความรุนแรงหรือการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเลือดเย็น ดังที่เราเคยเห็นคนรักเจ้ารุมกระทืบคนใส่เสื้อแดงในช่วงไว้ทุกข์การสวรรคตของ ร. 9 หรือนักบวชประกาศว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” หากฆ่าในนามความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น

อีกอย่าง ถ้าการทำความดีต้องขึ้นกับเงื่อนไขของอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก เช่น “ความรู้สึกสงสาร” เมื่อแพทย์ผู้รักสถาบันกษัตริย์เห็นคนชู 3 นิ้ว ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันประสบอุบัติเหตุอาการสาหัสมาถึงโรงพยายาล แพทย์คนนั้นก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะปฏิเสธการรักษาใช่ไหม เพราะผู้ป่วยคนนั้นนอกจากแพทย์จะไม่รู้สึกสงสารแล้วยังเกลียดมากอีกด้วย แต่ในแง่ “ศีลธรรม” ตามทัศนะแบบคานท์ แพทย์มี “หน้าที่” รักษาผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าตนจะรักหรือเกลียด สงสารหรือไม่สงสารก็ตาม เพราะหลักการที่ว่าแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าตนจะรักหรือเกลียด สงสารหรือไม่สงสาร (หรือรู้สึกเฉยๆ) เป็น “หลักการที่สมเหตุสมผล” ที่ควรใช้เป็นกฎทั่วไป หรือ “กฎสากล” ที่แพทย์ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำตาม ขณะที่ “การเลือกปฏิบัติ” ต่อคนที่แพทย์เกลียดโดยปฏิเสธที่จะรักษา ย่อมเป็นหลักการที่ไม่สมเหตุสมผล จึงเป็นกฎสากลไม่ได้ เพราะถ้าแพทย์คนนั้นบังเอิญประสบอุบัติเหตุอาการสาหัสเสียเอง แล้วไปเจอแพทย์อีกคนที่เกลียดเขา แพทย์ที่กลายเป็นผู้ป่วยนั้นก็ย่อมถูกปฏิเสธการรักษาจากแพทย์อีกคนโดยชอบธรรมได้เช่นกัน

ตามกรณีตัวอย่าง ถ้าศีลธรรมขึ้นกับเงื่อนไขของความรู้สึกสงสาร ก็แปลว่าถ้าแพทย์ไม่รู้สึกสงสารหรือเกลียดคนไข้บางคน เขาก็ย่อมปฏิเสธการรักษาได้อย่างชอบธรรม แต่ถ้าศีลธรรมขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผล แพทย์ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวปฏิเสธหน้าที่ในการรักษาคนไข้ได้  

กรณีตัวอย่างการรักษาคนไข้โดยไม่เลือกปฏิบัติเป็นกฎทั่วไปหรือกฎสากลที่แพทย์ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำตาม เป็นตัวอย่างที่สามารถแอพพลายกับกฎสากลในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย เช่น กฎที่ศาลต้องปฏิบัติต่อทุกคนบนหลักความเสมอภาคตามกฎหมาย หรือในกรณีกฎกติกาอื่นๆ ที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน คานท์มองศีลธรรมเป็นเรื่องของ “กฎ” (moral law) และเป็น “กฎสากล” (universal law) ที่สมเหตุสมผลให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ เช่น กฎการไม่โกหกกันและกัน make sense กว่ากฎที่ใครจะโกหกได้เสมอเมื่อเห็นว่าตนเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ กฎการไม่ใช้กันและกันเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง make sense กว่ากฎที่ใครจะใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือได้เสมอเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการ กฎการปกป้องเสรีภาพเพราะเห็นว่าเสรีภาพบ่งถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนของทุกคน make sense กว่ากฎการปกป้องเสรีภาพที่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าเพราะมันเป็นเสรีภาพของฉัน และเพื่อประโยชน์ของฉันเท่านั้น เป็นต้น

คำถามคือ กฎศีลธรรมเช่นนี้เป็นกฎที่ไร้หัวใจอย่างไร เราจะบอกได้ไหมว่า หมอที่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ทุกคนอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชังเป็นหมอที่ไร้หัวใจ ศาลที่ตัดสินคดีอย่างยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคทางกฎหมายเป็นศาลที่ไร้หัวใจ คนที่ปฏิบัติตามกฎว่าเราต้องไม่โกหกกันและกัน ไม่ใช้กันและกันเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ปกป้องเสรีภาพเพราะเห็นว่าการมีเสรีภาพหมายถึงการมีศักดิ์ศรีความเป็นคนของทุกคน เขาจะเป็นคนที่ไร้หัวใจอย่างไรหรือ

ยังมีแนวคิดทางศีลธรรมที่เป็นคู่แข่งคานท์ คือแนวคิดประโยชน์นิยม (utilitarianism) ที่ถือว่าความดีทางศีลธรรมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ในด้านกลับ ถ้ามีสองทางเลือกที่จำเป็นต้องเลือก ทางเลือกที่ถูกคือทางเลือกที่สูญเสียน้อยที่สุด ภาพข้างล่างคือตัวอย่างที่อธิบายทางเลือกแบบประโยชน์นิยม
 


ภาพตัวอย่าง The trolley dilemma หรือ The trolley problem  
ที่มา https://becommon.co/culture/thought-dilemma/


ตามภาพนี้ รถรางวิ่งตรงไปที่คน 5 คน มีเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ยืนอยู่ข้างคันโยกเท่านั้นที่ต้องกดคันโยกสับสวิทซ์เพื่อให้รถเปลี่ยนทิศทางได้ แต่ทิศทางนั้นก็มีคนอยู่ 1 คน ที่ต้องถูกรถชนตาย ตามหลักการประโยชน์นิยม เจ้าหน้าที่ต้องกดคันโยกสับสวิทซ์ให้รถเปลี่ยนทิศทางไปชนคน 1 คน เพื่อให้ 5 คนรอด แต่ตามหลักการแบบคานท์ เจ้าหน้าที่จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์ 1 คนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของคนอื่น กรณีตัวอย่างตามภาพนี้ดูเหมือนชาวพุทธจะเห็นด้วยกับประโยชน์นิยมมากกว่าคานท์ (?)

แต่ถ้าเราปรับตัวอย่างเล็กน้อยว่า คนที่อยู่บนราง 1 คนนั้นคือลูกของเจ้าหน้าที่ผู้สับคันโยก เขาจะสับคันโยกให้รถรางเปลี่ยนทิศทางมาชนลูกตัวเองตายหรือไม่ เราน่าจะเดาได้ว่าเขาคงไม่ทำเช่นนั้น เพราะเขามี “หัวใจ” ของความเป็นพ่อที่รักลูก ความรักนั้นทำให้เขาต้องปกป้องลูกตัวเองเป็นอันดับแรก และสังคมก็น่าจะเข้าใจได้ คงไม่มีใครประณามที่เขาไม่สละชีวิตลูกตนเองเพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่า แต่นักประโยชน์นิยมที่เคร่งหลักการ จะยืนยันว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นควรสละชีวิตลูกตัวเองเพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่าหรือไม่ ทว่ากรณีนี้หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบคานท์กลับสอดคล้องกับความมีหัวใจมากกว่าหรือไม่

ตัวอย่างคลาสสิกอีกกรณีหนึ่งคือ เรื่องเล่าเวสสันดรให้ทานลูกเป็นทาส เพื่อตรัสรู้เป็นพุทธะในอนาคต ซึ่งจะได้ทำประโยชน์แก่ชาวโลกได้มากกว่า นี่คือเหตุผลแบบเดียวกับประโยชน์นิยม และเป็นเหตุผลที่ “ฝืน” ความรักที่มีต่อลูก แต่คานท์ย่อมใม่เห็นด้วยกับการให้ทานลูกเป็นทาส เพราะเป็นการใช้ลูกเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่พ่อต้องการ ในกรณีนี้หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบคานท์สอดคล้องกับการมีหัวใจมากกว่าหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกรอบคิด “ปัญญาและกรุณา” อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นพุทธะ จะพบว่าพุทธะยอมรับว่าการกระทำจากแรงจูงใจด้านบวก เช่น การกระทำด้วยความกรุณาเป็นความดีทางศีลธรรม แต่กรุณาต้องถูกนำทางโดยปัญญา กรณีเวสสันดรดูเหมือนปัญญาของเขาจะบอกว่าความกรุณาต่อสรรพสัตว์สำคัญกว่าความรักลูกตัวเอง กล่าวคือ การตรัสรู้เป็นพุทธะเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ สำคัญกว่าการทำตามความรักที่มีต่อลูก ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องเลือกระหว่างความรักลูกกับการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ อย่างหลังจึงควรเลือกมากกว่า

จะเห็นว่าการกระทำทางศีลธรรมที่นำทางโดยปัญญา นอกจากต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ (เช่น กิเลสต่างๆ) แล้ว บางครั้งยังต้อง “ฝืน” ต่อความรู้สึกด้านบวก เช่น กรณีเวสสันดรฝืนต่อความรู้สึกรักลูก และยังต้องเอาชนะความเจ็บปวดจากการมอบลูกให้เป็นทาสของคนอื่นอีกด้วย การกระทำทางศีลธรรมที่นำทางโดยปัญญาจึงมีนัยสอดคล้องกับการใช้เหตุผลที่เป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึกตามความคิดแบบคานท์ ต่างกันตรงที่ความคิดทางศีลธรรมแบบคานท์จำเป็นต้องนำ “ความเป็นมนุษย์” ของทุกคนมาพิจารณาอย่างเท่าเทียม ดังนั้น ความเป็นมนุษย์ของคน 5 คนจึงไม่ได้สำคัญกว่าความเป็นมนุษย์ของคน 1 คน และการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้พ้นทุกข์ ก็ไม่ได้สำคัญกว่าการเคารพความเป็นคนของลูก เราจึงไม่ควรใช้ชีวิตของคน 1 คน เป็นเครื่องมือให้คน 5 คนรอด และไม่ควรใช้ชีวิตลูกเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นทุกข์

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความคิดพื้นฐานทางศีลธรรม ดูเหมือนพุทธะจะคิดสอดคล้องกับคานท์ว่า “เราต้องไม่ทำต่อคนอื่นในแบบที่ไม่ต้องการให้คนอื่นทำกับเรา” เช่น เราไม่ต้องการถูกละเมิดชีวิต ทรัพย์สิน คนที่เรารัก และถูกใครโกหก เป็นต้น เราก็ไม่ควรไปละเมิดคนอื่นเช่นนั้น ดังนั้น เมื่อว่าโดยความคิดพื้นฐาน ศีลธรรมเป็นเรื่องของการคิดถึงหรือคำนึงถึงคนอื่น หรือเป็นเรื่องของการเคารพความเป็นคนของคนอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องของการ “ขัดเกลา” ตัวเองเพื่อการมีชีวิตที่มีความสุขหรือพ้นทุกข์ส่วนตัวเท่านั้น  

สำหรับคานท์ “ศีลธรรมไม่ใช่วิถี (means) สู่ความสุข” ไม่ใช่เพราะคานท์เห็นว่าเราไม่ควรแสวงหาความสุข แต่การแสวงหาความสุขก็เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการกระทำทางศีลธรรม หมายความว่า ชีวิตคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำทางศีลธรรมเท่านั้น เรายังต้องมีการกระทำหรือกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ไมใช่เรื่องของศีลธรรม เช่น เรายังต้องทำตามกฎทางชีววิทยา เมื่อหิวต้องกินอาหาร ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแขงแรง เป็นต้น หรือทำตามกฎทางสังคมวิทยา เช่น เคารพกฎหมายเพื่อให้สังคมสงบสุข การวางแผนทางธุรกิจเพื่อสร้างฐานะและความสุขในชีวิต เป็นต้น เหล่านี้ไม่ใช่การกระทำทางศีลธรรมโดยตรง นักธุรกิจจะเป็นผู้กระทำทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทางศีลธรรม เช่น เขาจะทำ “สัญญาลวง” เพื่อให้ตนเองได้เปรียบคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าเขาทำตามอารมณ์ความรู้สึกโลภ เขาก็จะทำสัญญาลวง ซึ่งผิดศีลธรรม แต่ถ้าเขาทำตามเหตุผลว่า “เมื่อเราไม่ต้องการถูกใครเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เราก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับคนอื่น” เขาก็จะไม่ทำสัญญาลวง แต่จะตัดสินใจทำสัญญาที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นการเลือกการกระทำที่มีศีลธรรม

การเลือกการกระทำที่มีศีลธรรม คือการเลือกทำ “หน้าที่” (duty) ที่ต้องเคารพความเป็นคนของตนเองและผู้อื่น ดังนั้น การมีศีลธรรม จึงเป็นเรื่อง “ยาก” เพราะต้องฝืนเอาชนะอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของตัวเอง เช่น ความโลภ ความเกลียดชัง ความกลัว ฯลฯ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความสุข หรือมีความสุขเป็นผลลัพธ์ ตรงกันข้าม การกระทำที่มีศีลธรรมมักต้องเผชิญความทุกข์หรือความเจ็บปวดมากกว่า

เช่น เมื่อมองจากทัศนะแบบคานท์ จะเห็นว่า คนแบบ “อานนท์ นำภา” หากเขาใช้ชีวิตทำมาหากินไปตามปกติเหมือนคนทั่วไป เขาน่าจะมีความสุขมากกว่า แต่เมื่อเขาเลือกที่จะทำหน้าที่เคารพความเป็นคนของตนเองและผู้อื่น เขาจึงเลือกเส้นทางต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เพื่อปกป้องเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองและทุกคน การตัดสินใจเลือกทำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่การตัดสินใจจาก “การคำนวณที่แม่นยำ” แบบประโยชน์นิยมว่า จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นความสุขมากกว่าความเจ็บปวดอย่างแน่นอน เพราะน่าจะมีคนจำนวนมากที่รับไม่ได้กับเผด็จการ แต่พวกเขาอาจคำนวณแล้วว่าหากลุกขึ้นมาต่อสู้แบบอานนท์ ย่อมเท่ากับ “เอาหัวชนกำแพง” ไม่มีทางชนะได้หรอก พวกเขาจึงไม่ยอมเสี่ยงที่จะเจ็บตัว แต่การตัดสินใจจากสำนึกเคารพความเป็นคนของตนเองและผู้อื่น กลับไม่ได้นำผลลัพธ์ที่แน่นอนมาใช้เป็นเกณฑ์ที่สำคัญมากกว่า ทว่ายึดถือ “หน้าที่” ในการเคารพและปกป้องความเป็นคนของตนเองและทุกคนเป็นแรงจูงใจสำคัญมากกว่า จนกระทั่งยอมเจ็บปวดจากการสูญเสียอิสรภาพ การพลัดพรากจากครอบครัวที่ตนรัก และการสูญเสียอื่นๆ


อานนท์ นำภา นักสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยทั้งนอกและในคุก

ดังนั้น เส้นทางของผู้มีศีลธรรมแบบคานท์ที่รับผิดชอบต่อหน้าที่ในการเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคน จึงเป็น “เส้นทางยาก” เราจะบอกว่านี่เป็นเส้นทางของผู้ไร้หัวใจได้อย่างไร ผมคิดว่าเส้นทางแห่งปัญญาและกรุณาแบบพุทธะ ก็เป็นเส้นทางยากเช่นกัน หากความสุขเป็นความหมายสำคัญที่สุดของชีวิต พุทธะน่าจะเลือกใช้ชีวิตในปราสาทสามฤดูมากกว่าที่จะเลือกเส้นทางชีวิตที่ต้องเผชิญความยากลำบากนานา

นัยสำคัญหนึ่งของการถือว่าศีลธรรมต้องนำทางโดยเหตุผลตามแนวคิดแบบคานท์ หรือศีลธรรมต้องนำทางโดยปัญญาตามความคิดแบบพุทธะ คือมันไม่สมเหตุสมผลที่เราจะเรียกร้อง “อารมณ์ความรู้สึก” (ซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัย) จากกันและกัน เช่นเรียกร้องให้คนรักกัน สงสารกัน หรือปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความสงสาร อีกทั้งการเรียกร้องเช่นนั้นก็อาจนำไปสู่ปัญหาสำคัญได้ ดังที่เราอภิปรายแล้วแต่แรก แต่มันสมเหตุสมผลมากกว่าที่เราจะเรียกร้องให้ทุกคนมีหน้าที่เคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้แต่คนที่เราไม่รู้สึกรัก สงสาร หรือกระทั่งเกลียด เราก็ต้องเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา นี่คือเหตุผลว่าทำไมแม้แต่อาชญากรที่ชั่วร้ายก็ยังคงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาจึงควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรม (due process of law)

โดยนัยดังกล่าว เราจึงไม่ได้เรียกร้องต่อชนชั้นปกครอง ศาล หรือผู้คนในสังคมให้มีความรัก ความสงสารต่อคนแบบอานนท์ และอีกหลายคนที่โดน 112 แต่เป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากกว่าที่เราควรเรียกร้องให้ชนชั้นปกครอง ศาล หรือคนในสังคมตระหนักถึงหน้าที่เคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนแบบอานนท์และนักสู้ทุกคน นี่คือหัวใจหรือจิตวิญญาณของแนวคิดทางศีลธรรมแบบที่อภิปรายมา ซึ่งเป็นหัวใจหรือจิตวิญญาณที่ดูเหมือนจะไม่มี (หรือ “ไม่เน้น”) ในความคิดทางศีลธรรมแบบที่สอนกันในบ้านเรา 
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net