คำต่อคำ เกษียร เตชะพีระ: ทำความเข้าใจ 6 ตุลา อุดมการณ์ซ้าย-ขวายุคนั้นเป็นอย่างไร

จากงาน 44 ปี 6 ตุลา วิทยากรได้แก่ เกษียร เตชะพีระ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จัดโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2563

ขอเน้นไปที่อุดมการณ์ทางการเมือง โดยตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า เอาเข้าจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 นั้น คนสมัยนั้นเขาคิดอะไรกัน ความคิดเห็นของเขาต่างกันตรงไหน

อาจารย์ธํารงศักดิ์ เกริ่นถึง 2 เรื่องซึ่งคล้องกับที่เตรียมมาโดยบังเอิญ

เรื่องแรก เพลงหนักแผ่นดิน มันทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ตอนจอมพลประภาส (จารุเสถียร) กลับเข้าไทย มันมีการกลับเข้ามา 2 รอบเพื่อช่วยเขย่าระบอบประชาธิปไตยตอนนั้น นั่นคือ การกลับมาของจอมพลประภาส ประมาณวันที่ 1 สิงหาคม และเมื่อจอมพลถนอม (กิตติขจร) บวชเป็นสามเณรเข้ามาช่วงใกล้เดือนตุลาคม

ตอนประภาสกลับเข้ามา ผมปฏิบัติหน้าที่การเป็นนักศึกษาที่ดี คือ ไปร่วมชุมนุมต่อต้านการเข้ามาของประภาส หลังจากชุมนุมแช่อยู่หลายวัน ตัวเหม็นเน่าก็กลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เช้าขึ้นขณะแต่งตัวกำลังจะกลับเข้ามาร่วมชุมนุมที่ท่าพระจันทร์ น้องสาวซึ่งเรียนอยู่ มศ.3 ก็เดินเข้ามา ไม่พูดอะไรสักคำ แต่ร้องเพลงหนักแผ่นดินใส่หน้า ร้องสดๆ  “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน” มันเข้าไปถึงในครอบครัว อินขนาดนั้น

เรื่องที่สอง ข้อสรุปของอาจารย์ธำรงศักดิ์ที่ว่า รัฐประหาร 6 ตุลาใช้ความขัดแย้งทางอุดมการณ์เรื่องคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายมาเป็นข้ออ้างปราบปราม แต่ผลชัดเจนเฉพาะหน้าคือ ล้มระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสร้างขึ้น เปิดช่องให้คนกลุ่มใหม่เข้าสู่อำนาจจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะนักธุรกิจคนชั้นกลาง ผมอยากจะเดินต่อจากประเด็นนั้น

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เพื่อให้เข้าใจบรรยากาศหรือปัญหาเกี่ยวกับการจำเรื่องนี้ ขอย้อนไปเมื่อประมาณสักเกือบ 20 ปีก่อน ผมสอนที่แคมปัสรังสิต ในวิชาการเมืองพื้นฐาน พอสอนเรื่องการเมืองไทยในระยะ 14-6 ตุลา

เกษียร เตชะพีระ (ภาพจาก PITVFANPAGE)

ผมก็จะเอาสารคดีเกี่ยวกับวันที่ 14 และ 6 ตุลาไปเปิด มีอยู่คาบหนึ่งดูสารคดีจบแล้วเวลาหมดพอดีก็เลิกชั้น ผมเดินออกมาเพื่อจะกลับท่าพระจันทร์ มีนักศึกษาหญิงสองคนวิ่งตามผมมาจนทัน คนที่ถามหน้าตามีปัญหาคาใจอย่างมาก เขาถามผมว่า

"อาจารย์คะ ทำไมประชาชนปรบมือหัวเราะดีใจที่พวกเราถูกฆ่า"

ผมไม่นึกว่าจะเจอคำถามนี้ และเธอใช้คำว่า "ที่พวกเราถูกฆ่า" จริงๆ มันเกิดก่อนหน้าเธอตั้งหลายสิบปี แต่เธอ identify ตัวเองกับนักศึกษาที่ถูกปราบปรามทารุณเข่นฆ่าในสารคดี

คาบเรียนครั้งถัดมาผมจึงเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ และตอบว่า  

“เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเราไปกระทบของที่เขารักมาก และเขาคิดว่าเขาทำตามความประสงค์ของผู้ที่เขารักที่สุด”

6 ตุลา 19 คืออะไร

ผมคิดว่า 6 ตุลา คือ การฆ่าหมู่กับการรัฐประหาร มันเกิดไล่ๆ กันในวันเดียวกัน เพียงตอนเช้ากับตอนเย็น

ถามว่าโดยใคร โดยรัฐราชการหรือทุกวันนี้จะใช้ว่า รัฐพันลึก ก็ได้

ถามว่าเพื่ออะไร เพื่อทวนกระแสการปฏิวัติกระฎุมพี 14 ตุลา ซึ่งมีผลเปลี่ยนระบอบอำนาจ มันพาคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาสู่อำนาจ ในบริทของการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่ 2 จากกลุ่มชนชั้นนำข้าราชการไปสู่กระฎุมพีชาวเมือง 6 ตุลาเกิดขึ้นเพื่อหยุดกระแสการย้ายอำนาจนั้นในช่วง 3 ปีก่อนหน้านั้น

เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นในบริบท 3 ชั้น

  • ระดับโลก - มีสงครามเย็นระหว่างค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับค่ายทุนนิยมนำโดยอเมริกา
  • ระดับภูมิภาค - ในอินโดจีนมีสงครามร้อน ในเขมร ลาว เวียดนาม ทั้ง 3 ประเทศในอินโดจีนฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะในปีเดียวกัน เพียงแต่คนละเดือน คือ ปี 2518
  • ภายในประเทศ - มีสงครามประชาชนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล

ฉะนั้น บริบทมันดุเดือดมากที่ล้อมเหตุการณ์อยู่

3 เรื่องที่สำคัญที่เกิดใหม่เมื่อเราคิดย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คือ

1.อเมริกาถอนทหาร แปลว่า ความมั่นคงที่เกิดจากกำลังทหารอเมริกันประมาณ 50,000 คนที่มาตั้งฐานทัพ 10 กว่าแห่งในเมืองไทย และยังรวมถึงเงินทุนมหาศาลที่อเมริกาส่งมาช่วย ส่งมาลงทุน รวมถึงญี่ปุ่นที่ลงทุนในเมืองไทยแล้วทำให้คนชั้นกลางเติบใหญ่ขึ้นมาในช่วงการพัฒนาของสฤษดิ์และถนอม มันกำลังจะหมดไป กระฎุมพีไทยจึงลงแดง คำว่า Withdrawal Symptom เขียนโดยเบนเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ระบุว่าคนชั้นกลางในสังคมไทยในช่วง 3 ปีนั้นเกิดความรู้สึก insecure (ไม่มั่นคง) อย่างลึกซึ้ง เพราะสหรัฐอเมริกากำลังถอนตัวจากภูมิภาค เคยใช้เมืองไทยเป็นปราการต้านคอมมิวนิสต์ ไม่เอาแล้ว แพ้ในลาว แพ้ในเวียดนาม แพ้ในเขมร กำลังจะถอนตัวออก

2.ฉะนั้น กระฎุมพีไทยตกใจตื่นกลัวคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความสำคัญขึ้นอย่างมาก เพราะกระฎุมพีไทยไม่เห็นอย่างอื่นแล้วจะกอดไว้แน่น เป็นหลักยึดความมั่นคงท้ายสุด เคยกอดอเมริกาไว้แน่นก็มากอดสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้แทน

3.ผลจาก 14 ตุลาคือ มันกลายเป็นยุคของการเมืองมวลชน ไม่ใช่ของชนชั้นนำเท่านั้นแล้ว มวลชนเข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ทั้งบนถนนและหีบบัตรเลือกตั้ง ผลของการเมืองมวลชนในช่วง 3 ปีนั้นทำให้เกิดการแยกพวกของอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นซ้ายกับขวา แล้วตามด้วยการก่อการร้ายทางการเมือง มีการลอบสังหาร ขว้างระเบิด ผู้นำของประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตไป โดยรัฐพันลึกกำกับชักใย มีเหตุผลมีหลักฐานมากมายที่จะยืนยันเรื่องนี้ได้

6 ตุลา เป็นสงครามซ้ายกับขวา เข้มข้นในช่วงปี 2518-2519 พลังการเมืองฝ่ายขวาระดม 3 เสาหลักของชาติมาปรักปรำต่อต้านขบวนการของนักศึกษาฝ่ายซ้ายอย่างครบถ้วน แปลว่าใช้ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเขาใช้อย่างไร

การใช้สถาบันชาติ > ฝ่ายซ้ายไม่ไทย ฝ่ายขวานิยามชาติด้วยเชื้อชาติและชีวิทัศน์การเมือง ความคิดบางแบบถือว่าไม่ไทยดังนั้น คุณเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเมื่อปี 2518 จึงถูกตั้งสมญานามว่า เคี้ยง แซ่เล้า ไม่ไทยเป็นเจ๊ก คุณสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ ปี 2519 ฉายาที่ได้คือเป็นแขกไม่ใช่ไทย ส่วนเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาถูกหาว่าเป็นญวณ

คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีหลัง 6 ตุลา ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร อาสาไปอธิบายเหตุการณ์นี้ให้โลกฟัง เขาบอกว่า

"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย

"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเองมาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวาง แล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง 4 ศพ

"ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้น ก็สามารถจะปะติดปะต่อได้

"ที่มีการเผาคนตายไป 4 ศพนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็กๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด

"เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้... หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตูว์ เอาอ่างมีตะแกรงหมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว

"ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม

"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่ามีชาติอื่นคือ ชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามที่ถูกฆ่าตายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง 4 เสีย"

ข้อสรุปของแกคือ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ไม่ใช่วิสัยของคนไทยทำกัน แปลว่า 6 ตุลาคือ ญวณเผาญวณ ไม่เกี่ยวกับไทย

การใช้สถาบันศาสนา> พระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารจตุรัส คนสัมภาษณ์คือคุณคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งทุกวันนี้เป็นวุฒิสมาชิก ระบุว่า

"การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปไหม อันนั้นอาตมาเห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้นับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”

เป็นการยืนยันว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

การใช้สถาบันกษัตริย์ > ชัดเจนในกรณีฆ่าแขวนคอสองช่างไฟฟ้า คือ คุณชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ แกจบจากวิทยาลัยอาชีวะและมีความตื่นตัวทางการเมือง พอถนอมกลับมา แกก็ไปติดโปสเตอร์คัดค้านที่นครปฐม ถูกจับทุบตีทารุณจนตายเอาไปแขวนคอประจานไว้ ผู้ต้องสงสัยคือสายตรวจตำรวจนครปฐม

มันเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และไม่ใช่เหตุการณ์แรกแต่มีต่อเนื่องมา ต่อมานักศึกษาก็ทำละครฆ่าแขวนคอโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคอนจัดแสดงกรณีนี้ โดยให้ นศ.มาเลียนแบบผลัดกันทำผ้าผูกแขวนคอกับต้นโพธิ์ในชุดทหาร ทำไมต้องชุดทหาร ก็เพราะมันพลางเชือกที่รัดเอวไว้ได้ ผลก็คือ นสพ.ดาวสยามฉบับบ่าย 5 ตุลา รายงานข่าวว่าการแสดงละครนี้ว่า แขวนคอเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด ศูนย์ฯเหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ มันนำไปสู่ความโกรธแค้นของคนจำนวนมากซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาที่มีคนตายบาดเจ็บนับร้อย

สรุปคือสถาบันหลักทั้งสามของชาติถูกนำมาใช้กล่าวหานักศึกษาโดยฝ่ายขวาว่า เป็นญวณไม่ไทย เป็นมารไม่พุทธ และหมิ่นรัชทายาท ไม่จงรักภักดี แล้วเกิดการล้อมปราบโดยม็อบฝ่ายขวาและเจ้าหน้าที่ตชด. เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ข้อสรุปของผมคือ ชาติเป็นฆาตกรได้

อุดมการณ์ซ้าย-ขวา คืออะไร

ดังนั้นตัวอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันหากสรุปจากเหตุการณ์นั้นจึงเป็น

ราชาชาตินิยมฝ่ายขวา VS. ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย

ทั้ง 2 กลุ่มมีวิธีคิด วิธีมองปัญหาอย่างไร โดยสมมติให้แต่ละฝ่ายมองแก่นแกนหรือเสาหลักหรือหัวใจของความเป็นชาติของฝ่ายตรงข้ามดู แปลว่า ให้ฝ่ายซ้ายลองมองชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ดูว่าเห็นอะไร แล้วให้ฝ่ายขวามอง เอกราช ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นคำขวัญของฝ่ายซ้ายดูว่าเห็นอะไร

ฝ่ายซ้ายเห็นชาติอย่างไร

มองชาติโดยปฏิเสธการนิยามชาติ ไม่ยึดเชื้อชาติเป็นเกณฑ์ ทุกคนล้วนเป็นคนไทยที่มีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่เน้นเส้นแบ่งชนชั้น ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้แรงงาน ชนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา ไม่ว่าชนชาติใด ยึดถือหลักความสมานฉันท์ข้ามชาติในหมู่คนชั้นล่าง แต่ถือว่าคนชั้นสูงผู้มั่งมีทรัพย์สินและกดขี่ขูดรีดคนชั้นล่างชาติเดียวกันนั้นเป็นชนชั้นปกครอง ไม่นับเป็นประชาชน และไม่นึกรวมอยู่ในประชาชาติ

ฝ่ายซ้ายมองศาสนาอย่างไร

ด้วยอิทธิพลของลัทธิมาร์กซ์ เขาถือว่าความคิดจิตสำนึกของมนุษย์ย่อมพัฒนาผ่านขั้นต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เดิมทีนับถือผี สิ่งเร้นลับ มาเป็นตำนานปกรณัม มาเป็นศาสนา มาเป็นปรัชญา มาเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ศาสนาเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาความคิดความเข้าใจของมนุษย์ และถือว่าลัทธิมาร์กซ์-คอมมิวนิสต์ก็เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง คือ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุดในปัจจุบัน และจึงวิพากษ์ศาสนาว่าเป็น "ฝิ่นของประชาชน" ซึ่งมีความหมาย 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง ฝิ่นเป็นยา ศาสนามีสรรพคุณช่วยบรรเทาความปวดทางใจ พอให้คนเราทนอยู่ในโลกที่ปรวนแปร ไร้เหตุผลและพลการนี้ได้  ด้านหนึ่งก็มีโทษที่มอมเมา ไม่เจาะลึกถึงเหตุผลและความจริงแบบวิทยาศาสตร์ ฝ่ายซ้ายมองว่าศาสนาจะพ้นยุคหมดสมัยในอนาคต ผู้คนจะเลิกเชื่อไปเองเมื่อถึงสังคมอุดมคติ

ฝ่ายซ้ายมองพระมหากษัตริย์อย่างไร

พวกเขาใช้คำว่า "ศักดินา" เป็นคำทั่วไปหรือสามานยนามเรียกการปกครองระบอบราชาธิปไทยที่มีสถาบันกษัตริย์ทั่วไป ศัพท์คำนี้มาจากชื่อเรียกสังคมขั้นที่ 3 ในทฤษฎีมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ว่าด้วยพัฒนาการของสังคมมนุษย์ 5 ขั้นตอน โดยเชื่อว่า มันเริ่มจากสังคมคอมมูนบุพกาล ไปสู่การครองทาส ไปสู่ศักดินา ไปสู่ทุนนิยม และไปสู่คอมมิวนิสต์ การเลือกใช้ศัพท์คำว่า "ศักดินา" เรียกระบอบราชาธิปไตยไทยจึงเท่ากับจับการปกครอง สถาบัน และประเพณีแห่งระบอบนั้นใส่เข้าไปในวิถีขั้นตอนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ทั่วไปในกรอบทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งย่อมต้องมีอันคลี่คลายไปตามตรรกะแห่งทฤษฎี

ฝ่ายซ้ายมักวิพากษ์ศักดินาในอดีตโดยอิงงานเรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน ของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ฝ่ายซ้ายสมัยนั้นเงียบต่อปัจจุบัน (ขณะนั้น) เพราะตระหนักถึงพื้นภูมิอันแน่นหนาของวัฒนธรรมการเมืองอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ในหมู่คนไทยร่วมสมัย ซึ่งนั่นก็คือ ไม่พูด เมื่อสำรวจดูสังคมอุดมคติของฝ่ายซ้ายก็จะพบว่าไม่มีที่ทางชัดเจนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด

ฝ่ายขวามองเอกราชอย่างไร

(ฝ่ายซ้ายมองว่าเอกราชต้องมีทุกด้าน ไม่ใช่แต่ในนามตามกฎหมาย แต่รวมถึงการต่อต้านจักรวรรดินิยม ทุนนิยม ก่อนอื่นคืออเมริกา, ญี่ปุ่น)

ฝ่ายขวาเห็นว่า ต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ ได้แก่ จีน เวียดนาม โซเวียต

ฝ่ายขวามองประชาธิปไตยอย่างไร  

(ฝ่ายซ้ายมองว่า เน้นเนื้อหา อำนาจคนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา ไม่เน้นรูปแบบสถาบันรัฐสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ฯลฯ เพิ่งคุยกับอ.เข็มทองก่อนขึ้นเวที พูดจริงๆ ตอนที่ผมทำกิจกรรมปี 18-19 เราไม่เคยคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญเลย คำว่าประชาธิปไตยเน้นไปที่อำนาจตรงของคนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา)

ฝ่ายขวามองว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในขณะนั้นอ่อนแอเกินไป เปิดช่องให้เกิดคอมมิวนิสต์แทรกแซง ป้องกันคอมมิวนิสต์ไม่ได้ จำต้องธำรงรักษาระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วค่อยมีแผนสร้างประชาธิปไตย 12 ปี

ความเป็นธรรมทางสังคม

(ฝ่ายซ้ายมองว่า เน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจตามวิถีทางสังคมนิยม คือโอนปัจจัยการผลิตหลัก ที่ดิน อุตสาหกรรมขนานใหญ่มาเป็นของชาติ สร้างระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่มุ่งสู่สังคมนิยมแบบจีน)

ฝ่ายขวามองว่า ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ขจัดอย่างไรก็ไม่หมด ความเป็นธรรมเกิดได้แม้คนเราจะไม่เสมอภาค โดยผู้มั่งมีเจือจานเกื้อกูลอุปถัมภ์ผู้ยากไร้ขาดแคลน

สรุป

มันมีชาติ 2 แบบ ที่ฝ่ายซ้ายฝันถึงเน้นความเสมอภาค ประชาธิปไตย ประชานิยมกับชาติที่ฝ่ายขวาจินตนากรรมถึงเน้นราชาชาตินิยม เป็นชาติที่แตกต่างเหลื่อมล้ำแต่อุปถัมภ์เกื้อกูลกัน ในแง่ประชาธิปไตย ประชาชนอาจไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่คนดีต้องมีอำนาจ ยิ่งคนดีมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งดี จะได้ป้องกันคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ในแง่ประชานิยมก็ตรงข้ามกัน ฝ่ายขวาเน้นชนชั้นนำ

2 คุณค่านี้จึงชนกัน จินตนากรรมของ 2 ฝ่ายแตกต่างกันเป็นคนละชาติ เป็นจินตนาการตรงข้ามกันราวคนละชุมชน เข้าปะทะชนกันในพื้นที่รัฐชาติเดียวระหว่าง 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 เพื่อแย่งชิงรัฐอันเป็นเดิมพันยอดปรารถนา รางวัลสูงสุด และเครื่องมืออันขาดเสียไม่ได้ในการสถาปนาชาติแบบที่ตนนิยมให้ปรากฏเป็นจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท