Skip to main content
sharethis

 

15 ก.ค.2562 จากกรณีโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกปรับทัศนคติ นั้น

สื่อหลายสำนัก เช่น ข่าวสดออนไลน์ PPTV และคมชัดลึกออนไลน์ รายงานคำชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดย วิษณุ กล่าวว่า เดิมคสช. เป็นคนเรียก เมื่อคสช.หมดไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไรต่อ ทั้งนี้ กอ.รมน. ไม่ใช่ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

ต่อคำถามที่ว่าการเรียกปรับทัศนคติ รวมถึงให้มีการกักตัวด้วยใช่หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า “ไม่มี ไม่ใช่ ทุกวันนี้ก็มีเชิญไปปรับอยู่แล้ว คือ ขอร้อง อย่านะ แต่ไม่สามารถเอาไปควบคุมตัวได้ การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะประกาศกฎอัยการศึก”

ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตว่า เย็นวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศคสช. คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 70 ฉบับ โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุก่อนมีการออกคำสั่งดังกล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่กำลังจะออกจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับสุดท้าย อย่างไรก็ตามในบรรดาประกาศคำสั่งที่ถูกยกเลิกมีอย่างน้อย 13 ฉบับ ที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรยกเลิกรวม 35 ฉบับ

อย่างไรก็ตามเมื่อทางไอลอว์พิจารณาอย่างใกล้ชิด พบว่า คำสั่งมีความน่ากังวลต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของประชาชนอย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลมากักตัวเพื่อทำการสอบถามได้ในค่ายทหาร 7 วันยังคงบังคับใช้อยู่ นอกจากให้อำนาจการเรียกคนมาสอบถามแล้ว คำสั่งฉบับที่ 3/2558 ยังให้อำนาจทหารในการจับกุมหรือร่วมสอบสวนบุคคลที่ถูกกล่าวหาในความผิดบางประเทศร่วมกับตำรวจ การบุกเข้าค้นบ้านของบุคคลโดยไม่ต้องขออำนาจศาล ที่สำคัญการใช้อำนาจดังกล่าวหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไปโดยความสุจริต จะไม่สามารถเอาผิดทั้งทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัยได้

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า แนวปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของบุคคลที่แสดงความเห็นทางการเมืองในทางคัดค้านคสช. หรือหาข่าวทั้งตามสถานที่ชุมนุมและตามงานเสวนาวิชาการต่างๆ ก็อาจเป็นแนวปฏิบัติที่อาศัยฐานอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยอาจเป็นอำนาจตามข้อ 4(6) ที่กำหนดให้ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" มีหน้าที่กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ดังนั้น แม้จะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีรัฐบาล และรัฐสภาใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว อำนาจที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะปฏิบัติการต่างๆ เพื่อรักษาบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net