Skip to main content
sharethis

ประสบการณ์ร่วมเวทีเสรีภาพสื่อระดับโลก ดูปัญหาเสรีภาพสื่อที่นักข่าวถูกกดปราบ ฆ่าตายสารพัด กับโอกาสรณรงค์ประเด็นสื่อเมื่อรัฐบาลแคนาดาและสหราชอาณาจักรนำนักข่าว-คนทำงานด้านสื่อหลักพันและรัฐมนตรีจาก 60 ประเทศร่วมงานประชุมระดับโลกที่ลอนดอน กับความย้อนแย้งทางนิยามเมื่อมีสื่อบางคนไม่ถูกนับรวมในงานนี้ และคำถามที่มาถึงไทยใต้บริบทการเมือง-เทคโนโลยี

อะนาส อะเรเมเยา อะนาส กล่าวปาฐกถาโดยไม่เปิดหน้า

อะนาส อะเรเมเยา อะนาส เติบโตในค่ายทหารประเทศกานา ต่อมาเขาทำงานเป็นนักข่าวให้สื่อต่างชาติหลายสำนัก เขาและทีมงานได้ไปทำข่าวเรื่อง “การเก็บเกี่ยวมนุษย์” เหตุฆาตกรรมต่อเนื่องปริศนาในประเทศมาลาวีกับทีมข่าวของบีบีซี พวกเขาสามารถเก็บข้อมูลและเข้าถึงคนที่อ้างว่าเป็นมือสังหาร

ในคืนหนึ่ง หนึ่งในมือสังหารบอกทีมว่าควรไปเก็บภาพใกล้ๆ หมู่บ้านเพื่อดูที่ฝังศพ ที่ที่ทำการสังหาร ทีมจึงเดินทางกลับไปที่หมู่บ้าน แต่ในขณะที่ถ่ายทำก็มีชาวบ้านหลายร้อยคนรวมตัวกันมาทำร้ายโดยมุ่งจะสังหารพวกเขาแม้ว่าทีมจะแสดงตัวแล้วว่าเป็นนักข่าวจากบีบีซีก็ตาม ชาวบ้านใช้ทั้งมีดทั้งก้อนหินประเคนไปที่ทีมข่าว ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ามาห้ามทัพก็ถูกตอบโต้ด้วยการจะถูกเผาบ้าน  อะนาสและทีมหนีออกมาและได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในสภาพที่ยับเยิน

หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น อาห์เหม็ด ฮุสเซน ซุอาเล่ นักข่าวที่อะนาสร่วมทำชิ้นงานดังกล่าวถูกยิงเสียชีวิต บีบีซีระบุว่า เหตุเกิดจากนักการเมืองคนหนึ่งเรียกร้องให้มีการเอาคืน

หลังจากรอดออกมาได้ อะนาสฝืนหลักการของกองบรรณาธิการด้วยการกลับไปยังพื้นที่ที่พวกเขาถูกทำร้ายเพราะอยากรู้ว่าทำไมถึงโดนโจมตี ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบว่าชาวบ้านต่างถอดใจกับนักการเมืองและนักข่าวไปแล้ว สมาชิกในครอบครัวและชุมชนของพวกเขาถูกสังหารไปเยอะแต่กลับไม่มีนักข่าวหรือนักการเมืองเข้าไปช่วย ดังนั้น ไม่ว่านักข่าวคนไหนเข้ามาพวกเขาก็จะฆ่านักข่าวเหล่านั้นเสีย

อะนาสตกผลึกได้ว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพสื่อก็เท่ากับนักข่าวที่ไหนก็จะเจอปัญหาการคุกคามสื่อเหมือนๆ กัน

ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า ในปี 2561 มีนักข่าวถูกสังหารไปอย่างน้อย 99 รายทั่วโลก องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่าในปีเดียวกันมีนักข่าว 348 รายขังคุก สถิตินั้นเป็นที่น่าสนใจว่านักข่าวส่วนมากที่ถูกฆ่า อยู่ในประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม หลายกรณีกลายเป็นข่าวโด่งดังระดับโลกไม่ว่าจะเป็นการฆ่าจามาล คาช็อกกี นักข่าววอชิงตันโพสท์ในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในตุรกี การข่มขู่ คุกคามและจับกุมตัวมาเรีย เรสซ่า ผู้ก่อตั้งสื่ออิสระชื่อแรปเลอร์ในฟิลิปปินส์ รวมถึงวะลงและจ่อซออู นักข่าวรอยเตอร์ในพม่าที่ถูกศาลพม่าสั่งจำคุกเนื่องจากทำข่าวเรื่องการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา

แบคดรอปงาน นำเอารายชื่อนักข่าวที่เสียชีวิตมาทำเป็นข้อความ "#DEFEND MEDIA FREEDOM"

การทำข่าวในยุคปัจจุบันมีเพดานต่ำลงอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ทั่วโลก นักข่าวในไทยที่เคยถูกนำเข้าค่ายปรับทัศนคติ ถูกดำเนินคดี และสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ที่ถูกทำโทษอยู่สถานีเดียวกว่า 20 ครั้งจากประเด็นการนำเสนอเนื้อหาอย่างไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. อย่างต่อเนื่อง คงทำให้ประชาชนรู้ว่าข้อเท็จจริงหรือความเห็นบางเรื่องไม่สามารถนำเสนอผ่านงานข่าวได้อย่างปลอดภัย

แม้ยังไม่เป็นวาระแห่งชาติไทย แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลแคนาดาเริ่มส่งผลักดันประเด็นนี้อย่างใหญ่โตด้วยการเชิญนักข่าว นักวิชาการ ผู้ทำงานรณรงค์ราว 1,500 คนจากมากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงรัฐมนตรีจาก 60 ประเทศเข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านเสรีภาพสื่อ (Global Conference on Media Freedom) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 10-11 ก.ค. 2562

ผู้เขียน ในฐานะผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว 

ปัญหาระดับโลก

เสรีภาพการทำงานของสื่อเป็นเรื่องยากที่จะเห็นรูปร่างหน้าตาถ้าไม่มีตัวอย่าง เรื่องราวของปัญหาระหว่างคนทำงานสื่อในหลายภูมิภาคทั่วโลกจึงถูกยกมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางทั้งวงปิดและวงเปิดในการประชุมที่ลอนดอน

ลุซ เมลี เรเยส นักข่าวอาวุโสจากเวเนซุเอลาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่นอกประเทศกล่าวว่า ในประเทศละตินอเมริกาอย่างนิการากัวและเม็กซิโกมีนักข่าวถูกฆ่าตายทุกเดือน นักข่าวจึงต้องเอาตัวรอดด้วยการลี้ภัย หนีออกจากประเทศบ้านเกิดเพราะถูกคุกคามสารพัด ในเวเนซุเอลา แรงกระเพื่อมจากวิกฤติเศรษฐกิจ การเมืองส่งผลต่อนักข่าวอย่างหนัก นักข่าวเข้าไม่ถึงอาหาร รายได้และการบริการด้านสาธารณสุขเหมือนที่ประชาชนทั้งประเทศประสบ แต่ที่มากกว่าคนอื่นก็คือการถูกปิดกั้นช่องทางการนำเสนอข่าว ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ 66 ฉบับปิดตัวลง รัฐบาลพยายามปิดกั้นช่องทางการนำเสนอข่าวออนไลน์ เส้นทางอาชีพของนักข่าวที่ทำข่าวเรื่องคอรัปชันและปัญหาสิทธิมนุษยชนมักจบลงที่คุก

ลีโอโปลโด้ มัลโดนาโด รอง ผอ. Article 19 องค์กรด้านเสรีภาพสื่อจากเม็กซิโกกล่าวว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการสังหารนักข่าวเยอะ แม้มีความพยายามทำให้เกิดสภาพการทำงานที่ปลอดภัย ทั้งการอบรม การจัดให้มีเซฟเฮาส์ แต่ในครึ่งปีที่ผ่านมาก็มีนักข่าวเสียชีวิตไปแล้วถึง 13 คน นักข่าวถูกโจมตีในโซเชียลมีเดียเยอะเมื่อถามคำถามที่ทำให้ประธานาธิบดีอึดอัด

ภาพดอกไม้ไว้อาลัยและโปสเตอร์ประท้วงรัฐบาลเวเนซูเอลา หน้าสถานทูตเวเนซูเอลาประจำกรุงลอนดอน

มาร์ต้า รอลโดส จากมูลนิธิมิลโฮฆาส ประเทศเอกวาดอร์กล่าวว่า โครงสร้างทางสถาบันของประเทศเอกวาดอร์ไม่มีโอกาสให้สื่อมีเสรีภาพในการทำงาน รัฐบาลสร้างพฤติกรรมไม่ตอบสนองต่อสื่อ มีการปิดข้อมูล เธอเคยยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญศาลก็ไม่รับฟ้อง แถมยังมีสื่อที่ชินชากับการเซ็นเซอร์ไปแล้วด้วย มีการ DDOS ระบบฐานเว็บไซต์ข่าว พยายามใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อทำลายการนำเสนอข่าวบนอินเทอร์เน็ต ในขณะที่นักข่าวผู้หญิงในละตินอเมริกามีความเสี่ยงในการทำงานถึงสองเท่า ด้วยขนบธรรมเนียมที่ยังคงให้ความสำคัญกับความอาวุโสและเพศชาย แม้ตอนนี้ในหลายประเทศละตินอเมริกามีกฎหมายด้านเสรีภาพสื่อที่ถือว่าดีแล้ว แต่ก็เป็นอย่างที่พูดกันในสำนวนท้องถิ่นว่า กระดาษทนทานได้กับทุกตัวอักษรที่เขียนลงไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือการนำกฎหมายที่มีมาใช้บังคับจริง

คาร์ลอส ชามอโร ผู้สื่อข่าวจากสื่อ Confidencial ที่ตอนนี้ลี้ภัยจากนิการากัวมาอยู่ที่คอสตาริกาเล่าว่า สื่อในนิการากัวกำลังเผชิญหน้ากับการสอดแนม การต่อต้านและการคุกคามถึงชีวิตอย่างต่อเนื่อง พื้นฐานการทำงานในพื้นที่กลายเป็นว่าต้องรักษาตัวให้มีชีวิตรอดพร้อมๆ กับการรายงานข่าว การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้ข่าวเข้าถึงประชาชนเยอะขึ้นก็จริง แต่ความพยายามทำสื่อเสรีที่อาศัยการบริจาคและการรับทุนก็ยังไม่ยั่งยืน มิหนำซ้ำ ภาครัฐเองก็ใช้อินเทอร์เน็ตเดียวกันนี้ในการนำเสนอข้อความจากฝั่งรัฐด้วย

ในประเด็นอิทธิพลสหรัฐฯ ต่อเสรีภาพสื่อในละตินอเมริกานั้น คาร์ลอสและลีโอโปลโด้ตอบในแนวเดียวกันว่าไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัติในมากไปกว่าวาทกรรม ‘ข่าวปลอม (fake news)’ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนจุดประเด็นไปทั่วโลก เพราะท่าทีที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ นั้นไปลงในประเด็นความมั่นคง การย้ายถิ่นฐานของคนละตินอเมริกันเข้ามามากกว่าเรื่องสื่อ มิหนำซ้ำยังให้การสนับสนุนในโครงการสื่อเสรีด้วย

แน่นอนว่าการทำข่าวในภูมิภาคที่ปะทุด้วยไฟสงครามอย่างตะวันออกกลางก็มีข้อจำกัดมาก คาเล็ด อัล ฮัมมาดี นักข่าวจาก อัล-คุด และอัล-อราบี กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ในซีเรียแย่ยิ่งกว่าช่วงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ๆ เมื่อปี 2555 ตอนนี้สงครามกลายเป็นสงครามต่อประชากรของประเทศตัวเอง มีเพื่อนนักข่าวหลายคนที่เสียชีวิตในสนามข่าว ตอนนี้มีคนที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมืองในพื้นที่มีเยอะ แม้พวกเขาจะไม่มีทักษะการรายงานข่าวและการดูแลความปลอดภัยตัวเองแต่ก็ยังคงเดินหน้าสื่อสารประเด็นที่เขาต้องการ แม้จะไปบอกให้หยุดเพราะไม่มีทักษะก็ไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการกระทำเยี่ยงวีรบุรุษ

คาราม นาชาร์ นักข่าวจากอัล จูมูรีญา (Al Jumhuriya)  กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักข่าวโดนขังในคุกลับของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศเยเมนจำนวนหลายสิบราย การทำข่าวในเยเมนไม่ปลอดภัยอีกต่อไปเพราะมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งนั้น นักข่าวกลายเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานและประหารชีวิต เขาเชื่อว่าถ้าให้ผู้นำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศน่าจะทำให้เกิดการหยุดการทารุณนักข่าวที่กำลังเกิดขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่ในยุโรป ภูมิภาคที่ดูจะพัฒนาไปไกลในแง่เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนก็ยังมีนักข่าวถูกฆ่าตาย แดฟเน การัวน่า กาลิเซีย นักข่าวในประเทศมอลตา เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารด้วยคาร์บอมบ์เมื่อปี 2560 เธอถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องจากการทำข่าวสืบสวนสอบสวนในเชิงการต่อต้านการทุจริตในมอลตาที่โยงไปถึงนักการเมืองในประเทศ เธอมีส่วนในการทำปานามา เปเปอร์ เอกสารหลุดที่นักข่าวทั่วโลกช่วยกันเชื่อมโยงรายชื่อบุคคลที่โยกย้ายเงินหนีการจ่ายภาษี การคุกคามหนักข้อจนเธอรู้ตัวว่าสักวันหนึ่งเธอต้องเสียชีวิต ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ลีร่า แมคคี นักข่าวอิสระในไอร์แลนด์เหนือถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทำข่าวการประท้วง ตำรวจคาดว่ากระสุนมาจากกลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ใหม่ (New IRA) และในปี ในปี 2561 ก็มีนักข่าวเสียชีวิต 4 ราย  

ในไทยนั้น แม้ไม่มีข่าวการสังหารคนทำงานสื่อ แต่ตลอด 5 ปีภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่งหัวหน้า คสช. ทำให้การเขียนข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง มีการนำตัวนักข่าวเข้าค่ายทหารอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับนักข่าวประชาไทและอดีตนักข่าวเครือเนชั่นเนื่องจากเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายอาญา ม.112 มีนักข่าวประชาไทถูกจับกุมและต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจากการไปทำข่าวการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 

ยังไม่นับรวมการที่สื่อมวลชนถูกบริษัทเอกชนฟ้องหมิ่นประมาทจากการทำงานเปิดโปงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีอยู่ประปราย และปฏิบัติการข้ามชาติอย่างการแอบนำบล็อกเกอร์ อดีตบรรณาธิการสื่อท้องถิ่นชาวเวียดนามที่ลี้ภัยในไทยกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบ้านเกิดเมื่อ ก.พ. 2562 ที่ทางการไทยยังคงปฏิเสธการรับรู้มาตลอด แม้วันนี้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดในรายละเอียดก็ตาม) เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังคงมีอำนาจเชิญคนไป “ให้ข้อมูล” ยังค่ายทหารได้ด้วย (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 

ความย้อนแย้งหน้าการประชุมระดับโลก

ความพยายามของภาครัฐในการทำให้สถานการณ์สื่อดีขึ้นสะท้อนจากปาฐกถาของรัฐมนตรีทั้งจากเอเชียและยุโรป เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชกล่าวว่า เสรีภาพสื่อไม่ใช่คุณค่าตะวันตก แต่เป็นคุณค่าสากลที่เอาไว้ใช้ปกป้องสังคมจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด

“ผมเป็นนักการเมือง และเหมือนกับหลายๆ คนในสายอาชีพนี้ ผมไม่ได้มีความสุขกับการอ่านเรื่องที่สื่อเขียนเกี่ยวกับตัวผมเสมอๆ แน่นอนว่านักการเมืองที่ยืนหยัดเพื่อสื่อมวลชนจะรู้สึกเหมือนเป็นไก่งวงสนับสนุนวันคริสต์มาส (ประมาณว่าเอาคอไปขึ้นเขียง)” เจเรมีกล่าวในช่วงปาฐกถา

“และแน่นอน ผมจำเป็นต้องบอก และอาจเป็นโอกาสเดียวของผม (ที่จะบอก) หนังสือพิมพ์ก็มีข้อผิดพลาดเช่นกัน นักข่าวไม่ได้มีเอกสิทธิ์คุ้มกันต่อการยั่วยุและคำพูดที่เกินจริง”

“ถ้าเรา (นักการเมือง) มีไหวพริบ เราจะมองสื่อเป็นเพื่อนที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ของเราอาจจะพูดในสิ่งที่เราอยากได้ยิน แต่สื่อนั้นบอกสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องได้ยิน ให้ความจริงที่ไม่แต่งเติมไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่”

รมว.ต่างประเทศของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเสรีภาพสื่อ 5 ประการ

1. ร่วมกับรัฐบาลประเทศอื่นจัดตั้งกองทุนพิทักษ์เสรีภาพสื่อระดับโลก บริหารโดยยูเนสโก ให้การสนับสนุนทางกฎหมายและการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในพื้นที่ขัดแย้ง 3 ล้านปอนในห้าปีหน้า

2. ทำทีมระดับข้ามชาติในเรื่องการสนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินการเสริมสร้างเสรีภาพสื่อ

3. ทำเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักข่าวด้วยกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สหราชอาณาจักรจะคำนึงถึงผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อในการผ่านกฎหมายทุกฉบับ

4. ร่วมกับคริสเทีย ฟรีแลนด์ รมว.กระทรวงต่างประเทศของแคนาดาเพื่อหาประเทศที่มีจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพสื่อเพื่อล็อบบี้ในทิศทางเดียวกันเมื่อเสรีภาพสื่อถูกคุกคาม

5. เชิญชวนทุกประเทศที่เข้าประชุม ลงนามในคำปฎิญาณระดับโลกเรื่องเสรีภาพสื่อ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะร่วมงานกันเพื่อเสริมสร้างหลักการเสรีภาพสื่อและพบกันอีกครั้งในปีหน้า

โกบิน ซิง ดีโอ รมว.กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศจากมาเลเซีย ระบุว่าทุกวันนี้หลายประเทศเดินหน้าไปสู่การกดปราบเสรีภาพสื่อ แต่หลังรัฐบาลขั้วปากะตัน ฮารัปปันขึ้นสู่อำนาจก็ได้เลิกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลนาจีป ราซักใช้ปราบสื่อ ฝ่ายค้าน ประชาสังคม ขณะนี้กระบวนการเพิกถอนทางกฎหมายอยู่ในชั้นวุฒิสภา แต่ก็ไม่มีการใช้กฎหมายนั้นแล้วในทางปฏิบัติ ส่งผลให้มาเลเซียดีดตัวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 133 ในดัชนีเสรีภาพสื่อของ RSF รายงานเดียวกันบอกว่ามาเลเซียสื่อมีเสรีภาพมากขึ้น มีความเสี่ยงในการทำข่าวน้อยกว่าอดีต

แต่การประชุมระดับโลกครั้งนี้ก็มีแง่มุมที่ทำให้เห็นความย้อนแย้งของภาครัฐที่มีต่อเสรีภาพสื่อเพราะมีคนที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ด้วย ที่ฝั่งตรงข้ามของถนนบริเวณทางเข้างาน มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 5-10 คนมาชูป้ายประท้วงให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ปล่อยตัวจูเลียน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ และเชลซี แมนนิ่ง อดีตทหารสหรัฐฯ ที่ออกมาเปิดโปงเอกสารลับทางการทหารและการทูตของสหรัฐฯ ให้กับวิกิลีกส์ กรณีจูเลียนนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรอาจจะส่งตัวเขากลับไปยังสหรัฐฯ ตามคำขอของรัฐบาลวอชิงตัน

ภาพการประท้วงหน้าทางเข้างาน

เอซร่า แจ๊คสัน  อายุ 28 ปี หนึ่งในผู้ประท้วงมองว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังทำตัวย้อนแย้ง โป้ปด เพราะทางหนึ่งก็จัดเวทีสนับสนุนเสรีภาพสื่อ แต่อีกทางหนึ่งกลับจะส่งตัวจูเลียนกลับไปให้สหรัฐฯ จากการเปิดโปงเรื่องอาชญากรรมที่กองทัพสหรัฐฯ ไปทำในสงครามต่างแดน

“มันเป็นความโป้ปดอย่างแท้จริงที่เจเรมี ฮันท์ มาทำกิจกรรมสนับสนุนเสรีภาพสื่อ ทั้งที่พรรคของเขาและตัวเขาเองมีแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะส่งตัวจูเลียนไปที่อเมริกา และยังแกล้งทำเป็นยืนหยัดเพื่อเสรีภาพสื่อ มันเป็นคำโกหกคำโต เป็นการเสเสร้งชัดๆ”

“ถ้ามีหลักฐานที่ชัดเจนจริง ทำไมจูเลียนไม่เคยถูกนำไปไต่สวนเลย นั่นหมายถึงว่ามันเป็นเรื่องจริง นั่นหมายความว่าประชาชนถูกสังหารอย่างเลือดเย็นแล้วพวกเราไม่ใส่ใจอะไรเลย สิ่งที่เราทำคือเราเอาคนที่เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวว่ารัฐบาลทำอะไรบ้างไปคุมขัง”

“เราทุกคนจ่ายภาษี เงินของพวกเราจะ (ถูก) นำไปใช้สู้ในสงคราม ดังนั้นพวกเราควรจะได้แสดงความเห็นและควรจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง” เอซร่ากล่าว

คลาร่า แคมโปส อีกหนึ่งผู้ชุมนุมอายุ 65 ปีกล่าวว่าอัสซาจน์ไม่ควรถูกจับกุมเช่นนี้ และเขาควรได้มาร่วมประชุมในงานเรื่องเสรีภาพสื่อในฐานะดาวเด่นเสียด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียที่เป็นถิ่นเกิดของเขากลับมิได้นำพาในลักษณะนั้น

“จูเลียนได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก แต่สิ่งที่พวกเขา (รัฐบาลประเทศต่างๆ) ทำด้วยการเนรเทศจูเลียนในขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่เป็นการทำลายกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมด เพียงเพราะมีแรงกดดันจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มันเป็นการล่าแม่มดเลยแหละสำหรับเรื่องที่พวกเขาทำกับจูเลียนตั้งแต่ปี 2553 เมื่อเขาพยายามปล่อยข้อมูลเรื่องอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”

แม้นักข่าวอาจไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะรื้อสร้างและชำแหละเนื้อหนังความตลบแตลงระดับโลกได้ในวันนี้ แต่ก็ไม่เล็กพอที่จะส่งเสียงให้เป็นที่ได้ยิน อะนาส ใช้เวลาบนเวทีอันทรงเกียรติและย้อนแย้งในเวลาเดียวกันเพื่อพูดถึงมันเอาไว้

“(ประเทศ) ตะวันตกจะให้เงินพวกเราในมือข้างหนึ่งเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย แต่มือเดียวกันนี้ ผู้คนที่สร้างความปั่นป่วนให้กับประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อจะได้รับโอกาสให้เข้าถึงเงินทองของพวกเขาได้ในธนาคารของประเทศตะวันตก เป็นไปได้อย่างไรที่มือข้างหนึ่งยื่นให้อาหารกับพวกเรา แต่อีกมือหนึ่งก็ดึงอาหารออกไปจากปากเรา”

เราจะไปทางไหน

แม้จะย้อนแย้งแค่ไหน เวทีระดับโลกที่จัดในกรุงลอนดอนยังคงเปิดพื้นที่ให้นักข่าวถามคำถามที่วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของทั้งแคนาดาและอังกฤษต่อเสรีภาพสื่อ เช่น การถามคำถามตรงถึงรัฐมนตรีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย ในวันที่จามาล คาช็อกกี ถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี สะท้อนถึงเพดานการทำงานของสื่อมวลชนที่เปิดกว้างเมื่อเทียบกับไทยที่จัดประชุมผู้นำอาเซียนแบบไม่ให้โอกาสสื่อซักถามผู้นำประเทศสมาชิก และแยกสื่อออกจากสถานที่จัดประชุมอย่างสิ้นเชิงเหมือนเวลาสั่งก๋วยเตี๋ยวกลับไปกินที่บ้าน

ในระดับกลไกระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยองค์การสหประชาชาติ รับรองเสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไว้ในข้อที่ 19 และมีอนุสัญญาสนับสนุนเสรีภาพสื่อภายใต้ยูเนสโกอีก 5 ฉบับ แต่ทิศทางการตอบรับเรื่องเสรีภาพสื่อของรัฐบาลไทยชุดที่แล้วกับชุดนี้ยังคงเงียบงัน

ความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปสื่อล่าสุดก็มีข้อกังขา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เคยมีการรับฟังความเห็นไปเมื่อช่วง ก.ย. 2561 ที่ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สั่งแก้ไขข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว โดยในช่วง 4 ปีแรกจะให้ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือผู้ที่เลขาธิการ กสทช. มอบหมาย นั่งเป็นสมาชิกสภาฯ เท่ากับกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมสื่อได้ และด้วยกฎหมายดังกล่าวถูกชงจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. องค์กรรัฐประหารเดียวกันกับที่มีพฤติกรรมปิดปากสื่ออย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้มีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมและการมีส่วนร่วม

ผุดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ บทเฉพาะกาลเปิดช่องปลัดนายกฯ-กสทช. เป็น กก.สภาวิชาชีพสื่อฯ

ในเวทีประชุมที่ลอนดอนมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างสื่อทั่วโลกว่าใครกันที่ควรถูกนับรวมว่าเป็นสื่อมวลชน บรรทัดฐานการให้ค่านั้นต่างกันไปตามแต่เพดานการทำงานสื่อ เห็นได้ชัดว่าสื่ออาชีพจากฝั่งยุโรป หรือสำนักข่าวตะวันตกมีมุมมองต่อการทำสื่อในแบบวิชาชีพ ในขณะที่สื่อจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้งหรือในประเทศที่มีการกดปราบสื่อเยอะ การทำงานข่าวเชิงรณรงค์ที่ถูกสื่อมืออาชีพตีตราในเรื่องการมีอคติก็ยังถูกนับรวมว่าเป็นสื่อ เพราะการสื่อสารในลักษณะการเป็นกระจกสะท้อนอย่างเดียวไม่เพียงพอในการทำให้สังคมดีขึ้น

เชื่อเหลือเกินว่าข้อถกเถียงนี้คงยังจะมีต่อไปอย่างยาวนาน และสำหรับไทย บริบทการเมืองที่แปรผัน กฎหมายและมรดก คสช. ที่ทำให้คนหมู่มากเสียประโยชน์และรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น บวกกับต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ถูกลงมากๆ จนใครก็นำเสนอเรื่องราวผ่านโลกออนไลน์ได้คงนำไปสู่การถกเถียงในประเด็นข้างต้นอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะการนิยามตัวตนจะนำไปสู่การเดินหน้าในแง่การบริหารจัดการในระดับนโยบายของรัฐและการรณรงค์ในระดับประชาสังคม 

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าไม่ควรมีใครถูกฆ่าตาย ถูกดำเนินคดี หรือจับเข้าค่ายทหารเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น บรรทัดฐานเสรีภาพขั้นต่ำเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้เพดานการทำข่าวสูงขึ้น และที่สำคัญ รัฐบาลเริ่มทำได้ตอนนี้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net