Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความเรื่อง Petani Tak Cocok Beragama Buddha? ที่เขียนโดย Ngasiran บ.ก. เว็บไซต์ Buddhazine ของอินโดนีเซีย ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า การต้องฆ่าสัตว์ที่มากัดกินพืชผล ซึ่งขัดกับหลักศีลห้าตั้งแต่ข้อแรก สะท้อนว่า วิถีเกษตรกรไม่สามารถรักษาศีล 5 ให้บริบูรณ์ได้ นั่นหมายความว่า ศาสนาพุทธไม่ได้เหมาะกับพวกเขาจริงๆ หรือ?

Ngasiran เริ่มจากการเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ที่เขาเคยถามผู้รู้พุทธศาสนาในอินโดนีเซียสมัยประถม เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ว่าพุทธศาสนาเถรวาทมีวิธีจัดการเรื่องนี้อย่างไร? นักปราชญ์ท่านนั้นตอบว่า 

“การสวดพระปริตร (เช่น เจริญพระพุทธมนต์และแผ่เมตตา) จะทำให้หนู นก และแมลงอื่นๆ ไม่มากัดกินพืชผล” ซึ่งเขาเองทราบตั้งแต่เด็กว่าคำตอบที่ได้นั้นใช้ไม่ได้ผลจริง แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อจบปริญญาตรี เขาได้ถามคำถามนี้อีกครั้งกับหัวหน้าพุทธศาสนาเถรวาทองค์กรหนึ่ง คำตอบที่ได้คือ บอกให้ไปสวดพระปริตรเหมือนเดิม นั่นคือ พุทธศาสนาเถรวาทในอินโดนีเซียเองไม่ได้พัฒนาเรื่องการตีความคำสอน เพื่อให้เข้ากับยุคหรือตอบสนองคนชั้นล่าง เช่นเกษตรเป็นต้นเลย

Ngasiran ชี้ชวนให้ชาวพุทธในอินโดนีเซีย ได้หันมาสนใจเรื่องใกล้ตัวเช่นนี้ นอกจากจะสนใจแค่คำสอนในแง่คัมภีร์เท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ชาวพุทธในอินโดนีเซียมีความใกล้ชิดกับชาวพุทธไทยอย่างมาก ชาวพุทธอินโดมักเดินทางไปเยี่ยมหรือปฏิบัติธรรมกับพระวัดป่าที่มีชื่อเสียงของไทยหลายรูป Ngasiran เสนอว่า ประเทศไทยมีความคล้ายกับอินโดอีกอย่างคือ คนจำนวนมากเป็นเกษตรกร และแม้ว่าเกษตรกรไทยจะไม่รวยมาก แต่มีโอกาสลืมตาอ้าปากมากกว่าเกษตรกรอินโดนีเซีย ซึ่งชาวพุทธในชวาจำนวนมากมีรายได้น้อยมาก แค่พอกิน แต่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ป.ตรี ที่สำคัญคือ การใช้สารพิษเพื่อฆ่าสัตว์ในการเกษตรน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้

ประเทศไทยในสายตาของ Ngasiran พอจะเป็นตัวอย่างในการปลูกผักแบบออกานิค หรือทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่า เกษตรกรจำนวนมากในไทยเริ่มหันมาทำการเกษตรเช่นนั้นจริง แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ยังเป็นวิธีแบบเดิม คือใช้ยาฆ่าแมลงและสารเร่งเพื่อเพิ่มผลผลิต ฉะนั้น คำถามที่ Ngasiran ถาม ยังเป็นประโยชน์กับคนไทยอีกจำนวนมาก 

ผมจะข้ามประเด็นเรื่องการฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ เช่น ปลา ไก่ ไว้เป็นอาหารหรือการฆ่าหนูที่มากินข้าวในนาเป็นต้นผิดศีลหรือไม่ เพราะชาวพุทธทราบคำตอบนี้ดี และหลายครั้งพบว่า พุทธศาสนาเถรวาทได้สนับสนุนความชอบธรรมกับการฆ่าด้วยซ้ำ เช่น ฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อย ก็บาปน้อย หรือเมื่อฆ่าสัตว์ซึ่งบาปน้อย แต่นำมาทำอาหารถวายพระหรือเพื่อให้ตนได้มีกำลังในการปฏิบัติธรรม การแลกนั้นก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า สิ่งที่น่าชวนให้ชาวเถรวาทคิดคือ เทคโนโลยีไม่มีความสำคัญกับชาวเถรวาทจริงหรือ?

มหายานมีงานวิจัยมายืนยันวิถีชีวิตของพวกเขาเช่น กินผักก็ไม่ขาดสารอาหาร เพื่อชวนให้คนกินมังสวิรัติ แม้อิสลามเองก็มีอุตสาหกรรมฮาลาล ศาสนาของพวกเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้ในชีวิตจริงได้ ชาวเถรวาทกลับมองข้ามเรื่องการฆ่า มิจฉาวนิชชา (การค้าขายที่ไม่ถูกต้อง เช่น ขายเนื้อสัตว์) เป็นต้นไป เพราะหากอ้างว่าเราจะปฏิบัติตามคำสอน การต้องพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อเอื้อกับการรักษากฏระเบียบของศาสนาก็จำเป็นไม่ใช่หรือ?
 
สันติอโศก (Santi Asoka) อาจถือเป็นตัวอย่างที่ดีองค์กรหนึ่งของพุทธเถรวาท เน้นการกินผัก (ไม่กินเนื้อสัตว์) และพัฒนาวิธีการปลูกที่ไม่ใช้สารพิษ น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า ทำไมองค์กรที่เอาคำสอนมาสนองการใช้ชีวิตในแบบพุทธ (ที่เขาตีความ) จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย และพุทธศาสนาที่มีพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่ในต่างประเทศ (โดยการสนับสนุนของรัฐ อย่างน้อยก็มีหนังสือเดินทางราชการ) ก็เป็นพุทธกระแสหลักโดยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งคอยดูแล 

นั่นคือ เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ที่รัฐบาลไทยจะส่งสันติอโศกไปเผยแผ่ศาสนาควบคู่กับการทำการเกษตรในอินโดนีเซีย เพราะ 2 องค์กรพระธรรมทูตหลักในไทยมองว่า สันติอโศกเป็นพุทธปลอม หรือต่อให้สันติอโศกไปเผยแผ่เอง ผมคิดว่า สิ่งแรกที่น่าจะได้รับการต้อนรับจากพระสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย (STI) คือ การประกาศคว่ำบาตรและแปลหนังสือ กรณีสันติอโศกของ ป.อ.ปยุตฺโต ขึ้นเผยแพร่อีก ราวกับที่ทำกับ ธรรมกาย (Dhammakaya) เมื่อปี 2013

หรือที่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีมาสนองวิถีชีวิต ก็เพื่อจะดำรงสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระไว้ เพราะพุทธเถรวาทเป็นศาสนาของพระ นั่นคือ เพื่อแยกให้ชัดว่าวิถีแบบชาวบ้านไม่มีความบริสุทธิ์ คลุกกับการทำความชั่ว ศีลห้าก็ทำให้บริบูรณ์ไม่ได้ ดังนั้น หากอยากได้บุญมาก ควรมาบวชเป็นพระ / ชี / ภิกษุณี เพื่อถือศีลให้บริบูรณ์ หรือไม่ก็ควรทำบุญกับท่านเหล่านั้น อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งของผม ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่า เหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ชาวพุทธเถรวาทเห็นว่า การพัฒนาวิธีการเกษตรเพื่อเลี่ยงการฆ่าสัตว์จึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา

หรือเพราะพุทธเถรวาท ในมิติของการศึกษาและรวมกลุ่มกันปฏิบัติธรรม มักอยู่กับคนชั้นบน ซึ่งไม่ได้เป็นเกษตรกร พวกเขาจึงรวมตัวกันในฐานะคนมีฐานะ พูดคุยเรื่องธุรกิจ การท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้นมากกว่าการสนใจวิถีเกษตร สิ่งนี้ในอินโดนีเซียมองเห็นได้ชัดมาก วัดในเมืองกลายเป็นสมาคมคนรวย ซึ่งหากคนพื้นเมือง / ตัวดำ ซึ่งมองเห็นได้ชัดว่าฐานะไม่ดี ก็จะได้รับการต้อนรับแบบไม่ดีไปด้วย

แม้สิ่งที่ Ngasiran ถาม ไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกของเถรวาท แต่ก็ยังไม่มีคนตอบ คงจะเป็นพัฒนาการอีกระดับหนึ่ง ถ้าชาวพุทธเถรวาทหันมาสนใจถกประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง

 

หมายเหตุ: ภาพจากบทความต้นฉบับของ Ngasiran จากเว็บไซด์ http://buddhazine.com/petani-tak-cocok-beragama-buddha/ โพสต์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net