Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อเบนาร์นิวส์ สมาคมผู้ประกอบการทุเรียน และชาวสวนทุเรียนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำ และบริษัทรับซื้อทุเรียนในจีนตีกลับทุเรียนไทยหลังพบปัญหาหนอนในเมล็ดทุเรียน ชี้ควรหาทางพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท และสร้างมาตรการรองรับทุเรียนที่มีปัญหาหนอนในเมล็ด ด้านสมาคมทุเรียนแนะรัฐอุดหนุนธุรกิจห้องเย็นรับรองผู้ได้รับผลกระทบ


แฟ้มภาพ

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่าสมาคมผู้ประกอบการทุเรียน และชาวสวนทุเรียนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำ และบริษัทรับซื้อทุเรียนในจีนตีกลับทุเรียนไทยหลังพบปัญหาหนอนในเมล็ดทุเรียน ชี้ควรหาทางพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท และสร้างมาตรการรองรับทุเรียนที่มีปัญหาหนอนในเมล็ด ด้านสมาคมทุเรียนแนะ รัฐอุดหนุนธุรกิจห้องเย็นรับรองผู้ได้รับผลกระทบ

“วันนี้ ทุเรียนลูกสวยๆ ขายได้แค่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนลูกตกไซส์ 55 บาท เราจะอยู่ยังไง เพราะมีต้นทุนราคาปุ๋ย ยา การดูแลสวนมันสูง ราคาตอนนี้ทำให้แทบไม่ได้กำไร คิดว่าอยากให้รัฐช่วยเหลือให้ราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 120 บาทกำลังสวย น่าจะพอให้ชาวสวนลืมตาอ้าปาก หายใจสะดวกบ้าง ไม่ได้คาดหวังให้ขายได้แพงขนาด 150-180 บาทหรอก” นายบือราเฮง (สงวนนามสกุล) ชาวสวนทุเรียน จ.ยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ภาวะราคาทุเรียนในยะลาตกต่ำจนทำให้ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่า ทุเรียนของจังหวัดยะลาไม่มีปัญหา

“ทุเรียนของยะลามีรสชาติอร่อย หวาน มัน และมีคุณภาพ ใช้แสงไฟมาไล่หนอนผีเสื้อที่จะมาเจาะทุเรียน ฉะนั้นจากข่าวพบว่า ทุเรียนยะลามีหนอนไม่เป็นความจริง ส่วนของมาตรการ การตัดทุเรียนอ่อน เรามีมาตรการตรวจเช็กที่เข้มงวด เพื่อส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค” ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าว

ภาวะราคาทุเรียนตกต่ำในปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากเมื่อปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ทุเรียนน้ำหนัก 17,280 กิโลกรัมจากประเทศไทยที่ถูกส่งเข้าไปขายในประเทศจีน ผ่านรถไฟบริเวณด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน บริเวณชายแดนลาว-จีน ถูกตีกลับหลังจากถูกตรวจพบหนอนในเมล็ดทุเรียน กระทั่งเกิดข่าวลือว่า ทุเรียนที่มีปัญหาถูกส่งมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดยะลา

นายสุชาติ คงรอด อุปนายกสมาคมทุเรียนใต้ เปิดเผยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ฝ่ายจีนมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจทุเรียนจากประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุเรียนอย่างมาก

“ทางการจีนตรวจเข้ม ถ้าตรวจพบหนอนหนึ่งตัวทั้งตู้จะถูกรมยาตีกลับมาไทยทันที แต่หากตรวจพบหนอนสามตัวจะถูกระงับใบอนุญาต ให้หยุดส่งออกชั่วคราว ซึ่งถือเป็นมาตรการที่รุนแรงมาก” นายสุชาติ กล่าวกับสื่อมวลชน

ขณะเดียวกัน มาตรการการคัดกรองทุเรียนของฝั่งไทยก็มีความเข้มข้นขึ้น โดยระบุว่า หากพบหนอนหนึ่งครั้งจะมีการแจ้งเตือนมายังผู้ส่งออก ถ้าพบสองครั้งจะออกหนังสือเตือนภายในระยะเวลา 15 วัน และถ้าพบครั้งที่สามจะมีคำสั่งระงับการส่งออกทันที

“ด้วยความที่ไม่ชัดเจนว่าทุเรียนหนอนเจาะเมล็ดที่มีการตรวจพบจากจังหวัดใด และมีความเข้าใจว่า เป็นทุเรียนยะลา ทำให้ราคาทุเรียนยะลาต่ำกว่าทุเรียนชุมพร-สุราษฎร์ธานีมากกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม ไปถึงขั้นล้งทุเรียนบางเจ้าไม่รับซื้อทุเรียนจากยะลา” นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติม

หลังเกิดปัญหา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า กรมฯ กำลังหามาตรการในการจัดการและป้องกันหนอนทุเรียนอยู่ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทย

“ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ นายด่านตรวจพืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด จากการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ยังยืนยันความต้องการทุเรียนไทยคุณภาพภายในจีนยังสูงอยู่” นายระพีภัทร์ กล่าว

กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice-GAP) และสามารถส่งออกไปยังประเทศจีน 6.33 แสนไร่ จากเกษตรกร 6.60 หมื่นราย โดยเฉพาะปี 2567 มีการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนแล้ว 4.04 หมื่นครั้ง น้ำหนักรวม 6.38 แสนตัน มูลค่าประมาณ 8.48 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุด เสนอแนะให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกตีกลับผลผลิต หรือผู้ประกอบการที่ล้งไม่ยอมรับซื้อทุเรียนด้วยการใช้ธุรกิจห้องเย็น

“การแก้ปัญหา ต้องมองว่ามันเป็นปัญหาของทุเรียนไทยทั้งหมด ไม่ใช่แบ่งแยกเป็นทุเรียนจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง การแก้ปัญหากรณีที่ล้งไม่ยอมรับซื้อทุเรียนยะลา เพราะกลัวปัญหาหนอน รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้ธุรกิจห้องเย็นรับซื้อทุเรียนในพื้นที่ที่มีปัญหาหนอนเจาะ เพื่อรับผลผลิตมาแกะเป็นทุเรียนแช่แข็งโดยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 60-70 บาทต่อกิโลกรัม” นายภาณุวัชร์ กล่าว

นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุด ระบุว่า รัฐบาลต้องช่วยเหลือให้การซื้อทุเรียนอยู่ในราคาที่เกษตรกรและผู้ประกอบการอยู่รอด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2566 ถึง 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3.40 หมื่นล้านบาท หรือร่วม 30% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปี 2567 มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 12 % หรือประมาณ 1.70 หมื่นล้านบาท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net