Skip to main content
sharethis

ประชุมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 20 ปี ระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่ 3 ในระบบวิจัยใหม่ เสนอรูปธรรมความสำเร็จของโครงการศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน 4 ภาค ซึ่งทำให้เกิด 'ศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน' ที่สามารถสร้างชุดความรู้เชิงนวัตกรรมที่สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ สามารถสร้างเครือข่ายนักวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือ มีการพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุม (Forum) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 20 ปี ระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่ 3 ในระบบวิจัยใหม่ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานวิจัยนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น เพื่อ “การขับเคลื่อน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) กับระบบวิจัยใหม่” โดยจัดให้มีการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จของโครงการศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน 4 ภาค ซึ่งทำให้เกิด “ศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน” ที่สามารถสร้างชุดความรู้เชิงนวัตกรรมที่สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ สามารถสร้างเครือข่ายนักวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือ มีการพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงเกิดการทดลองปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะมีการนำสิ่งเหล่านี้มาเสนอ และใช้เป็นข้อมูลและประเด็นในการหารือร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย เพื่อหาแนวทางของการสร้าง “ตัวตน” ให้กลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การวางรากฐานประเทศไทยสู่อนาคตด้วยงานวิจัย” แก่นักวิจัยท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คนที่มาร่วมงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน ที่ส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนที่เข้าร่วมในการทำวิจัยท้องถิ่น กับ สกว. ว่า ทางกระทรวงยังคงตระหนักในความสำคัญของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพราะการขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาไปสู่ศตวรรตที่ 21 ด้วยแนวทางปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาตินั้น หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมแก้จน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมมวลชน หรือแม้แต่นวัตกรรมทางธุรกิจ ก็คือตัวของนักวิจัย โดยเฉพาะนักวิจัยที่อยู่ในที่หมู่บ้าน อยู่ในชุมชน ในท้องถิ่น ที่สามารถนำปัญญาที่เกิดขึ้นผ่านงานวิจัยมาทำให้ภูมิปัญญาในพื้นที่ของตนเอง ที่เป็น “ภูมิปัญญามหาชน” มาสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่ไปตอบโจทย์การสร้างคุณค่า มูลค่า ให้กับประเทศ

“ประเด็นกีคือ เราจะผสมผสานภูมิปัญญามหาชน กับภูมิปัญญาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ตกผลึก และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า ขับเคลื่อนท้องถิ่นไปข้างหน้าได้อย่างไร ผมเชื่อว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายพวกเราในทศวรรษจากนี้ไป”

ในเวทีเสวนา “Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีต ผอ.สกว. กล่าวว่า การวิจัยท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญญาจากฐานราก และยิ่งจำเป็นมากในปัจจุบัน หัวใจของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือ ต้องให้ชาวบ้านทำเอง และมีกลไกสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น เอกชน ฝ่ายจัดการ ซึ่งเดิมอยู่ที่ สกว. การหายไปของ สกว. คือการดึงกลไกสนับสนุนให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้และทดลองทำ เพื่อให้เกิดปัญญาจากฐานรากออกไป

“โจทย์ตอนนี้คือ รูปแบบที่จะทำให้กลไกเช่นนี้ยังดำรงอยู่และขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหนหลักการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ให้ชาวบ้านเรียนรู้ทดลองทำ ด้วยกระบวนการวิจัยที่ชาวบ้านทำเอง ลดระเบียบวิจัยลงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากปัญหาจริงจากการลงมือทำจริง เป็นคาถาที่ต้องเก็บไว้สำหรับการดำรงอยู่ต่อไปของชุมชนในอนาคต”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา เสนอว่า การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านมาอยู่ในระดับไมโคร เช่น หมู่บ้าน ตำบล เป็นการจัดการปัญหาในพื้นที่ของเขา เรียกว่าตัดเสื้อเฉพาะตัว แต่ที่สามารถยกระดับสู่นโยบายสาธารณะยังมีอยู่น้อย ดังนั้น นี่คือโอกาสที่จะสามารถยกระดับจากวิจัยท้องถิ่น ไปสู่ระดับสมอลสเกล (Small Scale) เช่น ระดับอำเภอ ให้ได้ โดยใช้กลไกการจัดการ ที่เป็นหน่วยงานรัฐในระดับอำเภอ หรือจังหวัด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่ต้องมาทำตรงนี้อย่างเต็มตัว

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วชิระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถไปอุดช่องว่างของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ไม่สามารถทำให้เห็นถึงผลของความเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศได้ชัดเจน แต่ก็ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิดของมหาวิทยาลัย ไปสู่ การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มุ่งสร้างสรรค์วิชาการบนฐานชีวิตจริง ด้วย

ในส่วนของ คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากบทบาทของราชการส่วนท้องถิ่นร่วมงานกับส่วนภูมิภาค โดยให้ตัวชุมชนกับกลไกท้องถิ่นและภูมิภาคมาขับเคลื่อนงานด้วยกันแล้ว การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ที่เปลี่ยนจากงาน CSR แบบเดิม มาเป็นเป็นการเข้าไปร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างสร้างความยั่งยืนร่วมกับชุมชน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ

สำหรับ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” (Community Based Research : CBR) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เริ่มระบบสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. - หรือในชื่อใหม่คือ สกสว.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 มียุทธศาสตร์สำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นเกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง ด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ หรือทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเอง ดอกผลจากการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ปรากฏให้เห็นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ เกิดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเองกว่า 4,000 โครงการ เกิดนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นมากกว่า 40,000 คน และขยายฐานงานจากงานวิจัยชาวบ้านสู่กลุ่มคนทั้งในหน่วยงานและสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ พลังคนวิจัยได้นำสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยในประเด็นต่าง ๆ มากมายที่เป็นผลเชิงประจักษ์ ทั้งการหลุดออกจากปัญหา ก่อเกิดวิธีการใหม่ ระบบใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ ประเด็นการท่องเที่ยว เกษตรกรรมยั่งยืน สุขภาพการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน การบริหารจัดการท้องถิ่น เด็กและเยาวชน การศึกษากับชุมชน ชุมชนกับการจัดการทรัพยากร เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชุมชนท้องถิ่น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และความสุขของคนทำวิจัย ที่ ณ วันนี้ ชาวบ้านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า“ชาวบ้านทำวิจัยได้”และ“ใคร ๆ ก็ทำวิจัยได้”

และในการสรุปและปิดงาน โดย นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยถิ่นในอนาคตภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าจะมีการเดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต่อไป โดยเฉพาะข้อเสนอจากเวทีที่อยากให้มีหน่วยงานบริหารงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยเฉพาะมาทำหน้าที่นี้ ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ สกสว. กับ วช. กำลังพิจารณากันอยู่ แต่ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ผลลัพธ์และแนวทางการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ชุมชนได้สร้างขึ้น จะถูกนำไปสู่การยกร่างแผนบูรณาการ วทน. เพื่อท้องถิ่นและท้องที่ เป็นยุทธศาสตร์การบูรณการความรู้ด้านวิทยาการในท้องถิ่น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของของภารกิจของ สกสว. อย่างแน่นอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net