Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

บทความนี้ผู้เขียนเขียนโดยกำหนดกรอบจากการสัมผัสผู้เขียนผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรคนนอกที่มาทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกระบวนการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและภายใต้แนวคิด ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้า เข้าถึง พัฒนา


บทนำ

กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประท้วงที่ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม 6 คน และต่อมารัฐได้ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหา 84 ศพ และสูญหายอีกจำนวนมากกว่า 60 คน

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนิสิตนักศึกษา สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบอย่างต่อเนื่อง แต่ก็คำถามคือทำไมต้องรำลึกถึงโศกนาฏกรรมตากใบด้วย คำถามจากฝ่ายรัฐหรือคนเห็นด้วยกับรัฐ ว่าทำให้สังคมนึกถึงความเจ็บปวด เหมือนเป็นปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านรัฐ แค้นรัฐ ทำลายบรรยากาศกระบวนการสันติภาพ ที่สำคัญญาติยอมแล้วหรือ? คนไม่ใช่ญาติจัดทำไม? เพราะจะทำลายความปรองดองคนในชาติ หรือนักกว่า กล่าวหาผู้จัด เป็นแนวร่วมปีกการเมืองของขบวนการแบ่งแยกดินแดน/ขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี หรือแนวร่วมมุมกลับของขบวนการแบ่งแยกดินแดน /ขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี นอกจากจัดเวทีถอดบทเรียนแล้วเรายังเห็นบทเรียนที่มากมายในแง่ องค์กรต่างๆโดยเฉพาะองค์กรภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ามีบทบาทต่อเรื่อง ประเด็นต่างๆที่ถูกขับเคลื่อน ซึ่งล้วนนำไปสู่ความเข้าใจ เข้าถึง จนนำไปสู่การร่วมเสนอการแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปตานี
องค์กรต่างๆและบทเรียนที่ได้รับ

  เหตุการณ์ตากใบถือเป็นปัจจัยหลักที่ยิ่งหนุนเสริมปัญหาไฟใต้ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีองค์กรต่างๆภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ามีบทบาทต่อเรื่องทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนี้


1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation ตั้งอยู่111 ซอยสิทธิชน ถ.สุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320 เป้าหมายของมูลนิธินี้คือการหนุนเสริมกระบวนการยุติธรรมผ่านงานสิทธิมนุษยชน มีการช่วยเหลือเหยื่อและญาติผู้เสียชีวิตตากใบในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้ศาลจะตัดสินว่า เหยื่อตากใบเสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจ (กล่าวคือ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่) 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีการอบรม ประชุมสัมมนาวิชาการ ถอดบทเรียน ให้ญาติที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ร่วมเวทีต่างๆทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกรุงเทพมหานคร จนท้ายที่สุดประมวลผลทั้งจากเหตุการณ์ตากใบและที่อื่นๆสรุปภาพรวมว่า ผู้กระทำผิดต้องไม่ถูกปล่อยให้ลอยนวลและกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ต้องปฏิรูป 

นักวิชาการมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า No Justice No Peace ซึ่งสะท้อนว่าความอยุติธรรมจะเป็นน้ำมันเครื่องล่อเลี้ยงอย่างดีในการสุมไฟใต้ให้เกิดกองใหม่ตลอด เมื่อดับไฟกองหนึ่ง ก็จะเกิดไฟอีกกอง ความอยุติธรรมดังกล่าวนั้นเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเสนออย่างครบวงจรดังนี้
 
1. เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม

2. หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

3. ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม

4. ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.) ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด

5. ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต. ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย ไม่เพียงเท่านั้นแต่หากเป็นไปได้ ต้องนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย
สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล


2. สถาบันการศึกษา

จะเห็นได้ว่ามีหลายสถาบันการศึกษานอกพื้นที่ชายแดนใต้ที่เข้ามาทำงานดานกระบวนการสันติภาพแต่ถ้าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการจัดเวทีวิชาการถอดบทเรียน เหตุการณ์ตากใบ ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สำหรับมหิดลกับสถาบันปกเกล้าจะทำงานเชิงรุกมากกว่าคือจะมีหลักสูตรที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ เช่นสถาบันพระปกเกล้า มีหลัก สร้างเสริสันติสุขทั้ง หลักสูตรประกาศนียบัตร 9 เดือนเรียกติดปากว่า 4 ส.ใหญ่ และหลักสูตร วุฒิบัตร 3 เดือน 4 ส.เล็กโดยคัดเลือกผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ส่วนหนึ่ง และคู่ขัดแย้งรัฐ ศึกษาหลักสูตรนี้ ในขณะที่คณะสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดลก็มีอบรมเชิงปฏิบัติการมากมาย เน้นเรื่องสานเสวนา โดยคัดเลือกผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบส่วนหนึ่ง และคู่ขัดแย้งรัฐ เช่นกันเข้าร่วม ผลจากเวทีดังกล่าวทำให้ คนที่เห็นต่างทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจสถาการณ์ปรากฏการณ์มากขึ้น ส่งผลให้อย่างน้อยทำให้ทั้งสอฝ่ายมีช่องทางการสื่อสารก่อนจะปฏิบัติการณ์ใดกับคนในเหตุการณ์ตากใบเป็นต้น 


3. องค์กรระหว่างประเทศ

แม้องค์ระหว่างประเทศจะไม่ได้หนุนเรื่องวิกฤติตากใบโดยตรงแต่ปฏิเสธไม่ได้ องค์กรระหว่างประเทศทำงานกับคนที่ที่ได้รับผลกระทบจากตากใบ หรืออาฟเตอร์ไฟใต้จากตากใบ อาจารย์ รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ “องค์กรด้านซับพอร์ตหรือ สนับสนุนด้านกระบวนการสันติภาพเป็นองค์กรที่เป็นหน่วยงานเหนือรัฐ เช่น ยูเอ็น ยูนิเซฟ ยูเนสโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการพูดคุยที่เคแอล ทิศทางในการสนับสนุน การเคลื่อนไหว ในการทำกิจกรรมต่างๆที่วางอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม ก็ค่อยๆเริ่มเปลี่ยนมา พุดถึงการสร้างศักยภาพของผู้คน ให้เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานเพื่อสันติภาพแต่ว่ามันชี้ให้เห็นว่า มันไม่ใช่แค่คนในเท่านั้นที่จะกำหนดอะไร แต่มันมาจากการสนับสนุนจากข้างนอกด้วยเหมือนกัน” (โปรดดู https://deepsouthwatch.org/th/node/6811)


4. คณะกรรมการสมานฉันท์ แห่งชาติ (กอส.)

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. (The National Reconciliation Commission) เป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 เนื่องจากที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาสและสี่อำเภอขิงจังหวัดสงขลาอันได้แก่จะนะ นาทวี เทพาและสะบ้าย้อย เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาเป็นเวลาช้านาน แต่ได้ประสบปัญหาความรุนแรงมาโดยตลอด แม้ว่ารัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งหมายให้เกิดสันติสุขขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป สมควรที่จะให้บุคคลจากส่วนต่าง ๆ ของสังคม มาร่วมแรงร่วมใจกันหาทางยุติปัญหาดังกล่าวของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ สันติสุข และความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง

แม้คณะกรรมการนี้จะไม่ได้เกิด จากเหตุการณ์ตากใบโดยตรงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์นี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้คณะกรรมการชุดนี้สนใจและพูดเป็นเสียงเดียวว่า โศกนาฏกรรมตากใบเป็นปัจจัยเอื้อต่อไฟใต้ให้รุนแรงขึ้นและมีข้อเสนอดังนี้ (โปรดดู สถาบันพระปกเกล้า: กรณีตากใบ )


1.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม

เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีมีการชุมนุมประท้วงเช่นนี้อีก ให้ชุดปราบจลาจลของตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรม และมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก สำหรับชุดปราบปรามจลาจลของฝ่ายทหาร จะใช้เป็นกองหนุนในกรณีที่กำลังตำรวจมีไม่พอเท่านั้น และห้ามติดอาวุธ


2.ข้อเสนอแนะในการควบคุมตัวและการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม

2.1 ในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม ควรควบคุมเฉพาะแกนนำในการชุมนุม หรือผู้ต้องสงสัยเท่านั้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ควรจัดให้มีการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อแยกประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการเพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมถอนตัวออกจากที่ชุมนุมได้

2.2 ยานพาหนะที่ใช้ต้องจัดให้มีจำนวนมากเพียงพอ และต้องมีเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรควบคุมขบวน

2.3 หากระยะทางที่ไกล ควรจัดให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้นั่งไป


3.ข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารงานในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

3.1 การจัดตั้งองค์กรบริหารราชการ ควรจัดตั้งให้มีลักษณะพลเรือนมากขึ้น โดยให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

3.2 ควรใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา"

3.3 ควรนำองค์กรเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนในระดับตำบล และหมู่บ้านทุกองค์กรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


ผลการต่อสู้ขับเคลื่อนของทุกฝ่ายสู่การเยียวยา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย. 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการประชุม โดยมี พล.ต.อ.ประชา เป็นประธานการประชุม ทั้งยังมี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางด้านการเงินและคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

งนี้ ในวาระการพิจารณาขออนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์กรือเซะ (วันที่ 28 เม.ย.2547) เหตุการณ์สะบ้าย้อย (วันที่ 28 เม.ย.2547) และเหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาสน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) สำหรับกรณีเหตุการณ์ตากใบซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 ราย จะได้รับการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีการเยียวยาไปแล้ว 42 ราย รายละประมาณ 3-4 แสนบาทก่อนหน้านี้ ให้นำมาหักจากจำนวน 7.5 ล้านบาท โดยจะหักเป็นเงินสดงวดแรกที่จ่ายให้ (โปรดดู เปิดมติเยียวยาใต้ "สะบ้าย้อย-ตากใบ" 7.5 ล้าน กรือเซะ 4 ล้าน ตายรายวัน 5 แสน)

ความเป็นจริงการเยียวยา ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ
สรุป 

กรณีตากใบได้สะท้อนบทเรียนว่าคนนอกโดยเฉพาะองค์กรมีบทบาทมากที่นำไปสู่ความเข้าใจ เข้าถึง จนนำไปสู่การร่วมเสนอการแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปตแม้เราจะมีจุดต่างมากมาย มีความคิดเห็นต่างกันในความขัดแย้งแต่ให้ทุกคนหันมามองจุดร่วมที่ทุกคนเห็นร่วมกันในเรื่องของสันติภาพ 

นุกูล อาแวปูเตะ “มันเหมือนกับว่าเข้าไม่อยากจะเห็นความรุนแรงทั้งสองฝ่ายไม่ได้หมายถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่อยากเห็นบรรยากาศของการที่เมือมันเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ ออกมาโจมตีฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ผมว่าบรรยากาศแบบนี้คนเข้าไม่อยากเห็น เขาเบื่อบรรยากาศแบบนี้แล้วโครงสร้างบางอย่างมันก็มีปัญหา อย่างเช่นกลไกของกระบวนการยุติธรรม กลไกลของกฎหมายพิเศษเหล่านี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ องค์กรที่ทำงานในภาคประชาชน ผมอยากจะเน้นในส่วนของการที่เข้าไปร่วมตรวจสอบมีบทบาทในเชิงของการตรวจสอบ เพราะว่าสิบปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าใครเป็นใครและบางครั้งต้องยอมรับว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของกลุ่มกระบวนการหรือปัญหาอย่างอื่นอย่างเช่นถ้ามันไม่สามารถที่จะแยกแยะออกมาได้ มันก็จะอยู่ในบรรยากาศของการหวาดกลัว อยากจะลดบรรยากาศของการหวาดกลัวลงมันต้องมีเป้าธนูที่เข้มแข็งในการทำงาน”

สำหรับคำถาม คนอยู่นอกพื้นที่สามารถที่จะทำอะไรได้บ้างนั้น รอมฎอน ปันจอร์ กรุณาเสนอทางออกว่า “คิดว่าต้องทบทวนวิธีการมองปัญหาของชายแดนภาคใต้ใหม่ได้แล้วอันนี้ต้องใจเย็นๆนิดหนึ่ง เพราะว่าตอนนี้กรุณารับทราบด้วยว่าในคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งในคนจำนวนมากเริ่มมีความคาดหวังว่า นน่าจะมีวิธีการหาทางออกที่ลงตัวได้โดยที่ไม่ใช้กำลังอยู่ที่ว่าสังคมไทยจะยอมตระหนักหรือว่าจะยอมมองเห็นปัญหานี้ใหม่ว่ามันไม่ใช่ใช้กำลังอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาแล้วเราต้องหาทางออก แล้วก็เรามีความท้าทายเยอะมากในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (โปรดดู https://deepsouthwatch.org/th/node/6811)

ความหวังของทุกคนในสำหรับคนนอกพื้นที่ทุกคนคือคือโอกาสที่จะมีพื้นที่กลางในการให้ภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

 

หมายเหตุ: การไม่กล่าวถึงอีกหลายองค์กรมิได้หมายความว่าองค์กรเหล่านั้นไม่ทำงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net