Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศ และคําสั่ง ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. อย่างน้อย 70 ฉบับ ตามประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 (โปรดดู https://www.thairath.co.th/news/politic/1611243)  เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 นั้นพบว่ายังมีคำสั่งใหญ่มากๆ 1 ฉบับที่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในบรรยากาศมีคณะรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งคือ

- คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และมีอำนาจในการร่วมสอบสวนพร้อมกับตำรวจ

หากดูคำสั่งนี้แล้วมันมีบรรยากาศการใช้กฎหมายพิเศษคล้ายจังหวัดชายแดนภาคใต้และมันน่าจะมีบทเรียนให้บรรยากาศการเมืองส่วนกลางต้องพิจารณามากๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
 
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) กับ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ รวมทั้งในเขตพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ได้มีประกาศการยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน
 
กฎหมายพิเศษเหล่านี้ นั้นใช้มาตรการตรวจค้นและการควบคุม 2 กรณี คือ
 
ใช้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือกักบุคคล ที่สงสัยว่า เป็นราชศัตรู หรือเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ หรือคำสั่งของฝ่ายทหารไว้สอบถามได้ ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว แล้วแต่ทหารจะกำหนด และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว
 
ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ใด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน 
 
โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย แต่ต้องขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันจับกุม ถ้าจำเป็นให้ขยายเวลา ควบคุมครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน 
 
กล่าวคือ การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัย จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยจะดำเนินการได้ต่อเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้ง 3 ฝ่าย มีความเห็นตรงกัน เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน
 
สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว จะต้องเป็นสถานที่ที่มีการประกาศ และไม่ใช่สถานีตำรวจ หรือเรือนจำ เช่น ศูนย์พิทักษ์สันติ หรือศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

จากข้ออ้างในกฎหมายดังกล่าวของเจ้าหน้าที่พบว่ามีผลกระทบของการใช้กฎหมายพิเศษมากมาย (โปรดดูรายงาน: เปิดบันทึก ศอ.บต.ความเห็นต่อ "กฎหมายพิเศษ" ที่ชายแดนใต้  ใน (https://prachatai.com/journal/2011/01/32523)

ผลเชิงประจักษ์มากที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2562, เวลา15.30 พล.ท.พรศักดิ์  พูลสวัสดิ์  ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เดินทางไปชี้แจงสร้างความเข้าใจและขอโทษกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น  ผู้นำศาสนา  และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์ตรวจค้นเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ที่หมู่ 1 และ หมู่ 4 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา (http://spmcnews.com/?p=18225)

ในทางวิชาการ จากผลการศึกษาวิจัย โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 สรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เห็นว่า กฎหมายพิเศษ  เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการควบคุม และป้องปรามการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และประเมินว่า ประสบผลสำเร็จในการตรึงสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่

 แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำศาสนา เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมตัว กลับเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน 

 การบังคับใช้ กฎหมายพิเศษ ยังส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าว พบว่า ผลกระทบแง่ลบ ที่เกิดจากการใช้ กฎหมายพิเศษส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน อาทิ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงานที่ไม่สอดคล้อง ส่งผลต่อผู้ต้องสงสัย ในกรณีการถูกออกหมายจับและมีชื่อติดค้างอยู่ตลอด เนื่องจากหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีอายุความ หรือปัญหาเชิงเทคนิค 

 อย่างเช่น ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกตัวมาสอบถาม สอบสวน และถูกปิดล้อมตรวจค้นภายใต้กฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายศาล แต่ชาวบ้านหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เข้าใจว่า เป็นผลมาจาก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

 ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมองว่า กฎหมายพิเศษนี้ มีผลกระทบโดยตรงกับความรู้สึกและจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่รู้ และไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้กฎหมายพิเศษ จะเข้าใจผิดคิดว่า รัฐใช้อำนาจตาม กฎหมายพิเศษมากเกินไป เป็นต้น 

จากผลกระทบการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวตลอด 15 ปีมีแน้วโน้มจะยิ่งทำให้สถาณการณ์ด้านการการเมืองมีปัญหาและจะกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศอย่างแน่นอนและจะถูกข้อครหาจากต่างประเทศว่าไม่เป็นประชาธิปไตยพร้อมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง   เลขาธิการพรรคประชาชาติตั้งข้อสังเกตการยังคงคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 นั้น ถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากการตรวจค้น จับกุมและการคุมขังบุคคลใดจะกระทํามิได้ เว้นแต่ต้องขออนุญาตต่อศาลเสียก่อน เพราะศาลจะตรวจสอบข้อเท็จจริง พยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจทุกครั้งก่อนที่จะมีคําสั่งในการออกหมายค้น หรือหมายจับ หรือหมายขัง เป็นการกลั่นกรองถ่วงดุลอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนเมื่อศาลได้ออกหมายค้น หรือหมายจับแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดการตามหมายจับเมื่อจับตัวบุคคลตามหมายได้แล้ว จะต้องรีบส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนทันที และพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับระหว่างทำการสอบสวนได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับไม่ได้รับการประกันตัว พนักงานสอบสวนต้องไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขังได้เป็นคราวๆ ครั้งละไม่เกิน 12 วัน ตามอัตราโทษ ซึ่งโทษสูงสุดจะฝากขังได้ 7 ฝาก หรือได้นาน 84 วัน และการควบคุมต้องส่งตัวไปที่เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่ต่างหาก กับสถานที่ของตำรวจและพนักงานสอบสวนซึ่งเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการประทุษร้าย การทรมาน หรือการบังคับ ขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญา จูงใจ หรือการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้กฎหมายยังให้สิทธิผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับมีสิทธิพบทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวน มีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร และได้รับการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยโดยเร็ว  ที่สำคัญตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนนั้น ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามกฏหมายกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจทุกคนจะเป็นพนักงานสอบสวนได้ อย่างเช่น ในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้าราชการตำรวจทั้งประเทศ ประมาณ 215,136 คน เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ประมาณ 87,591 คน แต่นายตำรวจสัญญาบัตรที่เป็นพนักงานสอบสวนได้มีเพียงประมาณ 10,310 คนเท่านั้น เพราะผู้ที่เป็นพนักงานสอบสวนได้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อบังคับและระเบียบ ต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย การสืบสวนสอบสวน ด้านการพิสูจน์หลักฐาน ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิติวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ที่ใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ นำสู่อัยการและศาล รวมทั้งตำรวจจะต้องเป็นพยานเบิกความต่อศาล   แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้ทหารที่มีกำลังพลทุกเหล่าทัพจำนวนมากที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายและด้านการสืบสวนสอบสวน แต่กลับมีอำนาจเรียกบุคคลรายงานตัว ทำการตรวจค้น จับกุมและกักตัวบุคคลหรือการควบคุมบุคคลได้นานถึง 7 วัน ซึ่งขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจศาล และจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากทหาร ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่ให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจได้อยู่ร่วมรับฟังในระหว่างถูกควบคุมตัว

ข้อเสนอแนะกรณียังใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558โดย พิจารณาจากบทเรียนผลการใช้กฎหมายพิเศษชายแดนใต้

1) กลั่นกรองอย่างรอบคอบ เพราะการใช้อำนาจตรวจค้น และการจับกุม เห็นควรให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย มีมาตรการในการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านความรู้สึกประชาชนในการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และความรู้สึกถูกคุกคามความสงบสุขจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 2) เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้นเพราะที่ชายแดนใต้พบว่า การปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน (ตามที่กล่าวมาแล้ว) 

3) ให้ความสำคัญ และมีนโยบายที่เข้มงวด จริงจังกับการทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายให้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กรอบนโยบายการเมืองนำการทหาร และมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด รวดเร็วกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่กระทำการใดๆ เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ (ที่ชายแดนใต้ยังทำไม่ได้ตลอด 15 ปี)

4) ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการประกาศใช้คำสั่งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน บนพื้นฐานของการอำนวยความปลอดภัย และการอำนวยความเป็นธรรมที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

 5) อำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อาจตั้งคณะทำงานคล้ายกับ  กยต. (คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้) นำร่างหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐเสนอคณะรัฐมนตรี

 

 

 

 

 

     อย่างไรก็แล้วแต่ การจะนำบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมรดก คสช ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง คสช. รวมถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยเช่นตามที่มีการเสนอในรายการ นโยบายByประชาชน (โปรดดูhttps://www.facebook.com/1245604111/posts/10219894022161367?s=1245604111&sfns=mo)

   เพื่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net