Skip to main content
sharethis

 

หากพูดถึงสิ่งปลูกสร้างเพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยในประเทศไทย หลายคนคงนึกถึง ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ กลางถนนราชดำเนิน

แต่ทราบหรือไม่ว่า ยังมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลักษณะนี้อีกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งถูกสร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เป็นที่รู้จักกันในกรุงเทพมหานครเสียอีก


(ดูภาพขนาดใหญ่)

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินสร้างในปี 2482 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึง 7 ปี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในจังหวัดมหาสารคามสร้างในปี 2477 จังหวัดสุรินทร์และร้อยเอ็ดสร้างในปี 2479 นอกจากนี้ยังปรากฏอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญเช่นนี้ในจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุดรธานี รวมไปถึงภาคอื่นๆ เช่น สมุทรสาคร ปัตตานี

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร” ระบุว่าการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาคอีสานสะท้อนภาพปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นกับระบอบการเมืองรูปแบบใหม่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานจะมีบทบาทโดดเด่น แต่ประชาชนในภาคอีสานยังมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากอีกด้วย


ศรัญญู เทพสงเคราะห์

โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ที่จังหวัดสุรินทร์และร้อยเอ็ดเกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือระดมทุนของคนในท้องถิ่น เช่น ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชนทั่วไปที่ต้องการอนุสรณ์เพื่อเป็น “หมุดหมาย” ของระบอบใหม่ในท้องถิ่นของพวกเขา

ความตื่นตัวทางการเมืองของคนในท้องถิ่นทำให้เหล่าข้าหลวงจังหวัดและข้าราชการต้องไปชี้แจงเรื่องราวต่างๆ  หนังสือ “ราษฎรธิปไตย” บรรยายว่า ระบอบใหม่ให้ความสำคัญกับราษฎรด้วยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการต้องออกไปหาราษฎรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการปกครองระบอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร และรัฐธรรมนูญ

ความพยายามในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบอบใหม่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างอนุสาวรีย์ ในปี 2477 รัฐบาลยังได้ทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองส่งไปทุกจังหวัดอีกด้วย

รัฐธรรมนูญจำลองนี้มีลักษณะเป็นสมุดไทยวางบนพานแว่นฟ้าเหมือนฉบับจริง ปัจจุบันทราบว่ายังหลงเหลืออยู่ที่จังหวัดเลย ตรัง ระนอง และลำปาง ส่วนจังหวัดอื่นยังไม่ได้ข่าวคราว

รัชนาท วานิชสมบัติ ปลัดอำเภอเมืองเลย ให้ข้อมูลว่า รัฐธรรมนูญจำลองของจังหวัดเลยเก็บรักษาอยู่ในห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีใครสนใจมันนักและมักคิดว่าเป็นพระไตรปิฎก แต่เขาคิดว่าไม่ใช่จึงไปตรวจสอบดู

รัชนาทกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเหล่านี้เท่าที่พบมักอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ที่จังหวัดเลยมีสภาพสมบูรณ์มาก ผู้ว่าฯ ได้บอกตนให้เอาไปทำอะไรก็ได้ให้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ตนจึงติดต่อพิพิธภัณฑ์จังหวัดเลยซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไปจัดแสดง

ไม่นานมานี้เขาเพิ่งได้รับการตอบรับจากทางอบจ. โดยอบจ.บอกว่าจะนำไปจัดแสดงในห้องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่รัชนาทแย้งไปว่าน่าจะเป็นหมวดการเมืองการปกครองมากกว่า


พานรัฐธรรมนูญจำลองของจังหวัดเลยถูกเก็บอยู่ในตู้กระจก
ในห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเลย (ภาพจากรัชนาท วานิชสมบัติ)

ตัวอย่างความพยายามอธิบายระบอบใหม่ในอีสานมีหลายช่องทาง ช่องทางหนึ่งคือ คำกลอน ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมสิกร) นายอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีได้เผยแพร่หนังสือคำกลอนภาษาอีสานเรื่อง “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง คำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน” ในเดือนตุลาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 4 เดือน และเผยแพร่ “คำกลอนพากย์อีสานบรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” ในปี 2478 เพื่อช่วยคณะราษฎรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบอบใหม่ที่เน้นความเสมอภาคของราษฎร

นอกจากนี้ในปี 2476 เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในพื้นที่ภาคอีสานมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากทั้งในฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร ศรัญญูตั้งข้อสังเกตว่า แม้กองกำลังทหารจากหัวเมืองและฐานที่มั่นของฝ่ายกบฎจะมาจากภาคอีสาน เนื่องจากพระองค์เจ้าบวรเดชเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพที่นครราชสีมาและมีนายทหารจำนวนไม่น้อยเคารพยำเกรง แต่พลเมืองในภาคอีสานกลับสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ในจังหวัดขอนแก่น ทั้งข้าราชการและพลเมืองชาวขอนแก่นได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านฝ่ายกบฎเพื่อไม่ให้ฝ่ายกบฎเข้ายึดเมืองขอนแก่นเป็นที่มั่นในการต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ในจังหวัดมหาสารคาม พระอรรถเปศลสรวดี (เจริญ ทรัพย์สาร) ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ส่งตำรวจและลูกเสืออาสาออกไปช่วยป้องกันรักษาเมืองพร้อมจับกุมทหารฝ่ายกบฏที่พ่ายแพ้ฝ่ายรัฐบาลแล้วหนีมาในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามอีกด้วย

มหาสารคาม – สร้างแห่งแรกในประเทศไทย

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ ในจังหวัดมหาสารคาม สร้างขึ้นในปี 2477 ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกในประเทศไทย และมีประวัติการก่อสร้างที่ชวนประหลาดใจ


อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม ณ ตำแหน่งปัจจุบันที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม

ศรัญญูเล่าว่า การสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 และยังเกี่ยวพันกับความวุ่นวายในจังหวัดมหาสารคามหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่เรียกกันว่า กบฏผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ในช่วงปี 2476 – 2477 อีกด้วย

หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านี้ยุติลง หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) ข้าหลวงประจำจังหวัด (ชื่อเรียกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น) จึงเห็นว่าประชาชนในพื้นที่จำนวนมากยังไม่เข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะยังเชื่อฟังคำทำนายของผู้นำกบฏผีบุญที่มักอ้างว่าตนเป็นผู้วิเศษ หลวงอังคณานุรักษ์จึงพยายามที่จะปลูกฝังให้ชาวมหาสารคามรู้จักระบอบใหม่มากขึ้นด้วยการเสนอให้กรมการจังหวัดสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ ตลอดจนจัดการประกวดกลอนลำเทิดรัฐธรรมนูญและขบวนแห่รัฐธรรมนูญ เพื่อสื่อสารเรื่องของระบอบใหม่ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

“ความน่าสนใจก็คือ มันไม่ได้เกิดจากความริเริ่มของกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ แต่เกิดมาจากความริเริ่มของข้าหลวงประจำจังหวัดร่วมมือกับข้าราชการประจำจังหวัด แล้วก็บรรดาพ่อค้า ประชาชน ร่วมกันลงขันสร้างแลนด์มาร์กขึ้นมา” ศรัญญูกล่าว

สุรินทร์ - จารึกรายชื่อประชาชนผู้บริจาคก่อสร้าง

จนถึงปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่สุรินทร์ก็ยังมีรายชื่อของผู้ร่วมบริจาคสร้างอนุสาวรีย์ปรากฏอยู่ที่ตัวฐาน พงษ์พันธ์ พึ่งตน อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎสุรินทร์ และเป็นชาวสุรินทร์โดยกำเนิด กล่าวว่าเงินบริจาคที่รวบรวมได้ในการสร้างอนุสาวรีย์มีประมาณ 900 บาทซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะในสมัยนั้น


พงษ์พันธ์ พึ่งตน

ไม่เพียงเท่านั้น รอบตัวอนุสาวรีย์ยังมีเสา 6 ต้นที่มีข้อความจารึกเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา หลัก 6 ประการนี้ก็เป็นแนวคิดที่ถูกสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวอนุสาวรีย์จะยังอยู่ในสภาพเดิมและยังคงตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ 1 ในเสาทั้ง 6 ที่เคยสลักคำว่า “เศรษฐกิจ” กลับถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “ความสามัคคี” และยังมีการนำโซ่เหล็กมาล้อมรอบตัวอนุสาวรีย์อีกด้วย โดยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงวันเวลาและการเปลี่ยนคำดังกล่าว


หนึ่งในเสาหกต้นรอบอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดสุรินทร์
เดิมสลักคำว่า “เศรษฐกิจ” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “ความสามัคคี”

รูปพานรัฐธรรมนูญที่เราคุ้นเคยกันนั้น นอกจากจะปรากฏอยู่บนอนุสาวรีย์แล้วยังไปปรากฏอยู่ที่อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น บนหน้าบันวัดปงสนุก จังหวัดลำปาง บนหน้าปกสมุดของนักเรียน ไปจนถึงตราเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรูปศาลหลักเมือง ส่วนตราเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ยังคงมีรูปพานรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่จนปัจจุบัน


ตราเทศบาลเมืองบุรีรัมย์บนฝาท่อระบายน้ำใกล้ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า
เป็นภาพช้างชูพานรัฐธรรมนูญ

ประทีป สุธาทองไทย อาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม โชว์สมุดจดของนักเรียนสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายเล่ม หน้าปกของสมุดจดเหล่านี้ต่างมีตราสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญไปจนถึงภาพสะท้อนค่านิยมการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่รัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่ต้องการให้ประชาชนรับไปใช้

“พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มันคือการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ที่สำคัญของการปกครองด้วย พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่รัฐบาลต้องการให้ชาวบ้านรู้จัก ว่าเรามีระบอบใหม่และมีสัญลักษณ์ใหม่แล้ว การจะทำให้สิ่งใหม่เป็นที่จดจำก็คือการนำสัญลักษณ์นั้นไปใช้หรือไปปรากฎตามที่ต่างๆ แม้แต่แบบเรียนก็จะมีพานรัฐธรรมนูญปรากฎอยู่” ประทีปอธิบาย


ประทีป สุธาทองไทย

ส่วนการที่พานรัฐธรรมนูญไปปรากฏอยู่บนหน้าบันอุโบสถวัดต่างๆ นั้น ประทีปอธิบายว่าเป็นการตอบรับของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการแสดงออกว่าตนมีความทันสมัยและรับรู้เรื่องระบอบใหม่ อย่างไรก็ตาม ประทีปมองว่าการที่ภาพจำของประชาธิปไตยเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาในตัวเองเช่นกัน เนื่องจากภาพมักไม่นำไปสู่หลักการของระบอบประชาธิปไตย

“(พานรัฐธรรมนูญ)มันถูกใช้มาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่ยังจำได้ ปัญหาคือเวลาเรานึกถึงประชาธิปไตยแล้วเรามองภาพรัฐธรรมนูญ มันเหมือนกับนึกภาพแล้วจบ ไม่รู้ความหมายที่วิ่งไปต่อคืออะไร หลักการประชาธิปไตยคืออะไร มันไม่ได้นึกต่อได้จากการเห็นพานรัฐธรรมนูญ ผมเลยคิดว่ามันมีข้อจำกัดและเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน” ประทีปกล่าว


ภาพพานรัฐธรรมนูญบนหน้าบันวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก อ.เมือง จังหวัดลำปาง

การเมืองเรื่องพื้นที่และความทรงจำ

ในภาพรวมของอนุสาวรีย์ตามจังหวัดต่าง ๆ ศรัญญูตั้งข้อสังเกตว่า ที่ตั้งของมันมักอยู่ใจกลางเมืองและอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ เช่น บริเวณศาลากลางจังหวัด ในกรณีของมหาสารคามก็อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดก่อนย้ายไปอยู่ในบริเวณของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ในจังหวัดสุรินทร์ก็อยู่ในศาลากลางจังหวัด กรณีของบุรีรัมย์อยู่กลางวงเวียนใกล้ตลาดก่อนจะถูกทุบทำลาย ในกรณีของจังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ในสวนสาธารณะเกาะกลางบึงพลาญชัย

พื้นที่เหล่านี้ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ได้ในฐานะพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่จัดงานรื่นเริงหรือจัดกิจกรรม เช่นในงานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานฉลองวันชาติ ซึ่งถือเป็นงานรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยคณะราษฎร เริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เมื่อครั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ภายในงานมีกิจกรรมออกร้าน การประกวด มหรสพต่างๆ และการออกสลากกินแบ่ง งานนี้เริ่มจัดในเขตพระนครก่อนจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแจกจ่ายไปทั่วประเทศ โดยในต่างจังหวัดก็มักมีการอัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแห่ไปรอบเมืองก่อนจะนำมาประดิษฐานในโรงพิธี พร้อมจัดพิธีสมโภชและจัดกิจกรรมรื่นเริง นอกจากนั้นยังมีการแสดงปาฐกถาของบุคคลสำคัญ เช่นข้าหลวงจังหวัด ผู้แทนราษฎร และผู้พิพากษาอีกด้วย ศรัญญูเสนอว่า นี่คือความพยายามในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสาระของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ให้แก่พลเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไป งานฉลองรัฐธรรมนูญก็ถูกลดความสำคัญและหายไป ปัจจุบันมีเพียงจังหวัดตรังแห่งเดียวที่ยังจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอยู่ ส่วนในจังหวัดอื่นมันได้แปลงร่างเป็นงานกาชาดไปจนหมดแล้ว


บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม
เดิมเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9

เมื่อไม่มีงานรื่นเริงหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ความผูกพันระหว่างคนในพื้นที่กับอนุสาวรีย์เหล่านี้ก็เริ่มแห้งเหือดไป ตัวอนุสาวรีย์เริ่มไร้พลังเชื่อมโยงคนในท้องถิ่นเข้ากับระบอบใหม่ เมื่อไม่มีบทบาทอยู่ในชีวิตผู้คน ท้ายที่สุดคนในท้องถิ่นก็ค่อยๆ ลืมว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้เคยมีความสำคัญอย่างไร กระทั่งลืมไปว่ามีมันอยู่ จึงเป็นการง่ายมากที่จะเคลื่อนย้าย แทนที่ ทุบทำลาย จนไม่เหลือสภาพเดิมในหลายจังหวัด

“ในด้านหนึ่งมันเป็นการเมืองเรื่องของความทรงจำด้วย เพราะเมื่อคนในท้องถิ่นไม่เห็นความสำคัญ หรือว่าข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการระดับจังหวัดไม่เห็นความสำคัญ มันก็ค่อยๆ ถูกลดทอน บางที่อนุสาวรีย์ถูกย้ายออก แล้วตั้งเป็นอนุสาวรีย์ใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์ชุดใหม่ที่เข้ามาแทนที่อุดมการณ์แบบรัฐธรรมนูญหรือแบบคณะราษฎร” ศรัญญูกล่าว

ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาคอีสานหลงเหลือเพียง 5 แห่งเท่านั้น คือ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ


นักศึกษากลุ่มดาวดินทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร คสช. เมื่อ 22 พ.ค.2558
และ
ถูกจับกุมดำเนินคดี

หากมองในภาพรวมของพื้นที่ตั้ง ตัวอนุสาวรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในมุมหนึ่งใกล้กับรั้วริมถนน ห่างไกลจากตัวอาคารศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่แทบจะไม่ได้รับความสำคัญ มีสภาพทรุดโทรม ต้นโพธิ์ต้นเล็กงอกอยู่บนตัวพานรัฐธรรมนูญ เทียบกับอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่หน้าอาคารศาลากลาง

คล้ายกับที่มหาสารคาม ตัวอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปอยู่ที่เทศบาลเมืองมหาสารคามเดิม ขณะที่ศาลากลางเก่ากลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ด้านหน้าอาคารมีอนุสาวรีย์สร้างใหม่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดสุรินทร์ ที่ฐานมีแผ่นจารึกรายชื่อผู้ร่วมบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์

ถึงอย่างนั้น พลังทางการเมืองของอนุสาวรีย์ดังกล่าวก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว พงษ์พันธ์ระบุว่าอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญที่สุรินทร์ยังถูกใช้เป็นที่แสดงออกทางการเมืองร่วมสมัยของหลายฝ่าย เช่น กลุ่มที่เรียกตนเองว่ากลุ่มคณะราษฎรเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดสุรินทร์ ไม่เว้นแม้แต่ฝ่าย กปปส.

“มันมีการแชร์ความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องของประชาธิปไตยอยู่ ทั้งสองฝ่ายใช้พื้นที่นั้นในการแสดงออกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ในแง่หนึ่ง ถ้ายังคงยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ พื้นที่ตรงนั้นก็จะยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ” พงษ์พันธ์กล่าว

อย่างไรก็ดี จังหวัดสุรินทร์จะมีโครงการย้ายศาลากลางจังหวัดออกไปนอกตัวเมืองในเร็วๆ นี้ และพงษ์พันธ์ยังหวังว่าอนุสาวรีย์จะไม่ถูกเคลื่อนย้ายหรือทำลาย

“มันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่คนสุรินทร์รู้จัก มีความภาคภูมิใจในการสร้าง ถ้าถามคนสุรินทร์ เขาจะภูมิใจว่าตัวอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นก่อนกรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมือง ความชื่นชอบในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของคนสุรินทร์ การที่มันอยู่ที่เดิมตั้งแต่เริ่มน่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และขลังมากกว่าการเอาไปที่อื่น” พงษ์พันธ์กล่าว

บุรีรัมย์ – อนุสาวรีย์ถูกทุบทิ้ง  

หนึ่งในอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่สูญหายไปในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ มันเคยตั้งอยู่ในวงเวียนกลางสามแยกหน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดเดิม แต่ถูกรื้อถอนไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ระบุเหตุผลว่าเป็นการรื้อถอนเพื่อแก้ปัญหาการจราจร


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ในรูปแบบและที่ตั้งดั้งเดิมก่อนเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง
(ภาพจากวิวัฒน์ โรจนาวรรณ - ศากุน ศิริพาณิช เจ้าของภาพ)

วิวัฒน์ โรจนาวรรณ เจ้าของร้านหนังสือน้ำพุในเมืองบุรีรัมย์ ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภาพถ่ายเก่า เล่าว่า อนุสาวรีย์ถูกเคลื่อนย้ายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งที่ 2 หลังจากตัวฐานที่เป็นเสาทรงกลมถูกรื้อเพื่อเปลี่ยนเป็นแท่งคอนกรีตลายธงชาติในช่วงปี 2528 – 2532 เวลาไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

วิวัฒน์กล่าวว่า ถึงแม้คนในพื้นที่จะทราบมาก่อนบ้างแล้วว่าจะมีการรื้อถอนวงเวียนรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีใครได้เบาะแสว่าจะรื้อเมื่อไร จนเกิดการรื้อถอนขึ้น และด้วยเหตุที่อนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนถนนจิระซึ่งเป็นถนนเส้นหลักของเมือง ผู้คนที่สัญจรไปมาจึงสังเกตเห็นได้ง่าย มีการถ่ายภาพและวิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดียอย่างมาก ทางเทศบาลจึงได้ติดป้ายประกาศว่าเหตุที่รื้อวงเวียนรัฐธรรมนูญออกเพื่อติดตั้งสัญญาณไฟจราจรดิจิทัล พร้อมทั้งยืนยันว่าพานรัฐธรรมนูญเดิมจะถูกนำไปติดตั้งบนฐานใหม่บริเวณหน้าศาลากลางหลังเก่า


การรื้อถอนวงเวียนรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 พ.ย. 2557 (ภาพจากวิวัฒน์ โรจนาวรรณ)

ศรัญญูระบุว่า เคยมีการนำตัวพานรัฐธรรมนูญไปติดตั้งบนฐานใหม่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเดิมจริง แต่ถูกรื้อออกเมื่อมีการสร้างพระเมรุมาศจำลองในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างใด

ขณะที่ประชาไทได้ติดต่อไปทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ แต่ไม่สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลจากปากนายกเทศมนตรีได้

“ในภาคประชาชนเราไม่ได้ข่าว เรามีแต่คำพูด ระแคะระคายว่าจะมีการรื้อ ส่วนรื้อแบบไหน โดยใคร ยังไงเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปคัดค้านยังไง และต้องยอมรับว่าประชาชนไม่มีการรวมตัวกันเป็นองค์กร ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร” วิวัฒน์กล่าว

เมื่อถามประชาชนในตึกแถวใกล้สามแยก ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ทราบมาก่อนว่าในวันนั้นจะมีการรื้อวงเวียน มารู้เอาในตอนเช้าของวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 หลายคนรู้สึกตกใจ เนื่องจากทำมาหากินอยู่บริเวณนั้นและมองเห็นมันจนชินตา บางรายเห็นด้วยกับเหตุผลของเทศบาล เพราะบริเวณดังกล่าวมีปัญหาจราจรจริง และมักเกิดอุบัติเหตุบ่อย


วิวัฒน์ โรจนาวรรณ

“อนุสาวรีย์คือสัญลักษณ์ของการปกครองของเรา เมื่อเราเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือตัวแทนของการปกครอง สมัยก่อนอ้างอิงกษัตริย์ อ้างอิงในหลวง แต่เมื่อเป็นระบบการเลือกตั้งมันจะไปอ้างอิงใคร ก็ต้องถือว่าสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของการปกครอง” วิวัฒน์กล่าว

“ไม่ต้องพูดถึงในแง่การปกครอง เวลามีคนมาเยี่ยมมันเป็นแลนด์มาร์กที่เราจะนัดกันง่ายที่สุด ถ้าเรามองในแง่ประวัติศาสตร์ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของมัน สร้างปี 2477 แล้วก็มีการรื้อถอนปี 2557 วัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาในบ้านเมือง ถ้ามีอายุ 80 ปีก็ถือว่าเป็นของเก่า มันมีความหมายทางประวัติศาสตร์ด้วย ทางการเมืองด้วย” วิวัฒน์กล่าว


ภาพจากเพจพาเลาะ ถ่ายเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562

น่าดีใจอยู่ไม่น้อยเมื่อในที่สุด เพจพาเลาะ ก็ตามเจอชิ้นส่วนของพานรัฐธรรมนูญของบุรีรัมย์ มันยังอยู่แม้จะอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เจ้าของเพจเป็นผู้ถ่ายรูปไว้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แล้วนำมาขึ้นเพจ โดยยืนยันว่า การรื้อถอนไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และกล่าวตรงกันกับศรัญญูถึงเหตุผลที่อนุสาวรีย์เจ้ากรรมถูกรื้ออีกหนหลังไปอยู่หน้าศาลากลางเก่าแล้ว

“ไม่กี่ปีก่อน สามแยกหน้าศาลากลางเก่าเมืองบุรีรัมย์นั้น มีวงเวียนพานรัฐธรรมนูญอยู่ แต่เมื่อรถในเมืองบุรีรัมย์มากขึ้น การจราจรเริ่มแออัด ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่า การมีอยู่ของวงเวียนนั้น ทำการจราจรติดขัดเลยรื้อออก ต่อมามีการสร้างใหม่เลียนแบบสมัยแรกสร้าง โดยตั้งไว้ลานหน้าศาลากลางเก่า พอปลายปี 61 มีการสร้างพระเมรุมาศจำลอง ที่ลานหน้าศาลากลางเก่า รัฐธรรมนูญและพานก็ดันอยู่ขวางลานพิธีอีก ก็เลยได้ย้ายและไม่ได้รับการติดตั้งที่ไหนอีก วันนี้มีโอกาสเลยได้แว่บไปตามหา ดีใจที่มันยังอยู่ฮะ”

- - - - - - - -

ทั้งหมดนี้คือช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ถูกหลงลืมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถาวรวัตถุซึ่งซุกซ่อนอยู่ในซอกหนึ่งซอกใดของจังหวัดต่างๆ อาจเชื่อมโยงเราไปสู่จุดตั้งต้นที่ทำให้ลูกหลานตาสียายสาทั้งหลายได้เชิดหน้าชูตาอย่างเท่าเทียม ... บางที อาจต้องเป็นพวกเราเองที่จะเริ่มต้นตามหาสิ่งเหล่านี้ในท้องถิ่นที่อยู่และทำให้มันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อให้ความทรงจำและสำนึกประชาธิปไตยได้ดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net