Skip to main content
sharethis

ที่ชิลีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหญิงประมาณ 1,000 คนรวมตัวกัน พวกเธอสวมชุดสีดำ ถือดอกไม้ เดินขบวนอย่างเงียบๆ ไปตามท้องถนนของกรุงซานติอาโก เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนหลายสิบคนที่เสียชีวิตและอีกหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงที่มีการประท้วงและเกิดจลาจลในชิลีซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว

แฟ้มภาพเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลควบคุมสถานการณ์ในซานดิเอโก ประเทศชิลี ภาพถ่ายเมื่อ 19 ต.ค. ที่มา: Jorge Morales Piderit/Wikipedia

ชิลีมีผู้คนประท้วงเนื่องจากความไม่พอใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยมีสิ่งที่จุดชนวนคือความไม่พอใจเรื่องการขึ้นราคารถไฟใต้ดินตั้งแต่เดือนตุลาคมและมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านความไม่เท่าเทียมดำเนินอย่างต่อเนื่อง และการประท้วง "ขบวนแห่งความเงียบ" ของหญิงสวมชุดดำก็เป็นหนึ่งในการประท้วงที่เกิดขึ้น

ขบวนแห่งความเงียบมีผู้เข้าร่วมขบวนเป็นหญิงสวมชุดดำราว 1,000 คน พวกเธอประท้วงด้วยการแสดงความไว้อาลัยให้กับผู้ที่เสียชีวิต มากกว่า 20,000 คน ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่พลาซาอิตาเลียในใจกลางกรุงซานติอาโกในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกับที่มีกลุ่มอื่นๆ เดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้วมีผู้คนประท้วงในเมืองหลวงมากกว่า 1 ล้านคน

ผู้คนประท้วงแสดงความไม่พอใจในหลายมิติของความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบบำนาญที่แย่ การแปรรูปการศึกษาและสาธารณสุขเป็นของเอกชนแทบทั้งหมด มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมาก ค่าแรงต่ำ และค่าครองชีพสูง รวมถึงมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ชิลี ทั้งการขอให้ ประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเญรา ออกจากตำแหน่งและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การประท้วงทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวตามมาซึ่งเป็นจุดที่ชวนให้นึกถึงประวัติอันเจ็บปวดสมัยเผด็จการปิโนเชต์ แตต่อมาปิเญราก็พยายามเอาใจผู้ชุมนุมด้วยการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวรวมถึงสญญาว่าจะให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เสนอแผนการปฏิรูปสังคมใหม่ เพิ่มบำนาญพื้นฐานจากเดิมร้อยละ 20 และขึ้นค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำจาก 413 ดอลลาร์ (ราว 12,500 บาท) เป็น 481 ดอลลาร์ (ราว 14,500 บาท) แต่สำหรับผู้ชุมนุมแล้วพวกเขาต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากในทุกระดับความต้องการทางสังคมชิลี

ในช่วงที่มีการประท้วงเต็มกำลังจากประชาชน ปิเญราก็ถอนชิลีการเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ 2 รายการคือการประชุมซัมมิทด้านการค้าของ APEC และการประชุมเรื่องโลกร้อนของ COP25 โดยอ้างว่าต้อง "ให้ความสำคัญกับการคืนความสงบเรียกร้องในสังคมก่อน"

อย่างไรก็ตามเซบาสเตียน ครูอายุ 29 ปี ที่ร่วมประท้วง "ขบวนแห่งความเงียบ" ก็บอกว่าสาเหตุที่ผู้ประท้วงชุมนุนกันนั้นเพื่อที่จะส่งสารให้รัฐบาลรู้ว่าพวกเขาไม่โอเค มีอะไรหลายอย่างในสังคมที่ต้องพัฒนา และพวกเขาก็จะเดินทางมาชุมนุมเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ผู้ประท้วงรายอื่นๆ ก็บอกว่าพวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลงจากรากฐานที่แท้จริงและประกาศว่าประชาชนชาวชิลี "ตื่น" แล้ว

ซาลาดิน เมคเคิล อาจารย์อาวุโสด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจ แห่งลอนดอนกล่าวว่าการประท้วงในชิลีแสดงให้เห็นถึงการที่ชาวชิลีเล็งเห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขา และถึงแม้ว่าชิลีจะเป็นประเทศที่พัฒนามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันแต่การพัฒนาเหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งผลให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปดีขึ้นไปด้วย และเมื่อสังคมที่ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยรองรับคนยากจน ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้คนเจ็บแค้น รู้สึกตัวเองแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ผู้ประท้วงในชีลีพยายามต่อสู้กับแก็สน้ำตาด้วยวิธีการใช้ผ้าชุบน้ำกับเบกกิ้งโซดาคาดหน้าหรือบ้างก็ใช้วิธีกินเลมอน

การประท้วงในชิลีรอบล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย มีมากกว่า 1,000 รายที่ได้รับบาดเจ็บและอยู่ในโรงพยาบาลตอนนี้เพราะถูกกระสุนปืนลูกปรายและกระสุนยาง

สถาบันสิทธิมนุษยชนของชิลี INDH ระบุว่าในปัจจุบันมีการฟ้องร้องเรื่องที่กองทัพล่วงละเมิดผู้ชุมนุมแล้ว 167 คดีโดยมีทั้งคดีล่วงละเมิดทางเพศและคดีทารุณแรรม ทั้งนี้ยังมีผู้ตรวจการจากสหประชาชาติไปเยือนชิลีเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

เรียบเรียงจาก

Chilean women hold 'march of silence' for those killed in unrest, Aljazeera, 02-11-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net