Skip to main content
sharethis

นอกจากร้อง “อู้หูววววว” เวลาเห็นตัวเลขทรัพย์สินของนายพลทั้งหลาย บางคนแสดงความไม่พอใจแล้วจบ บางคนสืบเสาะถึงการได้ทรัพย์สินนั้นในระดับตัวบุคคล แต่สืบให้ตายก็คงสืบได้ไม่ครบ ประชาไทจึงชวนทำการวิเคราะห์กันในภาพใหญ่ถึง “เส้นทางเศรษฐี” ของกองทัพไทย ไล่กันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แม้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร แต่ก็ยังเห็นร่องรอยเดิมชัดเจน ทั้งระบบงบประมาณและช่องทางอื่นที่หนังสือ “ทุนสีกากี” (Khaki Capital) ของพอล แชมเบอร์ รวบรวม

“เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด”

นายพลผู้มั่งคั่งในการเมืองยุคปัจจุบัน

เริ่มต้นด้วยการย้อนอดีตเบาๆ ในช่วงรัฐบาล คสช.

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีทหารชั้นนายพลทั้งที่เกษียณแล้วและยังทำงานอยู่ทั้งสิ้น 143 คนจากทั้งหมด 250 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5-9.5 ของจำนวนนายพลทั้งประเทศ

รายงานประจำปี 2558 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงบัญชีทรัพย์สินของสมาชิก สนช.ที่ติดยศนายพล เรียงลำดับตามเหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.92 ล้านบาท 1.95 ล้านบาท  2.09 ล้านบาท แต่เมื่อดูสินทรัพย์รวมทั้งหมดของนายพล เรียงลำดับตามเหล่าทัพ บก- เรือ-อากาศ หลังหักหนี้สินแล้วพบว่ามีราว 5.8 พันล้านบาท 2.2 พันล้านบาท และ 1.2 พันล้านบาท

บุตรและคู่ครองของนายพลเหล่านั้นก็มีความมั่งคั่งจนน่าอิจฉา สินทรัพย์รวมทั้งหมดของคู่สมรสมีทั้งสิ้น 2.7 พันล้าน นายพลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับหนึ่งระบุว่าคู่ครองของเขาถือสินทรัพย์ทั้งสิ้น 720 ล้านบาทจากสินทรัพย์ที่ยื่นบัญชีรวม 802 ล้านบาท ทั้งนี้ร้อยละ 43 ของคู่สมรสที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดระบุตัวเองว่ามีอาชีพเป็น “แม่บ้าน” ที่ไม่มีรายได้

คำถามคือ ข้าราชการทหารที่เป็นข้าราชการมั่งคั่งขนาดนี้ได้อย่างไร บางส่วนอาจเป็นมรดก แล้วส่วนที่ไม่ใช่?? เราคงไม่ขุคคุ้ยกันเป็นรายบุคคล แต่จะชวนดูรายได้ของกองทัพโดยรวมซึ่งย่อมต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้อยู่ในกองทัพ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

แน่นอนว่า การเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของทหารโดยตรง เป็นช่องทางหนึ่งที่เราต่างเห็นเด่นชัด แต่เส้นทางเศรษฐี (ของทหาร) นั้นมีอีกหลายแบบ มันมีอะไรบ้าง ส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างไร จะแก้ไขเงื่อนปมนี้อย่างไร เราอาจพบร่องรอยของคำตอบในรายงานพิเศษชิ้นนี้

กระเป๋าที่ 1 งบประมาณ

งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเป็นงบก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดแทบทุกปี เรื่องนี้สัมพันธ์กับอำนาจของกงองทัพที่มีต่อรัฐบาลเช่นกัน ดังเช่นที่สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชี้ว่า งบกระทรวงกลาโหมไม่เคยถูกรัฐสภาตัดลดเลยตลอดประวัติศาสตร์ ยกเว้นครั้งเดียวในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งในตอนท้ายก็มีการอนุมัติเพิ่มเติมอยู่ดี  

หากดูงบประมาณปี 2563 แยกตามรายกระทรวง พบว่า กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรมากสุดเป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,226.8 ล้านบาทจากปี 2562 (ข้อมูลเมื่อ 5 ก.ย. 2562)

เมื่อแยกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ พบว่า ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงได้รับการจัดสรรงบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2563 โดยมีการจัดเรียงลำดับดังนี้

  1. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.66 แสนล้านบาท หรือ 23.9% ของงบทั้งหมด
  2. การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.7 แสนล้านบาท หรือ 17.9%
  3. การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 5.04 แสนล้านบาท หรือ 15.8%
  4. ค่าดำเนินการภาครัฐ 4.31 แสนล้านบาท หรือ 13.5%
  5. ความมั่นคง 4.28 แสนล้านบาท หรือ 13.4%
  6. การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.8 แสนล้านบาท หรือ 11.8%
  7. การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.18 แสนล้านบาท หรือ 3.7%

อิทธิพลกองทัพถดถอยลงช่วงสั้นๆ หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬและวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่สภาพทางเศรษฐกิจบังคับให้ต้องปรับลดงบประมาณ  หลังรัฐประหารปี 2549 แนวโน้มงบประมาณกลาโหมก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ

แล้วงบกลาโหมแต่ละปีเอาไปทำอะไรกันบ้าง? พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นปีหลังรัฐประหารของ คสช.พบว่า งบกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับมีรายการรายจ่ายเป็นหมวดหมู่ ดังนี้ แผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน
แผนงานเทิดทูน พิทักษ์และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ดี คำถามตัวใหญ่และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงที่สุด เห็นจะเป็นงบในการจัดหาอาวุธที่มักมีข้อครหาเรื่องความ(ไม่)จำเป็นและการคอร์รัปชัน เช่น

กรณีซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-6i จากสหรัฐฯ กองทัพบกไทยมีดีลตั้งแต่ปี 2554 แต่เพิ่งได้รับอนุมัติขายจากกลาโหมสหรัฐฯ ในปี 2562 โดยไทยซื้อทั้งหมด 8 ลำพร้อมอาวุธและอุปกรณ์เสริม คิดเป็นเงิน 4.2 พันล้านบาท แต่ในปี 2557 เอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าขายรุ่นเดียวกัน 24 ลำ (มากกว่าไทย 3 เท่า) พร้อมเครื่องมือสนับสนุนภาคพื้นดินให้กับกองทัพซาอุฯ  7.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดราคาอุปกรณ์ต่างๆ ปลีกย่อยทั้งในส่วนของกองทัพไทยและซาอุฯ

กรณีการจัดซื้อ GT200 และ ALPHA6 ระหว่างปี 2548-2553 รวม 1,354 เครื่อง มูลค่า 1,135 ล้านบาท ต่อมาทดสอบแล้วว่า GT200 ใช้งานไม่ได้ ราคาในอังกฤษก็ต่างจากที่ขายให้กองทัพไทย 7 เท่า (200,000 บาท กับ 1,400,000 บาท) กระนั้น คนในกองทัพยังยืนยันว่า ใช้ได้! ขณะที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจากอังกฤษถูกลงโทษจำคุกในข้อหาฉ้อโกงไปแล้ว สำหรับในไทย มีเพียงผู้แทนจำหน่ายเท่านั้นที่ได้รับโทษจำคุก 9 ปี ชดใช้ค่าเสียหาย 6.8 ล้านบาท

ภารกิจอันยิ่งใหญ่ มากับงบประมาณที่ใหญ่ยิ่ง

การตั้งงบประมาณกินความออกมาถึงงานพลเรือนเป็นแดนสนธยาของสถาบันกองทัพ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนในบทความว่า ถ้าตัดงบประมาณส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกิจการทหาร (อ้างอิงจาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2561 และ 2562 ตามลำดับ) จะประหยัดงบได้อย่างน้อย 1,966.0142 ล้านบาทและ 1,564.5214 ล้านบาท นี่ยังไม่นับเงินที่สามารถประหยัดได้จากการลดจำนวนนายพลที่ปัจจุบันมีรวมกันหลักพัน (ในปี 2518 มียศ พลเอก เพียง 5 คน) เลิกการเกณฑ์ทหาร ลดการซื้ออาวุธ และอื่นๆ ที่อยู่ในภารกิจของ กอ.รมน. หน่วยงานกึ่งพลเรือน-ทหารซึ่งได้รับงบอยู่ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท

แล้วหน้าที่ครอบจักรวาลของกองทัพเช่นนี้เริ่มต้นจากไหน?

งานชิ้นเดิมของพวงทองได้รวบรวมและเรียบเรียงมาว่า เดิมทีรัฐธรรมนูญปี 2475 (ฉบับแก้ไขปรับปรุงปี 2495) ระบุบทบาทของกองทัพในมาตรา 39 ว่า “รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราชและประโยชน์แห่งประเทศชาติ” แต่ในปี 2517 ซึ่งตรงกับสมัยของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ขยายพันธกิจของกองทัพให้กว้างขวางขึ้น มาตรา 70 ระบุว่า 

“กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงครามเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐและเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ” และห้อยท้ายว่า การใช้ทหารเพื่อการอื่นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

หน้าที่ของทหารข้างต้นเป็นต้นฉบับในการเขียนถึงหน้าที่ของกำลังทหารในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา หลังจากนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ก็มีแนวคิด “การพัฒนาเพื่อความมั่นคง” เกิดขึ้นในบริบทสงครามเย็นที่กองทัพใช้โครงการพัฒนาต่างๆ เข้าไปแย่งชิงมวลชนและพื้นที่จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย น่าประหลาดใจที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในปัจจุบันก็ยังคงอ้างอิงพันธกิจของกองทัพอยู่เช่นนั้น

กระเป๋าที่ 2 คลื่นความถี่

คลื่นความถี่ที่ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบวิทยุ โทรทัศน์ แต่เดิมนั้นกองทัพเป็นเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ และเอกชนต้องขอสัมปทาน ซึ่งเอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ 

ข้อมูลเมื่อปี 2545 ระบุว่า กองทัพถือครองธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่จำนวนมาก ทั้งสถานีวิทยุโทศทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่สัมปทานคลื่นความถี่ให้สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 รวมถึงสถานีวิทยุ 245 แห่ง จากทั้งหมด 524 แห่ง

เมื่อแยกการถือครองตามหน่วยงานจะพบว่า กองทัพบกถือครองอยู่ 127 สถานี กองทัพเรือ 21 สถานี กองทัพอากาศ 36 สถานี ตำรวจ 44 สถานี กระทรวงกลาโหม 3 สถานี กองบัญชาการสูงสุด 14 สถานี  ข้อมูลในปี 2557 พบว่า กองทัพยังถือครองคลื่นความถี่ทั้งแบบ AM และ FM รวม 201 สถานี 

ในยุคทีวีดิจิทัลแบบปัจจุบัน กองทัพบกก็ยังมีแหล่งรายได้จากสถานีส่งสัญญาณหรือ MUX ที่ทีวีดิจิทัลจะต้องใช้เพื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่อยู่กับ ททบ.5 โดยมีค่าเช่าใช้ในรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.5 ล้านบาท/เดือน และช่องประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.5 ล้านบาท/เดือน

ข้อมูลเมื่อ เม.ย. 2562 พบว่ามีช่องที่ใช้ MUX ของ ททบ.5 มีจำนวน 12 ช่อง ดังนี้

  • HD 5 ช่อง - ช่อง 7, อมรินทร์ทีวี, พีพีทีวี และช่อง 5
  • SD 7 ช่อง - เวิร์คพอยท์, โมโน, จีเอ็มเอ็ม 25, เนชั่นทีวี, ทรูโฟร์ยู, ทีเอ็นเอ็นและนิวทีวี

เมื่อคำนวณตามอัตราข้างต้นจะพบว่า ททบ. 5 ได้เงินค่าเช่า MUX เดือนละ 77 ล้านบาท รายได้ดังกล่าวยังไม่นับรวมรายได้จากโฆษณา มีการรวบรวมข้อมูลว่า กสทช. เปลี่ยนให้ ททบ. 5 มีโฆษณาเฉลี่ยได้ชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาที 30 วินาที จากเดิมชั่วโมงละ 8-10 นาที ถือเป็น “เสือนอนกิน” ที่หารายได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น

หลังปี 2535 มีความพยายามปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ นำมาซึ่งมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ พร้อมให้มีการจัดตั้ง กสทช. องค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ ทีวี วิทยุ โทรคมนาคม โดย กสทช. ชุดแรกเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 

ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 กสทช. วางแผนว่าจะต้องเรียกคืนคลื่นที่รัฐถือครองทั้งหมดภายในปี 2560 แต่ท้ายที่สุด รัฐบาล คสช. ก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ชะลอการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุตามแผนแม่บทของ กสทช. และให้เลื่อนไปอีก 5 ปี

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐที่ต้องส่งคืนคลื่นล้วนมีท่าทีอิดออดและประวิงเวลา กองทัพบกเองก็มีท่าทีเช่นนั้นโดยอ้างเหตุผลด้าน ‘ความมั่นคง’ ดูได้จากแผนแม่บทของกองทัพบก ปี 2556–2560

กระเป๋าที่ 3 บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ทหารนั่งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจมานานแล้ว ในชิ้นงาน ความลับสาธารณะของไทย: ความมั่งคั่งของทหารและรัฐ โดยอุกฤษณ์ ปัทมานันท์และไมเคิล เค. คอนเนอร์ (2019) รวบรวมข้อมูลว่า สายสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มเห็นชัดในช่วงเผด็จการทหารและระบบราชการเป็นใหญ่ในปลายทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2510 ยุคแรกเริ่ม เจ้าสัวคนไทยเชื้อสายจีนมีปัญหาเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติจึงมักเชิญนายทหารไปนั่งเป็นบอร์ด และถือหุ้นของบริษัทด้วยเพื่อแลกกับการคุ้มครองทางการเมือง เช่น ตระกูลค้าข้าวแบบหวั่งลีหรือตระกูลล่ำซำ ธนาคารศรีอยุธยาของตระกูลรัตนรักษ์ หรือธนาคารกรุงเทพฯ ของตระกูลโสภณพณิช 

ในช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารยาวนาน คนมีสีเหล่านั้นยิ่งสวมหมวกผู้บริหารหลายใบ

พล.ต.อ.กฤษณ์ ศรีวราห์ และจอมพลประภาส จารุเสถียร นั่งเป็นผู้อำนวยการของบริษัทถึง 44 และ 50 บริษัทตามลำดับในช่วงปลายทศวรรษ 2500 จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ลงทุนในหลายธุรกิจ ถือหุ้นในหลายธนาคารและควบคุมรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 2490-2516

หลังสฤษดิ์เสียชีวิตในปี 2506 จอมพลประภาส จารุเสถียร จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นทหารในมุ้ง ‘สี่เสาเทเวศร์’ สืบทอดอิทธิพลในโลกธุรกิจต่อ กลุ่มสี่เสาฯ มีอิทธิพลในธุรกิจภาคการเงิน 12 แห่ง ภาคอุตสาหกรรม 15 แห่ง ภาคการค้าอีก 10 แห่ง ช่วงปี 2506 -2516 ถนอม-ณรงค์ กิตติขจร และประภาส เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนถึง 137 แห่ง ประภาสเป็นกรรมการในบอร์ดธนาคารถึง 5 แห่ง ในขณะที่ถนอมผู้พ่อเป็นนายกฯ 

ในปี 2559 งาน ทุนสีกากี: เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนภิสา ไวฑูรเกียรติ และพอล แชมเบอร์ส นำเสนอว่ามีทหารอยู่ในบอร์ดอำนวยการรัฐวิสาหกิจถึง 42 แห่งจากทั้งหมด 56 แห่งที่ยังดำเนินกิจการอยู่ คิดเป็นจำนวนคนทั้งสิ้น 102 คน

ล่าสุด ในปี 2562 เมื่อลองสืบค้นจากเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พบว่า ยังมีทหารนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดอำนวยการทั้งสิ้น 51 คน ในรัฐวิสาหกิจ 27 แห่งจาก 55 แห่ง

ในช่วงปี 2475-2531 ตำแหน่งที่นั่งทหารในบอร์ดรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นโควต้าที่มีการแบ่งเอาไว้แล้ว ทหารที่นั่งบอร์ดจะมีรายได้จากการเป็นกรรมการ สัดส่วนทหารในรัฐวิสาหกิจและบอร์ดบริษัทเอกชนต่างๆ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งมีที่มาส่วนหนึ่งจากระบบทุนนิยมอุปถัมภ์พวกพ้องและความไม่โปร่งใส จนภาคการเงินและธุรกิจต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการทำระบบบอร์ดบริหารให้เป็นอิสระมากขึ้น ทหารที่ยังเหลืออยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ จึงมักมีตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ”

จำนวนทหารที่นั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ธนาคารทหารไทย

1/12

กรุงไทย

1/11

ททบ. 5

5/5

ธนาคารออมสิน

ไม่มี

MCOT

1/11 (ประธาน)

ธนาคารอาคารสงเคราะห์  (กรรมการอิสระ)

1/9

บริษัทอู่กรุงเทพฯ

3/11

ธกส

ไม่มี

องค์การยาสูบ

1/9

SMEs แบงก์

ไม่มี

โรงงานไพ่

ไม่มี

บสย.

ไม่มี

องค์การสุรา

ไม่มี

บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์

ไม่มี

สหการโรงแรม

ไม่มี

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

1/10

การกีฬาแห่งประเทศไทย

5/15

การยางแห่งประเทศไทย

ไม่มี

การเคหะแห่งชาติ

1/11

ท่าอากาศยานไทย

ไม่มี

โรงจำนำรัฐบาล

ไม่มี

การท่าเรือ

2/9

องค์การส่งเสริมกิจการโคนม

ไม่มี

การรถไฟ

1/8

องค์การสะพานปลา

ไม่มี

วิทยุการบิน

2/6

อตก.

ไม่มี

BMTA

ไม่มี

คณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์

ไม่มี

การบินไทย

2/12

องค์การสวนสัตว์

1/9

ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน

4/11

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  

2/14

บขส.

1/8

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต

1/10

MRTA

ไม่มี

ปตท (กรรมการอิสระ)

1/14

การทางพิเศษ

1/10

การไฟฟ้านครหลวง

2/14

ทีโอที

2/3

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

1/14

แคทเทเลคอม

3/9

ประปานครหลวง

ไม่มี

ไปรษณีย์ไทย

ไม่มี

ประปาส่วนภูมิภาค

1/11

องค์การคลังสินค้า 

1/7

องค์การเภสัชกรรม

ไม่มี

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 

1/11

องค์การนิคมอุตสาหกรรม

1/11

 

 

กระเป๋าที่ 4 เรียกค่าคุ้มครอง

ทุนสีกากี ยังระบุถึงบทบาทและการหารายได้ของกองทัพจากการทำหน้าที่การอำนวยความสะดวกการค้าแบบเทาๆ ไม่เป็นทางการด้วย

กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานคือ พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ที่มีส่วนรู้เห็น เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือและได้รับประโยชน์จากการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในช่วงปี 2555 โดยในปี 2560 มนัสถูกศาลตัดสินจำคุก 27 ปี

ก่อนหน้านี้ ในช่วงทศวรรษ 2493 กองทัพไทยเริ่มเข้าไปมีเอี่ยวกับธุรกิจค้าฝิ่นและเฮโรอีนทางชายแดนภาคเหนือ ปี 2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างกองพลที่ 93 ของกองทัพก๊กมินตั๋งของจีนกับกองกำลังมณฑลพายัพของไทย และเริ่มช่วยเหลือขนส่งฝิ่นจากมณฑลยูนนานผ่านทางพม่าเข้ามาในไทย จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้แยกทางกันในปี 2488 แล้วกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2490 โดยจอมพลผิน ชุณหะวัน ในปี 2506 กองทัพไทยยังคงอำนวยความสะดวกในการขนส่งยาเสพติดของกองกำลังก๊กมินตั๋งเพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการต่อต้านกลุ่มคอมมิวนิสต์

ในช่วงเดียวกับสงครามคอมมิวนิสต์ การรัฐประหาร 2500 และ 2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ เป็นจุดที่ทำให้สฤษดิ์มีอิทธิพลเต็มเหนือธุรกิจการลักลอบค้ายาเสพติดต่อจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จากนั้น งบประมาณของกองทัพส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรสำคัญในช่วงสงครามเย็น

กองทัพกับธุรกิจค้ายายังดำรงต่อมาบนภาวะต่างตอบแทน ในปี 2520 เกรียงศักดิ์ ชมะนันต์ นายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ก็ให้กองกำลังแนวร่วมฉาน (Shan United Army) ที่นำโดยขุนส่า ขุนศึกบริเวณชายแดนไทย-พม่าขนเฮโรอีนเข้าไทย แลกกับการช่วยต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวค่อยๆ โรยราในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขุนส่าย้ายฐานปฏิบัติการไปอยู่ในพม่าในปี 2525

พื้นที่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเขตที่กองทัพไทยใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจมายาวนาน หลักฐานมีปรากฏในปี 2522 ที่เขตแดนไทย-กัมพูชา หลังกองทัพเวียดนามเข้ายึดครองกรุงพนมเปญ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดง ท่ามกลางกระแสความหวาดกลัวการรุกคืบของเวียดนาม กองทัพไทยจัดตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมาให้ความช่วยเหลือและฝึกฝนผู้ที่ต่อต้านเวียดนาม หน่วยรบพิเศษ 315 จัดส่งอาวุธและการช่วยเหลือต่างๆ ให้กับเขมรแดง ในขณะที่หน่วย 838 ทำหน้าที่ร่วมงานกับเขมรแดงโดยตรง และกองกำลังเฉพาะกิจ 80 ของกองบัญชาการสูงสุดทำหน้าที่รวมกลุ่มต่อต้านเวียดนามให้เป็นกลุ่มก้อน 

แนวทางปฏิบัติการของกองทัพไทยในตอนนั้นสวนทางกับท่าทีของรัฐบาลที่ตอนนั้นนำโดยชวน หลีกภัย และ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ. ที่ตีตัวออกห่างจากกลุ่มเขมรแดง ในปี 2536 สื่อนิวยอร์กไทม์นำเสนอเรื่องราวกิจกรรมของกองทัพไทยกับกลุ่มเขมรแดงที่บริเวณชายแดนว่ามีทั้งการสนับสนุนกลุ่มเขมรแดงในด้านที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การขนย้ายลำเลียงไปจนถึงอาวุธ ข่าวชิ้นเดียวกันยังรายงานว่าธนาคารไทยอาจมีเงินของเขมรแดงอยู่ถึงหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และธนาคารไทยยังทำตัวเป็นช่องทางในการส่งเงินต่อไปยังธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนด้วย

งานศึกษาของแชมเบอร์สและคณะยังระบุว่า นอกจากความร่วมมือทางทหารแล้ว กองทัพไทยยังได้นำงบประมาณสนับสนุนที่ได้จากสหรัฐฯ มาช่วยเหลือกลุ่มก่อความไม่สงบจากกัมพูชา มิหนำซ้ำยังมีรายงานว่าตำรวจกับทหารไทยมีการร่วมทุนกับเขมรแดงในธุรกิจข้ามแดนทั้งการค้าไม้ พลอย รถ และสินค้าอื่นๆ มูลค่าการค้าต่อปีในช่วงทศวรรษ 2530 มีมูลค่าถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยรายได้ที่ได้จะหักเข้าหน่วยทหารที่คุ้มกันชายแดนร้อยละ 10 ก่อนจะแบ่งกันระหว่างนักธุรกิจไทยและกลุ่มเขมรแดงฝ่ายละครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ไม้และพลอยเป็นแหล่งรายได้ของกลุ่มเขมรแดงที่ให้กลุ่มทุนไทยซื้อสัมปทาน นักธุรกิจข้ามแดนเล่าว่า ในการขนส่งลำเลียงสินค้าข้ามแดนเข้าไทย จะต้องจ่ายเงินค่าผ่านทางให้กับหน่วย 838 สำหรับราคานั้น ไม้ 1 ลูกบาศก์เมตรจะมีราคาค่าผ่านทาง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วงนั้น บทบาทของ พล.ร.2 รอ. หรือ ‘บูรพาพยัคฆ์’ เป็นที่มองเห็นในแวดวงธุรกิจพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออก กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ในช่วงนั้นทำงานสนับสนุนกับกลุ่มต่อต้านเวียดนามและเขมรแดง หน่วยทหารดังกล่าวได้ผลิตตัวละครสำคัญทางการเมืองขึ้นมาหลายคนในช่วงนั้น ได้แก่ เชษฐา ฐานะจาโร (ต่อมาเป็น รมว.กลาโหม) ชัยณรงค์ หนุนภักดี (ต่อมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1) ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ต่อมาเป็น รมว.กลาโหม และรองนายกฯ) อนุพงศ์ เผ่าจินดา (ต่อมาเป็น รมว.มหาดไทย) ประยุทธ์ จันทร์โอชา(ต่อมาเป็น ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกฯ) อุดมเดช สีตบุตร (ต่อมาเป็นเลขาธิการ คสช.) และ  ธีรชัย นาควานิช (ต่อมาเป็นองคมนตรี และ สนช.) การสนับสนุนกลุ่มเขมรแดงได้สร้างความมั่งคั่งให้กับนายทหารหลายคนทั้งในกลุ่มบูรพาพยัคฆ์และนายทหารเกษียณราชการคนอื่นๆ ก่อนอิทธิพลของกองทัพและนายทหารอาวุโสบางคนจะค่อยๆ ถูกลดทอนลงเมื่อถูกวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งบีบคั้นให้มีการปรับโครงกสร้างองค์กรในกองทัพ

กระเป๋าที่ 5 บริษัทเอกชน/ มูลนิธิ 

กองทัพมีที่ทางในธุรกิจที่เป็นทางการและมูลนิธิที่เป็นบ่อบ่มเพาะรายได้และสายสัมพันธ์ทางการเมือง ที่เห็นได้ชัดก็คือสนามมวยลุมพินี เวทีมวยชื่อดัง ที่คณะกรรมการบอร์ดบริหารทั้งหมด 15 คน เป็นทหารทั้งหมด นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลาก) 

สโมสรฟุตบอล อาร์มี่ ยูไนเต็ด เดิมชื่อสโมสรกีฬากองทัพบก ก่อตั้งเมื่อปี 2459 (เปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2553) เดิมเป็นทีมฟุตบอลที่มุ่งใช้นักเตะในกองทัพเป็นหลัก เป็นพื้นที่ให้กำลังพลออกกำลังกาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้นท่ามกลางกระแสฟุตบอล “ไทยลีกฟีเวอร์” โดยมีสนามเหย้าเป็นสนามกีฬากองทัพบก ทางกองทัพได้รับรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายตั๋วและรายได้จากโฆษณา ปัจจุบันมี พล.อ.อภิรัชต์ ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นผู้จัดการสโมสร และ พล.ต.พลตรี ธนาธิป  สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เป็นผู้จัดการทั่วไป 

ธนาคารทหารไทยเป็นอีกหนึ่งที่ที่มีประวัติศาสตร์การเป็นที่ทางหารายได้ของกองทัพ ธนาคารเริ่มดำเนินกิจการในปี 2500 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จดทะเบียนในปี 2499 โดยมีเหตุผลว่า กองทัพต้องการมีธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งการชำระเงินในการซื้อขายอาวุธ 

ธนาคารทหารไทยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2526 โดยในตอนนั้น สัดส่วนใหญ่ของการถือหุ้นในธนาคารทหารไทยยังเป็นกองทัพไทยร้อยละ 35-36 เป็นเช่นนั้นจนถึงกลางทศวรรษ 2000 ที่นั่งในคณะกรรมการเคยถูกสงวนให้กับนายทหารอาวุโสซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจธนาคาร นิตยสารผู้จัดการ เคยรายงานในปี 2535 ว่าธนาคารทหารไทยเป็นแหล่งทรัพยากรเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกองทัพ ที่คำนวณแค่เงินปันผลในระยะ 7 ปีก่อนหน้านั้นก็มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการใช้เส้นสายกันกับลูกหลานของทหารหลายนายที่ทำงานอยู่ในธนาคาร

สัดส่วนการถือหุ้นของกองทัพและที่นั่งในคณะกรรมการค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่นำมาซึ่งการปฏิรูป ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในปี 2546 มีทหารนั่งอยู่ในคณะกรรมการ 5 จาก 14 ตำแหน่ง และค่อยๆ ปรับลดลงมาทุกปี จนตอนนี้เหลือ 1 จากทั้งหมด 12 ตำแหน่ง คือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการ คสช.

ในระดับมูลนิธิ ที่ชัดเจนคือมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มูลนิธิที่ดูแลผืนป่าขนาด 1.2 ล้านไร่ใน จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2549 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เรื่องการให้หน่วยงานราชการทหารและพลเรือนช่วยดูแลป่าไม้และน้ำในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและป่าเขาใหญ่ 

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และอดีตหัวหน้า คสช. เป็นประธานกิตติมศักดิ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานมูลนิธิ และมีเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหารของเครือไทยเบฟเวอเรจเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และมีนายทหาร 19 นายเป็นกรรมการจากทั้งคณะกรรมการจำนวน 24 คน ในที่นี้มีชื่อที่คุ้นหูได้แก่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตองคมนตรี

มูลนิธิกลายเป็นพื้นที่ที่ระบบอุปถัมภ์กันระหว่างทหารและกลุ่มทุน ยกตัวอย่างเช่น พล.อ.พัฑฒะนะ พุธานานนท์ อดีตรอง ผบ.ทบ. ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทไทยเบฟฯ และเป็นรองประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ได้เป็นตัวแทนไทยเบฟฯ บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ จำนวน 2 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ

กระเป๋าที่ 6 ที่ดิน

ข้อมูลเมื่อปี 2558 จากงานวิจัยของวิทยาลัยกองทัพบกระบุว่า กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราว 460,000 ไร่ และมีที่ดินที่ครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์มากกว่า 4 ล้านไร่ซึ่งจำแนกได้เป็นที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เช่าจากหน่วยงานอื่นหรือเอกชน  รวมทุกประเภทแล้วกองทัพบกมีที่ดินอยู่ในครอบครองประมาณ 5 ล้านไร่ จำนวนนี้ยังไม่รวมที่ดินของเหล่าทัพอื่น

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย

การหารายได้จากที่ดินของกองทัพมักเป็นไปในลักษณะการเก็บค่าเช่าจากการปล่อยให้หน่วยงานรัฐและเอกชนเช่าใช้ กานดา นาคน้อย ระบุไว้ในบทความเมื่อปี 2558 ว่า ที่ดินสาธารณะหลายแห่งถูกโอนกรรมสิทธิจากกรมป่าไม้ให้เป็นของกองทัพบกในยุครัฐบาลสฤษดิ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินริมทะเลกว่าพันไร่ใน อ.สวนสน จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่ต่อมาเปิดบริการเป็นธุรกิจโรงแรมและบริการ 

กองทัพยังพัฒนาที่ดินบางส่วนให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬากองทัพบก สนามกีฬากองทัพบกในบางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า กองทัพเรือมีการเปิดสนามกอล์ฟราชนาวี-พลูตาหลวง ใน จ.ชลบุรี และเก็บรายได้จากค่าใช้สนามและอื่นๆ

ปัญหาอยู่ตรงไหน แก้ได้อย่างไร

ปัญหาหลักของการหารายได้ของทหาร 6 กระเป๋านี้คือความไม่โปร่งใส พอล แชมเบอร์ ผู้ร่วมเขียน Khaki Capital กล่าวว่า ในช่วงรัฐประหารของ คสช. การหารายได้ของทหารถูกทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วยนโยบายรัฐหลายประการ

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล คสช. มีจุดมุ่งหมายในประเด็นความมั่นคงกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือการเสริมสร้างพัฒนาคน เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ โครงสร้างกำลังรบ ซึ่งก็สอดคล้องกับการเพิ่มงบประมาณของกระทรวงกลาโหม

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2562  พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหมได้ชี้แจงในรัฐสภาขณะที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ว่า งบกลาโหมในปี 2563 นั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมา 6 พันล้านบาทนั้นเพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซ่อมแซม จัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ในขณะที่งบประมาณซ่อมแซม จัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ

“ถ้าคุณดูเมกะโปรเจคของคณะรัฐประหาร คุณจะเห็นว่ามีเมกะโปรเจ็คต์บางอย่างที่ช่วยเหลือกองทัพอย่างเป็นสถาบัน ถ้าดูโครงการตามพื้นที่ชายแดน คณะรัฐประหารเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่การค้าเสรีรอบๆ ชายแดน ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วพื้นที่เหล่านั้นทั้งหมดอยู่ภายใต้ขอบเขตรับผิดชอบของกองทัพ” พอลกล่าว

“กรณีเฉพาะคือเขตเศรษฐกิจแม่สอดที่คณะรัฐประหารได้สนับสนุนและยังสนับสนุนอยู่ ที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในแม่สอดทำกำไรจากพื้นที่นั้น พวกเขากังวลว่าเกี่ยวกับบทบาทของจีนที่มากขึ้นในเขตเศรษฐกิจของจีนที่เมียวดี” พอลกล่าว

การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีกิจการ พื้นที่ใต้การบริหารจัดการของกองทัพอยู่ในนโยบายด้วย ไม่ว่าจะเป็นยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง รวมถึงท่าเรือพาณิชย์สัตหีบของกองทัพเรือด้วย

ในระดับนโยบาย รมว.กลาโหม (ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุถึงความจำเป็นไว้ว่า การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษจะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดน และ ชายฝั่งทะเล จึงคิดว่าควรให้รมว.กลาโหมที่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าทัพเข้ามาทำหน้าที่ดูแล

มากไปกว่านั้น ผลประโยชน์ของกองทัพยังได้รับการปกป้องจากพรรคพลังประชารัฐ ปีกการเมืองของคณะรัฐประหาร และ ส.ว. 250 คนที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช. ที่เป็นคนผลักดันและปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพในสภา ไปจนถึงตัวประยุทธ์ ประวิตร จากการตั้งคำถามของฝ่ายค้าน

พอลกังวลว่าการที่ทหารไทยยังมีบทบาทในการเมืองและเศรษฐกิจมาก จะส่งผลเสียกับความโปร่งใส และสภาพของเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากกองทัพไทยไม่ใช่สถาบันที่เปิดกว้างต่อการตรวจสอบและรับผิดรับชอบ แต่จังหวะในการจัดการกับกองทัพนั้นจำเป็นต้องรอจนกว่าประชาชนส่วนมากมีความไม่พอใจกับสิ่งที่กองทัพเป็น

“ผมคิดแบบเศร้าๆ ว่าทางเดียวในการเอาชนะความกว้างขวางของทุนสีกากี คือชื่อเสียงของกองทัพจะต้องถูกทำให้แปดเปื้อน มีมลทิน ซึ่งนั่นเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 2516 และพฤษภาทมิฬ หลังจากทั้งสองกรณี กองทัพมีชื่อเสียงที่แย่และอ่อนแอ ผมกลัวว่าไทยจะต้องรอจนชื่อเสียงกองทัพอ่อนแอ และอ่อนแออีกครั้ง จากนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง เช่น กฎหมายที่จะลดงบประมาณของกองทัพ จนทำให้กองทัพไม่โปร่งใสไม่ได้”

“ทหารจะต้องถูกตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพโดยพลเรือน ในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2529 ก็มีการปฏิรูปความมั่นคง หนึ่งในนั้นคือเกณฑ์ที่ว่าทหารทั้งหมดจะต้องเกษียณเมื่อถึงอายุ 56 ปี และไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพได้นานเกิน 1 ปี สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ แต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งการล่มสลายเฟอร์ดินาน มาร์กอส (เผด็จการพลเรือนในฟิลิปปินส์)” พอลระบุ

แล้วแนวโน้มการปฏิรูปกองทัพของประเทศไทยเป็นเช่นไร อยากไม่รีบด่วนสรุปแบบสิ้นหวังไปเสียก่อน เราจะอภิปรายกันอีกครั้งในตอนหน้า

เอกสารอ้างอิง

Paul Chambers, Napisa Waitoolkiat, Arch-Royalist Rent: The Political Economy of the Military in Thailand,  Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast Asia, Nias Press, 2017

Ukrist Pathmanand, Michael K. Connors, Thailand’s Public Secret: Military Wealth and the State, Routledge, 2019

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขจำนวนช่องทีวีดิจิทัลและรายได้โดยประมาณจากการเช่า MUX ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่มีบางช่องคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. โดยช่อง SD ลดลงจาก 9 เหลือ 7 ช่อง (สปริง 26 และไบรท์ทีวีคืนคลื่นความถี่) เป็นผลให้ค่าเช่า MUX ลดลงเหลือ 77 ล้านบาท แก้ไขเมื่อ 14 พ.ย. 2562 เวลา 10.33 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net