เหยื่อ 'ทวงคืนผืนป่า' สะท้อนชีวิต รัฐใช้ กม. 2 มาตรฐาน นักวิชาการแนะตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ

เหยื่อทวงคืนผืนป่าสะท้อนกระบวนการทวงคืนของรัฐ ชี้ดำเนินการสองมาตรฐาน กระทบคนยากจน ไร้วี่แววทุนถูกทวงคืน ด้านนักวิชาการแนะรัฐ เร่งตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า พร้อมแยกทหารออกจากการจัดการทรัพยากร

นิตยา ม่วงกลาง, วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง, สิทธิพล สอนใจ และ จำนงค์ จิตนิรัตน์ (จากซ้ายไปขวา)

7 ธ.ค.2562 วันนี้ (7 ธ.ค.62) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, มูลนิธิชุมชนไท, กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน Land Watch Thai และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเวทีเสวนา “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน รัฐบาลประยุทธ์มีกี่มาตรฐาน” ณ ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชนร่วมสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ประชาชนจากแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทบังคับให้ตัดฟันยางพาราในพื้นที่ทำกิน 12 ไร่ในปี 2556 และ 2558 ประมาณ 700 ต้น และถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งดำเนินคดีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 แม้ปรากฏหลักฐานการทำกินตามภาพถ่ายทางอากาศมาตั้งแต่ปี 2497 และได้รับการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 กล่าวถึงความหวังที่พังทลายหลังจากลงทุนปลูกยางพาราหวังส่งลูกเรียนหนังสือ จนวันนี้จากที่เป็นเจ้าของสวนยางพารา ก็ต้องกลายเป็นลูกจ้างกรีดยางพารา มีรายได้ไม่พอกินจนลูกต้องออกจากโรงเรียน

“ตอนนี้ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ ลูกขอเงินวันละ 50 บาทยังไม่มีให้ลูกเลยค่ะ เราไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้ ไปรับจ้างก็ไม่พอกิน มันมีความรู้สึกว่า จากที่เราปลูกต้นยาง จะได้กรีดยาง แต่ ณ วันนี้ดิฉันต้องมารับจ้างกรีดยางเขา เอาเงินมาวิ่งคดี เรารู้สึกว่าทำไมเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย ความเป็นธรรมเขาไม่มีให้เราเลย แล้วก็เดี๋ยวนี้มันรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมรัฐถึงทำแบบนี้ ทำไมกับคนของรัฐมีตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่ดำเนินคดี พอเรา 4-5 วันก็จับคดีใส่เราแล้ว” วันหนึ่งกล่าว

สิทธิพล สอนใจ เกษตรกรจากอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ผู้ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่สวนป่าห้วยน้ำหิน 7,821 ไร่ มีผู้ถูกดำเนินคดี 298 คน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงวันนี้มีหนี้สินท่วมหัว กลายเป็นลูกหนี้ชั้นเลวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิมได้แล้ว

“ตอนเจ้าหน้าที่ตรวจยึดพื้นที่เขาให้เราไปชี้ ถ่ายรูป โดยให้เหตุผลว่าจะให้ทำกินต่อไป ให้ไปชี้จุดรังวัด ถ้าตรงไหนไม่ชี้ ไม่ปรากฏใครเป็นเจ้าของจะยึดคืนเป็นพื้นที่ของราชการ พี่น้องก็อยากมีสิทธิทำกินก็เลยไปชี้จุด เกิดเป็นการดำเนินคดีแจ้งความชาวบ้าน ผลกระทบนี้เกิดขึ้นมากมายมหาศาลมาก อยากให้เห็นว่าภาระหนี้สิน เศรษฐกิจ สุขภาพร่างกาย หนี้สินเฉพาะกับ ธ.ก.ส. 44 รายที่เป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ มีหนี้สินอยู่รวม 18 ล้านบาท มีพี่น้องเสียชีวิตจากภาวะเครียด ทั้งเส้นเลือดตีบและแตก บางคนก็เป็นอัมพาตครึ่งท่อน” เกษตรกรจากอำเภอนาน้อยเล่า

นิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็น 1 ใน 14 ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทองเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา กล่าวว่า ชาวบ้านซับหวายได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ตั้งแต่โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) จนถูกประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทองทับ และถูกทวงคืนผืนป่าในรัฐบาล คสช. กล่าวถึงกระบวนการจับกุมว่า ตนพยายามเรียกร้องให้มีกระบวนการตรวจสอบสถานะผู้ยากไร้ที่ได้รับการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และการบอกว่านโยบายทวงคืนผืนป่าคือการทวงคืนจากนายทุนนั้นไม่จริง มีแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

“เราพยายามให้มีการตรวจสอบ (สถานะผู้ยากจนยากไร้) ก่อนการดำเนินคดีด้วยซ้ำไป เราผลักดันก่อนที่จะเกิดนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่ก็เกิดคดีขึ้นกับพี่น้องชาวบ้าน เราคิดว่านโยบายทวงคืนผืนป่าที่ตามนโยบายเป็นการทวงคืนจากนายทุน แต่กลายเป็นกระทบพี่น้องชาวบ้าน บางคนมีแค่ 6 ไร่ก็โดนดำเนินคดี บางคนมี ภบท. 5 เขาก็บอกว่าไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ การผลักดันของเรา ผลักดันมา 3-4 ปี เพิ่งตรวจสอบสถานะผู้ยากจนยากไร้เสร็จเมื่อเดือนตุลาคม มีใครยืนยันได้อีกไหมว่าเราจะไม่กลับไปนอนคุกอีก” นิตยากล่าว

ประทีป มีคติธรรม, ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, พรพนา ก๊วยเจริญ, สุมิตรชัย หัตสาร และประยงค์ ดอกลำใย (จากซ้ายไปขวา)

ประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ และในจำนวนนั้นกำหนดให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นการแบ่งงบประมาณกันระหว่างกรม โดยกรมป่าไม้ดูเรื่องป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดูพื้นที่ปาอนุรักษ์ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่าตั้งแต่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า มีคดีความเกิดขึ้นอย่างน้อย 46,000 คดี และน่าเสียใจที่ทั้งสองกรมไม่สามารถพูดจำแนกได้ว่าเป็นนายทุนและคนจนอย่างละกี่คดี

“5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคัดค้าน กล้าพูดเลยว่าถ้ายังใช้วิธีนี้ไม่มีทางทวงคืนผืนป่าได้ตามเป้า คุณกำลังประกาศเป็นศัตรูกับประชาชน 10 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 5 ของคนในประเทศนี้ ความล้มเหลวของนโยบายนี้คือ คุณล้มเหลวตั้งแต่ต้น สิ่งที่ คสช. ทำได้คือ ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 บอกว่าการทวงคืนนี้จะไม่กระทบผู้ยากไร้ ประจักษ์พยานเกิดขึ้นชัดเจนมากจากเวทีที่พี่น้องมาสะท้อน การทวงคืนผืนป่าไม่ได้กระทบผู้ยากไร้ไม่จริงครับ ผมคิดว่าจะต้องมีการทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. เขาบอกว่าเขาประสบความสำเร็จมากในการทวงคืนผืนป่า แต่คดีชาวบ้านเพิ่มขึ้น แล้วแก้ปัญหาได้ไหม แก้ไม่ได้” ประยงค์กล่าว

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมคือความเป็น ‘คดีนโยบาย’ ที่ฝ่ายนโยบายก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจตุลาการ จนศาลไม่สามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระ ไม่ต่างจากคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ฝ่ายนโยบายมีอิทธิพลเหนือฝ่ายตุลาการ แล้วออกมาเป็นนโยบายภายในวงการตุลาการเอง นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีก เช่นคดีของพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ จังหวัดตาก ศาลพูดคำว่าคดีนโยบาย ทั้งที่คดีนั้นตำรวจส่งเรื่องให้นายอำเภอตรวจ นายอำเภอสั่งไม่ฟ้อง พอไปถึงอัยการกลับสั่งฟ้องไปถึงศาล เราก็คุยกันในศาล นายอำเภอยอมมาเป็นพยานฝ่ายจำเลยให้เราเลย ศาลบอกว่านี่คือคดีนโยบาย ฉะนั้นคดีป่าไม้ที่ดินทั้งหมดคือคดีนโยบาย ทำไมกระบวนการยุติธรรมถึงต้องใช้แนวทางนโยบายมาใช้ในการตัดสินคดี การพิสูจน์คดีในศาลก็ไม่ง่าย พยานต่างๆ ประชาชนเข้าถึงได้ยากมาก” ทนายสุมิตรชัยกล่าว

ส่วนไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เสนอว่า ประเทศไทยต้องเอาทหารออกจากการจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทหารมีวิธีคิดที่มองคนอยู่ในป่าเป็นศัตรู เห็นได้จากการรายงานสถิติการทวงคืนผืนป่าว่าทวงคืนได้เท่าไร ยึดได้เท่าไร จับกุมได้เท่าไร ใช้วิธีเหมือนยุคสงคราม นอกจากนั้นยังต้องมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะเป็นผลกระทบจากรัฐที่สร้างความเจ็บปวดและเป็นบาดแผลติดตัวไปตลอดชีวิต

“ผมเสนอให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องเยียวยา ไม่ใช่แค่ให้กลับไปทำกิน พวกเขาติดคุกฟรีๆ เสียคนอันเป็นที่รักฟรีๆ ลูกก็ต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกำลังหลักของครอบครัว ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องยอมรับว่า นโยบายทวงคืนผืนป่ามันทำร้ายคนเยอะมาก ต้องมาคิดว่าต้องเยียวยาเขาอย่างไร ต้องมีกองทุนเยียวยา กองทุนยุติธรรมคงไม่พอ คุณไปเรียกค่าเสียหายชาวบ้านจากคดีโลกร้อน ผมพูดตรงๆ ว่าชาวบ้านเกิดอีก 10 ชาติจะใช้หนี้หมดหรือเปล่ายังไม่รู้” อาจารย์ด้านสังคมวิทยาย้ำ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 มีคดีที่เกิดขึ้นในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 82,921 คดี โดยสถิติคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้ของกรมป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ 5 ปีหลัง มีคดีบุกรุกทั้งสิ้น 46,600 คดี แบ่งเป็นกรมป่าไม้ ในช่วงตุลาคม 2556 ถึงกันยายน 2561 จำนวน 34,804 คดี และกรมอุทยานฯ ในช่วงตุลาคม 2556 ถึง กันยายน 2562 จำนวน 11,796 คดี โดยทั้งสองกรมไม่สามารถจำแนกให้ประจักษ์ได้ว่ามีนายทุนกี่คดีและคนจนกี่คดี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงได้แถลงการณ์หลังจบเวที เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อไป

ข้อเรียกร้องต่อรัฐและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน รัฐบาลประยุทธ์มีกี่มาตรฐาน ?”

วันที่ 7 ธันวาคม 2562

ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) มูลนิธิชุมชนไท กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน  และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง  “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน รัฐบาลประยุทธ์มีกี่มาตรฐาน ?” ในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562 ณ ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประชาชน นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการและนักกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องราวจากคนเล็กคนน้อยผู้ที่เผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างมหาศาลของสังคมไทย และความเหลื่อมล้ำ ไร้มาตรฐาน เลือกปฏิบัติของรัฐต่อประชาชนคนยากคนจนกับนายทุนและนักการเมืองผู้มีอำนาจอิทธิพล เรามีข้อเรียกร้อง ดังนี้

  1. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นอิสระและให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงจากพื้นที่ พิจารณาให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ชาวบ้านที่โดนดำเนินคดีอันเนื่องมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และคดีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ รวมถึงความบิดเบือนในการดำเนินการ อาทิ คดีโลกร้อน โดยจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนจากกฎหมาย นโยบาย และการดำเนินการที่ผิดพลาดของทุกหน่วยงาน
  2. รัฐบาลจะต้องยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยุติการขยายผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวทันที และจะต้องให้เอาหน่วยงานทหาร และหน่วยงานด้านความมั่นคงออกจากกลไกการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่ดินและทรัพยากรป่าไม้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ
  3. การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ ทบทวนและแก้ไขนิยามคำว่าป่าไม้ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484   ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ที่ดินทุกฉบับ รวมทั้งคำสั่งภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ค.ส.ช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) เนื่องจากเป็นนโยบายและกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้าง รัฐจะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายจะต้องยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน การรับรองสิทธิชุมชน และจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ  เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้อย่างเป็นธรรม
  4. รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลการครอบครองที่ดิน ยกเลิกการประกาศที่ดินรัฐทุกประเภทที่ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน จัดการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้กระทำผิดในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน และ/หรือผู้ที่ครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะนายทุนและนักการเมืองที่มีการใช้อิทธิพลและอำนาจในการครอบครองที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) หรือ ภบท. อย่างมิชอบ รวมถึงให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องแสดงความรับผิดชอบในทุกกรณีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว             

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะร่วมกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการป่าไม้ที่ดินของรัฐและการแก้ปัญหาที่ดินของคนจนตามข้อเรียกร้องดังกล่าวให้มีผลปฏิบัติ จนถึงที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท