Skip to main content
sharethis

หลังเกิดเหตุกองทัพสหรัฐฯ ใช้โดรนสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ผู้มีบทบาทสำคัญหนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง ล่าสุดรอบสุดสัปดาห์ชาวสหรัฐฯ หลายพันคนทั่วประเทศต่างชุมนุมต่อต้านสงคราม และยังมีกระแสวิจารณ์หลัง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่โจมตีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอิหร่าน ด้านอิหร่านยกเลิกมาตรการจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และเตรียมฝังศพนายพลสุไลมานีที่บ้านเกิดในวันอังคารนี้

แฟ้มภาพ พล.ต.กอเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (ซ้าย) รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้น Zolfaghar จากผู้นำสูงสุดอิหร่าน อาลี คาเมเนอี เมื่อ 11 มีนาคม 2019 ที่มา:  Khamenei.ir/Wiki

 

ทั้งนี้มีการประท้วงในหลายเมืองของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ก็เพื่อต่อต้านและประณามสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นปฏิบัติการ "ที่ก่อเหตุแห่งสงครามในแบบบ้าบิ่น" ต่ออิหร่าน ทั้งนี้ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ถอนกองทัพออกจากตะวันออกกลางด้วย

ผู้ประท้วงในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์กซิตี, ชิคาโก, อาร์คันซอ และในพื้นที่อื่นๆ อีกมากกว่า 70 แห่งทั่วสหรัฐฯ ต่างก็เดินขบวนประณามการสังหาร นายพลกอเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่สร้างความหวาดวิตกว่าจะเกิดสงครามตะวันออกกลางที่เป็นหายนะ

CodePink องค์กรต่อต้านสงครามที่เป็นผู้จัดการประท้วงทั่วสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ระบุทางทวิตเตอร์ว่า "ชาวอเมริกันเหลืออดแล้วกับสงครามจากสหรัฐฯ และลุกฮือกันเรียกร้องสันติภาพกับอิหร่าน" หนึ่งในแหล่งที่ผู้ประท้วงชุมนุมคือหน้าทำเนียบขาว

โมจกาน ฮาจี ชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่านที่เข้าร่วมประท้วงด้วยกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวเขาเท่านั้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งในสหรัฐฯ และในอิหร่าน "และไม่มีใครเลยที่จะชนะในสงครามนี้เว้นแต่พวกผู้รับเหมาธุรกิจทางการทหารเท่านั้น" ฮาจีกล่าว

หลังจากการที่สหรัฐฯ ใช้โดรนสังหารนายพลสุไลมานี เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ตามคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีกระแสการแสดงความไม่พอใจจากกลุ่มสายก้าวหน้าทั้งองค์กรที่ต่อต้านสงครามและสมาชิกสภาคองเกรส พวกเขาแสดงความกังวลว่าการสังหารอย่างผิดกฎหมายนั้นเช่นนี้อาจจะส่งผลสะเทือนให้เกิดความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางอีก

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีการสังหารนายพลสุไลมานี หน่วยงานกลาโหมสหรัฐฯ เพนตากอนก็วางกำลังเพิ่มในอิรักและคูเวต ซึ่งมีผู้คนวิจารณ์ว่าอาจจะเป็นการนำไปสู่สงคราม ทั้งนี้ยังมีการต่อต้านจาก ส.ส. พรรคเดโมแครตจำนวนหนึ่งที่วิจารณ์ว่าปฏิบัติการของทรัมป์ "ไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ" เพราะไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภารวมถึงอาจจะส่งผลร้ายเรื่องการยกระดับความขัดแย้งทางการทหารกับอิหร่านได้

นอกจากในสหรัฐฯ แล้ว มีชาวลอนดอนหลาร้อยคนประท้วงต่อต้านสงครามอิหร่านในวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยกลุ่มยุวชนพรรคแรงงานอังกฤษออกแถลงการณ์ว่าการสู้รบกับอิหร่านจะยิ่งเป็นการทำให้ตะวันออกกลางขาดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและอาจจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายใหญ่ในระดับหนักที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เคยนำการบุกโจมตีอิรักในปี 2546 แถลงการณ์ของพรรคยุวชนแรงงานยังระบุอีกว่าพวกเขาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนชาวอิหร่านเพื่อต่อต้านปฏิบัติการรุกรานใดๆ ก็ตามจากรัฐบาลอเมริกัน

 

ทรัมป์ถูกวิจารณ์เรื่องขู่ทำลายสถานที่มรดกทางวัฒนธรรม ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

นอกจากเรื่องการประท้วงแล้ว ทรัมป์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่ทรัมป์ว่าจะโจมตีแหล่งวัฒนธรรมของอิหร่าน 52 แห่ง ถ้าหากอิหร่านโจมตีเป้าหมายชาวอเมริกันหรือทรัพย์สินของอเมริกัน โดยอ้างอิงตัวเลขจากจำนวนชาวอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 52 รายในช่วงปฏิวัติอิหร่านปี 2522 อย่างไรก็ตามการโจมตีสถานที่มรดกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติในแง่อาชญากรรมสงคราม

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่กลุ่มติดอาวุธซึ่งเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะฮ์เคยทำลายศาสนสถานโบราณในประเทศมาลีมาก่อนเมื่อปี 2555 ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งข้อหาหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธนี้ว่าก่ออาชญากรรมสงครามจากการทำลายวัตถุทางวัฒนธรรม

นิโลคัส เบิร์น อดีตเลขานุการด้านกิจการการเมืองและทูตประจำนาโตวิจารณ์ทรัมป์ว่า "การข่มขู่ของเขาถือเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและไม่เป็นอเมริกัน" เบิร์นยังบอกอีกว่าทรัมป์เคยสนับสนุนมติของสหประชาชาติในปี 2560 ที่ประณามเรื่องการทำลายแหล่งสถานที่ทางวัฒนธรรมมาก่อน

มีเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ บางส่วนที่แสดงการต่อต้านในเรื่องนี้เช่นกัน มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งที่ทำงานให้กับทั้งสมัยของบารัค โอบามา และสมัยทรัมป์กล่าวว่า "ในเชิงหลักการแล้ว พวกเราในฐานะประเทศชาติและในฐานะกองทัพจะไม่โจมตีแหล่งวัฒนธรรมของข้าศึก"

 

นายพลสุไลมานีผู้ปฏิบัติราชการสงครามขยายอิทธิพลอิหร่านในตะวันออกกลาง

สำหรับนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ติดยศพลตรีของกองกำลังปฏิวัติอิหร่าน เป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการในสงครามนอกแบบ และสืบราชการลับทางทหาร เขาเริ่มต้นราชการทหารในสงครามอิรัก-อิหร่านในช่วงปี 2520 และต่อมามีชื่อเสียงในการปฏิบัติราชการสงครามนอกดินแดนอิหร่าน รวมทั้งการช่วยเหลือกองกำลังเฮซโบลเลาะห์ในเลบานอน

และตั้งแต่ปี 2555 ก็เข้าช่วยเหลือรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย ในช่วงปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด รวมทั้งช่วยให้รัสเซียเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลซีเรีย นอกจากนี้โซไลมานียังเป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมรัฐบาลอิรัก และกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่สนับสนุนอิหร่าน ในการปราบกลุ่มไอซิสในช่วงปี 2557-2558 นอกจากนี้โซไลมานียังเป็นคนแรกๆ ที่เข้าช่วยเหลือ ติดอาวุธให้กับกองกำลังชาวเคิร์ดอีกด้วย

ก่อนที่สุไลมานีจะถูกลอบสังหาร ก่อนหน้านี้เมื่อ 31 ธ.ค. เกิดเหตุผู้ประท้วงบุกโจมตีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก โดยเป็นการตอบโต้หลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการทางทหารถล่มกลุ่มติดอาวุธกาตาอิบ เฮซโบลเลาะห์ ที่เป็นฝ่ายหนุนอิหร่านจนเสียชีวิตไป 25 ราย

ส่วนสถานการณ์ที่อิหร่าน มีชาวอิหร่านจำนวนมาก ออกมาชุมนุมในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) เพื่อเข้าร่วมพิธีศพของนายพลสุไลมานี ผู้ซึ่งหลังเหตุลอบสังหารได้ถูกขนานนามโดยอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านว่าเป็น "ชะฮีดสุไลมานี"

"ตลอดอายุขัยของท่าน ได้อุทิศตนเพื่อทำการต่อสู้และญิฮาดในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ตำแหน่งการเป็นชะฮีดคือรางวัลตอบแทนจากความพยายามอย่างไม่หยุดนิ่งของท่านในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยอำนาจจากเอกองค์พระผู้อภิบาล การสูญเสียครั้งนี้จะไม่ทำให้อุดมการณ์ของท่านต้องหยุดหรือชะลอลงเป็นอันขาด ทว่า การแก้แค้นที่แสนสาหัสจะอุบัติขึ้นต่อเหล่าอาชญากรที่มืออันสกปรกของพวกมันเปื้อนเลือดท่านและชะฮีดท่านอื่นในเหตุโจมตีเมื่อคืนที่ผ่านมา"

ชะฮีดสุไลมานีคือภาพลักษณ์ของการต่อสู้ในเวทีสากล และหัวใจของบรรดานักต่อสู้ ที่มีความผูกพันต่อท่านพร้อมที่จะทวงหนี้เลือดในครั้งนี้ ทั้งมิตรและศัตรูจงทราบไว้ว่า วิถีแห่งญิฮาดและแนวคิดการต่อสู้จะทวีคูณยิ่งขี้น  ชัยชนะอย่างแท้จริงกำลังรอบรรดามุญาฮิดีนในหนทางอันประเสริฐนี้ การสูญเสียขุนพลที่รักและผู้ที่เสียสละเสมอมา ย่อมนำความขมขื่นสู่เรา แต่เรายังคงยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อชัยชนะและทำให้ฆาตรกรพร้อมอาชญากรได้ลิ้มรสการตอบโต้ที่ขมขื่นกว่าแน่นอน" ตอนหนึ่งของสาส์นโดยผู้นำสูงสุดอิหร่านระบุหลังเกิดเหตุลอบสังหาร

ในขณะที่ทางการอิหร่านยังประกาศยกเลิกการจำกัดการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ด้านรัฐสภาอิรักลงมติเมื่อคืนวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) ขับไล่กองกำลังสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศ ส่วนร่างของนายพลสุไลมานี จะถูกฝังที่บ้านเกิดที่เมืองเคอมาน (Kerman) ในวันที่ 7 ม.ค. นี้

เรียบเรียงจาก

Thousands Take to Streets in More Than 70 Cities Across US to Protest Trump's "Reckless Acts of War" Against Iran, Common Dreams, 04-01-2020

Trump's threatened attack on Iranian cultural sites could be a war crime if carried out, CNN, 06-01-2020

Qasem Soleimani, Wikipedia

"สาส์นท่านผู้นำสูงสุดกรณีการเสียชีวิตนายพลกอเซม สุไลมานี, ขุนพลที่ยิ่งใหญ่และเป็นความภาคภูมิใจของอิสลามได้ไปสู่ฟากฟ้าแล้ว", สำนักผู้นำสูงสุดซัยยิด อาลี คาเมเนอี, 4 มกราคม 256

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net