Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เคยมีข่าวพระบางวัดนำอาหารที่บิณฑบาตได้มาคลุกรวมกันทั้งคาวหวานแล้วจึงฉัน นัยว่าเพื่อเป็นอุบายให้ตัดซึ่งกิเลส แต่กรณีนี้ตึงเกินไปไหม ไม่เคยมีใครพระธรรมวินัย ก็เป็นการสร้างภาพแบบเทวทัตหรือไม่ ต้องพึงสังวร

พระฉันอาหารนั้นมีบทสวดพิจารณาอาหาร ว่า “ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน. . .แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้” <1> อย่างไรก็ตามการที่ต้องนำอาหารมาเทรวมกันคลุกเคล้าแล้วฉันเพื่อไม่ให้เกิดความสุขกับการฉันนั้นคงไม่ใช่ เราไม่จำเป็นต้องบิดเบือน ทำอาหารที่มีรสชาติดีให้กลายเป็นดั่ง “ขยะ” แล้วค่อยกินก็ได้  การทำอย่างนั้นเป็นการตึงเกินไปหรือไม่

ในสมัยพุทธกาล ก็มีผู้ทำอาหารอันประณีตมากมายถวายพระพุทธเจ้า เช่น “ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้น ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว. . .” <2>

การถวายอาหารอันประณีตนั้นเป็นไปตามศรัทธาของญาติโยม ตราบที่ไม่ได้ไปขอจากญาติโยมก็ไม่ผิดพระธรรมวินัย  ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า “ภิกษุใด ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์” <3>  แต่ทั้งนี้ยกเว้นในกรณีพระที่ป่วยอยู่ก็อาจขอบิณฑบาตเพื่อให้ได้อาหารอันประณีตได้ 

แม้แต่ในสมัยพุทธกาล ก็ยังมีกรณีที่พระยังมีกิเลส ไปบิณฑบาตกับผู้ที่ถวายอาหารอันประณีตมากกว่าที่ไม่ประณีต แต่ก็ไม่มีบัญญัติห้ามใดๆ เช่น กรณี “อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำบุญโดยทำนองนี้ ทั้งให้ทานแก่คนยากจน และการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ทรัพย์ที่หาได้มาใหม่ก็ไม่เท่ากับจ่ายออกไป ภัตตาหารที่จัดถวายพระภิกษุสงฆ์ก็ลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ จนที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำผักเสี้ยนดอง. . .พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุถุชนก็พากันไปรับอาหารบิณฑบาตที่ตระกูลอื่นที่ถวายอาหารมีรสเลิศกว่า <4>

ส่วนในธุดงค์ 13 <5> ที่มีเขียนว่า “ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร คำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง. . .” เป็นข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษ แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ ไม่ใช่พระธรรมวิจัย  และไม่ใช่เป็นทางเดียวที่จะสละกิเลสได้

การเคร่งจนเกินไป ระวังจะเป็นเทวทัต มีอยู่ครั้งหนึ่งพระเทวทัต “ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ” <6>

“พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ” <7>

การที่มีการถือเคร่งทางใดทางหนึ่งก็คงเป็นไปตามคำสอนของครูบาอาจารย์หนหลัง ในแง่หนึ่งก็เป็นการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มุ่งลดกิเลส แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ปฏิบัติแบบนี้ ทางละกิเลสไม่ใช่การทรมานตนหรือดัดจริตผิดเพี้ยน แต่ให้มีศีล สมาธิ ปัญญาต่างหาก  เราพึงฉุกคิดได้ด้วยว่า บางคนอาจอ้างตนว่า “ดีกว่า” เพื่อหวังทำลายหลักการของพุทธเรื่องทางสายกลาง และมุ่งยกตนข่มท่านแบบเทวทัตซึ่งเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา

จงฉุกคิดสังวรถึงพวกคนที่ชอบทำดี พูดดีให้ดูดีกว่าคนอื่น พวกนี้อาจเป็นปีศาจในคราบนักบุญ

 

อ้างอิง
<1> บทสวดพิจารณาอาหาร http://www.trueplookpanya.com/true/ethic_detail.php?cms_id=18519
<2> พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ https://cutt.ly/FrygIPa
<3> พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ https://cutt.ly/5ryfvEo
<4> อนาถปิณฑิกเศรษฐี เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก http://www.84000.org/one/3/02.html
<5> ธุดงค์ 13 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม https://cutt.ly/qrygS2w
<6> พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องวัตถุ ๕ ประการ http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=7&A=3770&Z=3863
<7> ตามข้อ <6>
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net