Skip to main content
sharethis

สนทนากับ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับสารคดี ‘ไกลบ้าน’ ที่ตามชีวิต วัฒน์ วรรลยางกูร ถึงจุดเริ่มต้นไอเดีย และความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสกับชีวิตของผู้ลี้ภัยการเมือง รวมถึงจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ทำให้เขาก้าวข้ามจากความคิดทางการเมืองแบบมีอคติ

 

 

วัฒน์ วรรลยางกูร คือ เจ้าของนวนิยาย ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ อันโด่งดัง ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งถูกนำไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2544 

ปัจจุบัน เขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน จากการไม่สยบยอมให้แก่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกหมายเรียกตัวเขาไปเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ หลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557

และไม่ใช่แค่เพียงคดีหนีการปรับทัศนคติ ก่อนหน้านั้น เขาเคยถูกกล่าวหาว่า อาจกระทำการเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเป็นผู้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลา ที่มีการแสดงละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ซึ่งนักแสดงจากละครเรื่องนั้นก็โดนดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน

“ผมตั้งใจไว้แล้วว่า มึงรัฐประหารเมื่อไหร่ กูก็โดดหนีเมื่อนั้น ผมจะไม่อยู่ให้เขาจับเข้าคุก ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 แล้ว ตอนนั้นผมก็ตั้งใจว่ามึงรัฐประหารเมื่อไหร่ กูเข้าป่าเมื่อนั้น” 

คำพูดข้างต้นของ วัฒน์ ถูกบันทึกไว้ในหนังสารคดี ‘ไกลบ้าน’ โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ซึ่งได้รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 เมื่อเร็วๆ นี้ 

 


วัฒน์ วรรลยางกูร ในหนัง 'ไกลบ้าน'

 

ธีรพันธ์ คือ นักทำหนังและนักดูหนัง มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือ หนึ่งในหนังที่เขารักมากที่สุด แต่เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่า มันสร้างมาจากนวนิยายที่แต่งโดยวัฒน์ วรรลยางกูร และไม่เคยสังเกตว่า วสุ วรรลยางกูร เพื่อนของเขา คือ บุตรชายของวัฒน์ 

“มันเหมือนเป็นความผูกพันอ้อมๆ หนังเรื่องหนึ่งที่เรารักและผูกพัน เจ้าของเรื่องเขามีชะตากรรมที่ทำให้เราสะเทือนใจ เราเลยสนใจชีวิตเขา สนใจเส้นทางความเป็นไปของเขา” ธีรพันธ์ เล่า

จุดเริ่มต้นในการทำหนังสารคดีของธีรพันธ์ นอกเหนือจากความผูกพันเป็นพิเศษกับวัฒน์แล้ว เขายังเล่าว่า เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่ได้ตามทุกความเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เขาก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่อัดอั้นในใจ และอยากเล่ามันออกมา เรื่องผู้ลี้ภัยก็คือหนึ่งในนั้น

เราจึงชวนเขาคุยต่อถึงช่วงเวลาระหว่างการทำหนัง การได้เจอกับวัฒน์ จนถึงเรื่องที่ทำให้เขาตาสว่างทางการเมือง

 


ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

 

พอได้สัมผัสกับวัฒน์จริงๆ เป็นยังไง

เท่าที่ได้คุยตอนไปเจอ ผมรู้สึกว่าถ้าประเทศเป็นแบบนี้ชีวิตเขาคงไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเขาชัดเจนว่าเขาไม่พูดไม่ได้ ไม่แสดงออกในสิ่งที่เขาคิดไม่ได้ เขายอมจำนนต่อการถูกกดขี่ไม่ได้ แต่เขาก็ต้องแลกกับชีวิตและเสรีภาพของเขา ซึ่งก็เข้าใจได้

อีกมุมหนึ่งก็ถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเราเองเรากล้าเท่านี้รึเปล่า เราคิดเหมือนเขา เรารู้สึกเหมือนเขา แต่เราอาจไม่กล้าแลกทุกอย่างที่เรามีเพื่อยืนหยัดในสิ่งที่เราคิด มันสะท้อนกลับมาหาตัวเอง เราสู้แค่ไหนเพื่อให้สังคมมันเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราอยากให้มันเป็นจริงๆ 

สังคมเราคือถ้าพูดสิ่งนี้แล้วจะอันตราย คนก็จะไม่พูด คนจะไม่ถูกฝึกให้คิดหรือตั้งคำถามกับมัน คนที่ต้องเจอชะตากรรมสุดทางแบบนี้ เขามักพูดอะไรที่ทำให้เราได้ฟังและคิด ชะตากรรมของเขาก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรมของสังคม

เขาก็คงโกรธสังคมที่มันเป็นแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เขาเด็กๆ และในฐานะที่เขาก็เป็นนักเขียน แต่นักเขียนกลายเป็นภัยต่อประเทศ มันคงเป็นเรื่องที่เขาหงุดหงิดว่ากี่ปีแล้วนะ มันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับ เลือกว่าถ้าสังคมเป็นแบบนี้เขาก็ไม่อยากอยู่ สิ่งที่สำคัญของเขาเราคิดว่าคือความรู้สึกเสรี ถ้ามันไม่มีก็อย่าอยู่เลยดีกว่า อันนี้ที่เรารู้สึกจากที่คุยกัน

พาร์ทที่คุยกับลูก มันมีความเศร้า จริงๆ ครอบครัวของคนเรามันไม่ควรเป็นแบบนี้เลย แค่เพราะเรื่องการเมือง แต่เหมือนครอบครัวก็เข้าใจว่ามันต้องเกิดขึ้น

หลักๆ เราอยากพูดเรื่องบ้านกับครอบครัวเป็นแกน แต่ระหว่างทางอาจมีความตื่นเต้น พอไปเจอจริงๆ เขาเป็นคนน่าสนใจมาก ชีวิตเขาค่อนข้างฉูดฉาด ความเห็นเขาค่อนข้างฉูดฉาด 

 


บ้านของ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่กาญจนบุรี จากหนัง 'ไกลบ้าน'

 

ตอนที่ไปถ่ายบ้านที่กาญจนบุรีรู้สึกยังไง

ตอนเห็นบ้านเขาที่กาญจนบุรีเรารู้สึกเศร้า เพราะเรารู้สึกว่าบ้านนี้สวยมากเลย เแต่ตอนนี้ร้างจริงๆ เพราะไม่มีใครอยู่ ลูกๆ ก็แยกย้ายไปทำงาน ผมก็ถามลูกชายเขาว่าคิดจะทำยังไงกับบ้านหลังนี้ เขาบอกว่าก็คงเก็บไว้แหละ เผื่อสักวันจะได้อยู่ด้วยกัน ก็เป็นคำตอบที่เราค่อนข้างสะเทือนใจ ความหวังที่ผู้ลี้ภัยจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติที่บ้านมันเป็นฝันที่ดูไกลจากสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้เหลือเกิน เราก็นึกภาพไม่ออกว่าถ้าจะเป็นแบบนั้นได้ สังคมมันต้องอยู่ตรงจุดไหนกัน 

บ้านนี้มันสวย ผมก็เชื่อว่าต่อให้คุณวัฒน์เขาไปอยู่ไหน เขาก็จะไม่รู้สึกกับที่ไหนเท่ากับบ้านที่กาญฯ เพราะมันเป็นบ้านที่เขารักมากๆ เป็นบ้านที่เขาทำด้วยตัวเอง

ในบ้านมีร่องรอยความทรงจำอะไรอยู่ไหม

จริงๆ ไม่มีเลย เขาไม่ได้ใช้ชีวิตอะไรที่ซับซ้อน ก็มีแค่หนังสือกับงานเขียนของเขาเป็นหลัก หนังสือบางส่วนก็เอาติดตัวไปด้วย หนังสือที่เขามีทั้งหมดก็น่าจะทยอยถึงมือเขาหมดแล้ว บ้านที่นั่นก็ไม่เหลืออะไรแล้ว เป็นบ้านร้างๆ เลย

 


 วัฒน์ วรรลยางกูร กับ วสุ วรรลยางกูร ลูกชาย ในหนัง 'ไกลบ้าน'

 

ดูหนังแล้วเรารู้สึกว่าคุณอยากเล่าถึงบ้านที่เป็นบ้าน และบ้านที่เป็นประเทศ

ในความหมายของคำว่า บ้าน ผมเชื่อว่าคนทุกคนก็รักที่ที่เราอยู่หมดแหละ แต่ที่ที่เราอยู่เรารู้สึกสบายใจกับมันได้มากแค่ไหน มันจะเป็นบ้านจริงๆ ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกปลอดภัย รู้สึกสะดวกใจ รู้สึกรัก รู้สึกว่าการอยู่ที่นี่มันมีความหมาย ทั้งพ่อและลูกก็น่าจะเห็นความหมายของสิ่งนี้คล้ายๆ กัน มันเลยออกมาเป็นทางนั้น ซึ่งเราก็รู้สึกอยากให้เป็นไปทางนั้น

ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากอยู่ที่นี่แหละ แต่ที่นี่อยากให้ทุกคนอยู่รึเปล่า อยู่แบบไหน เขาอยากเรียกที่นี่ว่าบ้าน แต่ที่นี่ทำตัวเป็นบ้านให้เขารึเปล่า 

 

กลัวไหมตอนทำเรื่องนี้

มันมีความกังวลเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าประเทศนี้มันอนุญาตให้เราทำอะไรได้บ้าง แต่ในจุดหนึ่งที่คิด แม้กระทั่งตอนตัดหนัง คือเราควรจะเก็บคำพูดของเขาไว้ขนาดนี้ไหม ควรจะเอาไว้หรือเอาออกดี ควรกลัวมันแค่ไหน แต่ท้ายสุดเรารู้สึกถ้าเราไม่เล่า หรือเล่าให้มันนุ่มนวลกว่านี้ เป็นมิตร ใจเย็นกว่านี้ มันก็คงคาใจเราเอง เราคงไม่มีความรู้สึกมีความสุขกับมัน ไม่รู้สึกได้พูดในสิ่งที่อยากพูด หนังที่ออกมาคืออยากทำยังไงทำไปเลย มีทนายบางคนได้ดูเขาก็เห็นว่าไม่เป็นอะไร 

เรารู้สึกความเสี่ยงบางเลเวลเราอาจพร้อมเผชิญหน้า บางเลเวลอาจต้องเตรียมตัวมากขึ้น บางเลเวลอาจจะเป็นเรื่องใหญ่จริงต้องเตรียมตัว แต่เราก็ไม่อยากเซ็นเซอร์ตัวเอง ถ้าเราไปถ่ายเขา เขาเป็นแบบนี้ เราก็อยากจะเล่าเขาที่เป็นแบบนี้แหละ

 

แล้วเราอยากให้หนังนำพาคนดูไปสู่อะไร

เราอยากให้คนได้คิดกับตัวเองมากขึ้น อยากให้เขาสำรวจตัวเองในมุมที่เขาอาจไม่มีโอกาสได้เห็น ในความขัดแย้งทางการเมือง เราทอนความเป็นคนทิ้งไป เรามักจะเห็นขั้วตรงข้ามไม่เป็นคน เรารู้สึกว่าสิ่งนี้น่ากลัว เราอยากเล่าว่าเขามีความกลัว มีบ้าน มีลูก ชีวิตเขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมทางกายภาพใดๆ เลย แล้วเขาต้องมีชะตากรรมแบบนี้เหรอ เราไม่อยากชี้นำว่าอะไรถูกผิด แค่ให้เห็นชีวิตคนทีไ่ด้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ แล้วคุณโอเคไหม

 

ฟีดแบคเป็นไงบ้าง

อย่างในแวดวงหนัง เราเข้าใจได้ว่าเขาอาจไม่ชอบภาษาหนังแบบนี้เท่าไหร่ เพราะมันเล่าง่ายๆ ไม่ได้พิเศษอะไร แต่เราตั้งใจอยากทำให้มันดูง่ายที่สุด อยากให้เรื่องมันเข้าถึงคนได้กว้าง ซึ่งคนทั่วไปที่อาจไม่ใช่นักดูหนังเขาก็ค่อนข้างเข้าใจ เราก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จสำหรับเราในมุมหนึ่ง แต่ในวงคนดูกว้างๆ จริงๆ ถ้ามันได้เผยแพร่เขาจะมีความเห็นยังไงกับมันบ้างก็อยากรู้เหมือนกัน

 

 

ยังอยากเล่าประเด็นผู้ลี้ภัยต่อไหม

อยากเล่าอีก อยากทำเป็นหนังยาว แต่ตอนนี้ไอเดียยังฟุ้งอยู่ ยังไม่ได้รีเสิร์ช ถ้าเล่าก็อาจจะเล่าเรื่องของวงไฟเย็น และอยากถ่ายคุณวัฒน์ที่ฝรั่งเศสเพิ่มด้วย อยากบันทึกเขาที่ไปอยู่จุดนั้น อยู่นั่นต้องเจออะไร รับมือกับอะไร และเราเองก็ต้องตกตะกอนทางไอเดีย 

เรามีความอิน ความโกรธของเรา อาจจะไม่ใช่คนที่ติดตามเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้ง แต่เราคิดว่าเราเป็นคนเล่าเรื่อง เราอยากแปลงสิ่งที่เราสนใจออกมาผ่านการเล่าเรื่อง 

 

แล้วคุณ ‘ตาสว่าง’ ตอนไหน

ก่อนหน้านั้นเราเป็นสลิ่มแต่ก็ไม่ได้เป็นสลิ่มที่ไปด่าใคร ตอนเราเรียนจบ ปี 55-56 เราทำงานกับคนหลากหลายมากขึ้น ทำงานกับศิลปะ เห็นทัศนคติที่เราไม่เคยคิดแบบนั้นเลย แล้วก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมมุมมองการเมืองเขาถึงตรงข้ามกับเราอย่างสุดขีด ก็ได้แลกเปลี่ยนกัน คุยกัน เราหาอ่านประวัติศาสตร์เพิ่ม ศึกษาการเมืองประเทศเราเพิ่ม ก็ได้เห็นโลกที่มันเปลี่ยนไป 

ตอนที่ตาสว่างมันเปลี่ยนระบบความคิดหมดทุกอย่างเลย พอเราเปลี่ยนความคิดปุ๊บ เราเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนทันที แต่ตอนเป็นสลิ่มเราไม่เข้าใจเลย ตอนเด็กเราอยู่กับหนัง เรารู้สึกการเซ็นเซอร์หนังมันไม่โอเค แต่เราหาเหตุผลไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่โอเคยังไง นำไปสู่อะไร เราว่าสิ่งที่ต้องชมสลิ่มคือเขาสร้างวิธีคิด เขาทำให้คนมองตรงข้ามกับสิ่งที่เรามองเห็นได้หมดเลย ไม่ว่าเรื่องอะไรเขาจะมีมุมที่ตรงข้ามได้หมด 

ผมยังจำได้ว่าตอนเจอคนคิดไม่เหมือนเรา เรายังคิดว่าคนนี้มันอันตรายว่ะ ย้อนกลับไปคิดก็ยังเขินตัวเองตอนที่เป็นสลิ่มว่าเราคิดแบบนั้นได้ไง เช่น ถ้าเขาไม่แฮปปี้กับประเทศไทย เขาก็ไปอยู่ที่อื่นดิ หรือเกลียดนักการเมือง พวกนี้ชั่วมาก เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว พอตอนนี้เรารู้สึกว่าทำไมเราถึงเชื่อโดยที่มีข้อมูลแค่นั้นเอง

อีกอย่างที่คนอาจยังไม่เปลี่ยน คือคนรุ่นเราเองอาจมีภาวะขึ้นหลังเสือ ลงไม่ได้ มีเพื่อนคนหนึ่งของเราเป็นสลิ่ม ก็มีเพื่อนอีกคนไปถามเขาว่า โอเคกับตู่ไหม เขาก็บอกไม่ แต่ต้องเกลียดไอ้ทอน (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ต่อไป เหมือนต่อให้อันนี้ไม่โอเค แต่มันดีกว่าอีกอัน ไอ้ทอน ไอ้บูด (ปิยบุตร แสงกนกกุล) ยังต้องเป็นตัวร้ายอยู่ หรือเพื่อนอีกคนเป็นคนใต้ ไปถามเขาว่าครั้งนี้จะเลือกประชาธิปัตย์อีกไหม เขาก็บอกว่าไม่ พอถามว่าแล้วจะเลือกใคร เขาก็ยังไม่รู้เหมือนกัน มันเหมือนทางนี้ก็ไม่ใช่แล้ว แต่จะให้กลับไปอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นความกระอักกระอ่วน 

 

 

ทำไมเราถึงลงจากหลังเสือได้

เราอาจจะยอมรับได้ว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมามันไม่โอเค มันไม่ใช่ทางที่ทำให้สังคมน่าอยู่และดีขึ้น มันเหมือนที่ผ่านมามึงเคยโง่นะ มึงยังรู้น้อย วันนี้มึงรู้เยอะกว่าเดิม และมึงยังต้องรู้อีกเยอะนะ ดังนั้นก็จงโอบรับกับสิ่งใหม่ๆ ซะเถอะ 

ตอนเป็นสลิ่มเรารู้สึกว่าเราเข้าใจหมดเลย สังคมมันเหี้ยเพราะคนแบบนี้ไง แต่พอเราเลิกเป็นสลิ่ม ทุกอย่างมันซับซ้อนไปหมดเลย เราพูดไม่ได้ว่าถ้าอยากแก้ปัญหามันต้องแก้ที่อะไรก่อน แต่ตอนเป็นสลิ่มทุกอย่างมันง่าย ทุกอย่างมันขาวจัด ดำจัด 

คิดว่าอาจจะเป็นการรับรู้ เขาเลือกที่จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ แบบไหน อย่างตอนนี้เราตระหนักกับตัวเองเยอะว่าสิ่งที่เรารับรู้ มันใช่เปล่าวะ จริงไหมวะ เมคเซ้นส์เปล่าวะ ข้อถกเถียงมันสมเหตุสมผลไหมวะ 

พื้นฐานเลยเราจะฟังเยอะกว่าพูด เพราะในความซับซ้อนนั้น เราเข้าใจแค่ในมุมเรา เราก็เลยจะชอบอ่านคอมเมนต์ต่างๆ ดูว่าเขาคิดยังไง ยกเว้นไปเข้าผิดเพจก็อาจเซ็งหน่อย (หัวเราะ) ถ้าเราไม่พอใจ ก็อาจจะโมโห แต่ไม่ได้คาดหวังว่าโลกมันจะต้องเป็นไปแบบที่เราคิด

 

บุคคลแห่งปี 2562: กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง ‘สู้-ตาย’

 

หลังปี 2557 พบผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 86 ราย สูญหายอย่างน้อย 8 ราย

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2561 พบว่า มีผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างน้อย 86 คนที่ออกนอกประเทศด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร อาจมีตั้งแต่คนที่มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัว มีหมายเรียกเกี่ยวกับคดี 112 หรือคนที่มีคดีความตั้งแต่สมัยการชุมนุมของ นปช. เพราะเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกันมา รวมถึงคนที่ไม่ได้ไปรายงานตัวแต่ถูกควบคุมตัว 7 วันภายใต้กฎอัยการศึก คนเหล่านี้หลังออกค่ายทหารมักรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยอีกต่อไปและเลือกเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่กระจายกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน บางคนที่มีสถานะทางสังคมสูงหรือมีความพร้อมมากกว่าก็อาจไปไกลถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา

หลังปี 2557 ยังพบด้วยว่า มีผู้ลี้ภัยสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างน้อย 8 รายแม้จะอยู่ในประเทศอื่น คือ 1.กรณีของ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ 2.วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 3.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน 4.ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ  5.ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง 6.ชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) 7.สยาม ธีรวุฒิ และ 8.กฤษณะ ทัพไทย

เดือนกรกฎาคม 2559 อิทธิพล สุขแป้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุที่ลี้ภัยอยู่ประเทศลาวหายตัวไป โดยทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข่าวสารความเคลื่อนไหวกรณีของอิทธิพล สุขแป้นนั้น ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายตำรวจรับทราบเบื้องต้นว่า ฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 36 (มทบ.36) จ.เพชรบูรณ์ ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้แต่อย่างใด

เดือนกรกฎาคม 2560 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โกตี๋’ หรือ ‘สหายหมาน้อย’ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่ลี้ภัยอยู่ในลาวหายตัวไป โดยจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ระบุว่า ได้รับคำยืนยันจากคนที่ใกล้ชิดกับโกตี๋ว่า เขาถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าจับตัวไปเมื่อเวลา 9.45 น.วันที่ 29 ก.ค.2560 จากนั้น  ‘โกตี๋’ ก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลยและไม่ได้รับการยืนยันจากใครว่าเขามีชะตากรรมอย่างไร แต่ชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในหน้าสื่อไทยอีกสักระยะ ผ่านการให้ข่าวของฝ่ายความมั่นคงว่าตัวเขาหรือเครือข่ายของตัวเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองหรืออาวุธต่างๆ

เดือนธันวาคม 2561 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดินหายตัวไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง

ต่อมาชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ถูกพบศพในแม่น้ำโขงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่สุรชัยยังคงสูญหาย โดยปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ภรรยาของสุรชัย กล่าวว่า เชื่อว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วและคาดว่าศพถูกทำลาย

สำหรับ สุรชัย เขาเป็นนักปฏิวัติที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองยาวนานตั้งแต่เข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2519 ก่อนจะออกจากป่ามาเป็น “ทูตสันติภาพ” ทำหน้าที่เจรจาระหว่างทางการไทยกับพคท. และถูกจับกุมตัว สุรชัยถูกคุมขังถึง 16 ปีก่อนจะถูกปล่อยตัวในพ.ศ. 2539 และต้องมาติดคุกอีกครั้งระหว่าง 22 ก.พ.2554 – 4 ต.ค.2556 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการปราศัย

เดือนพฤษภาคม 2562 ชูชีพ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “ลุงสนามหลวง” หายตัวไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือ สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย โดยวันที่ 9 พ.ค.2562 มีข่าวว่าชูชีพ, สยาม และกฤษณะถูกจับกุมตัวในเวียดนามและส่งตัวกลับไทย แต่ทางการเวียดนามปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลดังกล่าว จนถึงปัจจุบันความพยายามของครอบครัวของสยามที่จะตามหาทั้ง 3 คนก็ยังไม่เป็นผล

ชูชีพ เป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ ในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวต่อต้านรัฐประหาร คมช. ปี 2549 และเป็นศัตรู (ทางความคิด) ลำดับต้นๆ ของฝ่ายความมั่นคงไทย ในเดือนสิงหาคม 2551 ศาลอาญาออกหมายจับชูชีพในความผิดตามมาตรา 112 จากการปราศรัย คาดว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่นั้น ชูชีพประกาศยุติการจัดรายการในเดือนมกราคม 2562 หลังการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคนที่เคยจัดรายการในยูทูบ

ขณะที่ สยาม เป็นนักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในระหว่างเป็นนักศึกษา เขาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประกายไฟ และกลุ่มประกายไฟการละคร  ต่อมาได้ร่วมแสดงในละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งทำให้สยามและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่างภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 แต่คดียังอยู่ในชั้นตำรวจ จนต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นคดี 112 หลังการรัฐประหาร 2557 สยามจึงเดินทางออกจากประเทศ

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้เลย เช่น เสงี่ยม สำราญรัตน์ หนึ่งในกลุ่มแกนนำ นปช. หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ขณะที่ จักรภพ เพ็ญแข ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวการหายตัว แต่ภายหลังปรากฏการโพสต์เฟสบุ๊ค รำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net