Skip to main content
sharethis

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนและผู้ลี้ภัยคดีม.112 ในอายุ 67 ปี เสียชีวิตแล้วที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. ตามเวลาในฝรั่งเศส หลังลี้ภัยนานกว่า 7 ปี

22 มี.ค. 2565 วจนา วรรลยางกูร บุตรสาวของวัฒน์ วรรลยางกูร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า วัฒน์ วรรลยางกูร บิดาได้เสียชีวิตแล้วที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. ตามเวลาในฝรั่งเศส

วัฒน์ วรรลยางกูร จากไปอย่างสงบในอายุ 67 ปี ช่วงชีวิตที่ผ่านมาวัฒน์ทำงานเขียนอย่างจริงจัง เขาเป็นนักเขียน กวี และเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา มีผลงานเขียนที่เป็นที่รู้จักหลายเรื่อง อาทิ มนต์รักทรานซิสเตอร์, คือรักและหวัง, ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, ตำบลช่อมะกอก, นกพิราบขาว, กลั่นจากสายเลือด ฯลฯ

นอกจากนี้วัฒน์ยังเป็นนักเขียนที่พูดเรื่องการเมืองและแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนเองอย่างเปิดเผย เขาเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง

 

“ความรู้สึกในเวลานี้ อย่างเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.54) คนเสื้อแดงก็มากันเยอะมาก มันก็สะท้อนว่า พวกเขายังไม่มั่นใจว่าการใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของเขาจะเป็นที่ยอมรับของกลุ่มอำนาจต่างๆ มันยังมีการฮึ่มๆ ฮั่มๆ ว่าจะมีการรัฐประหาร…ตอนนี้พูดตรงๆ ว่าผมเองก็เบาใจลงไปเยอะ เพราะว่ามันไม่มีการต่อสู้ครั้งไหนที่จะมีคนเข้าร่วมมากเท่าครั้งนี้ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 ก็เป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใช้ทุนรอนน้อยมาก เพราะว่าคนเสื้อแดงช่วยกันลงเรี่ยวลงแรง ลงเงินด้วยลงแรงด้วย ลงความคิด ลงหัวใจ

นี่มันเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลัง 14 ตุลา สมัยที่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยชนะเลือกตั้ง หรือสมัยก่อน 2500 ที่พรรคสหชีพ พรรคที่อยู่ฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ ได้รับการเลือกตั้ง การเมืองที่ดีมันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าฝ่ายที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นฝ่ายไดโนเสาร์ ไม่อยากให้ปรากฏการณ์นี้คงอยู่หรือขยายตัวขึ้น แล้วก็พยายามทำลาย ใส่ร้ายป้ายสี แล้วในที่สุดก็ทุบทิ้งด้วยการใช้รัฐประหาร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่คนเห็นกันมากแล้วล่ะ

ผมเลยไม่รู้สึกหนักใจ และมีความหวังว่าในชั่วชีวิตของผม จะได้เห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที ผมเบื่อมากเลยตลอดชีวิตที่เห็นการรัฐประหาร การเป็นประชาธิปไตยแบบอีแอบ คือมีมือที่มองไม่เห็น ความจริงก็มองเห็นแต่พูดไม่ได้ มาบงการ มาบิดผันผลการเลือกตั้ง มาบิดเบือนอำนาจ มาล้วงลูก จนกระทั่งมาทุบทำลายด้วยการรัฐประหาร ถ้าทำอย่างนั้นอีก ความรุนแรงจะเกิดขึ้น ผมช่วยไม่ได้นะครับ และฝ่ายที่ทำตัวเป็นศัตรูประชาธิปไตยจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในประเทศนี้ ผมขอเตือนเอาไว้ เพราะว่าพลังประชาชนตื่นตัว เติบโต ขยายตัวมากขึ้นแล้ว และมีบทเรียนแล้ว ถ้าหากท่านอยากจะอยู่กับสังคมไทยต่อไป ท่านก็ต้องรู้จักปรับตัวเองบ้าง นี่ผมพูดอย่างไม่มีความหวังอะไรเลยครับ”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์วัฒน์ วรรลยางกูร รัฐประหาร 5 ปี ยังมีศัตรูของระบอบประชาธิปไตย ใน https://prachatai.com/journal/2011/09/37003

วัฒน์ วรรลยางกูร ในสารคดี ‘ไกลบ้าน’

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2557 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้เพียง 2 วัน วัฒน์ วรรลยางกูร ถูก คสช. ออกคำสั่งให้ไปรายงานตัว และมีการออกคำสั่งซ้ำอีกรอบในเดือนมิถุนายน ก่อนจะตามมาด้วยการออกหมายจับวัฒน์ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.

ในปีนั้น วัฒน์ลี้ภัยออกจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม ศาลอนุมัติให้ สน.ชนะสงคราม ออกหมายจับวัฒน์ วรรลยางกูร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ” ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง การตั้งข้อหาม.112 กับวัฒน์ครั้งนี้มาจากการอ้างว่าเขาเกี่ยวข้องกับการจัดแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่ทางการเห็นว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะนั้นวัฒน์อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้วัฒน์ต้องอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ค. 2557

ก่อนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 วัฒน์จะได้ทำเรื่องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส เนื่องจากขณะมีสถานการณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ชายแดนไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

จนกระทั่งวัฒน์เสียชีวิตอย่างสงบที่ฝรั่งเศส หลังลี้ภัยนานกว่า 7 ปี

 

เสียงจาก  'วัฒน์ วรรลยางกูร'  ในวัย 61 ปี

 

ก่อนการลี้ภัยมีข้อหาอย่างชัดเจนไหม อะไรทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น ?

วัฒน์: ข้อหาชัดๆ ก็คือเรื่องไม่รายงานตัว ข้อหาทางอาวุธไม่มี ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรพวกนั้น แต่เวลาประกาศเรียกรายงานตัวชื่อผมไม่ว่าจะเป็นประกาศครั้งที่เท่าไหร่ก็จะแพ็คกับวงดนตรีไฟเย็น อาจด้วยความเข้าใจว่าผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี และเป็นคนแต่งเพลง คือมันมีการพูดต่อๆ กันไปเรื่อย บางคนก็มาจับมือผมบอกแต่งเพลงนี้ดีมากเลย ซึ่งผมไม่ได้แต่ง ทุกคนในวงก็ยังไม่มีใครโดนข้อหา 112 อย่างเป็นทางการ แต่ว่ารัฐบาลเผด็จการเขาทำหนังสือรายชื่อขอตัวไปยังประเทศที่เขาเข้าใจว่าเราไปอยู่ประเทศนั้นแล้ว มีคนแจ้งมาว่ามีอยู่ 13 ชื่อซึ่งทางการไทยบอกว่าพวกนี้อยู่ในข่ายทำความผิด112 ซึ่งรวมชื่อผมอยู่ด้วย

อยากกลับบ้านไหม ?

วัฒน์: มันไม่ได้อยาก บรรยากาศแบบนั้น จ้างกลับก็ยังไม่กลับเลย ผมเอียนที่สุดแล้วกับบรรยากาศกาศพร็อพพากันดา ให้ผมไปรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ผมก็ไม่ไป ผมจะไม่ยอมอะไรเหล่านี้อย่างเด็ดขาดเลย

ทนมามานาน ทำไมจึงทนต่อไม่ได้ ?

วัฒน์: ผมทนไม่ได้ แต่ก่อนเราทนแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ แต่พอเราออกมาข้างนอก เราก็พูดอะไรก็ได้ตรงไปตรงมา สิ่งที่ได้คือสิ่งนี้

ถือว่าคุ้มไหม ?

วัฒน์: มันก็คุ้มค่า ทำไมวันนี้เราต้องหมอบราบคาบแก้ว สูญเสียความเป็นเสรีชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องฝืนใจทำในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน เราศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง เรามองทุกอย่างกระจ่างชัดและมีข้อมูลด้วย ไม่ใช่คิดเอาเอง เหตุการณ์ 6 ตุลา เราไม่ลืม ผมถึงแปลกใจเพื่อนหลายๆ คนที่ทำเป็นไม่รู้เรื่อง ทำเป็นลืมเรื่องเหล่านี้

การออกมาเช่นนี้ถือเป็นหนี ยอมแพ้ หรือต่อสู้ ?

วัฒน์: เป็นการตั้งหลักมั้ง วิธีที่ดีที่สุดคงต้องถอย อยู่นอกคุกมันก็ดีกว่าอยู่ในคุก สำหรับการเมืองที่เราคาดไม่ได้  นี่คือเหตุผลของการถอย ยุทธศาสตร์ก็คือการสู้แบบเสรีชน คือไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน การถอยนี้ผมเตรียมไว้นานแล้ว มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนก่อน 6 ตุลาเลยที่ผมคาดว่าอีกหน่อยเดี๋ยวเขาก็ต้องยึดอำนาจ ผมแพ็คกระเป๋าตั้งแต่ตอนม๊อบเสธอ้ายแล้ว และกระเป๋าใบนั้นแพ็ควางไว้แบบแน่นอนเลย พอเห็นประกาศรายชื่อเพื่อนโทรศัพท์มาเป็นสิบๆ สายเลย เราผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้ว เราอ่านเขาตลอด อ่านหลังไพ่เหล่านั้นว่าเขาจะทิ้งไพ่ใบไหน มันก็เป็นไปตามคาดทุกอย่าง อันนี้ก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ มันเป็นยุทธวิธีที่เราต้องถอยเพื่อเลี่ยงภัยการเมืองที่เราคาดการไม่ได้ แต่ยุทธศาสตร์คือเราก็ต้องสู้ต่อไปตามวิถีทางของเรา

คิดว่าช่วงถอยเพื่อตั้งหลักจะกินระยะเวลานานแค่ไหน 

วัฒน์: (หัวเราะ) ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอนาคต แต่ถ้าอ่านจากสถานการณ์ มันน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว

 

 

คุยกับวัฒน์ วรรลยางกูร: ปีที่ 61 ของชีวิต ปีที่ 2 ของการลี้ภัย และหนังสือเล่มใหม่

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : https://prachatai.com/journal/2016/01/63642

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net