ครอบครัวและกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย 'วัฒน์ วรรลยางกูร'

ครอบครัววรรลยางกูรและกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย 'วัฒน์ วรรลยางกูร' กวี นักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพาและผู้ลี้ภัยทางการเมือง กลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้


ที่มาภาพ: แมวส้ม

24 เม.ย. 2565 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการเชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้


ที่มาภาพ: แมวส้ม

บรรยากาศเวลา 16.00 น. เข้าสู่ช่วง “รำลึกสหาย ร่ายกวี รำร้อง กับผองเพื่อน” โดย นางสุวรรณา ตาลเหล็ก หรือ ลูกตาล กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย รับหน้าที่เป็นพิธีกร

นางสุวรรณากล่าวตอนหนึ่งว่า วัฒน์อาจไม่ได้มายืนดูการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ แต่ตายตาหลับแล้ว ขออย่างเดียวอย่าดูถูกความสามารถของตัวเอง ให้กำลังตัวเองเยอะๆ ตนเพิ่งเข้ารับการรักษา แต่รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับหน้าที่ในวันนี้

เวลา 16.28 น. นายโชคดี ร่มพฤกษ์ หรือ อาเล็ก และเหล่าสหายศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ขับกล่อมบทเพลงอาทิ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน, ในสายธาร, Do you hear the people sing? เวอร์ชั่นภาษาไทย, แสงดาวแห่งศรัทธา โดยเมื่อบรรเลงเพลง ‘สหาย’ ผู้ร่วมงานต่างลุกขึ้น ชู 3 นิ้ว และเคลื่อนย้ายร่างกายตามทำนองเพลงอย่างคึกครื้น

เวลา 17.06 น. วิทยากร โสวัตร นักเขียน เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า ตนมาจาก จ.อุุบลราชธานี เพื่อพี่วัฒน์ เข้าใจแล้วว่าทำไมพี่วัฒน์ถึงมีพลังอีกครั้ง ช่วงคนเสื้อแดงลุกขึ้นกลางเมือง แม้จะล้มตายมากขนาดไหน ถ้าเห็นพลังวันนี้พี่วัฒน์ต้องดีใจมากๆ ตอนที่เห็นพี่น้องเสื้อแดงลุกขึ้นมา ปี 2553 และสู้กับเยาวชน ทำให้ตนนึกถึงกวี ‘ฝันให้ไกลไปให้ถึง’ ซึ่งคือแสงดาวแห่งศรัทธาเวอร์ชั่นของเขา

จากนั้น วิทยากร โสวัตร อ่านบทกวีมอบแก่วัฒน์ ความท่อนหนึ่งกล่าวถึงกำแพงยาว-กว้าง ที่ขวางศรัทธาของผู้คน

“ต้องสร้าง ทางใหม่ ให้ชีวิต
แล้วย้อน พิชิต กำแพงพัง
แล้วโลก จะเป็นสวรรค์ อันไพจิตร
ถ้าชีวิต มีเสรี ดังที่หวัง
ความคิด ที่รุนแรง แฝงพลัง
ไม่ถูกขัง กีดกัน เหมือนวันนี้”

ต่อมาเวลา 17.10 น. จันทร์เคียว (ปริยา) อ่านกวี ‘ประเทศของฉัน’ ของวัฒน์ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 พร้อมระบุว่า จนถึงตอนนี้ประเทศยังอยู่เหมือนเดิม

สำหรับกวี ‘ประเทศของฉัน’ ใจความว่า ฉันเป็นประชาชนของประเทศนี้มา 25 ปีแล้ว (เขียนตอนอายุ 25 ปี) นอกจากเรียงความสมัยมัธยม ก็ไม่ได้เขียนถึงประเทศโดยตรง

“ประเทศของฉัน เมื่อ 3 ปีก่อน มีโสเภณีเท่ากับข้าราชการประจำ เดี๋ยวนี้โสเภณีมีมากกว่า ประเทศของฉันผลิตข้าวติดอันดับโลก แต่มีคนอดข้าว อันดับต้นจักรวาล ประเทศของฉัน คนบริสุทธิ์ ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ในที่ที่ไม่บริสุทธิ์ คนละหลายๆ ปี เพียงแค่รอคำว่า ‘ยกฟ้อง’

“ประเทศของฉัน คนไม่บริสุทธิ์ ไม่ต้องพิสูจน์ความโสโครกของตัวเอง ประเทศของฉัน มีมหาโจร มากกว่ามหากวี ประเทศของฉัน ปัญญาชนมีมาก แต่ถูกฆ่าไปแล้ว ที่ยังไม่ตายก็ถูกไล่เข้าป่า ที่ยังไม่เข้าป่า ก็ถูกห้ามคิดก่อนได้รับอนุญาต

“ประเทศของฉัน นิยายที่แพร่หลายเป็นเรื่องของคนธรรมดา ไม่เกิน 10 เรื่อง ภาพยนตร์คนธรรมดาไม่เกิน 5 เรื่อง นอกนั้นเป็นเรื่องของเทวดา ประเทศของเธอ อาจจะท้วงความไม่ชอบธรรม ด้วยการอดข้าว ประเทศของฉัน ถ้าใช้วิธีนั้น เธอจะไดรับความสนใจเป็นพิเศษ ให้กินลูกปืนแทนข้าว

“เธออาจถามว่า เลือกอยู่มาได้อย่างไรประเทศนี้ มา 25 ปีแล้ว ทำไมไม่บ้าตาย หรือผูกคอตายซะ นั่นนะสิ คนในประเทศของฉัน อดทนเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เสมอไปหรอก วันนี้ ฉันค้นพบว่า ไม่ใช่ประเทศของฉัน ฉันต้องทำให้เป็นประเทศของฉัน มาช่วยกันไหมล่ะ

“วัฒน์ วรรลยางกูร ภูพาน 2522 “ จันทร์เคียวกล่าว

จากนั้นเวลา 17.19 น. นายธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย กล่าวรำลึกวัฒน์ ความว่า สิ่งหนึ่งที่เราได้สานต่อ และได้พลังจากคนที่ชื่อวัฒน์คือ ‘เพลงสหาย’ ทุกครั้งที่เราชุมนุมและต้องต่อสู้อะไรสักอย่าง ‘เพลงสหาย’ เป็นเสียงของพี่วัฒน์ที่ทำให้เรามีพลัง ปลุกความหวัง สิ่งที่พี่วัฒน์ทำจนถึงปัจจุบันไม่ได้สูญเปล่า จนวินาทีสุดท้ายก็ยังรับใช้อุดมการณ์ ‘ปฏิวัติประชาชน’ ต่างจากหลายคนที่รับใช้ชีวิตตัวเองและอนุรักษนิยม เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง

“คนที่ทำให้วัฒน์ไม่ได้อยู่ประเทศนี้ เราจะต้องไม่ลืมว่าอำนาจที่แท้จริง ที่ทำให้วัฒน์และใครหลายคนต้องลี้ภัย ถูกอุ้มฆ่า อุ้มหาย เกิดจากอำนาจอะไร ถึงกระนั้น ณ วันนี้สิ่งที่วัฒน์ใฝ่ฝันและปฏิบัติมาตลอดไม่ได้สูญเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จนยอมเปลี่ยนแปลงความคิดและวัฒนธรรมเก่า คือการต่อสู้และยืนหยัด ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’

“ทุกคนหว่านเมล็ดพันธุ์ จนวันนี้งอกงามแล้ว ไม่มีอำนาจใดมาขัดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ วัฒน์ยังไม่ตาย เพราะความคิดและอุดมการณ์การต่อสู้ของเขายังอยู่” นายธัชพงศ์กล่าว

นายธัชพงศ์กล่าวต่อว่า ตน น้องๆ ทุกคน เราคือผลผลิตของคนที่ควรจะร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ในที่นี้จริงๆ

“นี่คือบทพิสูจน์ที่แท้จริงว่า ไม่ว่าวินาทีสุดท้าย เขายังรับใช้ประชาชนเหมือนเดิม ศิลปินเพื่อชีวิตหลายคน เปลี่ยนมาพูดคำว่า ‘ปฏิรูป’ ในหัวมีแต่คำว่า ปฏิวัติเพื่อตัวกู วันนี้ทำให้รู้ว่าคนเข้าใจวัฒน์ หนุ่มสาวรู้จักมากขึ้น เราไม่ได้สู้เพื่อให้ใครใหญ่ แต่เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจเท่ากัน สถานที่นี่เหมาะสมสุดแล้วที่จะร้องเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ และสมควรเรียกตัวเองว่าเราคือคนทำงานเพื่อปฏิวัติประชาชน เราจะไม่ยอมให้อุดมการณ์สูญเปล่า

“เพื่อตอบแทนหลายคนที่ถูกอุ้มหาย ลี้ภัย คือการยืนหยัดและสู้ต่อไป แม้จะมีการเลือกตั้ง การต่อสู้ยังก็ไม่จบ ทางออกสุดท้ายที่จะพลิกเกมคือพี่น้องทุกคนที่นั่งตรงนี้ เพราะเราเชื่อมั่นในอุดมการณ์ วัฒน์ วรรลยางกูร” นายธัชพงศ์กล่าว

ต่อมา เวลา 17.33 น. “วงฟ้าใหม่” สหายของวัฒน์ ขึ้นเวทีขับกล่อมบทเพลงที่ใช้ในขบวนการต่อสู้ครั้งที่วัฒน์เข้าป่า ซึ่งรวมถึงเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’

นายธงชัย สมาชิกวงฟ้าใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นเพื่อนกับวัฒน์และเคยร้องเพลงร่วมกันมาก่อน

สมาชิกหญิง ระบุว่า ตนเดินทางทางมาจาก จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยใจ

“วัฒน์ กว่าจะร้องเพลงได้ เบียร์หมดไป 5 ลัง เรามาคารวะวัฒน์ มองรูปแล้วน้ำตาจะไหล เห็นลูกสาวเขายิ่งเจ็บปวดหัวใจ ขอคารวะจิตใจทุกคน” สมาชิกวงฟ้าใหม่กล่าว ก่อนบรรเลงเพลง ‘สายธารนักรบประชา’ ท่ามกลางผู้ร่วมงาน ปรบมือเข้าจังหวะ จากนั้นบรรเลงเพลงรำวง เนื้อหาสนุกสนาน โดยคนเสื้อแดง คนรุ่นใหม่ และผู้ร่วมงานจำนวนมากลุกขึ้นโยกย้ายส่ายสะโพก ก่อนต่อด้วยเพลง ‘ควนกาหลง’ ที่มีผู้ขอมอบให้แด่วัฒน์ เนื้อหากล่าวถึงการออกจากกรงขัง มาต่อสู้ร่วมกับสหายในป่า และปิดท้ายด้วยเพลง ‘คำสัญญา’

ขณะที่ กลุ่มทะลุแก๊ซ เข้ามาร่วมโบกสะบัดธงแดงพริ้วไหวหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขณะร้องรำทำเพลง

บรรยากาศเวลา 18.25 น. ด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีผู้เดินทางมาร่วมงานรำลึกล้นหลาม ด้านพ่อค้าแม่ขาย ตั้งร้านจำหน่ายหนังสือหายาก สติ๊กเกอร์และสัญลักษณ์การต่อสู้ อาหาร น้ำดื่ม ไปจนถึงเบียร์คราฟต์ และทุเรียนหมอนทอง ในราคากิโลกรัมละ 180 บาท

สุชาติ เปิดฉากชีวิต ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ หวังความเจ็บปวด ขมขื่น เป็นบทเรียนมิตรน้ำหมึกในโลกคู่ขนาน

มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการเชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา หลังอนุสรณ์สถานฯ สี่แยกคอกวัว มีการฉายภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

จากนั้นเวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ร่วมฟังเสวนาคับคั่ง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ร่วมงานทุกราย ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมฟังเสวนาด้วย

ในตอนหนึ่ง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 กล่าวว่า ตนจำชัดเจนไม่ได้ว่ารู้จักวัฒน์ตอนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งวัฒน์เรียนอยู่ที่ ม.รามคำแหง เขาเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียน เริ่มจากวัยเด็กเติบโตที่ลพบุรีและย้ายมาอยู่ที่เชียงราก ปทุมธานี ต่อมา ช่วงเรียนหนังสือสมัยมัธยม เริ่มส่งเรื่องสั้นไปนิตยสารยานเกราะ

“พ.ศ.2515 คือช่วงที่เขาอยู่ชั้นมัธยม 5 ส่งงานเขียนไปหลายที่ เช่น ฟ้าเมืองไทย ชัยพฤกษ์ แต่เรื่องแรกได้ลงในนิตยสารยานเกราะ ซึ่งย้อนแย้งว่า บก.นิตยสารนี้มีส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่อมา ช่วง 14 ตุลา มีผลสะเทือนกับวัฒน์มาก งานเขียนของเขาเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเข้ามาเขียนประจำที่ นสพ.อธิปัตย์ หลัง 14 ตุลา มีผลงานเรื่องสั้น ‘นกพิราบสีขาว’ ปี 2518 ช่วงที่อยู่ในป่า เขียนเรื่อง ‘ใต้เงาปืน’ ก่อนออกจากป่าในปี 2524

วัฒน์พยายามทำงานเขียนเป็นอาชีพ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ที่ลงในนิตยสารบางกอก วัฒน์พยายามใช้งานเขียนในการแสดงออกสถานะทางชนชั้นของเขา ขณะที่มนต์รักทรานซิสเตอร์โดนวิจารณ์ว่าไม่สนุก พอเป็นหนังขึ้นมา ผมก็พูดยั่วเย้าว่าหนังดีกว่าหนังสือ” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวว่า วัฒน์ไม่ตามใคร แต่ก็ไม่นำใคร ทั้งเรื่องงานและชีวิต ความเป็นอิสระชนในหลายรูปแบบทำให้เขามีผลงานหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากนักเขียนในช่วงเดือนตุลาที่ค่อนข้าง “เป็นสูตรสำเร็จ” คือ แม่เจ็บ ลูกตาย ควายหาย ข้าราชการทุจริต แต่เป้าหมายของวัฒน์ต้องการสื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ ต่อมา วัฒน์ต้องลี้ภัยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไป สปป.ลาว

“วัฒน์ถูกหมายหัว ต้องเนรเทศไปที่ลาว และพอเขาไปถึงฝรั่งเศส คนส่งข่าวมา ผมรู้สึกมีความสุขมาก หลังจากนั้นก็คุยทางกล่องข้อความและโทรศัพท์ทางไกล ก่อนที่ผมจะมีปัญหาเรื่องปลดผมจากศิลปินแห่งชาติ วัฒน์บอกผมว่าพี่อยู่มาป่านนี้แล้วไม่ต้องเอาไปแลก มันเป็นความห่วงใยที่ผมไม่ลืม กรณีที่เกิดกับผมเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวที่ผมทราบว่าเขาป่วย

“ผมคิดว่าเราเคลื่อนไหวมาด้วยกัน เราอยู่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จะเกิด เรารู้ว่าพัฒนาการสังคมจะไปทางไหน

“วัฒน์อยู่ในขบวนเพื่อชีวิต วัฒน์รับรู้ว่าควรขยายศิลปะอย่างไรให้มีชีวิต แต่เพื่ออะไรช่างมัน ที่สำคัญคือต้องมีอิสระ มีเสรีภาพ และมีนัยยะเดิมเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่วัฒน์พูดมาตลอดคือคนเหมือนกันแต่ทำไมจึงมีอะไรไม่เหมือนกัน นี่คือจุดยืนการเลือกข้างของเขามาตั้งแต่ปี 2518” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวว่า ขอให้สิ่งที่วัฒน์ได้สร้างไว้ในความหลากหลายของงานเขียน รวมถึงบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับรู้จากความเจ็บปวดและความขมขื่นของเขา ทำให้แวดวงที่เหมือนเป็นโลกคู่ขนานได้มีความชัดเจน อย่างน้อยก็ชัดเจนในฐานะที่เป็นมิตรน้ำหมึก ในฐานะที่ร่วมอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแต่แยกกันรบ

วาด รวี ชี้ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ สร้างผลงานจาก ‘น้ำเนื้อของชีวิต’ สร้างรอยจารึกจากเสียงจริงของชาวบ้าน

มติชนออนไลน์ รายงานต่อว่านายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า อุดมการณ์ในการสร้างงานของวัฒน์ไม่ได้เดินในทางเดียวตลอด ในช่วงแรกที่วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือ ไม่นานก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต วัฒน์จึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรก และเป็นสัญลักษณ์ของ “เพื่อชีวิต” ก็ว่าได้ เป็นงานเขียนที่มีธงชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เพื่อประชาชน ตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น

วาด รวี กล่าวว่า ต่อมามีกวีที่ชื่อว่า “ทางสายใหม่” ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้เขาเกิดอุดมการณ์การเขียนเป็นต้นมา หลังจากปี 2523 ที่ พคท.แตกสลาย ฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ อุดมการณ์นี้สลายลง วัฒน์ต้องปรับตัวหลังออกจากป่าเพราะออกมาแบบคนพ่ายแพ้ ซึ่งในเมืองเกิดกระแส “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ขึ้นมาแล้ว มีรางวัลซีไรต์แล้ว ในขณะที่วัฒน์ยังอยู่ในป่า วัฒน์จึงต้องปรับตัว

“งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือนิยาย ตำบลช่อมะกอก ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม และหากมาคิดถึงเรื่อง ฉากและชีวิต ปี 2539 ที่ไม่มีความขัดแย้ง หรือเรื่องชนชั้น สะท้อนว่าบางอย่างเปลี่ยนไปในงานของวัฒน์ เหมือนกับมาตั้งสติใหม่ว่างานเขียนเขาจะมุ่งสู่อะไร แต่พูดเรื่องของจิตใจกวี และคุณค่าของงานเขียน อุดมคติในงานเขียนของวัฒน์เปลี่ยนไป หากเทียบกับ วิสา คัญทัพ หรือคนอื่นๆ วัฒน์คือคนที่ปรับตัวไวสุด

“มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืองานเขียนชิ้นแรกหลังออกจากป่าที่ไม่ได้พูดถึงการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นอย่างไรต่อ มาถึงจุดพีคในเรื่อง ฉากและชีวิต ถือว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการปรับตัวเข้ากับบรรยากาศหลังการพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย เพื่ออยู่กับสังคมแบบนี้ที่ไม่พูดถึงเรื่องเก่า 14 ตุลา, 6 ตุลา ในแง่การต่อสู้เหมือนเดิม และมาเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลัง 2549 ที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนอีกครั้ง” วาด รวี กล่าว

จากนั้น วาด รวี อธิบายต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม วัฒน์ยังอยู่ในภวังค์ความคิดแบบนักเขียนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่ใช้เวลาพอสมควร เขาแสดงบทบาทอยู่ข้างคนเสื้อแดงชัดเจนในปี 2552 ขณะที่ปี 2549 ยังงงๆ อยู่

“จากอุดมการณ์เพื่อชีวิต จนป่าแตก ปรับตัวใหม่ วัฒน์เคยให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบปัจจุบัน เขาบอกตอนนั้นยังมึนงงอยู่ ไม่เหมือนตอนนี้ หลังปี 2549 เหมือนเขาค้นพบความจริงใหม่ ก่อตัวอุดมการณ์ใหม่อีกครั้ง ที่เห็นได้ชัดหลังปี 2549 วัฒน์ไม่มีนิยายออกมาเลย เพราะงานในช่วงพีคของเขาไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว สถานการณ์สวิง ทำให้นักเขียนคนหนึ่งโดนเหวี่ยงไปมาระหว่าง 2 ฝั่ง เหมือนลูกปิงปอง” วาด รวี วิเคราะห์

วาด รวี ยังกล่าวถึงวงการนักเขียนด้วยว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นคนสร้างคำว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ขึ้นมา และซีไรต์เอาไปใช้ อย่างไรก็ตาม ตนมองไม่เหมือนนายสุชาติ เพราะมองว่าก่อนที่วัฒน์ออกจากป่ายังไม่มีลักษณะปัจเจกนิยม ซึ่งมาเกิดหลังจากวัฒน์ออกจากป่าแล้ว หากอ่านงานให้ละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่าง ลักษณะที่คงเส้นคงวาคืออารมณ์โรแมนติกกับความยากจนที่เห็นตั้งแต่พิมพ์เล่มแรก หนังสือยานเกราะที่ว่าผู้หญิงหากินก็มีศักดิ์ศรี มองแง่งามของชนชั้นล่าง แต่หลังออกจากป่า สิ่งที่ไม่มีคือ “ปัจเจกนิยม” ซึ่งผนวกกับ “ความโรแมนติก” ประเด็นกดขี่ชนชั้นไม่ชัด มีลักษณะประนีประนอมมากขึ้น แต่วัฒน์มีท่าทีรับฟังและปรับตัวเร็วกว่า ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับนักเขียนหลายคนที่อกหักจากอุดมการณ์ล่มสลาย จึงหันไปลงลึกกับภาวะภายใน “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งก็ช่วยให้วรรณกรรมพัฒนา ตัวละครสมจริงขึ้น

“ผมคิดว่าจักรวาลทางการเมืองของคนในสังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองแตกกระจาย ผนวกการมีโซเชียลศูนย์กลางในการอธิบาย จึงหลากหลาย และต่างมองจากศูนย์กลางของตัวเอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ ความเคยชินกับคำว่าชุมชนวรรณกรรม ยุคหลังไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ยังมีความหมายสำหรับคนรุ่นใหม่หรือไม่ เพราะผิดหวังกับสังคมนักเขียน ซึ่งตอนนี้อาจจะไม่มีสังคมนั้นแล้ว

“งานสไตล์วัฒน์คืองานที่ไม่ค่อยมีคนเขียนอีกแล้ว มีตอนหนึ่งที่เล่าว่า หลานเขาเป็นนักเขียน เอางานมาให้อ่าน ในงานนี้บรรยายว่ามีหิมะตกด้วย ซึ่งวัฒน์บอกว่าเขียนไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน นี่เป็นลักษณะที่แทบไม่มีในนักเขียนปัจจุบัน งานที่เขาผลิต ผลิตจากน้ำเนื้อของชีวิต มีปูมหลังแบบชีวิตลูกชาวบ้าน ต้องให้เครดิตกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่หลังปี 2540 คนที่จะมาเป็นนักเขียนได้คือชนชั้นกลาง ซึ่งสไตล์ของวัฒน์จะเป็นรอยจารึก บางอย่างเราก็อยากได้เสียงจริงจากชาวบ้าน และไม่ง่ายที่จะมี” วาด รวีกล่าว

‘ไอดา’ เปิด ‘ต้องเนรเทศ’ ผลงานสุดท้าย ‘วัฒน์’ เผยต้นฉบับยิ่งใหญ่กว่าที่หวัง ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนแพ้แต่ยังสู้’

มติชนออนไลน์ รายงานว่าในตอนหนึ่ง น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม “กองทุนราษฎรประสงค์” กล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายของสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือของวัฒน์ คือ ‘ต้องเนรเทศ’ โดยโชว์ปกจำลองหนังสือเล่มสุดท้ายของวัฒน์ที่จะพิมพ์ 2 ปก ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายนนี้

น.ส.ไอดากล่าวว่า เมื่ออ่านต้นฉบับของนายวัฒน์จบลงในท่อนแรกที่ว่า “ไม่กลับ การลาลับ คงอยู่” รู้สึกไม่สบายใจและหวั่นใจ เพราะไม่ทราบว่าจะขอร้องอย่างไรว่าอย่าเขียนราวกับเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต แต่ครั้งสุดท้าย คือ หมุดหมายของการบรรลุบั้นปลายว่าจะถึงชัยชนะ หมายถึงการพ้นจากภาวะ “ครั้งแล้วครั้งเล่า” เพราะคือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดั่งแรงใจ แต่ที่ตลกร้ายคือเรามักจะไม่ได้เห็นมัน

น.ส.ไอดายังกล่าวถึงสาเหตุที่วัฒน์กลับมาร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดงว่า การอุทิศตนอย่างเข้มแข็งของคนเสื้อแดงทำให้วัฒน์กลับมามีเรี่ยวแรงพร้อมทุ่มเทอีกครั้ง ซึ่งการที่นักเขียนพูดอะไรอย่างนี้ไม่ได้เท่นัก เมื่อเสื้อแดงยังไม่ใช่ความก้าวหน้า ตนพยายามให้วัฒน์เขียนงานใหม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง แต่วัฒน์ไม่มีเวลาเขียน เพราะต้องลี้ภัย สำหรับต้นฉบับที่ได้รับมาวันนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่หวังไว้ วัฒน์ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนที่แพ้แต่ยังสู้ต่อ’

น.ส.ไอดากล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมจากเส้นทาง จากหุบเขา ถึงปารีส นกปีกหัก บทที่ 2 คือ บ้านท่าเสา กาญจนบุรี ที่อบอวลด้วยความรักความผูกพัน ที่ไม่ใช่เพียงที่พักเหนื่อย แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต บทที่ 3 4 5 คือมหากาพย์ช่วงลี้ภัย ในภาวะที่ไม่อาจกำหนดอะไรได้ ‘เนินลำโชย’ เขาบรรยายชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่ 2 สะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสา และจำลองในบ้านที่ไม่ใช่ ที่ไม่เหลือใคร นอกจากลำพัง สำหรับบทที่ 9 กล่าวถึงดินแดนฝรั่งเศส ที่ให้สิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ

“การออกมารอบนี้ของเขา ไม่ใช่การเข้าป่าดูทัศนศึกษา เขาไม่หันหลังกลับ แต่ยืนยันความเป็นอิสระที่จะไม่กลับมาอยู่ในกะลา ซึ่งในภาวะที่เปราะบาง อ่อนไหว เขาเปลี่ยนจาก ผม เป็น ฉัน” น.ส.ไอดากล่าว

จากนั้นอ่านเนื้อหาที่วัฒน์เขียนไว้ในหนังสือเล่มสุดท้าย ใจความกล่าวถึงตัวตนความเป็นนักเขียนที่ยังคงประคองไว้ด้วยมิตรน้ำหมึกที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือ ความฝันไปให้ ด้วยสำนึกเสรีชนร่วมอาชีพ และนักมนุษยนิยม โดยไม่ต้องป่าวประกาศ หนึ่งในนั้นที่ต้องเอ่ยชื่อคือ บินหลา สันกาลาคีรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายมีการอ่านบทกวี ‘เมื่อฟ้าค่ำ’ เพื่อแสดงความเคารพต่อวัฒน์ วรรลยางกูร ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้ร่วมเสวนาดังกระหึ่มห้องประชุม และจบช่วงเสวนาในเวลา 16.10 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท