Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากจะมีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เราควรจะพูดตรงไปตรงมาเสียทีว่า “การยุบอนาคตใหม่คือการปฏิเสธประชาธิปไตย” ไม่ได้หมายความว่า “พรรคอนาคตใหม่=ประชาธิปไตย” แต่อนาคตใหม่คือพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่า จะใช้กระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาต่อสู้ต่อรองเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพและองคาพยพอื่นๆ ของรัฐให้เป็นประชาธิปไตย 

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับคำประกาศของอนาคตใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีใครหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดๆ มี “ความชอบธรรม” ที่จะใช้อำนาจสกัดหรือปิดกั้นไม่ให้ ส.ส.อนาคตใหม่เข้าสภา หรือยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยวิธีเน้นการตีความกฎหมายเจาะจงให้เป็นโทษแก่อนาคตใหม่มากเป็นพิเศษกว่าพรรคการเมืองใดๆ เพื่อไม่ให้มีพื้นที่ต่อสู้ต่อรองตามกระบวนการรัฐสภา เพราะการสกัดหรือปิดโอกาสการต่อสู้ต่อรองในระบบรัฐสภาของพรรคการเมือง ก็คือการทำให้กระบวนการประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภาทำงานไม่ได้หรือบกพร่อง ดังนั้น เมื่อปฏิเสธการต่อสู้ต่อรองของพรรคการเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตยในระบรัฐสภาก็เท่ากับปฏิเสธประชาธิปไตย

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ฝ่ายอนุกรัษ์นิยม/อำนาจนิยมปฏิเสธประชาธิปไตยชัดเจนมาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนแล้ว เพราะเห็นได้ชัดว่า เป้าหมายของการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวสองครั้งติดต่อกัน ไม่ใช่เพราะว่าพรรคการเมืองดังกล่าวทำลายกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตย แต่เพราะว่าพรรคการเมืองดังกล่าวถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยม ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมไม่สามารถต่อสู้เอาชนะได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง 

รัฐประหาร 2549 และ 2557 คือความพยายามต่อเนื่องของฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมในการหาวิธีการขจัดและเอาชนะพรรคเพื่อไทยให้ได้ และเราก็ได้เห็นชัดเจนแล้วว่าพวกเขา “ไม่เอาประชาธิปไตย” หลักฐานที่ชี้ชัดคือรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายอื่นๆ และการใช้อำนาจต่างๆ ที่ลดทอนและทำลายหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตยลงเรื่อยๆ กระทั่งทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร 

สำหรับผู้ที่ยังสับสนอยู่ว่า การยุบไทยรักไทย พลังประชาชนเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายโน่นนั่นนี่ เป็นพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยและอื่นๆ ก็ลองคิดทบทวนดูใหม่ก็แล้วกันว่า ยุบพรรคดังกล่าวสองครั้งแล้วทำให้ระบบการเมืองไทยสุจริต โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือเลวร้ายลงมากกว่าเดิม 

ความจริงก็คือ อย่างน้อยที่สุดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยตัวระบบหรือรัฐธรรมนูญยังมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ ถึงแม้พฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองจะมีปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวหากัน ก็ยังสามารถใช้ระบบที่เป็นประชาธิปไตยนั้นตรวจสอบ เรียกร้องความรับผิดชอบและเอาผิดได้ แต่ภายใต้รัฐบาล คสช. จนกระทั่งปัจจุบัน ตัวระบบหรือรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาทุจริต ไม่โปร่งใสและอื่นๆ ถูกตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าหลายเท่า ก็ไม่สามารถตรวจสอบ เรียกร้องความรับผิดชอบหรือเอาผิดใดๆ ได้เลย

ดังนั้น เมื่อคุณ (ใครก็ตามที่เคยสนับสนุนและยังสนับสนุนอำนาจจากรัฐประหาร) รับปัญหาการเมืองในยุคไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยไม่ได้ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่โปร่งใส ทุจริต ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเหตุใดจึงยอมรับรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งตัวระบบและการกระทำที่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตไม่โปร่งใสมากกว่าได้

ยิ่งกรณีอนาคตใหม่ที่ไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ข้ออ้างที่แท้จริงในการยุบอนาคตใหม่อยู่ตรงไหน ก็มีเพียงข้ออ้างเดียวเท่านั้นคือ พรรคอนาคตใหม่มีความชัดเจนในอุดมการณ์และแนวทางสร้างประชาธิปไตยมากเกินไป การยุบอนาคตใหม่จึงสะท้อนความกลัวว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง กลัวการที่ประชาชนจะมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างแท้จริงเหมือนประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยทั่วไปเขามีกัน

ความกลัวประชาธิปไตยของฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมทำให้พวกเขา “ผิดปกติ” ทั้งในทางความคิด จิตสำนึกที่แสดงออกผ่านการกระทำที่ผิดปกติ การใช้อำนาจผิดปกติ เช่น ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญและกติกาอื่นๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้กฎหมาย ตีความกฎหมาย ใช้กลไกศาลและอื่นๆ ที่ผิดปกติ คือผิดครรลองประชาธิปไตยและความยุติธรรม 

ความผิดปกติอันเนื่องมาจากความกลัวประชาธิปไตยของฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมดังกล่าวได้ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นทั้งในระดับบุคคล, ระดับองค์กรต่างๆ และระดับสังคม เช่น หลายคนเป็นนักวิชาการ เป็นศาสตราจารย์เคยเป็นคนปกติในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย คือแสดงบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนหลักการประชาธิปไตยและจริยธรรมอย่างกระตือรือร้น แต่ในยุครัฐบาลเผด็จการทหารกลายเป็นคนผิดปกติไป มีทั้งเงียบเป็นเป่าสาก มีทั้งเข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลเผด็จการแบบเนียนๆ และเป็นสมุนรับใช้เผด็จการอย่างอายไม่เป็น 

องค์กรอย่างมหาวิทยาลัยกลายเป็นองค์กรผิดปกติ เพราะทั้งยืนยันว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก แต่กลับปิดกั้นกิจกรรมต้านเผด็จการ เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ให้ความร่วมมือกับทหารในการสอดแนมจับผิดการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการต่างๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย บางแห่งมีการสอดแนมจับผิดการสอนของอาจารย์ว่าพูดเรื่องการเมืองในทางวิจารณ์เผด็จการหรือไม่ เป็นต้น 

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า สถาบันกองทัพ ศาลหรือระบบยุติธรรม และระบบราชการโดยรวม สถาบันการศึกษาโดยรวม สถาบันศาสนา กระทั่งระบบทุนผูกขาดกลายเป็นองคาพยพหรือเครือข่ายของระบบอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมอย่างไร ทำหน้าที่อย่างผิดปกติอย่างไร 

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแต่มีอิทธิพลในการสร้างให้ปัจเจกบุคคลกลายเป็นคนผิดปกติ หรือตกอยู่ในภาวะไม่ปกติในแง่ใดแง่หนึ่ง เพื่อนพูดกันไม่รู้เรื่อง ครอบครัวพูดกันไม่รู้เรื่อง คนในองค์กรเดียวกันพูดกันไม่รู้เรื่อง คนที่คิดต่างจากคนอื่นแทนที่จะมีสิทธิใช้ชีวิตปกติกลับต้องอยู่ในคุก หรือไม่ก็หนีออกนอกประเทศอย่างไม่รู้วันกลับ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงมันคือความผิดปกติ คือความทุกข์ในชีวิตปัจเจกบุคคลและทุกข์ทางสังคมที่ “ระบบอำนาจผิดปกติ” ซึ่งกลัวประชาธิปไตยสร้างขึ้น

อนาคตใหม่คือพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางนำพาประเทศสู่ภาวะปกติของระบอบประชาธิปไตย เขาไม่ต้องการทำลายล้างฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ยกเว้นคนทำผิดกฎหมายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย) เพราะเป็นไปไม่ได้ ในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า มีฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย แต่ทุกฝ่ายต่างยึดหลักเสรีภาพและกระบวนการประชาธิปไตยในการต่อสู้ต่อรอง ไม่มีฝ่ายใดสถาปนาระบบอำนาจนิยมผิดปกติขึ้นมาทำลายกระบวนการประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมไทยๆ ได้

ด้งนั้น “ถ้า” ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เท่ากับปิดโอกาสในการต่อสู้ตามกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของพรรคการเมืองตัวแทนประชาชน เป็นการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมปฏิเสธประชาธิปไตย ซึ่งเท่ากับปฏิเสธการกลับสู่ภาวะปกติของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบอำนาจผิดปกติก็จะสร้างคนผิดปกติ องค์กรผิดปกติซับซ้อนมากขึ้นๆ จนอาจเกิดความรุนแรงจาก “อาการคลั่ง” ในแบบต่างๆทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมตามมาอย่างคาดไม่ถึง และไม่มีผู้มีอำนาจใดๆ รับผิดชอบได้

จึงไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคการเมืองใดๆ และประชาชนกลุ่มใดๆ ที่ยืนยันแนวทางการต่อสู้ต่อรองตามกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นฝ่าย “สร้างความขัดแย้ง” แต่ฝ่ายที่สร้างความขัดแย้งมายาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่หลังปฏิวัติสยาม 2475 เป็นต้นมา คือฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมที่กลัว เกลียดเสรีภาพและประชาธิปไตย แน่นอนว่า การใช้อำนาจใดๆ บนจิตสำนึกเกลียดและกลัวประชาธิปไตยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และอำนาจใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนส่วนใหญ่ย่อมไม่อาจมั่นคงยั่งยืนได้จริง

  

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net