Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ในความผิดฐาน “ใช้นโยบายหาเสียงเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112” โดยศาลวินิจฉัยว่า “เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งจะตามมาด้วยการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะวินิจฉัย “ความผิดจริยธรรมทางการเมือง” ว่าจะ “ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต” หรือไม่ในกรณีที่ 44 ส.ส. พรรคก้าวไกลได้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้มาตรา 112 บวกกับกรณีที่ศาล รธน.ตัดสินให้นายเศรษฐา ทวีสินพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง เพราะแต่งตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประเด็นปัญหาจริยธรรมทางการเมืองจึงถูกพูดถึงอีกครั้งว่าความผิดจริยธรรมทางการเมืองควรรับผิดชอบใน “ทางการเมือง” เท่านั้น หรือควรรับผิดใน “ทางกฎหมาย” ด้วย

ปัญหาดังกล่าวอาจอภิปรายได้ทั้งในทางนิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ และปรัชญาการเมือง บทความนี้จะอภิปรายจากมุมมองปรัชญาการเมือง (political philosophy) ของจอห์น รอลส์ (John Rawls) เพื่อทำความเข้าใจว่าจริยธรรมทางการเมืองคืออะไร สัมพันธ์กับ “คุณค่าแกนกลาง” หรือคุณค่าหลัก (core values) ของระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างไร และความผิดจริยธรรมทางการเมืองควรเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่

ในงานชื่อ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) รอลส์พูดถึง “คุณค่า” (values) สองประเภท คือ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) กับ “คุณทางจริยธรรม” (moral values) คุณค่าทั้งสองประเภทนี้แม้จะมีบางแง่มุมที่สอดคล้องและสนับสนุนกัน แต่ก็ควรแยกเป็นคนละอย่างกัน และควรมีบทบาทต่างกัน 


John Rawls (1921-2002) ที่มา https://www.britannica.com/biography/John-Rawls

อย่างแรก ที่ใช้คำว่า “คุณค่าทางการเมือง” หมายความว่า การเมืองการปกครอง (ในระบอบใดๆ) ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐในการปกครองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “คุณค่า” ด้วยว่าการได้มาและการใช้อำนาจรัฐถูกหรือผิด ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมตามกฏกติกาหรือบรรทัดฐานอะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของระบอบการปกครองนั้นๆ

สำหรับ “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) คุณค่าทางการเมือง คือสิ่งที่รอลส์เรียกว่า “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) อันได้แก่ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียมและหลักความแตกต่าง ซึ่งกินความครอบคลุมถึงสิทธิเลือกตั้ง และการมีส่วมร่วมทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม สิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (due process) ตามหลักความเสมอภาคทางกฎหมายหรือหลักนิติรัฐ (rule of law) และหลักสิทธิมนุษยชน โดยความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจยอมรับให้มีได้ภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐต้องเปิดโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงตำแหน่งสาธารณะต่างๆ และความก้าวหน้าตามความสามารถ ไม่ใช่ตามสถานะทางชนชั้นหรือการสืบทอดทางสายเลือด ขณะเดียวกันรัฐต้องมีมาตรการประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่พลเมืองทุกคน โดยเฉพาะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีการศึกษา อาชีพการงาน และเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ให้สามารถดำรงชีวิตสมกับความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีเสรีภาพในการเลือกชีวิตที่ดีได้ ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆ ที่เอื้อต่อโอกาสในการพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น

หลักความยุติธรรมสาธารณะดังกล่าวคือคุณค่าทางการเมืองที่ถือเป็น “คุณค่าแกนกลาง/คุณค่าหลัก” หรือเป็น “core values” ที่ขาดไม่ได้ของระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนั้น คุณค่าทางการเมืองจึงเป็นคุณค่าที่ถูกรับรองหรือให้หลักประกันโดยกฎหมาย core values ของระบอบประชาธิปไตยจึงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ต้องสอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับ “core values ของระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้สถาบันทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ทุกคนยึดถือปฏิบัติร่วมกันในความร่วมมือ “แบบต่างตอบแทนที่เท่าเทียมและเป็นธรรม” ในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ

เช่น ประมุขของรัฐ, รัฐบาล, รัฐสภา, พรรคการเมือง, ศาล, กองทัพ, ส่วนราชการต่างๆ ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับ core values ของระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนการละเมิด core values ของระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐประหาร, การคอร์รัปฯ ทรัพยากรสาธารณะ, การใช้ความรุนแรงปราบปราบประชนชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจนบาดเจ็บ เสียชีวิต เป็นต้น หรือการละเมิดสิทธิ เสรีภาพต่างๆ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ส่วน “คุณค่าทางจริยธรรม” หมายถึง คุณค่าของจริยธรรมสาธารณะที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะอันเป็น core values ของระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การกระทำของพลเมืองเสรีและเสมอภาคจากมโนธรรมสำนึกในการเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมทางสังคม การรักษาประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ส่วนรวม 

จริยธรรมสาธารณะอาจมีที่มาได้หลายหลากหลาย เช่น อาจมาจากคำสอนศาสนาต่างๆ แนวคิดปรัชญาต่างๆ หรือความเชื่อแบบบ้านๆ ทั่วไป หรือความเชื่อของชนเผ่าต่างๆ ที่ถูกตีความให้สอดคล้องไปกันได้หรือสนับสนุนหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือ core values ของระบอบประชาธิปไตย

เช่น การตีความว่าพระเจ้ามอบสิทธิแก่ทุกคนเท่าเทียมกันเพื่อสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมทางเพศของคนทุกเพศ หรือตีความคำสอนเรื่องความรักและการให้อภัยของศาสนาคริสต์สนับสนุนขันติธรรม (tolerance) ในการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม ตีความหลักปัญญา กรุณา อหิงสาแบบพุทธสนับสนุนสันติภาพทางสังคม ตีความความเชื่อของชนเผ่าที่เชื่อว่ามนุษย์ทั้งผองเป็นเสมือนญาติสายโลหิตเดียวกันสนับสนุนภราดรภาพ หรือตีความปรัชญาสายคานท์ที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตีความปรัชญาสายประโยชน์นิยมที่เน้นประโยชน์ส่วนรวมควบคู่กับเสรีภาพปัจเจกบุคคลกับเสรีภาพทางการเมืองสนับสนุนการเคารพ core values ของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

จะเห็นว่าหลักคุณค่าทางการเมืองเรียกร้อง “ความรับผิดชอบทางกฎหมาย” เพราะหลักความยุติธรรมสาธารณะเป็น core values ของระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้สถาบันทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจต้องปฏิบัติตาม และให้พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนยึดถือร่วมกัน การละเมิดคุณค่าทางการเมือง เช่น การทำรัฐประหาร และการคอร์รัปฯ ทรัพยากรสาธารณะเป็นต้นจึงผิดกฎหมาย

ส่วนคุณค่าทางจริยธรรมเรียกร้องมโนธรรมสำนึก หรือ “สามัญสำนึก” (common sense) ของพลเมืองทุกคน (ซึ่งรวมทั้งพลเมืองที่มีตำแหน่งและบทบาทในภาครัฐ, เอกชน และประชาชนทั่วไปด้วย) ให้ใช้สามัญสำนึกในการกระทำ การแสดงออก หรือการเคลื่อนไหวประเด็นสาธารณะต่างๆ อย่างรับผิดชอบต่อการเคารพและปกป้อง core values ของระบอบประชาธิปไตย เช่น ไม่เพิกเฉยต่อการที่อำนาจรัฐใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจนมีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย หรืออุ้มหาย อุ้มฆ่าประชาชน และ/หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีใดๆ ซึ่งการไม่เพิกเฉยดังกล่าวแสดงว่าพลเมืองมีจริยธรรมสาธารณะ และการมีจริยธรรมเช่นนี้ย่อมจะทำให้สังคมสามารถปกป้องรักษา core values ของระบอบประชาธิปไตยให้มีความต่อเนื่องและมั่นคงได้จริง

ส่วนการกระทำที่สวนทางกับหลักจริยธรรมสาธารณะ เช่น การที่สื่อมวลชนบางส่วน ม็อบบางม็อบ พรรคการเมืองบางพรรค หรือปัจจเจกบุคคลบางคนสนับสนุนรัฐประหารหรืออำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการตีความศาสนา ปรัชญา หรือความเชื่อใดๆ สนับสนุนรัฐประหาร หรือเผด็จการอำนาจนิยมใดๆ ย่อมไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่สังคมอาจวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม หรือ “แบน” ได้ และ/หรืออาจรับผิดชอบในทางการเมือง หากการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำในฐานะนักการเมือง หรือพรรคการเมือง

เมื่อเราใช้ “เกณฑ์” (criterion) คุณค่าทางการเมือง คือหลักความยุติธรรมสาธารณะ อันเป็น core values ของระบอบประชาธิปไตยมาตัดสิน จะเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เสนอ “ยกเลิก 112” และ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และการเสนอนโยบายแก้ 112 ของก้าวไกล นอกจากจะไม่ขัดกับคุณค่าทางการเมืองดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการพยายามต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้สามารถจะสร้าง core values ของระบอบประชาธิปไตยให้เป็นไปได้จริงอีกด้วย และเมื่อใช้เกณฑ์คุณค่าทางจริยธรรมหรือหลักจริยธรรมสาธารณะมาตัดสิน ก็ชัดเจนว่าการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่และพรรคก้าวไกลสะท้อนการมีมโนธรรมสำนึกหรือมีสามัญสำนึกของพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีจริยธรรมสาธารณะอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่ขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะ และหลักจริยธรรมสาธารณะของระบอบเสรีประชาธิปไตย

ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายเศรษฐาพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) นั้น ประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือ นายกฯ เศรษฐาตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีจริง แต่เมื่อถูกร้องเรียน คนที่ถูกร้องได้ “แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง” ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ส่วนนายกฯ เศรษฐาก็ควร “รับผิดชอบทางการเมือง” เช่น ถูกฝ่ายค้านตรวจสอบในสภา สื่อมวลชน และประชาชนตรวจสอบ หรือถ้าหากเขาจะมีสปิริตจากจิตสำนึกส่วนตัวของเขาเอง ก็อาจสมัครใจลาออกเองก็ได้ ซึ่งเป็นความรับผิดขอบทางการเมืองก็เพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะความผิดพลาดทางจริยธรรมดังกล่าวไม่ได้ส่งผลเสียหายต่อคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย และผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นภาววิสัยที่วัดหรือประเมินความเสียหายได้อย่างเป็นที่ประจักษ์หรือเป็นวิทยาศาสตร์

อีกกรณีคือ ศาลฎีกาพิพากษาว่าคุณช่อ “พรรณิการ์ วานิช” อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ได้โพสต์ภาพถ่ายและข้อความในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊ก” สมัยคุณช่อเป็นนิสิตจุฬา เมื่อเป็น ส.ส.แล้วก็ไม่ลบภาพและข้อความนั้นออก โดยศาลให้เหตุผลสำคัญว่า

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย มาตรา 2 บัญญัติว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มาตรา 6 บัญญัติว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’ และหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 5 บัญญัติว่า ‘บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...’

“เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า ‘ในหลวง’ ‘พ่อหลวง’ หรือ ‘พ่อของแผ่นดิน’ เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและความภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา

(การโพสต์ภาพและข้อความของคุณช่อ) เป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คัดค้าน (คุณช่อ) ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (ดู https://www.thaipbs.or.th/news/content/331881
 


ช่อ พรรณิการ์ วานิช ที่มา https://thaienews.blogspot.com/2023/09/6-9.html

เหตุผลของศาลฎีกาข้างบนถูกขยายความให้ชัดขึ้นโดยการแสดงความเห็นของนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาล รธน.ที่พูดถึงการยุบพรรคก้าวไกลว่า

“รัฐธรรมนูญเลยออกเรื่องนี้มา มาตรา 49 ขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบันในการปกครองระบอบประชาธิปไตย นี่คือการปกป้องระบอบประชาธิปไตยนะ ไม่ใช่การปกป้องพระมหากษัตริย์โดยตรงอย่างนั้นนะ เป็นการปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยเนี่ยมีหลายประเภท แต่ประเทศเราจะเอาแบบที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การที่คุณไปทำอะไรก็ตาม ในที่สุดแล้วมันอาจนำการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเป็นพระประมุขในระบอบนี้ มันก็ไม่สามารถเรียกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจเป็นระบอบประชาธิปไตย ระบอบประธานาธิบดี ระบอบพ่อข้าเป็น ลูกข้าเป็น น้องเขยข้าเป็นก็ได้”  (ดู https://www.facebook.com/share/v/hdc4cTkfgN9Bu45J/)

ที่มา https://x.com/Thairath_News/status/1826135051106660465

จากเหตุผลของศาลฎีกาและตุลาการศาล รธน.ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ใช่ “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” ที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐได้ เพราะสำหรับระบอบเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่โดยทั่วไปจะปกครองด้วยหลักการโลกวิสัย (regime of secularism) คือ การแยกศาสนาจากรัฐ ไม่มีอำนาจทางการเมืองในนามศาสนา จึงไม่มีผู้ปกครองหรือประมุขของรัฐที่มีสถานะและอำนาจแบบศาสนาที่สูงส่งเหนือสามัญชน เช่น ไม่มีผู้ปกครองที่เป็นเทพ สมมติเทพ ที่มีอำนาจเทวสิทธิ์และอำนาจในนามธรรมะหรือบุญญาธิการใดๆ ประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี หรือกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (เช่น กษัตริย์อังกฤษและญี่ปุ่นเป็นต้น) ต่างก็เป็น “บุคคลสาธารณะ” เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และบุคคลสาธารณะอื่นๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ

พูดใช้ชัดคือ ประมุขของรัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะอยู่เหนือหลักเสรีภาพไม่ได้ เพราะต้องถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญให้เป็นประมุขของรัฐที่มีหน้าที่เคารพ ปฏิบัติตาม และปกป้องรักษาไว้ซึ่ง core values ของระบอบประชาธิปไตย

หากพิจารณาแนวคิดการเสนอแก้ 112 ของก้าวไกลจะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่การเสนอแก้กฎหมายเพื่อที่จะให้มีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เสนอแก้ 112 เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนสถาบันกษัตริย์อังกฤษหรือญี่ปุ่นเป็นต้น

แต่ตามความเห็นของตุลาการศาล รธน. “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หมายถึงพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบตามที่ รธน.มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งการเป็นยก “สถานะแบบศาสนา” (พุทธบวกพราหมณ์) อันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ที่สืบทอดมาแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เหนือกว่า crore values ของระบอบประชาธิปไตย

และหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 5 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...” เป็นการกำหนดให้ “ปวงชนชาวไทย” มี “หน้าที่” ต้องเคารพสักการะประมุขของรัฐ ทำให้ปวงชนช่าวไทยแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ได้ “เพียงด้านเดียว” คือด้านที่เทิดทูนบูชาหรือ “สรรเสริญสดุดี” ได้อย่างเดียวเท่านั้น การแสดงออกด้านตรงกันข้าม หรือแสดง “ทัศนคติที่ไม่ศรัทธา” ไม่เทิดทูนบูชา อาจผิดมาตรา 112 และผิดจริยธรรมทางการเมืองอย่างร้ายแรงได้เสมอ

ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถานะและอำนาจอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ จึงเหนือกว่า crore values ของระบอบประชาธิปไตย และจริยธรรมทางการเมืองก็ไม่ใช่จริยธรรมสาธารณะที่ยึดโยงหรือสนับสนุน crore values ของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นจริยธรรมที่เน้นความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ส่งผลให้การทำรัฐประหารในนามของความจงรักภักดีและปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แม้จะละเมิดหรือทำลายคุณค่าทางการเมืองหรือ crore values ของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียหายต่อระบอบการปกครองอย่างเป็นภาววิสัยหรือวัดได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญชัดแจ้งมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ก็ไม่เคยถูกเอาผิดทางกฎหมายใดๆ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่เคยรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยเอาผิดใดๆ และถึงแม้จะขัดต่อหลักจริยธรรมสาธารณะอย่างร้ายแรง แต่ก็ไม่ผิดต่อ “จริยธรรมทางการเมืองแบบไทย” แถมเมื่อทำรัฐประหารสำเร็จแล้ว ยังกลายเป็นคนดีมีจริยธรรมที่เจริญก้าวหน้าในโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี และองคมนตรีได้อีกด้วย หากจะสมัครรับเลือกตั้งหรือเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ก็ไม่ถือว่า “ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” แต่อย่างใด

มองในเชิงปรัชญาการเมืองแบบรอลส์ จึงเห็นได้ชัดว่า “แก่นแกน” ของความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสองทศวรรษในบ้านเรา คือการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายซ้าย” ที่ต้องการสถาปนาคุณค่าทางการเมือง หรือ core values ของระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพื่อรองรับการสร้างหลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของประชาชนให้ก้าวหน้าขึ้น กับ “ฝ่ายขวา” ที่ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์และทหารในทางที่ขัดกับ crore values ของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นโดยลำดับ

ส่งผลให้จริยธรรมทางการเมืองก็ไม่ได้มีความหมายเป็นจริยธรรมสาธารณะที่สนับสนุน core values ของระบอบประชาธิปไตยด้วย แต่เป็นเพียง “เครื่องมือทางการเมือง” ของฝ่ายขวาที่ใช้ “นิติสงคราม” ขจัดฝ่ายซ้าย ผ่านกลไกองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการเท่านั้น จริยธรรมทางการเมืองแบบไทย จึงเป็นจริยธรรมที่บิดเบี้ยวในระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวแบบไทยๆ ที่เป็นกลไกผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำหยิบมือเดียว

 


ที่มาภาพ: https://www.prachachat.net/politics/news-1627203
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net