Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายคนคงได้ดูหนังสารคดีการเมือง “อำนาจ ศรัทธา อนาคต” หรือ “Breaking The Cycle” แล้ว และมีหลายคนรีวิวหนังเรื่องนี้แล้ว ผมสะดุดกับปัญหาที่ธงชัย วินิจจะกูลชวนเราตั้งคำถามว่าชื่อเรื่องมีคำว่า “อำนาจ” ที่ถูกขีดฆ่า เส้นขีดฆ่านั้นไม่ได้ปกปิดคำว่า “อำนาจ” แต่กลับเน้นให้เรามองเห็นคำนี้โดดเด่นสะดุดตายิ่งขึ้น แล้วเราจะอ่าน “ความหมาย” ของคำนี้กันอย่างไร

(อ่านคำถามชวนคิดของธงชัยที่ https://www.facebook.com/photo/?fbid=978089637659794&set=a.474826951319401)

ผมอยากร่วมคิดในปัญหาที่ธงชัยชวนเราคิด สิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” เป็นปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งที่งานทางปรัชญาพยายามคลี่คลาย แต่คงไม่มีประโยชน์มากนัก หากเราจะถกเถียงแนวคิดทางปรัชญาในหนังสือเพื่อจะ “ฟิน” ในกลุ่มคนคอเดียวกัน โดยไม่รับรู้หรือไม่แตะปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคม

เพื่อที่จะคิดต่อจากธงชัย ผมขอแปลงชื่อหนังสารคดีการเมือง “อำนาจ ศรัทธา อนาคต” มาเป็นชื่อบทความ “อำนาจ ศรัทธา อานนท์” การแทนที่ “อนาคต” ด้วย “อานนท์” ไม่ใช่เพื่อยกย่อง “อานนท์ นำภา” ในฐานะ “วีรชน” แม้ว่าความกล้าหาญและการกระทำของเขาก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้วีรชนใดๆ ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองก็ตาม เพราะอานนท์ก็ไม่ได้นำเสนอตัวเองหรือต้องการให้ใครยกย่องเขาว่าเป็นวีรชน

เช่นเดียวกัน หนังสารคดี “อำนาจ ศรัทธา อนาคต” ก็ไม่ได้นำเสนอธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเพื่อนร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็นวีรชน แต่นำเสนอว่าธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มีความคิด อุดมการณ์ และนโยบายอย่างไรที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทยผ่านกระบวนการรัฐสภา เพื่อทำลายวงจรรัฐประหารไม่ให้เกิดซ้ำซากเหมือนอดีตที่ผ่านมา และพวกเขามี “ความฝัน” ถึงภาพสังคมไทยในอนาคตที่เป็นประชาธิปไตย และมีความเท่าเทียมด้านต่างๆ มากขึ้นอย่างไรบ้าง ซึ่งแนวคิด อุดมการณ์ นโยบายที่สะท้อนความฝันดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามต่อ “อำนาจ” ที่ถูกขีดฆ่านั้น

การปรากฏตัวของอานนท์ในฐานะผู้ยกระดับการอภิปรายสาธารณะประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย ก็คือการปรากฏตัวด้วยแนวคิด อุดมการณ์ และความฝันถึงอนาคตสังคมไทยที่สอดคล้องกับอนาคตใหม่ แต่แหลมคมหรือตรงไปตรงมามากกว่า และส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ “ทะลุเพดาน” ความกลัวมากขึ้น มีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีการกระชับอำนาจของสถาบันกษัตริย์และทหารมากขึ้น อันที่จริงการเมืองหลัง 2475 ก็ดำเนินมาในแนวทางนี้เป็นด้านหลัก หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 อำนาจของสถาบันกษัตริย์และทหารก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ความหมายของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แทบจะแยกไม่ออกจากระบอบการปกครองที่ธงชัยเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตย” ที่กษัตริย์ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (หรือรัฐบาลจากรัฐประหาร) ได้ แต่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ต้องเหนือรัฐบาลหรือรัฐสภา ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นเป็นต้น ที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ, อำนาจรัฐสภา และประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้

คำถามสำคัญของแนวคิดในการต่อสู้ทางการเมืองแบบอานนท์ จึงอยู่ที่ “อำนาจ” ที่ถูกขีดฆ่าว่าในระบบการปกครองแบบไทยปัจจุบัน “อำนาจอธิปไตย” ของประชาชนถูกขีดฆ่าออกไปใช่หรือไม่ หรือว่ามี “อำนาจที่แตะไม่ได้” กดทับอำนาจอธิปไตยของประชาชนอยู่ เพื่อไม่ให้อำนาจของประชาชนนั้นสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ชัดถ้อยชัดคำ หรือ “มีความหมาย” ทางการเมืองและการบัญญัติกฎหมายตามหลักการประชาธิปไตยได้จริง

ในชื่อบทความผมไม่ขีดฆ่าคำว่า “ศรัทธา” ปล่อยให้ศรัทธาเป็นอิสระจากการถูกขีดฆ่า แต่คำนี้กลับเป็นปัญหาไม่น้อยไปกว่าคำว่าอำนาจ หรืออาจสับสนยุ่งเหยิงมากกว่า เพราะในด้านหนึ่งฝ่ายกษัตริย์นิยมล้นเกินเน้นการปลูกฝังศรัทธาความจงรักภักดีในอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เข้มข้นมากขึ้นผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และอื่นๆ แม้กระทั่งการสอบสัมภาษณ์ครูก็มีคำถามตรวจเช็คศรัทธาหรือความจงรักภักดีดังกล่าวนี้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้คนก็แสดงออกในทาง “เสื่อมศรัทธา” มากขึ้น

นอกจากนั้น “ศรัทธา” ยังอาจมีความหมายตามที่อานนท์พูดบ่อยๆ ว่า “จงเชื่อมั่นและศรัทธา” ซึ่งหมายถึง เชื่อมั่นและศรัทธาในความเป็นคนเท่ากัน ในหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย ศรัทธาในความหมายนี้ จึงเป็นคำถามท้าทายว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยมากพอที่จะเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่าหรือไม่

ชื่อบทความขีดฆ่าคำว่า “อานนท์” ด้วย เพื่อสะท้อนความจริงว่าฝ่ายอำนาจเก่าพยายามทำลายความคิด อุดมการณ์ และแนวทางการต่อสู้ด้วยการใช้เหตุผลผ่านเวทีอภิปรายสาธารณะทางการเมือง และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมแบบที่อานนท์และคนรุ่นใหม่ทำ และกระบวนการยุติธรรมภายใต้อำนาจเก่ายังขีดฆ่า “สิทธิการประกันตัว” ของอานนท์และนักกิจกรรมคนอื่นๆ อีกด้วย ภายใต้เส้นขีดฆ่าดังกล่าวยังมี “ความเป็นคน” ของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ชื่ออานนท์ (และคนอื่นๆ) ที่มีความคิดจิตใจของตนเองที่ผูกพันกับลูก เมีย ครอบครัว หรือญาติมิตร ซึ่งอำนาจเก่า กระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่คนส่วนใหญ่ต่างไม่รับรู้ความคิดความรู้สึก และภาระมากมายที่ความเป็นคนของใครคนหนึ่งต้องแบกรับ

เช่นเดียวกับ “บุ้ง ทะลุวัง” และคนอื่นๆ ที่สละชีวิตต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม แต่ชีวิตของพวกเขาถูกขีดฆ่า ความคิด อุดมการณ์ และความปรารถนาดีต่อส่วนรวมของพวกเขาถูกบิดเบือนด้วยวิธีการสกปรกต่างๆ นานา จดหมายของอานนท์ตอกย้ำให้เราเห็นความเป็นจริงที่เจ็บปวดว่า

“ท่ามกลางคนในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมอมเมาด้วยความคิดของสังคมเก่าที่ ‘ไม่เชื่อ’ ว่าคนเราเท่ากัน อาการป่วยไข้ก็จะแสดงออกมาเรื่อยๆ ฉีกตำราทางนิติศาสตร์ หรือแม้แต่อ้างความยุติธรรมแบบไทยๆ ขึ้นมาแทน ก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ กัดกร่อนองค์กร และตัวเองไปเรื่อยๆ พร้อมพลีทุกอย่าง กระโดดลงเหวไปพร้อมกับสังคมเก่าที่พวกเขาถูกมอมเมาให้หวงแหน” (ดู https://www.facebook.com/photo.php?fbid=25819498697664849&set=p.25819498697664849&type=3)

นี่เป็นข้อความที่อานนท์สื่อสารกับสังคม หลังศาลปฏิเสธการขอประกันตัวเขาและนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่โดน 112 ครั้งล่าสุด ซึ่งตอกย้ำถึงการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “ความยุติธรรมแบบไทยๆ” กับ “ความยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ” (rule of law) ในระบอบประชาธิปไตย

จึงชัดเจนว่าเมื่ออำนาจที่ถูกขีดฆ่าคืออำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิและเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ศักดิ์ศรีความเป็นคน กระทั่งอิสรภาพ และชีวิตของประชาชน ก็ถูกขีดฆ่าไปด้วย เรามองเห็นตัวตนเป็นๆ ของเพื่อนร่วมสังคมที่สูญเสียอิสรภาพและชีวิตจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า เรามองเห็นสำนึกปกป้องความเป็นคน อุดมการณ์ และจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งของพวกเขา แต่เราไม่อาจลบเส้นขีดฆ่าที่กดทับพวกเขาออกไปได้ นี่จึงเป็นความรู้สึกผิด และความเจ็บปวดสำหรับคนที่ยังมีหัวใจ

แต่คำถามก็คือ ชนชั้นปกครองหยิบมือเดียวจะขีดฆ่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนได้ตลอดไปจริงๆ หรือในสถานการณ์ที่ “ศรัทธา” ในอำนาจของชนชั้นปกครองกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนขัดกันมากขึ้นๆ

ดังนั้น ในสงครามระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะ ก็คือ “ศรัทธา” ของประชาชนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถช่วงชิงมาสนับสนุนได้มากกว่า

แน่นอนว่าในโลกยุคนี้การปกครองด้วยความกลัว ย่อมไม่อาจสร้างศรัทธา หรือควบคุมศรัทธาของประชาชนได้จริง ในบางครั้งประชาชนอาจกลัว หรือเรียนรู้ที่จะไม่กลัว และลุกขึ้นสู้เมื่อไม่อาจทนต่ออำนาจกดขี่เช่นนั้นได้ และสักวันหนึ่งอำนาจที่ถูกขีดฆ่า ก็จะไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของประชาชนอีกต่อไป ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยของสังคมต่างๆ ในโลกล้วนเป็นเช่นนี้!   
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net