Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาหลายมหา'ลัย ถกปมสร้างอำนาจให้ ปชช. ในยุคเผด็จการ ชูธง แก้รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ-เลิกภูมิภาค-เลือกตั้งผู้ว่าฯ-จังหวัดจัดการตนเอง 

13 มี.ค.2563 กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เครือข่ายนักศึกษาหลายกลุ่ม โดยนอกจากกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคมเองแล้ว ยังมี ชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มนกพิราบขาวเพื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง) กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันในการจัดการเสวนาหัวข้อ “เครือข่ายคนรุ่นใหม่กับกิจกรรมเพื่อสังคมและการเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชนในยุคเผด็จการ” เพื่อนำเสนอถึงข้อเสนอคนรุ่นใหม่ต่อการกระจายอำนาจการจัดการตนเองที่ส่งผลให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งนำสู่การเสริมสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ช่วงแรกเป็นการตอบคำถามประเด็นการกระจายอำนาจในแต่ละบริบทของสังคมโดยตัวแทนสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมีการกล่าวถึง การกระจายอำนาจกับโลกาภิวัฒน์ ผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างทางการเมืองที่ส่งผลต่อประชาชนโลกาภิวัฒน์คือการเชื่อมโลก ทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มผลประโยชน์ ที่ต้องพลวัตตามเทรนของโลกซึ่งการเชื่อมโยงโครงข่ายโดยมองข้ามเขตแดนในแต่ละพื้นที่การกระจายอำนาจจึงต้องมุ่งเน้นให้ผู้คนตระหนักและเข้าถึงสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน เช่น การที่นักศึกษาถกเถียง โต้แย้ง เพื่อคานอำนาจกับอาจารย์ เป็นต้น  ผลของการกระจายอำนาจที่สามารถเข้าถึงได้อย่างชัดเจน เช่นประเด็น สุรา กับคำพูดที่ว่า “ขอมองในประเด็นที่ขึ้นชื่อ อย่างคำพูดที่ว่าสารคามน้ำบ่ต้อง” นั้น เป็นอีกตัวชี้วัดการบริโภคนิยมสุรา ซึ่งเป็นสินค้าถูกผูกขาดโดยทุน หากมีการสร้างสุราท้องถิ่นจากการกระจายอำนาจ ลดความซับซ้อนทางประเด็นกฎหมายจะเกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นในท้องถิ่น ข้อเสนอต่อการกระจายอำนาจ คือกฎหมายที่ต้องเอื้อต่อการผลิตสินค้าบริการรวมไปถึงการเลือกตั้งของท้องถิ่น

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มนกพิราบขาวเพื่อสังคมกล่าวถึง ประเด็นการกระจายอำนาจกับความหลากหลาย” ซึ่งมองว่าการเปรียบเทียบโดยหลักการ คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 78  เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ผลแปรสภาพเป็นประชาชนถูกผนวกให้รับโอนอำนาจจากรัฐ การยอมรับในอัตลักษณ์ของความหลากหลาย การแทรกซึมด้วยระบบอบการศึกษาทำให้เกิดการแทรกแซงและการกลืนหายของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาศาสนาที่ตีกรอบทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ได้เรียนรู้ส่งผลให้เกิดการรวมอำนาจอย่างเต็มรูปแบบของรัฐไทย ดังนั้นข้อเสนอ คือ ยกเลิกการรวมอำนาจที่ละเมิดต่ออัตลักษณ์ท้องถิ่น การปกครองตนเองอย่างเต็มรูปแบบ

ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยกประเด็น การกระจายอำนาจกับสันติภาพ” โดยเปรียบเทียบการกระจายอำนาจของรัฐไทยนั้นจัดเป็นรัฐราชการที่มีขนาดใหญ่ ส่งผลถึงงบประมาณที่มีจำนวนมากกับการจ่ายเงินเดือน ระบบราชการที่ยึดโยงกับประชาชนทำให้แทรกซึมทุกพื้นที่การทุจริตเป็นไปได้ง่าย โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจของจังหวัดเมื่อจังหวัดไม่มีอำนาจจัดสรรทรัพยากร และถูกดึงไปใช้ที่ส่วนกลาง เช่น การจัดการด้านภาษี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการกระจายการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรส่งผลต่อช่องว่างรายได้จากการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำจะเป็นชนวนเกิดความขัดแย้ง 

ข้อเสนอคือกระจายอำนาจแบบเอกเทศโดยรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ใช่ผู้ถ่ายโอนการกระจายอำนาจไปทุกหย่อมหญ้าสันติภาพจึงจะเกิด การตัดสินใจอยู่ที่ท้องถิ่น รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การตรวจสอบอำนาจอย่างสม่ำเสมอของท้องถิ่นจึงจะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ตัวแทนกลุ่มดาวดิน นำเสนอประเด็น การกระจายอำนาจกับภาคประชาสังคม ว่า กลุ่มรับฟังเพื่อตระหนักรู้ปัญหาในท้องถิ่นมีการร่วมมือกับกลุ่มอีสานใหม่  เช่น การติดตามโครงการการขุดเจาะแร่ทองคำ จ.เลย โครงการนิคมอุตสาหกรรม อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยนำผลผลิตเข้ามาแปรรูปในโรงงานกว่า 5000 ไร่ รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล การมีโรงงานเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับป่าชุมชน แหล่งน้ำที่ประชาชนพึ่งพาในการอุปโภค บริโภค โครงการกดทับให้ประชาชนไม่มีการต่อรอง โดยส่วนใหญ่ปัญหามักเกิดจากนโยบายรัฐแนวทางการแก้ไขคือลดอำนาจนโยบายรัฐพร้อมกับสร้างตระหนักรู้ถึงสิทธิให้กับประชาชน

ข้อเสนอคือ ประชาชนต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายของท้องถิ่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น

ส่วนของชมรมประชาธิปไตย เสนอการกระจายอำนาจกับประชาธิปไตย เสริมสร้างภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งในยุคเผด็จการเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบอบเผด็จการคือเครื่องมือหลักในการรวมอำนาจ ยิ่งรวมศูนย์ ยิ่งรวมปัญหา  ยกตัวอย่างในเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตามคติเมืองรองจากกรุงเทพมหานคร กลุ่มนายทุนมีการหลบหลีกปัญหา จึงมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายทุนมาเชียงใหม่เมื่อการบริหารจัดการอำนาจแบบรวมศูนย์ส่งผลโดยตรงให้เชียงใหม่มีสภาวะโตเดี่ยวในภาคเหนือไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร  นอกจากนั้นมีการกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการกระจายอำนาจ ประกอบด้วย 1. การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นการสร้างสำนึกร่วมของท้องถิ่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้รับส่วนกลางกระจายอำนาจ 2. สำนึกในความเป็นพลเมือง ที่รู้ถึงปัญหาในการรวมอำนาจของท้องถิ่น ที่ไม่ใช่พลเมืองที่เคารพและเชื่อฟังรัฐเท่านั้น ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนมีตัวตนในการต่อรองตามสิทธิพลเมืองทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ นำสู่การปราบปราบจากรัฐด้วยความรุนแรงในปี 2553 ซึ่งเป็นการปกป้องตัวตนปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอันพึงมีอย่างชอบธรรม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้จึงเป็นพื้นฐานให้รัฐกำหนดโครงสร้างระบบขาดการบูรณาการ

ข้อเสนอ คือการเลือกตั้งของท้องถิ่น ทำให้ประชาชนที่ห่างหายจากประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง รวมถึงการร่างงบประมาณที่มีอุปสรรคเก็บภาษีได้เพียงป้าย ภาษีที่ดินในประเด็นเหล่านี้ต้องเพิ่มศักยภาพให้มีความเข้มแข็งท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจเอง

ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เสนอประเด็น การกระจายอำนาจกับคุณภาพชีวิต ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบล ปี 2563 ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของจังหวัด แต่ปีนี้มีการแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ โดยภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่พักน้ำของอีสาน การพัฒนาเมืองที่ไม่การวางแผนผังเมือง น้ำย้อนกลับมาท่วมอุบล กลุ่มนายทุนที่มาลงทุนจึงมีอิทธิพลต่อการช่วยเหลือ ทำให้คนในอุบลมีภาพการอุ้มชูและช่วยเหลือ มองว่าปัญหาท้องถิ่นไม่ได้รับการแก้ไขการออกนโยบายที่คำนึงเพียงส่วนกลาง เสียงสะท้อนไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นส่วนกลางมองแนวทางเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัญหาในช่วงก่อนน้ำท่วมไม่มีการรับมือไม่มีการส่งข้อมูลการปล่อยน้ำ ศูนย์พักพิงที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  ลำดับขั้นตอนมากเกินไปของรัฐเมื่อเทียบกับการช่วยเหลือของเอกชนประชาชนได้รับค่าชดเชยที่ไม่เท่าเทียม การตรวจสอบข้อมูล ประเมินค่าความเสียหายของรัฐที่แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และปัญหาประชากรแฝงที่ไม่มีตัวตนในทะเบียนบ้านไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ พร้อมกับได้เสนอแนวทางการแก้ไข พลิกพีระมิดอำนาจจากส่วนกลางหัวตั้งเป็นหัวกลับ ให้คนในท้องถิ่นดูแลปัญหา

ข้อเสนอต่อการกระจายอำนาจ คือ บทบาททางการเมืองของท้องถิ่นต้องเป็นกลุ่มที่รับฟังปัญหาในพื้นที่และสะท้อนเป็นนโยบาย ไม่ใช่เป็นการสั่งการจากส่วนกลางเท่านั้น

ตอนท้ายกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม เสนอประเด็น การกระจายอำนาจกับการคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยมองว่ารัฐชาติที่ถูกสร้างขึ้นใน 2440 แต่ก่อนหน้านั้นการปกครองของท้องถิ่นที่มีการจัดการตนเองไม่ได้มีการเชื่อมโยงหรือรวมอำนาจกับรัฐไทย โดยมองในบริบทปัจจุบัน คือการคืนอำนาจให้กับประชาชน 2440-ปัจจุบัน มีพียงข้อมูลกระแสหลักที่รัฐถ่ายโอนอำนาจให้กับท้องถิ่น “มรดกคือท้องถิ่นมีปัญหาในการปกครอง รัฐประหารระดับท้องถิ่นโดยผู้ว่าสามารถยุบสภาท้องถิ่น” การรัฐประหารระดับประเทศ 2549, 2557 โดยปี 2557 ยึดอำนาจโดยไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเลือกตั้ง

ส่วนของการเสนอแนวทางการกระจายอำนาจที่ติดกรอบกับรัฐส่วนกลางจึงจำเป็นต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน ทั้งประวัติศาสตร์ และรูปแบบการปกครอง การคืนอำนาจอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจ ยกเลิกภูมิภาค เลือกตั้งผู้ว่า จังหวัดจัดการตนเอง

และในส่วนของประเด็นคำถามมีการกล่าวถึง แบบแผนรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากโมเดล  รูปแบบสร้างสภาวะหมดหวังกับพรรคการเมืองและการเมืองภาคประชาชนที่มีความตึงเครียดจนเกิดการลงถนน ทุกลุ่มมีความเห็นสอดคล้องกันคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นผลจากการสืบทอดอำนาจ เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านข้อรับรองพื้นฐานแห่งรัฐ คือรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net