COVID-19 : ยูนิเซฟยกระดับช่วย 145 ปท.ให้เด็กเรียนรู้ต่อเนื่อง บอร์ดสุขภาพฯ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญ ปชช.

ยูนิเซฟยกระดับความช่วยเหลือใน 145 ประเทศ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ต่อเนื่องในช่วงโรงเรียนปิด บอร์ดสุขภาพฯ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนสู้ ทุกตำบล 'กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า' ส่งธารน้ำใจแด่นักสู้เสื้อกาวน์ รพ.บันนังสตา

ยูนิเซฟยกระดับความช่วยเหลือใน 145 ประเทศ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ต่อเนื่องในช่วงโรงเรียนปิด

ขณะที่การปิดโรงเรียนกำลังสร้างอุปสรรคทางการศึกษาแก่เด็กกว่าร้อยละ 80 ทั่วโลก ล่าสุด องค์การยูนิเซฟได้ประกาศยกระดับความช่วยเหลือทั่วโลก เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ต่อเนื่องพร้อมกับดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19

27 มี.ค.2563  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โรเบิร์ต เจนกิ้นส์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “โรงเรียนส่วนใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกได้หยุดการเรียนการสอนลงแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากเราไม่ร่วมกันช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนนี้ ภาคสังคมและเศรษฐกิจจะต้องแบกรับภาระหนักอีกยาวนานหลังการระบาดสิ้นสุดลง ชุมชนที่อ่อนแอจะได้รับผลกระทบไปอีกหลายชั่วอายุ จากกรณีศึกษาการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่าในอดีต ทำให้เรารู้ว่า ยิ่งเด็กต้องขาดเรียนนานขึ้น ก็ยิ่งทำให้พวกเขามีโอกาสได้กลับมาเรียนน้อยลง การหาการเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ การให้เด็กกลับมามีกิจวัตรในการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ถือป็นเรื่องสำคัญมากในเวลานี้”

ยูนิเซฟได้จัดสรรเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมกว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ (421 ล้านบาท) สำหรับประเทศที่มีสถานะรายได้น้อยและปานกลางกว่า 145 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกับรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนในแต่ละประเทศ โดยเกือบ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (290 ล้านบาท) เป็นเงินสนับสนุนจาก  Global Partnership for Education

 

การช่วยเหลือครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถจัดเตรียมหลักสูตรการเรียนรู้ทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ และช่วยให้โรงเรียนสามารถเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการล้างมือและข้อปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยสำหรับเด็ก ๆ และชุมชน พร้อมสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ตลอดจนรณรงค์ไม่ให้เกิดการตีตราและแบ่งแยกในสังคมต่อเรื่องการแพร่เชื้อไวรัส 

ยูนิเซฟเตรียมทำงานกับพันธมิตรใน 145 ประเทศ โดยมีแผนดำเนินการดังนี้

  1. สนับสนุนแผนการรับมือวิกฤตของรัฐบาล โดยให้กาารช่วยเหลือด้านเทคนิค การวิเคราะห์ความเสี่ยง การเก็บข้อมูล และการวางแผนการเปิดเรียน
  2. สนับสนุนการวางแผนและการดำเนินงานของโรงเรียน เช่น จัดทำและเผยแพร่คู่มือโรงเรียนปลอดภัย จัดส่งสิ่งของเพื่อสุขอนามัย และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค ฝึกอบรมครูและผู้ปกครองด้านการดูแลจิตใจตนเองและเด็ก
  3. สนับสนุนให้การเรียนรู้ทางไกลดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยออกแบบและจัดเตรียมหลักสูตรการศึกษาทางเลือกบนช่องทางออนไลน์ วิทยุ และโทรทัศน์
  4. พัฒนาศักยภาพในการแบ่งปันความรู้และถอดบทเรียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ได้ร่วมกันเผยแพร่คู่มือป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในโรงเรียน (Guidance for COVID-19 Prevention and Control in Schools) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.unicef.org/reports/key-messages-and-actions-coronavirus-disease-covid-19-prevention-and-control-schools

บริจาคเพื่อต่อสู้กับโควิด-19  ผ่านองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ที่

ออนไลน์: http://www.unicef.or.th/th/covid19

โอนผ่านบัญชีธนาคาร: ธนาคารกรุงเทพ หมายเลขบัญชี 201-3-01324-4

กรุณาส่งข้อมูลติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์) พร้อมใบสลิปมาที่ยูนิเซฟ โดยระบุ “โควิด-19” มาที่ unicefthailand@unicef.org

บอร์ดสุขภาพฯ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนสู้ ทุกตำบล

กลุ่มงานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า ที่ สช. วันนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” ที่หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น สธ.สปสช.สสส.สวรส. สรพ.สพฉ. และด้านสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กร และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐสถาบันวิชาการธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จับมือประกาศจุดยืนสู้ภัยโควิด19 สนับสนุนชุมชนคลอดธรรมนูญประชาชน เน้นปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน โดยมี สช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง

หลังประชุม นายอนุทินเปิดเผยว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้หารือและเห็นว่าการระบาดของโรคโควิด19 มีความรุนแรงมากขึ้นและขณะนี้กระจายเข้าสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ถือเป็นวิกฤตของประเทศที่ต้องการรวมพลังจากทุกภาคส่วนมาหนุนช่วยขณะที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ และมุ่งปกป้องชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้ได้อย่างจริงจริง

“ผมและกรรมการสุขภาพแห่งชาติทุกคนเห็นด้วยกับแผนงานที่ สช.เสนอ และได้มอบให้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไปดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ทำการขับเคลื่อนเตรียมพร้อมชาวบ้านในชุมชนจากความตื่นกลัวเป็นตื่นรู้และมีเวทีเรียนรู้ จัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด 19 ในทุกตำบลชุมชนหมู่บ้าน เพราะประชาชนเป็นพลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นหูเป็นตา ดูแลกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัส และปกป้องผู้สูงอายุ เด็นเล็กที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ให้ป่วยหนักจนเป็นภาระกับโรงพยาบาล รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามข้อแนะนำของทางการ” นายอนุทิน กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า แม้ในโหมดของการรักษาทางกระทรวงสาธารณสุขจะค่อนข้างเตรียมความพร้อมได้ดีแล้วแต่หากมีการระบาดหนักก็ยังเป็นการยากที่จะรองรับไหว ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมาตรการ Social Distancing จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำอย่างไรให้เรื่องนี้อยู่ในความตระหนักของประชาชนทั้งสังคมอย่างแท้จริง เรื่องนี้มีงานศึกษาจากประเทศออสเตรเลียรองรับแล้วว่า ต้องทำมาตรการนี้ให้ได้ถึงร้อยละ 80 จึงจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ทำได้เพียงร้อยละ 70 ตัวเลขเหมือนจะดูห่างกันไม่มากแค่ร้อยละ 10แต่ผลลัพธ์การแพร่กระจายกลับสูงแตกต่างกันอย่างมาก ผลการศึกษายังชี้อีกว่า หากทำมาตรการนี้ได้ถึงร้อยละ90ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะหยุดการแพร่กระจายได้ในเวลาไม่นาน การสร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนร่วมมือให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการสนับสนุนให้ทุกตำบลจัดกระบวนการประชาคมของสภาองค์กรชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19ทุกตำบล ทุกชุมชนหมู่บ้าน ให้เต็มพื้นที่ภายในเดือนเมษายน นี้

“ขณะนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้ในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบลสร้างนกทาว่าด้วยปฏิบัติการต้านโควิด19  ธรรมนูญตำบลหนองหลวงว่าด้วยมาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจเกี่ยวกับโควิด19  ธรรมนูญตำบลนาโพธิ์กลางว่าด้วยมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นต้น สำหรับในกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการนำล่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่เป็นตัวอย่างในบางชุมชนพื้นที่หรือบางเขต”

“ถ้าประชาชนในพื้นที่จับมือกันและหนุนช่วยมาตรการต่างๆ ของรัฐ เราจะชนะโรคโควิด19 และประเทศไทยจะพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างแน่นอน”เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

'กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า' ส่งธารน้ำใจแด่นักสู้เสื้อกาวน์ รพ.บันนังสตา

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รายงานว่า วันนี้ เวลา 11.30 น. ที่โรงพยาบาลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พ.อ.นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายเเดนใต้ เป็นประธานมอบสิ่งของอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ในกิจกรรม “ธารน้ำใจแด่นักสู้เสื้อกาวน์” โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ตามโครงการประชารัฐร่วมใจต้านภัยโควิด – 19 ภายหลังบุคลากรททางการแพทย์ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 ทำให้ปิดบริการบางส่วน และกักตัวเจ้าหน้าที่ โดยมี นายวิกฤตนรากรณ์ คงแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบันนังสตา, รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา, ผู้แทนหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 , แพทย์, พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบันนังสตาเข้าร่วม

พ.อ.นพ.โชคชัย กล่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ฝากความปรารถนาดี ความห่วงใย มายังบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบันนังสตา ทุกคนถือเป็นบุคคลผู้เสียสละเพราะเป็นด่านแรกที่สัมผัสเชื้อโรค แต่ด้วยหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาประชาชน ซึ่งไม่สามารถเลี่ยงได้ ขอเป็นกำลังใจแก่ แพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนให้มีกำลังใจ ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เน้นย้ำหน่วยในพื้นที่ร่วมกับ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตราการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ ไม่ให้ขยายวงลุกลามมากขึ้น

ก️อ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รายงานด้วยว่า กิจกรรม “ธารน้ำใจแด่นักสู้เสื้อกาวน์” โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในกิจกรรมตามโครงการประชารัฐร่วมใจต้านภัยโควิด – 19 ซี่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน 4 ส่วนหน้า จัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ โควิด – 19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยขณะนี้โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้ปิดทำการชั่วคราว รับเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินเท่านั้น คนไข้ทั่วไปสามารถขอเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท