Skip to main content
sharethis

เมื่อหลายคนที่ลงทะเบียนเว็บ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ยังไม่ได้รับสิทธิ อาจารย์วิศวะคอมฯ ระบุความล่าช้าในระบบคัดกรองคือค่าใช้จ่ายและภาระที่เพิ่มขึ้น AI อาจเป็นแค่คำโฆษณาของรัฐมากกว่าใช้ได้จริงเมื่อข้อมูลไม่แม่นยำ ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ระบบต้องเน้นครอบคลุมคนให้มากที่สุด กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ มธ. เสนอแจกหมดไม่ต้องคัดกรอง ให้เลือกสละสิทธิได้

ผ่านมาเกือบเดือนหลังจากที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เปิดตัวในวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดเข้าไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจำนวน 3 เดือน บางคนได้รับสิทธิเรียบร้อย แต่อีกหลายเสียงบ่นคล้ายกันว่ามีปัญหา ไม่ได้รับสิทธิ ถูกระบุว่าเป็นเกษตรกรทั้งที่ไม่ได้เป็นบ้าง หรือเว็บแจ้งว่าให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติมบ้าง บ้างก็เห็นว่าคนที่ควรได้กลับไม่ได้ แต่คนไม่ควรได้กลับได้

หยก อายุ 25 ปี อาชีพผลิตสื่ออิสระ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกระบุว่าเป็นเกษตรกรและไม่ได้รับสิทธิ 

หยกเล่าว่าตนไม่มีประกันสังคม จึงได้ลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยานี้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับสิทธิเนื่องจากเป็นเกษตรกร เมื่อย้อนไปตรวจสอบพบว่าครอบครัวของเธอมีอาชีพเกษตรกร และเคยไปลงทะเบียนเกษตรกรไว้ 

ซึ่งประเด็นนี้เฟสบุ๊ค สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station ได้โพสต์ตอบคำถามไว้เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ว่า

"เพราะมีชื่อขึ้นทะเบียนประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือหัวหน้าครอบครัวระบุว่า ช่วยทำเกษตรกรรม" โดยเกษตรกรมีการขึ้นทะเบียนทุกปี เป็นราย "ครอบครัว" โดยหัวหน้าครอบครัวมาขึ้นทะเบียนและระบุรายละเอียดสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรม คนกลุ่มนี้จึงจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะออกมา

และต่อมาทางเพจได้โพสต์เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่า สำหรับผู้ไม่ผ่านการคัดกรอง มาตรการเยียวยา 5,000 บาทสามารถทำการทบทวนสิทธิ์อีกครั้ง โดยระบบจะเปิดให้ท่านยื่นขอรับการทบทวนสิทธิ์ ในวันที่ 20 เมษายน 2563 ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน

เมื่อถามว่าหากไม่ได้รับเงินเยียวยาจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง หยกกล่าวว่า หากในช่วงสถานการณ์ปกติอาจจะสามารถออกไปถ่ายงานได้สะดวกกว่านี้  แต่เมื่อออกไปถ่ายงานไม่ได้ทำให้รายได้ลดลง เงินจำนวน 5,000 บาท จึงมีความจำเป็นในการใช้จ่ายภายในครัวเรือน  และตนมีค่างวดรถที่ยังต้องจ่าย ในเดือนนี้อาจยังพอใช้เงินเก็บได้ แต่หลังจากเดือนนี้เป็นต้นไปจะไม่มีเงินใช้จ่ายสำหรับส่วนของอาหารการกิน และของใช้ในชีวิตประจำวัน

หยกเห็นว่า ปัญหาหลักๆ คือ ระบบคัดกรองที่สุ่ม และไม่ได้คัดกรองข้อมูลอาชีพและความเดือดร้อนที่แท้จริงเพื่อชดเชย เยียวยา คนจนที่แท้จริงเข้าไม่ถึงระบบการคัดกรอง บางคนไม่สามารถลงทะเบียนเองได้  ทั้งที่คนที่ได้รับผลกระทบทุกคนควรได้รับสิทธิในการเยียวยา 

“อยากมีคำถามกลับไปว่า สุดท้ายแล้ว หัวใจของการแก้ไขปัญหาคืออะไรกันแน่  ถ้ารัฐบาลอยากช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริงจะไม่มีเกิดระบบแบบนี้  และเราอาจจะไม่ต้องไปโทษระบบการคัดกรองก็ได้” หยกกล่าว

จามร ศรเพชรนรินทร์ อายุ 37 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่มีประกันสังคม และยังไม่ได้รับเงินเยียวยา โดยเว็บระบุว่าขอให้เขากรอกข้อมูลเพิ่มเติม (ดังรูป) 

จามรเล่าว่าเขาลงทะเบียนตั้งแต่คืนแรกที่เว็บไซต์เปิดให้ลงทะเบียน หลังจากนั้นก็เป็นสถานะรอการยืนยันมาตลอด จนหลายคนทยอยได้รับสิทธิแล้ว ซึ่งจามรเห็นว่าการคัดกรองมีความหละหลวม และเมื่อต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมก็ต้องกรอกรายละเอียดยิบย่อย และเป็นการให้ตอบโดยมีตัวเลือกมาให้ ซึ่งตัวเลือกเหล่านั้นบางทีก็ไม่ตรงกับคำตอบของตน และหากเลือกไปก็จะไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ก่อนมีคำสั่งปิดสถานที่คุณเริ่มและเลิกงานกี่โมง แต่ตนทำงานอิสระ จึงไม่มีเวลางานที่ชัดเจน 

จามรกล่าวว่า หากไม่ได้เงิน 5,000 บาทนี้ ก็ต้องหาทางไปทำงานอย่างอื่นที่ทำได้ก่อน โดยเขาเพิ่งเริ่มทำงานขับรถส่งอาหารกับบริษัทบริการส่งอาหารบริษัทหนึ่ง 

 

ความล่าช้าในระบบคัดกรองคือค่าใช้จ่ายและภาระที่เพิ่มขึ้น

จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่าต่อประสิทธิภาพของการมีระบบคัดกรองนี้ว่า ระบบคัดกรองแบบนี้ต้องนับเป็นค่าใช้จ่ายของทั้งรัฐและผู้รับ และการจ่ายช้าก็เป็นค่าใช้จ่ายหรือภาระ สำหรับคนที่รับการสนับสนุน ดังนั้นเวลาดูประสิทธิภาพ ต้องดูหลายประเด็น เช่น หนึ่ง บางทีเราพยายามคัดกรองมากไป ก็อาจทำให้มีคนตกหล่นระหว่างทาง อีกทั้งความแม่นยำของระบบการคัดกรองอาจไม่เพียงพอ

สอง ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ ที่ต้องคำนึงถึงคนที่จะมารับสิทธิ์ว่าเสียเวลาเสียสุขภาพจิตในการเข้าระบบ กรอกข้อมูลมากน้อยแค่ไหน สาม ความล่าช้าในการช่วยเหลือ เราอยากให้เงินไปถึงเป้าหมายซึ่งบางทีเป้าหมายคือใครก็ยังไม่ชัดเจน  ก็เอาเงื่อนไขที่มีมาคัดกรองก่อน สุดท้ายก็อาจจะได้บางกลุ่ม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า ดังนั้น หลายๆ ที่จะพบว่าเป็นการให้การสนับสนุนทำแบบถ้วนหน้า (universal) เพราะตัดภาระการคัดกรองและต้นทุนในการขอรับการเยียวยา  ลดภาระของคนที่มีภาระเพิ่มเติมอยู่แล้ว   

อย่างไรก็ตามจิตรทัศน์เห็นว่า ถ้าในอนาคตอยากมีการคัดกรองจริง ๆ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องควรมีความแม่นยำ และเกณฑ์การสนับสนุนควรชัดเจนตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการ  คนที่ไม่ได้ก็จะได้มีความเข้าใจสาเหตุ ไม่ใช่คิดว่าตนเองโชคร้ายหรืออย่างไร และเปิดช่องให้มีแนวทางอื่นเยียวยาคนที่ไม่ได้รับโอกาสด้วย

อีกประการหนึ่งคือ เมื่อมีแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูลยาวเหยียดเช่นที่จามรเจอ จิตรทัศน์เห็นว่า จะกลับไปปัญหาเดิมคือข้อมูลที่กรอกเองไม่แม่นยำ ถ้าต้องตรวจสอบและตรวจกับฐานข้อมูลได้ จริง ๆ ก็แปลว่าไม่ควรต้องกรอก หรือถ้าต้องไปตรวจสอบกับคนจริงๆ อันนี้จะมีค่าใช้จ่ายมาก และค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจจะเอาไปทำอย่างอื่นได้คุ้มค่ากว่า

“ในกรณีนี้ จากที่ติดตามข่าวมา ข้อมูลในฐานข้อมูลก็ไม่ค่อยแม่นยำด้วย เลยน่าจะยิ่งมีปัญหาและความเสี่ยงมากขึ้นด้วย ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้ ผมสนับสนุนแนวทางแจกหมดโดยไม่คัดกรอง ถ้าต้องการให้เงินถูกนำไปใช้แบบมีประสิทธิภาพขึ้น อาจจะพิจารณาให้คนที่ไม่คิดจะรับเงินสนับสนุน เลือกไม่รับเงินได้ ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีภาระน้อยกว่า อาจจะทำให้ใช้ระบบได้สะดวกกว่าด้วย หรือถ้าไม่มาเลือกก็ไม่มีผลเสียอะไรกับคนนั้น” จิตรทัศน์กล่าว

 

AI อาจเป็นแค่คำโฆษณาของรัฐมากกว่าใช้ได้จริงเมื่อข้อมูลไม่แม่นยำ

ส่วนในเรื่องที่รัฐบาลกล่าวว่าการเยียวยาครั้งนี้เป็นการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการคัดกรอง จิตรทัศน์ตั้งข้อสังเกตโดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ

ประเด็นแรก การใช้คำว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จิตรทัศน์มองว่า สำหรับระบบนี้ การระบุว่ามีการใช้ AI อาจจะเป็นคำโฆษณาเชิงการตลาดมากกว่าที่จะมีการใช้จริง เนื่องจากการคัดกรองจริงอาจจะใช้เงื่อนไขจากข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามา รวมกับการตรวจสอบกับฐานข้อมูลภาครัฐอื่นๆ  แต่ระบบลักษณะดังกล่าวจะสามารถจัดว่าเป็น AI ได้หรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ถ้านิยามของปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบดั่งเดิม ระบบอะไรที่แสดงพฤติกรรมของสติปัญญา เช่น จำแนกคนเป็นกลุ่ม ๆ ก็อาจจะจัดว่าเป็นระบบ AI ได้ อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจแบบร่วมสมัย ถ้าการระบุเงื่อนไขนั้นทำโดยมนุษย์ล้วนๆ ไม่ได้ใช้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ระบบลักษณะนี้ก็ไม่ต่างจากการพัฒนาโปรแกรมที่มีเงื่อนไขทั่วไป การเรียกว่าเป็นระบบ AI ก็อาจจะเป็นการตีความคำว่า AI กว้างเกินไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าระบบที่พัฒนาขึ้นมีส่วนที่หาเงื่อนไขการคัดกรองด้วยตนเอง ผ่านทางการใช้ข้อมูลตัวอย่าง เช่น มีการใช้ข้อมูลตัวอย่างของคนที่ควรจะเข้าเกณฑ์จำนวนหนึ่ง และข้อมูลของคนที่ไม่เข้าเกณฑ์อีกจำนวนหนึ่ง แล้วให้ระบบหาเงื่อนไขที่ตอบคำถามได้ตรงตามข้อมูลฝึกสอน ระบบลักษณะนี้มักจัดว่าเป็นระบบ AI ที่สร้างขึ้นผ่านทางกระบวนการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)

ประเด็นที่สอง ความเหมาะสมในการใช้ระบบ AI ระบบคัดกรองอัตโนมัติ ไม่ว่าจะทำด้วยเงื่อนไขที่มนุษย์ระบุเอง หรือเป็นเงื่อนไขที่ผ่านจากการเรียนรู้ของเครื่อง เงื่อนไขสำคัญของความถูกต้องคือความพร้อมของข้อมูล  บางครั้งหน่วยงานรัฐมีข้อมูลของประชาชนขนาดใหญ่ แต่อาจจะไม่ทราบคุณภาพและความแม่นยำของข้อมูล  การพยายามใช้การคัดกรองที่ขึ้นกับข้อมูลเหล่านี้ ก็เสี่ยงที่จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ 

 

หน้าที่รัฐคือชดเชยตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ระบบต้องเน้นครอบคลุมคนให้มากที่สุด

ตรงกับที่อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดพลาดของ AI แต่โทษที่รัฐเอา AI มาเป็นแพะ พูดออกมาในลักษณะที่ว่า ตัวเองไม่ได้ตัดสินใจ แต่เครื่องต่างหากที่ตัดสิน จะได้พ้นความรับผิด อีกส่วนหนึ่งต้องโทษคนผลิตระบบจำนวนหนึ่งที่มองว่า "เครื่องมือไม่มีอคติ" ซึ่งนี่คืออคติซ้อนอีกที เพราะคนเป็นคนสร้างเครื่องมืออีกที ดังนั้นต้องมีอคติแฝงอยู่ในเครื่องมืออยู่แล้วไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่

“ระบบอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นระบบราชการหรือระบบทางเทคโนโลยี เมื่อสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตคนได้ ก็ถือว่ามีอำนาจทั้งนั้น และในแง่นี้เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐ เกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิของพลเมือง ก็ถือว่ากำลังใช้อำนาจรัฐอยู่ -- ดังนั้นก็จะต้องมี duty of care รู้ว่าตัวเองกำลังใช้อำนาจ อำนาจของตัวเองทำให้คนเดือดร้อนได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังกับการใช้อำนาจของตัวเองที่สุด ที่สำคัญคือ อย่าเอาแต่โทษคนไม่มีอำนาจ เพราะในกรณีนี้มันคือ การชดใช้เยียวยาจากการที่รัฐใช้อำนาจ คนที่ไม่มีอำนาจเหล่านั้นไม่ได้ทำอะไรผิด ชีวิตเขาจะไม่เดือดร้อน ถ้ารัฐไม่ออกมาตรการทำให้เขาใช้ชีวิตปกติไม่ได้” อาทิตย์ระบุในโพสต์

อาทิตย์ระบุต่อว่า ต้องย้ำว่างานนี้คืองาน "ชดใช้เยียวยา"ดังนั้นนี่ไม่ใช่การ "ช่วยเหลือ" ไม่ได้เป็นการให้ privilege ให้ "อภิสิทธิ์พิเศษ" แต่กำลังทำการชดใช้คืน(บางส่วน)ตาม "สิทธิพื้นฐาน" ที่จะต้องได้ วิธีการคิดก็ต้องเน้นครอบคลุมคนให้มากที่สุด

 

แจกหมดไม่ต้องคัดกรอง ให้เลือกสละสิทธิได้

ก่อนหน้านี้วันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ “หากไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมไม่มีสุขภาพที่ดี” โดยข้อเสนอประการหนึ่งระบุว่า ควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาทนี้ โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่าคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีค่ามากกว่าเส้นความยากจนของสังคมเราในปัจจุบันเล็กน้อย ในเวลา 3 เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33  ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว แม้ว่าจะต้องรีบปรับปรุงต่อไปก็ตาม (โดยผู้ที่คิดว่าตนได้รับผลกระทบน้อย อาจสามารถเลือกสละสิทธิ์ได้) ทั้งหมดนี้เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ ตลอดจนถึงนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net