Skip to main content
sharethis

ก.คลัง เผยมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เริ่มเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เม.ย. 2563 เวลา 6.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน .com เท่านั้น จ่ายเงินให้ผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 3.2 ล้านคน | ยอดลงทะเบียนกู้ ธ.ออมสิน ทะลุ 8 แสนรายแล้ว คิดเป็นวงเงิน 2.13 หมื่นล้านบาท | สำนักงบฯ เตรียมเสนอ ครม.โอนงบปี 2563 นับแสนล้านบาท ระบุยังมีแผน 2 จ่ายเงินเยียวยาช่วงรอ พ.ร.ก.เงินกู้ ต้นเดือน พ.ค.

19 เม.ย. 2563 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาทขอทบทวนสิทธิ์ได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยจะเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งต่อตัวผู้ประสงค์จะขอทบทวนสิทธิ์เองและต่อส่วนรวมของสังคมไทย

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของผู้ประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ ขอให้ท่านรีบกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ไม่จำเป็นต้องมาที่กระทรวงการคลังโดยในระยะแรกนี้จะเปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรองก่อนและในระยะต่อไปจะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้กดยกเลิกการลงทะเบียนโดยความเข้าใจผิดด้วยกลไกการทบทวนสิทธิ์จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะยังได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือนเนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์ในกรณีที่ทราบผลการพิจารณาในเดือน พ.ค. ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะได้รับเงินเยียวยาครั้งแรกจำนวน 10,000 บาท เพราะได้รวมเงินเยียวยา 5,000 บาท ของเดือน เม.ย. ด้วย

โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2563 เป็นต้นมาได้มีการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่องทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดราชการ) โดยณ วันที่ 17 เม.ย. 2563 ได้จ่ายเงินให้ผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 3.2 ล้านคน และมีกำหนดจะจ่ายเงินในวันจันทร์และอังคารสัปดาห์หน้าอีก 900,000 คน รวมเป็น 4.1 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

ยอดลงทะเบียนกู้ ธ.ออมสิน ทะลุ 8 แสนรายแล้ว คิดเป็นวงเงิน 2.13 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ณ เวลา 7.00 น. มีผู้ลงทะเบียนยื่นสินเชื่อฉุกเฉิน ทั้งสิ้น 853,169 ราย หรือคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2.13 หมื่นล้านบาท แยกเป็นวงเงินกู้อาชีพอิสระจำนวน 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.10% จำนวน 532,746 ราย คิดเป็นวงเงิน 5.32 พันล้านบาท และเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้ประจำ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% จำนวน 320,423 ราย คิดเป็นวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

หลังจากประชาชนลงทะเบียนกู้เงินฉุกเฉินไปแล้ว ธนาคารออมสิน จะนัดประชาชนเข้ามาทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป โดยจะให้ประชาชนเข้ามาที่สาขาละไม่เกิน 50 คนต่อวัน ซึ่งสาขาของออมสินมีประมาณกว่า 1,000 แห่ง จะทำสัญญาได้วันละ 50,000 คน และคาดว่าหากอนุมัติแล้วเสร็จ จะเริ่มโอนเงินกู้ล็อตแรกให้ประชาชน ในวันที่ 8 พ.ค. 2563

นายชาติชาย กล่าวว่าในส่วนของการนัดทำสัญญาทั้งหมดจะพยายามให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน การปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินให้กลุ่มอาชีพอีกสระ และผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะมีมากถึง 2.4 ล้านราย ขณะที่ปัจจุบันธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพียงปีละ 1 ล้านรายเท่านั้น

ทั้งนี้ ประชาชนที่ยื่นกู้เงินฉุกเฉิน หากผ่านการพิจารณาแล้ว หากไม่มีบัญชีของธนาคารออมสิน จะต้องเปิดบัญชีใหม่ เนื่องจากจะโอนเงินเข้าบัญชีของธนาคารออมสินเท่านั้น เพื่อในอนาคตลูกค้าจะได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อผ่อนชำระได้ทันที ส่วนของประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วระบบแจ้งว่าไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ รวมถึงกลุ่มที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ที่มีดอกเบี้ยคงค้าง ไม่สามารถขอกู้เงินฉุกเฉินดังกล่าวได้

สำนักงบฯ เตรียมเสนอ ครม.โอนงบปี 2563 นับแสนล้านบาท ระบุยังมีแผน 2 จ่ายเงินเยียวยา ช่วงรอ พ.ร.ก.เงินกู้ ต้นเดือน พ.ค.

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 21 เม.ย. นี้ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หลังทำหนังสือให้ส่วนราชการปรับโอนงบประมาณที่ยังไม่ทำสัญญาผูกพัน เพื่อนำมาใช้ป้องกัน COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นงบด้านอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรม การเดินทางไปประชุม ดูงานต่างประเทศ ส่วนงบลงทุนเป็นโครงการที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน และยังไม่ได้ลงนามสัญญา เช่น กองทัพเรือชะลอแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในงบปี 2563 ออกไปก่อน ทำให้มียอดงบประมาณจากทุกหน่วยงานรวม 80,000-100,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนพิธีการงบประมาณคาดการณ์ว่าใช้เงินได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 

สำหรับเงินรองรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com 5,000 บาทต่อเดือนนั้น รัฐบาลมีเงินจ่ายช่วงเดือน พ.ค. อย่างแน่นอน เพราะแม้ขั้นตอนกู้เงินอาจล่าช้า แต่ยังมีช่องทางบริหารจัดการงบประมาณในมาตรา 45 ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้เตรียมเงิน 50,000 ล้านบาทจากแนวทางดังกล่าวนำออกมารองรับการเยียวยาได้ ช่องทางดังกล่าวเคยใช้วิธีนี้มาแล้วในช่วงปี 2529 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

ส่วนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินสมทบจากทั้งลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาลนั้น สำหรับเงินสมทบของรัฐบาลได้ส่งสมทบทั้งหมดแล้ว และเงินกองทุนประกันว่างงาน 164,000 ล้านบาท สามารถดูแลผู้ประกันตนว่างงานตามมาตรา 33 ได้นับ 1 ล้านคน จึงไม่ต้องการให้แรงงานกังวลไม่มีเงินจ่าย 

ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่าถือว่าโชคดีของไทย ซึ่งได้จัดทำงบกลางรองรับภัยฉุกเฉิน เหตุภัยธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2502 สมัย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีการกันงบกลางสำรองฉุกเฉิน ทำให้ไทยช่วยแก้ปัญหาฉุกเฉินได้คล่องตัว และในงบกลางปี 2564 รัฐบาลกันไว้ 99,000 ล้านบาท เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมวันที่ 22 พ.ค. นี้ จะเริ่มขั้นตอนการรับทราบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จากนั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณปี 2563 และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในช่วงต่อไป เพื่อเตรียมเริ่มใช้เงินให้ทันเดือนตุลาคม 2563

ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล | ประชาชาติธุรกิจ | สำนักข่าวไทย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net