Skip to main content
sharethis

บทเรียนสำคัญทั่วโลกเพื่อแก้ไขสถานการณ์รับมือการระบาดของไวรัส Covid-19 (6) ฉุกเฉินล่วงหน้า ดีกว่าบานปลาย ศึกษาบทเรียนไต้หวันรู้เร็วและป้องกันก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาดมาจากจีน (7) แต่ถ้าแก้ไขช้า ตรวจโรคเชิงรุกยังพอช่วยได้ เทียบอิตาลีกับจีน (8) การปกปิดข้อมูล การแข่งขันทางการเมือง จะบั่นทอนสถานการณ์ กรณีจีน อิหร่าน อียิปต์ และ (9) ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะพาคนเสี่ยงภัยอย่างที่เกิดในสหรัฐอเมริกา อิตาลี และอินเดีย

คอลัมน์​ The Interpreter ของ the New York Times โดย Max Fisher และ Amanda Taub เผยแพร่เมื่อ 22 มีน​าคม ที่ผ่านมา ถอด​ 9​ บทเรียนสำคัญในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เผยแนวทางมาตรการที่ทำให้บางประเทศช่วยชีวิตประชาชนได้มากกว่าหรือกอบกู้สถานการณ์ได้เร็วกว่าประเทศอื่น​ๆ

บทเรียนสู้โควิด-19 ทั่วโลก (ตอนที่ 1) ตรวจโรคแต่เนิ่นๆ ตรวจเชิงรุก หัวใจคือสวัสดิการสุขภาพ, 7 เม.ย. 2563

ซึ่งจำเป็นต้อง (1) ตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เปรียบเทียบกรณีเกาหลีใต้กับจีน (2) ติดตามค้นหาบุคคลแวดล้อมผู้ติดเชื้อแบบสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง (3) ศึกษาจากจีนเมื่อการปิดชุมชนช่วยได้ไม่มาก เพราะการระบาดเกิดขึ้นในครอบครัวใกล้ชิด จึงต้องแยกกักผู้ป่วย (4) สวัสดิการสุขภาพจะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ แต่สหรัฐอเมริกาเมื่อสวัสดิการไม่ดี จึงเกิดการระบาดจนควบคุมได้ยาก และ (5) กรณีจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ระดมสรรพกำลังเหมือนอยู่ในสงคราม เพื่อช่วยให้ระบบสาธารณสุขทำงานต่อไปได้ และนี่คืออีก 4 บทเรียนสุดท้ายที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

เจ้าหน้าที่ประจำด่านกักโรค สนามบินนานาชาติเถาหยวน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2020 (ที่มา: Wang Yu Ching /Flickr/Office of the President, Republic of China, Taiwan

บทเรียนที่ 6 - ออกมาตรการฉุกเฉินล่วงหน้า ดีกว่าปล่อยให้บานปลาย (จีน ไต้หวัน อิตาลี) 

ในกรณีของจีน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง จำลองสถานการณ์โดยใช้คอมพิวเตอร์ พบว่าถ้ารัฐบาลจีนออกมาตรการเดียวกันเร็วกว่านี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถึง 66 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้มาตรการเดียวกันเร็วกว่านี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่เกิดการแพร่ระบาด การที่รัฐบาลจีนตั้งตัวไม่ทันจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ รัฐบาลควรถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น และออกมาตรการฉุกเฉินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า

ไต้หวันเป็นตัวอย่างของการออกมาตรการฉุกเฉินแต่เนิ่น ๆ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำมาก เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไต้หวันระบุว่าความสำเร็จมาจากการปิดเมืองราวกับเกิดโรคระบาดขึ้นแล้ว ทั้งที่ความจริงโรคระบาดยังมาไม่ถึง ที่จริงแล้ว ไต้หวันเริ่มออกมาตรการก่อนที่หลายประเทศจะเริ่มคาดการณ์ว่าไวรัสอาจแพร่ระบาดไปนอกจีนด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะเหตุนี้ไต้หวันจึงแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ทั้งที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้จีนและมีคนเดินทางสัญจรมาจากประเทศจีนจำนวนมาก 

ตัวอย่างของประเทศที่ก่อนรอก่อนจนเกิดปัญหาบานปลายคือกรณีของอิตาลี แม้ว่าจะออกมาตรการแบบเดียวกับไต้หวัน แต่ข้อแตกต่างคืออิตาลีรอก่อนจนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นวิกฤติการณ์ไปแล้วจึงค่อยออกมาตรการ ถึงตอนนั้นนับว่าสายเกินไป เพราะไวรัสแพร่ระบาดจนคุมไม่อยู่แล้ว ส่งผลให้บุคลากรการแพทย์อ่อนล้ามากทั้งในทางกายภาพและจิตใจ หลายครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้กลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง ยังไม่รวมว่าในหลาย ๆ โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจปล่อยให้คนชราป่วยตายเพื่อนำทรัพยากรไปรักษาคนที่มีโอกาสหายมากกว่า 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรนาใช้เวลาฟักตัวประมาณ 5 วัน ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งจึงยังไม่ปรากฏอาการจนสังเกตเห็นได้ในช่วงแรก ข้อเท็จจริงที่ว่านี้ส่งผลให้มาตรการที่ประกาศออกมายังไม่เห็นผลในช่วงแรก และอาจดูไม่จำเป็นในสายตาคนทั่วไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปมาตรการเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างชัดเจนมาก 

ตัวอย่างเช่น เจนนิเฟอร์ บีม ดาวด์ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ทำงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างเมืองโลดีและเบอร์กาโมของประเทศอิตาลี พบว่าทั้งสองเมืองพบการติดเชื้อเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงปลายกุมภาพันธ์ แต่เมืองโลดีบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทันทีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ขณะที่เบอร์กาโมรอไปก่อนจนไปประกาศใช้ในวันที่ 8 มีนาคม ผลคือในวันที่ 7 มีนาคม ทั้งสองเมืองมีจำนวนผู้ป่วยเท่ากันอยู่ที่ประมาณ 750 ราย แต่ในวันที่ 13 มีนาคม เมืองโลดีมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,133 ราย และมีอัตราการติดเชื้อช้าลงเรื่อย ๆ แต่เมืองเบอร์กาโมผู้มีติดเชื้อกว่า 2,368 ราย นับว่าสูงกว่าเมืองโลดีถึงสองเท่า แถมยังมีอัตราการติดเชื้อเร็วขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

[สาระ+ภาพ] 5 ข้อเสนอแนะต่อ รบ. แก้ปัญหาคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19, 15 เม.ย. 2563

คุยกับคนหายป่วย เล่าช่วงติดเชื้อโควิด-19 และการโดนแอนตี้จากสังคม, 15 เม.ย. 2563

เมื่อ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ แต่หลายคนถูกทิ้ง ผิดที่ AI หรือรัฐแก้ไม่ถูกจุด, 16 เม.ย. 2563

 

เจ้าหน้าที่สนามบินมิลาน ประเทศอิตาลี ตรวจคัดกรองผู้โดยสาร ภาพถ่ายเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 (ที่มา: Flickr/Dipartimento Protezione Civile)

บทเรียนที่ 7 - ถ้าออกมาตรการช้าเกินไป การตรวจโรคเชิงรุกยังช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้ (อิตาลี จีน)

ในกรณีที่เราพลาดโอกาสในการออกมาตรการตั้งแต่เนิ่น ๆ จนเชื้อโรคแพร่กระจายไปไกลแล้ว ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่ควรสิ้นหวัง เพราะยังมีสิ่งที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้อยู่

ในประเทศอิตาลี ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการทดลองในเมืองโวซึ่งตั้งอยู่ใกล้เวนิส ในการทดลอง ทีมผู้เชี่ยวชาญใช้วิธีเดินทางเข้าไปตรวจโรคให้กับผู้อาศัยในเมืองจำนวน 3,300 คน โดยบางคนได้รับการตรวจมากกว่า 1 ครั้ง จากการทดลองพบว่าวิธีดังกล่าวช่วยให้เจ้าหน้าที่พบผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้นกว่าการรอให้ประชาชนเข้ามารายงานความเจ็บป่วยด้วยตัวเอง และช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อของผู้ติดเชื้อได้

นอกจากนี้ การตรวจโรคเชิงรุกยังทำให้พบด้วยว่าผู้ติดเชื้อบางคนเป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย คนกลุ่มนี้นับเป็นหายนะของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเลยทีเดียว เพราะเป็นกลุ่มที่แพร่กระจายเชื้อไปได้ไกลมากโดยไม่รู้ตัวหรือคิดว่าต้องไปหาหมอเพื่อตรวจโรคแม้แต่น้อย จากการทดลองพบว่าประชากร 1.5 เปอร์เซ็นต์ของเมืองโว หรือนับเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งนึงของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการแต่อย่างใด 

แม้ว่าจำนวนกลุ่มตัวอย่างจะยังเพียงพอในการนำไปสู่ข้อสรุป แต่การทดลองนี้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ว่าพาหะนำโรคไวรัสโคโรนาที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วยอาจมีสัดส่วนจำนวนมากกว่าที่เข้าใจกัน และยังช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นด้วยว่าเพราะเหตุใดเชื้อโรคจึงได้แพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว 

เจ้าหน้าที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเตหะราน อิหร่าน เมื่อ 15 มีนาคม 2020 (ที่มา: Wikipedia/Mohammad Mohsenifar)

บทเรียนที่ 8 - การปกปิดข้อมูล การปั่นข่าว และการแข่งขันทางการเมืองเป็นปัจจัยบั่นทอนสถานการณ์อย่างมาก (จีน อิหร่าน อียิปต์ )

สาเหตุที่ทำให้จีนไม่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในช่วงแรก ส่วนหนึ่งมาจากระบอบการเมืองแบบเผด็จการของจีน เนื่องจากความมั่นคงทางการงานที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในปักกิ่ง เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยจึงมีแนวโน้มที่จะเมินเฉยต่อปัญหา และไม่แจ้งเรื่องให้ผู้มีอำนาจในปักกิ่งทราบ แนวโน้มเช่นนี้ส่งผลให้รัฐบาลจีนออกมาตรการรับมือช้ากว่าที่ควรจะเป็นในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์

แน่นอนว่าประเทศจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ระบบการเมืองมีปัญหา ในสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีทรัมป์ก็ถูกวิจารณ์ว่าดูเบาความน่ากลัวของโรคระบาดเช่นกัน คาดกันว่าการตอบสนองต่อปัญหาล่าช้าส่งผลไวรัสแพร่ระบาดในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาด้วย    

ในกรณีของอิหร่าน เราไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดและความล้มเหลวทางการเมืองที่อาจส่งผลให้ไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าสถานการณ์น่าจะเลวร้ายลงทั้งสองด้าน เพราะการแก่งแย่งทางการเมืองและการใช้อำนาจทับซ้อนกันของกลุ่มต่าง ๆ ส่งผลให้รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหาได้ช้าลง นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันด้วยว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา ที่บางส่วนพุ่งเป้าโจมตีภาคสาธารณสุขของอิหร่าน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในอิหร่านเลวร้ายลงทุกที

หลังจากนี้ คงมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความล้มเหลวทางการเมืองในประเทศเผด็จการเข้ามาอีก และประเทศเหล่านี้คงรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับต่ำจนน่าฉงนด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของอียิปต์ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าตัวเลขผู้ป่วยน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากระบบสาธารณสุขของอียิปต์ยังขาดคุณภาพ และพบด้วยว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางออกจากอียิปต์เป็นผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง

บริการจุดตรวจโควิด-19 เคลื่อนที่ ที่เมือง Telluride รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มีเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์ชาติ ประจำรัฐโคโลราโด ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมประจำมลรัฐ ภาพถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2020 (ที่มา: Wikipedia/Colorado National Guard)

บทเรียนที่ 9 - ความยากจนและความเหลื่อมล้ำส่งผลให้ทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น (สหรัฐอเมริกา อิตาลี อินเดีย)

งานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดโรคระบาดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ทุกคนจะมีความเสี่ยงสูงติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นตามไปด้วย

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและระบบสาธารณสุขได้น้อยลง แม้แต่ในประเทศต่าง ๆ ของยุโรปที่ระบบสาธารณสุขเป็นของรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ยังส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงสาธารณสุขได้น้อยลง ดังนั้น ความเหลื่อมทางเศรษฐกิจจึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพด้วย

มีการค้นพบด้วยว่ายิ่งความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเท่าไหร่ ชนชั้นล่างยิ่งมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสูงขึ้น เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการมีโรคประจำตัวเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังส่งผลให้คนจนมีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นด้วย โดยคนกลุ่มนี้มักหยุดงานไปหาหมอไม่ได้ และมักมีเงินไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาล

เมื่อคนจนตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนกลุ่มอื่นก็ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย เพราะโรคระบาดแพร่กระจายไปทุกที่โดยไม่คำนึงถึงชนชั้นทางสังคม งานวิจัยที่เก็บข้อมูลการแพร่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในเมืองฮาเวน รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าในพื้นที่ซึ่งประชากรจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจน 

ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขจึงกำลังจับตาประเทศอินเดียด้วยความกังวลอย่างมาก เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก และถึงแม้ว่าอินเดียจะมีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนยากจนอยู่จำนวนมาก งานวิจัยที่เก็บข้อมูลในกรุงเดลี หนึ่งในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก พบว่าสลัมของเมืองเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดเร็วขึ้นไปทั้งเมือง นอกจากนี้ พื้นที่ในสลัมยังมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และมีความเร็วของการแพร่ระบาดสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แปลและเรียบเรียงจาก

Max Fisher and Amanda Taub, “The Interpreter: 9 Essential Lessons on Fighting Coronavirus From Around the World”, the New York Times, 19 March 2020.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net