Skip to main content
sharethis

ถึงแม้จะอยู่ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของ COVID-19 แต่ความขัดแย้งพื้นที่ทะเลจีนใต้ก็ยังคุกรุ่นในหมู่ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน โดยที่ฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าทีเป็นแนวร่วมกับเวียดนามในข้อพิพาทครั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลจีนจับเรือหาปลาของเวียดนาม ทำให้นักวิจัยด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียวิเคราะห์ท่าทีของฟิลิปปินส์ที่ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนเกี่ยวกับการต้านโรคระบาด

ลูซิโอ บลังโก พิตโล ที่ 3 นักวิจัยด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียผู้ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียแปซิฟิกพาร์ธเวย์ทูโปรเกรส วิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ข้อพิพาทพื้นที่ทะเลจีนใต้ระหว่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กับจีน โดยระบุว่า ในขณะที่สถานการณ์โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 จะทำให้เวียดนามพลาดท่าในการแสดงออกว่าคนเป็นเจ้าของเหนือทะเลจีนใต้ได้ในฐานะประธานประชาคมอาเซียนปีนี้ แต่ทว่าการที่ฟิลิปปินส์แสดงท่าทีเป็นพวกเดียวกับประชาคมอาเซียนและเปิดทางให้เวียดนามก็ดูมีนัยสำคัญ

ถึงแม้ว่าจะมีกรณี COVID-19 แต่กองทัพคุ้มกันชายฝั่งของจีนก็ก่อเหตุให้เกิดข้อพิพาทกรณีทะเลจีนใต้ปะทุอีกครั้งด้วยการจมเรือหาปลาของเวียดนามเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้หลังจากนั้นทางฟิลิปปินส์ก็ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเวียดนามในฐานะเพื่อนบ้านเอเชียอาคเนย์ รวมถึงระบุว่าทางการฟิลิปปินส์จะใช้ความระมัดระวังในสถานการณ์เกี่ยวกับเรือประมงต่างชาติ แสดงออกว่าพวกเขาต้องการลดความสำคัญเรื่องการควบคุมพื้นที่น่านน้ำจากเรือหาปลาน้อยลง

เวียดนามในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการที่เดิมทีแล้วพวกเขามีแผนการจะอาศัยความเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 เพื่อผลักดันวาระความเป็นเจ้าของพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ และใช้อิทธิพลคัดง้างกับจีนซึ่งมักจะแทรกแซงการประมงและกิจการด้านพลังงานในพื้นที่พิพาทแห่งนี้ แต่การระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้แผนการจัดงานต่างๆ ต้องถูกเลื่อนออกไป แต่ทว่าสถานการณ์การประมงน่านน้ำและการโต้ตอบจากจีนที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าความคุกรุ่นของความขัดแย้งทะเลจีนใต้นี้ยังคงอยู่แม้ในช่วงโรคระบาด

ทั้งนี้ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็มีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับทะเลจีนตะวันออกมานานแล้ว เช่น ในกรณีปีที่ผ่านมาก็มีการจัดประชุมที่กรุงมะนิลา ที่ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ต่างก็เน้นย้ำความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ, เสถียรภาพ, ความปลอดภัย และความมั่นคงในการเดินทางทางเรือ รวมถึงเน้นย้ำเรื่องการแก้ไขข้อพิพาทจะต้องเป็นไปอย่างสันติโดยอาศัยกระบวนการทางการทูตและทางกฎหมาย ตามหลักการของกฎหมายนานาชาติต่างๆ โดยในการประชุมครั้งนั้นมีผู้นำระดับสูงหลายคนจากทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามเข้าร่วม

ฟิลิปปินส์ยังส่งสัญญาณเป็นมิตรกับเวียดนามในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งจากการที่ส่งตัวแทนกระทรวงกลาโหมของตัวเองไปพบปะหารือกับฝ่ายกลาโหมของเวียดนามเพื่อหารือเรื่องเรือหาปลาจากเวียดนาม โดยบอกว่าพวกเขาจะไม่เผชิญหน้ากับเรือหาปลาของเวียดนามอีกต่อไปแต่จะแนะนำให้เคลื่อนออกไปจากน่านน้ำของฟิลิปปินส์แทน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการท่าเรือของทั้งสองฝ่ายก็ทำการพบปะหารือกันหลายครั้งในช่วงปี 2562 และจะมีการพบปะกันอีกเป็นครั้งที่ 7 ภายในปีนี้

ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะเผชิญปัญหาการประมงอย่างผิดกฎหมายฝ่าฝืนอาณาเขตน่านน้ำจำนวนมาก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ทำการลงโทษบางครั้งก็ให้น้ำมันและเสบียงแก่เรือประมงเหล่านั้นให้แล่นกลับบ้าน การทำเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวประมงในพื้นที่ละแวกนั้นได้หายใจบ้างหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทพื้นที่น่านน้ำเพียงเพราะพวกเขาแค่ออกจับปลาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม การปล่อยให้เรือประมงมีอิสระมากขึ้นเช่นนี้อาจจะเสี่ยงทำให้กลุ่มประมงจากต่างพื้นที่กันขัดแย้งกันเอง แต่การแสดงออกในเชิงแสดงไมตรีจิตและมนุษยธรรมก็ส่งผลเชิงบวกต่อเนื่อง ทำให้ชาวประมงเวียดนามเองตอบแทนทางการฟิลิปปินส์ด้วยการไปช่วยกู้่ภัยเรือของฟิลิปปินส์ที่ถูกยิงจากทองทัพจีนในช่วงกลางปี 2562

แถลงการณ์จากฟิลิปปินส์ยังแสดงให้เห็นอีกว่าถึงแม้พวกเขาจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการแพทย์จากกรณีการควบคุมโรค COVID-19 แต่จุดยืนของพวกเขาในการสนับสนุนเวียดนามในข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ฟิลิปปินส์ประกาศว่าการสร้างข้อเท็จจริงใหม่ๆ ใดก็ตามไม่ทำให้สิทธิเหนือน่านน้ำมีมากขึ้น ซึ่งพิตโลมองว่าเป็นการส่งสารเตือนจีนว่าพวกเขาจะยังคงดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณการเจรจาข้อพิพาทต่อไป

ฟิลิปปินส์ยังเตือนจีนอีกว่าในช่วงเวลาวิกฤต COVID-19 นี้ "ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ควรจะกระตุ้นเร้าการเผชิญหน้า" เพราะพวกเขากำลังกังวลว่าจีนอาจจะฉวยโอกาสในช่วงที่โลกกำลังต่อสู้กับ COVID-19 ในการแผ่อำนาจตัวเองเหนือน่านน้ำ ฟิลิปปินส์แถลงอีกว่าวิกฤต COVID-19 นี้ทำให้ต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น จึงไม่ควรให้เรื่องการหาปลาหรือ "การอ้างทางประวัติศาสตร์เรื่องแต่งขึ้น" มาเป็นข้ออ้างจุดชนวนความขัดแย้ง

พิตโลวิเคราะห์ว่าการแสดงท่าทีของฟิลิปปินส์นั้นมีความเสี่ยงที่สร้างความไม่พอใจกับจีนซึ่งพยายามวางตัวเป็นผู้ประสานงานกับอาเซียนในช่วงที่มีการระบาดของโรค ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องช่างน้ำหนักความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ในประเทศตัวเองกับการจัดการความสัมพันธ์ในฐานะเป็นพรรคพวกเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องทะเลจะทำให้ความพยายามรักษาสมดุลนี้โคลงเคลงไปอย่างยากลำบาก


เรียบเรียงจาก
Why Philippine Solidarity With Vietnam in South China Sea Fishing Row Matters, Lucio Blanco Pitlo III, The Diplomat, 16-04-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net