Skip to main content
sharethis

เมื่อมาเลเซียใช้ “การทูตอุรังอุตัง” ส่งลิงอุรังอุตังให้กับประเทศต่างๆ ที่รับซื้อน้ำมันปาล์มจากพวกเขา ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าทำไปเพื่อกลบเกลื่อนความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมการเกษตรน้ำมันปาล์ม และไม่ได้ช่วยอนุรักษ์อุรังอุตังที่กำลังจะสูญพันธุ์

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียประกาศแผนการที่จะส่งลิงอุรังอุตังให้กับประเทศต่างๆ ที่รับซื้อน้ำมันปาล์มจากพวกเขาเพื่อเป็นของขวัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, อินเดีย และจีน จนเป็นที่มาของคำว่า "การทูตอุรังอุตัง" 

หลังจากมาเลเซียประกาศแผนทางการทูตครั้งนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการกลบเกลื่อนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย

น้ำมันปาล์มที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในสินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่ไอศกรีม ไปจนถึงลิปสติก และการปลูกปาล์มกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการถางป่าในมาเลเซีย รวมถึงยังเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตังด้วย

ระบบการทูตโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือเป็นอย่างไร?

สัตว์เป็นสิ่งที่มีบทบาททางการทูตมาหลายพันปีแล้ว พวกมันถูกใช้โดยผู้ปกครองและประมุขแห่งรัฐในฐานะเป็นเครื่องบรรณาการเพื่อเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

มีกรณีที่เล่าว่าคลีโอพัตราได้มอบยีราฟให้กับ จูเลียส ซีซาร์ และมีกรณีของ ฮารุน อัลราชิด คาลิบแห่งแบกแดดเคยมอบช้างเอเชียให้กับชาร์เลอมาญ

นับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาการทูตโดยใช้สัตว์เริ่มเปลี่ยนแปลงมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์รูปแบบหนึ่งทั้งใช้สร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น จีนเคยส่งแพนด้าให้กับไทยหรือกับประเทศอื่นๆ รวมถึงล่าสุดที่จีนแสดงออกว่าจะส่งแพนด้าตัวใหม่มาอีกให้ไทยอีกครั้ง หลังจากที่ หลินฮุ่ย แพนด้าที่เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีระหว่างทั้งสองประเทศเสียชีวิต และไทยต้องเสียค่าเสียหายให้จีน 15 ล้านบาท

ว่าด้วย "การทูตแพนด้า" ของจีน

การทูตแพนด้าของจีนเริ่มต้นย้อนไปได้ตั้งแต่ปี 2484 จีนส่งหมีแพนด้าให้กับประเทศอื่นๆ ในฐานะการกระชับสัมพันธไมตรี ในฐานะเครื่องมือทางการทูตและการอนุรักษ์แพนด้า ประเทศที่ได้รับแพนด้าจากจีนได้แก่ อินโดนีเซีย, ไทย, สหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร

ถึงแม้ว่าจะจีนจะบอกว่าแพนด้าเป็นของขวัญ แต่นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา จีนยังนับว่าแพนด้าที่ให้ประเทศต่างๆ ไปนั้นเป็นทรัพย์สมบัติตัวเองที่ให้ยืมเป็นเวลา 10 ปีเท่านั้น

สวนสัตว์ในต่างประเทศที่รับแพนด้าจากจีนจะต้องจ่ายค่าเช่าราว 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 35 ล้านบาท) ต่อปีสำหรับแพนด้าหนึ่งคู่ ซึ่งทางการจีนจะใช้เงินตรงนี้ไปเป็นเงินทุนในการอนุรักษ์พันธุ์แพนด้า เช่น การสร้างสถานปฏิบัติการให้ทันสมัยและจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองสัตว์ ประเทศที่รับแพนด้าจากจีนมาก็จะถือว่าได้สัตว์หายากชนิดหนึ่งมาไว้ในสวนสัตว์ตัวเอง

นอกจากจีนแล้วประเทศอื่นๆ ยิ่งมีการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือทางการทูตด้วย เช่น ออสเตรเลียเคยให้โคอาล่าเป็นของขวัญ, อินโดนีเซียเคยให้ของขวัญเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อย่าง มังกรโคโมโด และไทยก็เคยส่งช้างเป็นของขวัญ

ทำไมมาเลเซียถึงใช้อุรังอุตังเป็นของขวัญ?

ตัวอย่างล่าสุดของการทูตโดยใช้สัตว์คือมาเลเซียที่วางแผนจะให้อุรังอุตังกับประเทศคู่ค้า โจฮัน อับดุล กานี รัฐมนตรีการเกษตรและโภคภัณฑ์ ของมาเลเซียระบุในโซเชียลมีเดียว่า "พวกเราต้องการแสดงให้ประเทศต่างๆ ในโลกเห็นว่ามาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแบบยั่งยืน และมีความมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองป่าและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม"

กานีระบุอีกว่าเรื่องนี้จะ "พิสูจน์ต่อประชาคมโลกว่ามาเลเซียมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ" แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าแผนการส่งอุรังอุตังไปต่างประเทศจะทำให้เกิดผลดีต่อความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนได้อย่างไร

มาเลเซียกำลังเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากอียู ในปี 2566 ที่ผ่านมาเคยเสนอให้มีการแบนการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถางป่า

ซินเย พรุสชอฟต์ ประธานฝ่ายคุ้มครองสัตว์จำพวกลิงไม่มีหางขององค์กรคุ้มครองสัตว์ FOUR PAWS กล่าวว่า "คณะกรรมาธิการยุโรปมีความพยายามมานานแล้วที่จะหาจุดประนีประนอมระหว่างฝ่ายหนึ่งคือการนำเข้าน้ำมันปาล์มอย่างมหาศาล และในอีกด้านหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้น้ำมันปาล์มกลายเป็นปัจจัยหลักที่จะทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ (และส่งผลต่อวิกฤตภูมิอากาศ)"

องค์กรด้านการอนุรักษ์สัตว์ วิพากษ์วิจารณ์การทูตแบบใช้สัตว์

องค์กรด้านสวัสดิภาพของสัตว์หลายกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่มาเลเซียใช้อุรังอุตังเป็นเครื่องมือการทูต เช่น องค์กรเพื่อความยุติธรรมต่อสัตว์ป่าของมาเลเซียกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า การคุ้มครองป่าซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของอุรังอุตังควรจะเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด เงินงบประมาณที่มาเลเซียใช้ไปกับการทูตอุรังอุตังควรจะเอาไปให้กับความพยายามอนุรักษ์ลิงเหล่านี้และรักษาป่าที่เป็นบ้านของพวกมันมากกว่า

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) นำเสนอบทบรรณาธิการเรื่องเกี่ยวกับ "การทูตอุรังอุตัง" โดยระบุว่า วิธีการที่ได้ผลมากกว่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์พันธุ์อุรังอุตังคือการพัฒนาการจัดการป่า การเน้นคุ้มครองอุรังอุตังในระดับภาคพื้นดิน การสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มในแบบที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเงินงบประมาณจากต่างชาติในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในประเทศที่กำลังพัฒนา

WWF มาเลเซียยังเสนออีกว่าควรจะมีการปกป้องพื้นที่ป่าที่ยังคงมีอยู่ภายในสวนปาล์มและเพาะปลูกพืชผลที่เหมาะสมเสริมไปด้วยเพื่อเป็นอาหารให้อุรังอุตัง ให้มีการจัดทำระเบียงสัตว์ป่าเพื่อเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าเหล่านี้เพื่อให้อุรังอุตังเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระและคงความหลากหลายทางพันธุกรรม ขอให้มีการอนุญาตให้อุรังอุตังเดินทางผ่านสวนปาล์มได้เพื่อให้พวกมันเข้าถึงผืนป่าในสวนเพื่อให้พันธุกรรมของพวกมันแพร่ออกไปได้และลดการโดดเดี่ยวของพวกมัน นอกจากนี้แล้วยังขอให้ป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายหรือจับอุรังอุตัง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับมันซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้

สจ๊วต พิมม์ คณบดีภาควิชานิเวศวิทยาเชิงอนุรักษ์ ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องต่ำช้า น่ารังเกียจ และมือถือสากปากถือศีลอย่างล้นเกิดจากการทำลายป่าฝนที่มีอุรังอุตังอาศัยอยู่ เอาตัวพวกมันออกมา แล้วก็ให้มันเป็นของขวัญเพื่อเอาใจประเทศอื่นๆ ... มันเป็นสิ่งที่ขัดกับวิธีการที่พวกเราควรจะเพื่อปกป้องพวกมันและปกป้องโลกของพวกเรา"

พรุสชอฟต์ ยังตั้งคำถามในระยะยาวต่อระบบการทูตอุรังอุตังที่ส่งผลต่อประชากรของอุรังอุตังเองด้วย เธอบอกว่า การส่งอุรังอุตังให้ยุโรปซึ่งมักจะมีการพยายามเพาะพันธุ์ในที่ปิดอย่างในพื้นที่สหพันธ์สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำยุโรป (EAZA) ซึ่งเป็นที่ๆ มีอัตราความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ต่ำ นั้นจะกลายเป็นปัญหา และปัญหานี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดลง รวมถึงไม่มีที่อยู่ใหม่ให้อุรังอุตังที่เกิดใหม่ด้วยถ้าหากพื้นที่ป่าเดิมถูกทำลาย

พรุสชอฟต์และองค์กร FOUR PAWS มีมุมมองว่าการทูตโดยใช้สัตว์นั้นเป็นการกระทำที่ล้าสมัยและไร้ความรับผิดชอบ พรุสชอฟต์บอกว่าการที่ให้สัตว์ที่อยู่ในสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง" เป็นของกำนัลจากการซื้อขายสินค้าจนทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้นเป็นเรื่องรับไม่ได้ และคนที่ทำเรื่องนี้ก็ตัดขาดจากความเป็นจริงอย่างมาก

เดวิด แกร์ราอี ผู้จัดการกิจการภายนอกขององค์กรคุ้มครองสัตว์โลกกล่าวว่า การส่งตัวและการกักสัตว์ป่าไว้ในพื้นที่ปิดต้องอาศัยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในการที่จะทำให้แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในความพยายามอนุรักษ์พันธุ์ของพวกมัน

"ถ้าหากทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ การทูตโดยอาศัยสัตว์ควรจะเป็นไปเพียงเพราะถ้าหากมันได้ทำให้เกิดประโยชน์ด้านการทูตอย่างแท้จริงระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ สถานการณ์หรือในหลายๆ กรณี เป็นการไม่เหมาะสมที่จะขนย้ายสัตว์ออกจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมันเอง" แกร์ราอี กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net