Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' ระบุวิธีคัดรัฐบาลแบบคณาธิปไตย ชี้ถึงเวลาใช้ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 'ตรีรัตน์' ถอดรหัส 4 เดือน 4 ความล้มเหลว การแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของรัฐบาล 'องอาจ' แนะนายกฯ ฟังเศรษฐีแล้วฟังชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วย 'กรณ์' เตือนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านต้องมีแผน อย่าลักไก่เลี่ยงตรวจสอบ


ปิยบุตร แสกกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้า (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 เพจคณะก้าวหน้าแรงงาน จัดไลฟ์เฟสบุ๊คพูดคุยในหัวข้อ “Eat The Rich : เมื่อคนส่วนใหญ่ถูกกดขี่ ความเจ็บปวดสิ้นหวังของมวลชนจะพ่นพิษใส่ทุกส่วนของสังคม” โดยเชิญนายปิยบุตร แสกกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้าร่วมพูดคุย โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาถูกวิพาษ์วิจารณ์มาก แต่สิ่งหนึ่งที่ตนอยากชวนมอง ไม่ใช่เรื่องว่ารัฐบาลเก่งหรือไม่เก่ง มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นวิธีคิดของรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นแบบ 'คณาธิปไตย' คือ คิดถึงคนส่วนน้อย เช่น กลุ่มทุนต่างๆ ช่วยกลุ่มเหล่านี้ก่อน ตัดสินใจทำได้เลยทันที 

“แต่ขณะที่พอจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่กลับมีข้ออ้างสารพัด อยากชวนให้คิดเรื่องนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เวลาเราพูดเรื่องประชาธิปไตย ก็จะมีคนออกบอกว่าทำไมไม่พูดเรื่องปากท้อง ไม่พูดเรื่องเรื่องสวัสดิการชีวิตความเป็นอยู่ แต่วันนี้ ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความเป็นประชาธิปไตยนั้นส่งผลจริงๆ เพราะรัฐบาลคณาธิปไตยแบบนี้ คือ ปกครองกันโดยคนส่วนน้อย ทำเพื่อคนส่วนน้อยแบบนี้ ก็จะมีเพียงคนกลุ่มเดียวได้ทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะได้อยู่บ้าง แต่ก็ได้เพื่อทำให้คุณเชื่อง ทำให้คุณไม่ลุกฮือต่อต้านเท่านั้น” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ความเป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เรื่องคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นกระแสไปทั้งโลกกับการที่รัฐธรรมนูญได้เพิ่มการรับรองสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ซึ่งนานวันเข้าก็จะมีสิทธิเสรีภาพใหม่  ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ สิทธิการมีที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน สิทธิในการมีออาหารที่ดี สิทธิในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ เราขยายสิทธิใหม่ๆ เต็มไปหมด แต่ในท้ายที่สุด จะเขียนรับรองอย่างไร ถ้าเบื้องต้นไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ประชาชนต้องเอาตัวรอดไปแต่ละวันอย่างนี้ สิทธิอื่นๆ ก็ไม่มีประโยชน์

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลเล่นกับอารมณ์ร่วมของสังคมที่สุกงอมเพียงพอที่จะยอมรับให้อำนาจรัฐที่มากขึ้นและจำกัดเสรีภาพเพื่อประโยชน์อื่น จึงน้อยมากที่จะเกิดเสียงคัดค้าน แต่ลักษณะแบบนี้ เราก็เห็นแล้วว่าใช้ไปสักพักปรากฏว่าแก้ไม่ได้หรือแก้ได้แต่ก็เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น แก้โรคระบาดได้แต่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ นี่คือวิธีคิดที่ส่งผลให้เกิดเป็นผลกระทบต่อเนื่อง ยังเป็นเรื่องการที่รัฐมีใบอนุญาตให้ยกเว้นกฎหมาย คือ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีระบบกฎหมายเหลืออยู่เลย คือ อย่างน้อยก็ต้องทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือถ้าอ้าง พ.ร.บ. ควบคุมโรคระบาด ก็ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายตัวนี้ 

นายปิยบุตร กล่าวว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐหรือความรับรู้สังคมเหมือนกับว่ามีการยกเว้นกฎหมาย อยากทำอะไรก็ทำได้ เช่น กฎหมายเขาสั่งห้ามกระทำการอันเป็นการส่งผลกระทบต่อการแพร่โรค แต่เอาบทบัญญัตินี้ไปขยายความว่า ใครไม่ใส่หน้ากากออกจากบ้านจะมีโทษ สถานการณ์วันนี้ ยังทำให้เกิดความกลัวรวมหมู่ขึ้น ใครไม่ให้ความร่วมมือ ใครไอ จาม  โดนตำหนิ หรือการออกไปเจอกันไม่ได้ มีคนตายวัดยังไม่ให้เผาศพ ซึ่งนานวันเข้าก็เหมือนว่าจะถอดความเป็นมนุษย์ออกให้เหลือเป็นสิ่งมีชีวิตทางชีวิวิทยา ความสัมพันธ์คนเปลี่ยน เจอกันไม่ได้ ซึ่งพอเวลาผ่านไปคนก็เริ่มรู้สึกว่าเกินไป

“จากทั้งหมดนี้ ทำให้คิดว่าราวสิ้นเดือนเมษายน คนจะเริ่มรู้สึกว่าอยู่แบบนี้ต่อไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำมาตัดสินใจ ด้านหนึ่งถ้าไม่ผ่อนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อีกด้านก็ต้องคิดเรื่องการป้องกันแพร่ระบาด อยู่ที่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ล็อกดาวน์หรือผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังวิกฤตคลี่คลาย ความไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีอยู่ และจะเพิ่มมากขึ้นเพียงแต่ตอนนี้แสดงออกไม่ได้ ซึ่งนี่นับเป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่สำคัญเหมือนกัน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ในการที่รัฐบาลตัดสินใจเรื่องนโยบาย จะมีชุดคำอธิบายเกิดขึ้น 2 แบบ คือ ทำได้กับทำไม่ได้ เรื่องที่มีวิธีคิดว่าทำไม่ได้ก็จะเต็มไปด้วยข้ออ้างสารพัด เช่น จะเอาเงินมาจากไหน แต่ในขณะที่อีกนโยบายซึ่งทำได้ ตัดสินใจทำเลย ส่วนเรื่องเงิน เดี๋ยวค่อยไปคิดหาเอา และจากสถานการณ์โควิด-19 นี้ สิ่งหนึ่งที่คนเคยคิดมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ หากแต่วันนี้มีการพูดถึงเยอะมาก นั่นคือ เรื่องระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิต หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีแล้ว พูดเรื่องนี้ก็จะมีคนต้านว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นการเอาเงินไปแจกคน ทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน เป็นการฝากสังคม หากแต่วันนี้ เมื่อเจอวิกฤตเข้าจริงๆ ทำให้เริ่มกลับมาทบทวนแล้วว่า ระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิตจะทำให้คนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ช่วยเรื่องการดำรงชีวิตพื้นฐานได้ 

“ผมคิดว่า ตอนนี้เราอยู่การต่อสู้ระหว่างความคิดความเชื่ออุดมการณ์ วาทกรรมและเรื่องเล่าที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ว่า จะอยู่กันแบบใช้เงินช่วยคนไม่กี่คน หรือจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่  และไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีเงินทำได้หรือไม่ได้ แต่อยู่ที่รัฐบาลว่ามีเจตจำนง การตัดสินใจว่าเห็นความสำคัญของอะไรมากกว่ากัน ถ้ายังตัดสินใจเพื่อคนส่วนน้อยไม่กี่ตระกูลแต่ยึดอำนาจทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจไว้อยู่ มันก็คือคณาธิปไตย” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่าหลังวิกฤตินี้คิดว่ามี 3 เรื่องใหญ่ทบทวน คือ 1. เศรษฐกิจใหม่ วิธีคิดนโยบายเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนเป็นประชาชนมาก่อน ไม่ใช่ทุนใหญ่ จะเริ่มคิดสร้างสวัสดิการใหม่ ๆ  ระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิตต้องเริ่มพูดกันว่าจะอยู่ในระดับไหน  2.การเมืองแบบใหม่ รัฐบาลเจอวิกฤตการณ์ความชอบธรรมตั้งแต่ฐานที่มาไม่ถูกต้อง และพอเกิดวิกฤตการณ์ก็ไม่มีความสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ได้ เรื่องนี้จะส่งผลต่อเนื่องถึงรัฐธรรมนูญด้วยว่าต้องมีการแก้ไข เพราะไม่อย่างนั้นก็จะได้รัฐบาลแบบนี้อีก และ 3.การต่างประเทศใหม่ องค์กรระหว่างประเทศ

“ถึงเวลาทบทวนเรื่องการรวมตัวกันว่า รวมกันเพื่อเศรษฐกิจ การตลาด การค้าขายอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอแล้ว ต้องคิดถึงมนุษย์ คิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงคุณภาพชีวิตด้วย ยกตัวอย่างสหภาพยุโรป หรืออียู ในวิกฤตครั้งนี้ ช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรไม่ได้เลย นั่นแสดงว่าคุณรวมตัวกันโดยเน้นแต่เรื่องขายของ เน้นแต่เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ได้คิดถึงคุณภาพชีวิตผู้คน” นายปิยบุตร กล่าว

'ตรีรัตน์' ถอดรหัส 4 เดือน 4 ความล้มเหลว การแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของรัฐบาล

19 เม.ย. 2563 ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า ถอดรหัส 4 เดือน การแก้ปัญหาวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะสามารถมีมาตรการการป้องกัน และเยียวยา ที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วได้หรือไม่ ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เฝ้ารอความหวัง (ถึงแม้จะคาดเดาผลลัพธ์ล่วงหน้า) จากการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งครั้งจะถือว่าเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำและฝีมืออย่างแท้จริง

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมมีบทเรียนที่อยากจะเสนอแนะความคิดเห็นไว้ดังต่อไปนี้

1. “ความล้มเหลวด้านบริหารวิกฤต” ด้วยความชะล่าใจ และไม่ได้เตรียมความพร้อมของภาครัฐ ส่งผลกระทบทางตรงสู่ประชาชนจำนวนมาก ทำให้ผู้คนตกงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้ปกติ โดยภาครัฐสามารถที่จะประเมินได้ล่วงหน้าเพื่อการเตรียมความพร้อม ทั้งจากตัวเลขผู้เข้ารับการตรวจ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อประจำวัน รวมทั้งบทเรียนจากประเทศอื่นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้นำเอาข้อมูลต่างๆ มาเตรียมมาตรการป้องกัน และเยียวยาให้ทันท่วงที ตั้งแต่กรณีการรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ไปจนถึงการล็อกดาวน์ประเทศโดยมิได้มีการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอ ส่งผลให้คนไทยจำนวนมาก ยังตกค้างอยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญคือความล้มเหลวในการเตรียมหน้ากากอนามัยที่เพียงพอสำหรับบุคลากร ทางแพทย์ และประชาชน รวมถึงขาดมาตรการควบคุมไม่ให้สินค้ามีราคาแพง หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิดที่เพียงพอ นี่เป้นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้นที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

2. “ความล้มเหลวด้านระบบ” ที่ชัดเจนมากที่สุดคือ การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคน ที่ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบอาชีพ ฐานภาษี และรายได้ ได้ทันที รวมทั้งผู้ที่มีประกันสังคม แต่ภาครัฐกลับเลือกวิธีให้ลงทะเบียนใหม่ ซึ่งเป็นความซ้ำซ้อน ขาดการบริหารจัดการข้อมูลที่ทางรัฐมีอยู่แล้ว

การให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ ก็มีปัญหา เพราะระบบการลงทะเบียน ล้มเหลวตั้งแต่วันแรกที่เปิดลงทะเบียน มาจนถึงวันนี้ที่ประชาชนควรได้รับเงินเยียวยาในกระเป๋าแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังมีประชาชนอีกจำนวนหลายล้านคน ที่ระบบแจ้งว่าข้อมูลผิดพลาด ทั้งเป็นเกษตรกร หรือไม่เข้าเกณฑ์อื่นๆ กว่าจะยื่นอุทธรณ์ และกว่าได้รับเงิน ประชาชนก็รอไม่ไหวแล้ว อดตายกันหมด จึงเห็นภาพการออกไปประท้วงที่กระทรวงการคลังแบบที่เกิดขึ้น

3. “ความล้มเหลวด้านการสื่อสาร” ล้มเหลวตั้งแต่ตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง ที่ไม่อาจทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นได้ รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมการรับมือกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะประกาศ ส่งผลให้มีข่าวลือออกมามากมาย นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่ไปกักตุนสินค้าเป็นจำนวนมาก จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอ และความล้มเหลวในการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อมาตรการการกักตัว ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ แห่กลับภูมิลำเนาของตน และเป็นที่มาของการกระจายเชื้อสู่จังหวัดต่างๆ กว่าจะมาแก้ก็สายเกินไป

4. “ความล้มเหลวด้านความเชื่อมั่น” จากความผิดพลาดของภาครัฐที่ผ่านมา ทั้งด้าน 1.)การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในขาลงต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ส่งผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัว 2.)ความผิดพลาดในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ทำให้งบขาดดุล และยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ออกนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเรือดำน้ำ เป็นต้น สู่ การล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิดในวันนี้ ส่งผลกระทบทางตรงต่อประชาชน และนักลงทุน ว่ารัฐบาลนี้จะพาประเทศไปต่อได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องติเพื่อก่อ เป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานในอนาคต เราทุกคนอยากมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม อยากมีความหวัง อยากก้าวไปข้างหน้า และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องใจกว้าง รับฟัง ไม่เห็นเสียงประชาชนเป็นปัญหา ถ้าท่านหาทางออกไม่ได้ ไร้ฝีมือ ก็ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องพิจารณาตัวเองออกไปจากปัญหาที่ท่านสร้างขึ้นมาเพิ่มเติมครับ

'องอาจ' แนะนายกฯ ฟังเศรษฐีแล้วฟังชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะส่งจดหมายเชิญมหาเศรษฐีร่วมมือกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้วถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำจดหมายไปขอเงิน ว่า เหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก น่าจะเกิดจากการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ประกอบกับการบริหารจัดการของรัฐบาลเรื่องเงินเยียวยาประชาชนสร้างความสับสน ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอจะดูแลประชาชนหรือไม่ 

“เริ่มตั้งแต่เงินเยียวยา 5,000 บาท เดี๋ยวบอกจะจ่ายให้ 3 เดือน เดี๋ยว 6 เดือน สุดท้ายก็กลับมา 3 เดือน รวมถึงเรื่องที่นายกฯ พูดทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะมีเงินเยียวยาแค่ 1 เดือน ทำให้ความเชื่อมั่นเรื่องเงินของรัฐบาลลดลง เพราะฉะนั้นเมื่อนายกฯ บอกว่าจะส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีให้มาร่วมมือกันฝ่าวิกฤติทั้ง  ๆ ที่จดหมายยังเขียนไม่เสร็จ เนื้อหาสาระยังไม่ชัดเจนว่าเขียนไม่ว่าอย่างไร ย่อมทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่าจะทำจดหมายไปขอเงินมหาเศรษฐีมาใช้จ่ายเยียวยาประชาชน เพราะภาพของเศรษฐีจะมาคู่กับเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้ง ๆ ที่นายกฯ อาจจะไม่มีเจตนาเช่นนั้น” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวว่า เป็นอีกกรณีหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมีปัญหาเรื่องการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติแบบไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา สาระไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความได้หลายแง่มุม ถ้านายกรัฐมนตรีเขียนจดหมายเรียบร้อยแล้วนำเนื้อหาสาระมาเปิดเผยตรงประเด็น อาจทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ลดลง และถ้าเป็นตามที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจะสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่านายกรัฐมนตรีตั้งใจเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคนโดยตรงจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาจริง นายกรัฐมนตรีควรเชิญชาวบ้านที่เดือดร้อน ลำบากจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มารับฟังด้วย ไม่ควรฟังแต่มหาเศรษฐี

“นายกฯ อาจฟังมหาเศรษฐีที่มีประสบการณ์บริหารธุรกิจจนร่ำรวยให้มาช่วยเสนอความคิดเห็นว่าจะช่วยกันแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรก็ได้ แต่นายกฯ ก็ควรฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้วย โดยนายกฯ อาจพบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงร่วมกับตัวแทนกลุ่มองค์กร NGO ภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดชาวบ้านซึ่งรับรู้ปัญหาและอาจมีวิธีแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อนายกฯ ในการนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น การที่นายกฯ จะฟัง ข้อมูลจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ทำได้แต่ควรรับฟังให้รอบด้านเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง” นายองอาจ กล่าว

'กรณ์' เตือนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านต้องมีแผน อย่าลักไก่เลี่ยงตรวจสอบ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 เตือนวิธีดำเนินการใช้เงินของรัฐบาล จากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านเพื่อให้ได้ประโยชน์และไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนในอดีต

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ก้อน1 : 6 แสนล้าน ต้องเร่งช่วยคนทันที

ก้อน2 : 4 แสนล้าน ระวังซ้ำรอย รัฐบาลในอดีต

ผมขอทำหน้าที่ในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่พยายามเน้นความสำคัญในหลักธรรมาภิบาลการใช้เงินรัฐมาโดยตลอด

ในแผนกู้เงินตาม พรก. ที่รัฐบาลเตรียมประกาศใช้ ได้มีการแบ่งออกเป็นสองส่วน

1. ส่วนแรกมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมาก คือวงเงิน 600,000 ล้านบาท ที่จะใช้เยียวยาและชดเชยรายได้ให้ประชาชน ผมเห็นด้วยที่สุด "ต้องช่วยประชาชนทันที" โดยส่วนนี้ออก พรก.กู้เงิน เหมาะสมและขอให้เร่งเบิกจ่ายถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด

2. ผมคาใจในส่วนที่สอง 400,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะใช้ ‘ฟื้นฟูเศรษฐกิจ’ ผมเห็นว่า ต้องมีแผนในรายละเอียดโครงการ และความพร้อมในการเบิกจ่าย อย่าลักไก่หลีกเลี่ยงกลไก พรบ.งบประมาณปกติ รัฐบาลควรปรับปรุงงบ 64 ให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดอย่างเข้มข้นกว่าแค่การขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ และควรนำโครงการ 400,000 ล้านบาทนี้บรรจุในงบ 64 แทนที่จะกู้ผ่าน พรก.

ปัญหาคือ รัฐบาลเอาสองส่วนนี้มาปนกันจนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา

อดีตมีให้เห็นหลายกรณี เช่น กรณี พรก.กู้เงิน นํ้าท่วมในปี 2555 แม้การลงทุนในระบบน้ำสำคัญ แต่ความพร้อมในรายละเอียดโครงการไม่มี สุดท้ายก็ใช้เงินไม่ทันจริงๆ เพราะรัฐบาลเตรียมโครงการไม่ทันจนหมดเวลาการกู้ตามที่กฎหมายได้อนุมัติไว้

กรณี พรบ. กู้เงิน 2 ลล. เพื่อใช้ในการลงทุนระบบคมนาคม แม้การลงทุนจำเป็นมาก แต่ควรใช้ระบบงบประมาณตามปกติเพื่อให้มีการตรวจสอบตามหลักวินัยทางการคลัง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ระงับไป

วิกฤตนี้ใหญ่หลวงนัก เราต้องมีสติในการเดินเกม และการออกกฎหมายเงินกู้คราวนี้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งจะเป็นภาระมหาศาลของประเทศ เราจึงต้องไม่ให้มีการลักไก่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ประชาธิปัตย์ที่ร่วมรัฐบาลก็เคยทราบปัญหานี้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องช่วยเตือนกันด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] โพสต์ทูเดย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net