Skip to main content
sharethis

กระทรวงการต่างประเทศอินเดียแถลงสนับสนุนสิทธิการเดินทางเสรีในทะเลจีนใต้ และถือว่าทะเลจีนใต้เป็นสมบัติร่วมกันของโลก ท่าทีดังกล่าว นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะอินเดียเองก็ขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางบกกับจีน และพยายามสื่อเตือนจีนในเรื่องการรุกล้ำเช่นนี้ว่าท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้อาจส่งผลกระทบต่อจุดยืนและผลประโยชน์ของอินเดียที่มีกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองทัพอินเดียหน่วย Madras regiment สวนสนามเมื่อ 26 มกราคม 2013 (ที่มา: Wikipedia/ Agência Brasil/Mannat Sharma) 

24 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ของสถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ตั้งข้อสังเกตว่าทางการอินเดียได้วิจารณ์จีนเรื่องการกระทำเชิงรุกล้ำพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งน้อยครั้งมากที่อินเดียจะออกมาวิจารณ์จีน ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านเขตแดนทางบกระหว่างอินเดียกับจีน

มีนักวิเคราะห์จากอินเดียระบุว่าอินเดียมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่จีนกำลังแสดงการกดดันเพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่เขตแดนทะเลจีนใต้มากขึ้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะมองว่าจีนเป็นประเทศพันธมิตรของตัวเองแต่ก็ระแวดระวังว่าจีนอาจจะหันมาแสดงอำนาจอ้างสิทธิเหนือทะเลอินเดียไปด้วย

จีนกับอินเดียเองก็กำลังมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่แบ่งไม่ลงตัวเป็นระยะทาง 2,200 ไมล์ (ราว 3,540 กม.) ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างกองกำลังจีนและกองกำลังอินเดียในช่วงต้นเดือนนี้ที่ "เส้นควบคุมแท้จริง" ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนที่มีประสิทธิผลระหว่างอินเดียกับจีน

มีเหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้นสองเหตุการณ์คือ ในวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการสู้รบในพื้นที่ทะเลสาบปางกองซึ่งเกิดจากความไม่พอใจที่กำลังจะมีการสร้างถนนเสร็จจากฝั่งอินเดีย อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. ใกล้กับบริเวณดอกลำที่เป็นชายแดนระหว่างอินเดีย, ภูฏาน และจีน ทำให้ทหารจากทั้งสองฝั่งได้รับบาดเจ็บ

ในการแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศอินเดียในวันเดียวกัน ยังอ้างถึงการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้ด้วย จากการที่จีนแต่งตั้งเขตบริหารใหม่ 2 เขตในพื้นที่หมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่พิพาท นอกจากนี้ยังทำการตั้งชื่อให้กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ 80 แห่ง ท่ามกลางการต่อต้านจากผู้พิพาทเขตแดนประเทศอื่นๆ

โฆษกการต่างประเทศกล่าวในเรื่องนี้ว่า "ทะเลจีนใต้ถือเป็นสมบัติร่วมกันของชาวโลกและทางการอินเดียก็มีความใส่ใจต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค" และกล่าวอีกว่า "พวกเราสนับสนุนเสรีภาพในการเดินทางทางน้ำและการเดินทางทางอากาศ รวมถึงการค้าขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ถูกปิดกั้นในช่องทางน้ำของนานาชาติ โดยเป็นไปตามหลักกฎหมายนานาชาติ"

ถึงแม้ว่าถ้อยคำวิจารณ์ในเรื่องนี้ของฝ่ายการต่างประเทศอินเดียจะฟังดูเรียบๆ แต่ อภิจิต สิงห์ นักวิจัยอาวุโสจากมูลนิธิออบเซอร์เวอร์รีเสิร์จในนิวเดลีก็วิเคราะห์ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยครั้งที่โฆษกการต่างประเทศจะแถลงถึงประเด็นนี้ต่อสาธารณะในทำนองนี้ ทำให้เป็นไปได้ว่าทางการจีนกำลังโยงเรื่องประเด็นข้อพิพาทเขตแดนทางบกกับจีนของพวกเขากับกรณีข้อพิพาททะเลจีนได้

สิงห์ระบุว่าอินเดียเหมือนกกำลังเตือนจีนว่าถ้าหากกองทัพของพวกเขาไม่ปฏิบัติตัวดีๆ ที่ชายแดน อินเดียจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับจีนและจะย้ำจุดยืนตัวเองในกรณีทะเลจีนใต้

ข้อตกลงที่อินเดียเคยทำไว้กับจีนมีชื่อว่า "ฉันทามติอู่ฮั่น" มีขึ้นจากการที่สีจิ้นผิง ผู้นำจีนกับนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ประชุมกันในปี 2561 ในฉันทามตินี้ระบุว่าทั้งสองประเทศควรจะต้องลดความตีงเครียดลงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นสำหรับทั้งสองฝ่าย โดยที่จีนกับอินเดียถูกมองว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์และมีการสู้รบกันเรื่องเขตแดนในปี 2505 โดยที่ในประวัติศาสตร์จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปากีสถานที่เป็นประเทศคู่อริกับอินเดีย

สิงห์กล่าวว่าการอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตทะเลจีนใต้ของจีนเริ่มส่งผลต่อผลประโยชน์ของอินเดีย เพราะทำให้อินเดียกังวลเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้นโยบายของพวกเขา โดยเฉพาะกับประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามจากการที่จีนรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสองประเทศในช่วงปีที่แล้ว

อินเดียยังกังวลในเรื่องสมดุลทางอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ถ้าหากจีนมีกำลังทหารทางน้ำในภูมิภาคแห่งนี้มากขึ้นก็จะทำให้อินเดียสูญเสียดุลอำนาจในพื้นที่นี้ นอกจากนี้สิงห์ยังมองว่าการที่อินเดียปกป้องหลักการเรื่องสิทธิการเดินเรือและการใช้น่านฟ้ายังถือเป็นการเตือนจีนว่าให้จีนออกห่างจากพื้นที่ผลประโยชน์และอิทธิพลเอเชียใต้และทะเลอินเดียไปในตัวด้วย เพราะการรุกรานของจีนอาจจะส่งผลถึงเรื่องการทำลายเสถียรภาพทางทะเลของเอเชีย

สิงห์กล่าวว่าการที่จีนใช้กองกำลังทางน้ำรุกรานพื้นที่ทะเลจีนใต้ซ้ำๆ สักวันหนึ่งจีนก็อาจจะทำแบบเดียวกันกับทะเลอินเดียได้ โดยที่ไม่นานนี้จีนได้ทำในสิ่งที่เฉียดการรุกล้ำมมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการเผยให้เห็นกำลังทางทะเลในแถบชายฝั่งนาทูนาที่ใกล้กับชายฝั่งตะวันออกของอาณาเขตทะเลอินเดีย และในเดือนธันวาคม 2562 จีนก็ทำการสำรวจใกล้กับเกาะอันดามันซึ่งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินเดีย ทั้งนี้อินเดียยังมีการจับตามองเรื่องที่จีนเพิ่มกำลังเรือทำเหมืองใต้ทะเลลึกจำนวนมาก รวมถึงจับตามองเรื่องที่ว่าจีนกำลังจะตั้งฐานที่มัลดีฟหรือไม่ด้วย

เรียบเรียงจาก

India Voices Unusual Criticism of China’s Conduct in South China Sea, Radio Free Asia, 22-05-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net