Skip to main content
sharethis

รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศแก้ไขปัญหานักเรียนเยาวชนที่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ด้วยการแจกฟรีกับโรงเรียนที่ขาดแคลน จากที่เคยมีผลสำรวจพบ ผู้เข้าไม่ถึงผ้าอนามัยเพราะแพงเกินไปนั้นมักจะหยุดเรียน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้ผู้นำหญิงของนิวซีแลนด์มีโครงการแจกฟรีพร้อมแถลงย้ำว่า "ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย"

ผ้าอนามัยแบบแผ่น (ที่มา:flickr/ Marco Verch Professional Photographer and Speaker)

5 มิ.ย. 2563 เนื่องจากปัญหาที่นักเรียนผู้มีเพศกำเนิดหญิงจำนวนมากขาดแคลนไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ทำการจัดหาผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นให้กับโรงเรียนฟรีเป็นรายเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า "ความยากจนเพราะประจำเดือน"

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งของจำเป็นมีนักเรียนจำนวนมากราว 95,000 รายที่โดดเรียนเพราะไม่สามารถซื้อหาผ้าอนามัยได้ไม่ว่าจะแบบแผ่นหรือแบบสอด ในบางโรงเรียนที่ขาดแคลนระบุว่านักเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้กระดาษชำระ กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือผ้าขี้ริ้วในการจัดการกับประจำเดือนของตัวเอง

รัฐบาลนิวซีแลนด์มีการจัดหาผ้าอนามัยให้ฟรีสำหรับโรงเรียนในเขตไวกาโต 15 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถูกระบุว่ามีความต้องการผ้าอนามัยมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่เทอมที่ 3 ของปีการศึกษานี้ จากนั้นก็จะนำโครงการนี้มาใช้กับโรงเรียนในทั่วประเทศภายในปี 2564 โดยใช้วิธีการให้แต่ละโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการเอง

อาร์เดิร์นแถลงอีกว่า มีวัยรุ่นอายุ 9-18 ปี เกือบ 95,000 รายที่ต้องอยู่บ้านในช่วงที่มีประจำเดือนเพราะไม่มีเงินพอซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนได้ ดังนั้นการทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ฟรีพวกเขาจะสามารถส่งเสริมให้เยาวชนกลับไปเรียนหนังสือต่อไปได้

องค์กรดิกนิตี ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่จัดหาผ้าอนามัยให้กับโรงเรียนกล่าวว่าพวกเขายินดีที่รัฐบาลตัดสินใจทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นของฟรีแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน แต่ก็พูดถึงการอยากให้ต่อยอดไปถึงกลุ่มประชากรอื่นๆ ที่ขาดแคลนผ้าอนามัยด้วย

มิแรนดา ฮิตชิงส์ ผู้ร่วมก่อตั้งดิกนีตีกล่าวว่าสำหรับนักเรียนแล้ว การไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ส่งผลให้พวกเธอรู้สึกอับอาย ไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นการทำให้ผู้มีประจำเดือนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่า รวมถึงทำให้เยาวชนขาดเรียนมากขึ้นด้วย ดังนั้นการจัดหาผ้าอนามัยให้จึงถือเป็น "การลงทุนที่วิเศษ" มากสำหรับรัฐบาล แต่เรื่องนี้ก็ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะความยากจนจากประจำเดือนนั้นไม่ได้กระทบกับนักเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบกับคนหลายภาคส่วนที่ขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนที่สูญเสียรายได้ ต่างก็เผชิญกับการไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ทั้งสิ้น

คาโร แอตคินสัน ผู้ให้คำปรึกษาจากโรงเรียนเฮฮัวราฮีทามาริกีกล่าวว่า การไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยที่ถือเป็นปัจจัยความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้เป็นความผิดคนบุคคลนั้นๆ เอง ขณะเดียวกันการไม่สามารถเข้าถึงมันได้ก็ส่งผลต่อมุมมองต่อตัวเอง ทำให้รู้สึกสูญเสียคุณค่าและพลังในตัวเอง

รัฐบาลแนวร่วมรัฐบาลพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์มีเป้าหมายต้องการแก้ปัญหาความยากจนในเด็กให้สำเร็จภายในเวลา 10 ปี อาร์เดิร์นกล่าวว่าถึงแม้จะมีอุปสรรคจากการระบาดของโควิด-19 แต่การลงทุนไปกับโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตเด็กผู้หญิงได้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ

จูลี แอนน์ เจนเตอร์ รัฐมนตรีด้านกิจการสตรีกล่าวว่าผ้าอนามัยมีราคาสูงเกินไปจนทำให้บางครอบครัวไม่สามารถซื้อได้ ทำให้เด็กในครอบครัวเหล่านั้นขาดเรียนเมื่อมีประจำเดือน แต่ก็กล่าวย้ำว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็น ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

จากการสำรวจโพล Youth19 ระบุว่ามีเด็กนักเรียนอายุ 9-13 ปีที่มีประจำเดือนร้อยละ 12 ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ และในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่บอกว่าโดดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัย มหาวิทยาลัยโอตาโกสำรวจพบว่าคนที่เผชิญกับความยากจนจากประจำเดือนจะได้รับผลกระทบทางลบในระยะยาว ทั้งในเรื่องสุขภาพ พัฒนาการทางอารมณ์ การศึกษา และอนาคตหน้าที่การงาน

เรียบเรียงจาก

New Zealand tackles 'period poverty' with free sanitary products for all schoolgirls, The Guardian, Jun. 3, 2020

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net