การห้ามขายผลิตภัณฑ์กะทิด้วยเหตุผลการทารุณกรรมลิงเก็บมะพร้าว ในมุมมองจากองค์การการค้าโลก (WTO): เรื่องใหญ่และซับซ้อนกว่าที่คิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อความเบื้องต้น

ไม่กี่วันมานี้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นคือ องค์การ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ได้เปิดเผยว่ามีการทารุณกรรมลิงที่ใช้เก็บมะพร้าวในอุตสาหกรรมกะทิเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยองค์กร PETA ได้รณรงค์ให้ร้านค้าต่างๆช่วยกันห้ามขายสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ คู่หมั้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอนห์สัน นามว่า แคร์รี่ ไซมอนด์  (Carrie Symonds) ก็ได้ออกมาสนับสนุนและเรียกร้องให้มีการห้ามขายผลิตภัณฑ์กะทิที่ใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวในร้านค้าอื่นๆด้วย[1] ขณะที่เขียนนี้ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยต่างวิตกกันว่าเรื่องนี้จะบานปลายจนกระทบการส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิซึ่งประเทศไทยก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่ง ในข้อเขียนนี้ จะให้มุมมองตามกฎหมายองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ว่าในเวทีระหว่างประเทศมีการถกเถียงกันในประเด็นสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) ในบริบทของการค้าระหว่างประเทศอย่างไร

1. รัฐบาลได้ออก “มาตรการ”ห้ามนำเข้าหรือ “มาตรการ”ห้ามวางขายผลิตภัณฑ์กะทิที่มาจากประเทศไทยในห้างซุปเปอร์มาเก็ตหรือไม่

ผู้เขียนลองค้นข้อมูลว่าการห้ามนำเข้าหรือห้ามขายบนชั้นซุปเปอร์มาเก็ตนั้น เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลอังกฤษหรือรัฐบาลในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายให้มีมาตรการห้ามดังกล่าวหรือไม่ เท่าที่ค้นดูยังไม่พบว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการทางการค้าห้ามนำเข้า (imported ban) หรือห้ามวางจำหน่ายในร้านค้าแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานเอกชนรณรงค์เรียกร้องให้งดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในร้านซุปเปอร์มาเก็ต ประเด็นนี้สำคัญในแง่ที่ว่า หากประเทศไทยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กลไกการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องฟ้องว่า “มาตรการทางการค้า” (trade measure) ของรัฐ  (ที่ออกโดยกฎหมาย) เรื่องใดที่ขัดกับพันธกรณีขององค์การค้าโลก  นอกจากนี้แล้ว เอกชนไม่สามารถเป็นคู่ความในเวทีองค์การการค้าโลกได้

2. หากมีมาตรการห้ามนำเข้าหรือ “มาตรการ”ห้ามวางขายผลิตภัณฑ์จริงผลจะเป็นอย่างไร

สมมุติว่ารัฐบาลต่างประเทศได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าหรือห้ามวางจำหน่ายบนชั้นขายของในร้านซุปเปอร์มาเก็ต กรณีชัดเจนว่าขัดกับมาตรการห้ามนำเข้าขัดกับพันธกรณีเรื่องโควค้านำเข้า ส่วนมาตรการ ห้ามวางขายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าขัดกับการประติบัติเยี่ยงคนชาติในเรื่องเกี่ยวกับ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ (national treatment) เนื่องจากภายใต้หลัก national treatment รัฐจะต้องปฎิบัติสินค้านำเข้ากับสินค้าในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ห้ามมิให้เลือกปฎิบัติระหว่างสินค้าในประเทศ (domestic goods)กับสินค้านำเข้า (imported goods) หากว่าการปฎิบัติที่แตกต่างกันมีผลกระทบต่อโอกาศหรือความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

3. หากมาตรการทางการค้าดังกล่าวขัดกับพันธกรณีของ WTO แล้วรัฐจะมีข้ออ้างอย่างไรหรือไม่

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นหัวใจของเรื่องนี้ ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก มีข้อยกเว้นที่ยอมให้รัฐสามารถละเมิดพันธกรณีหรือหลักการสำคัญได้อย่า หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง หลักปฎิบัติเบี่ยงคนชาติ มาตรการจำกัดด้านปริมาณ เป็นต้น ข้อยกเว้นนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “ข้อยกเว้นทั่วไป” (General Exception) เรื่องข้อยกเว้นทั่วไปนี้ จัดเป็นเรื่องที่ยากสลับซับซ้อนเรื่องหนึ่งและรัฐมักจะอ้างอยู่บ่อยครั้งเมื่อมีการใช้มาตรการที่อาจจะขัดกับพันธกรณีของ GATT/WTO ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ คือ ส่วนแรกเกี่ยวกับ “ตัวมาตรการทางการค้า” (trade measure) โดยต้องเป็นมาตราการที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการคุ้มครองคุณค่าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ศีลธรรมสาธารณะ สุขภาพของคน ทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะหมดไป เป็นต้น ส่วนที่สองเกี่ยวกับ “การใช้มาตรการ” (application) เช่นว่านั้นว่าจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝง (a disguised restriction on international trade) หรือเลือกปฏิบัติ หรืออำเภอใจ มาตรการของรัฐที่จะรับฟังได้ว่าเป็นมาตราการที่สอดคล้องกับข้อยกเว้นดังกล่าวได้จะต้องผ่านด่านทั้งสองด่านหรือที่เรียกว่า two-tier test กล่าวคือ ทั้งตัวมาตรการทางการค้าจะต้องเป็นมาตรการที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้อง (แล้วแต่กรณี) ในเรื่องของการคุ้มครองคุณค่าที่กล่าวมาข้างต้นและการใช้มาตรการดังกล่าวจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝงหรือเลือกปฏิบัติ หรืออำเภอใจ

 ข้อยกเว้นนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อ มาตรการทางการค้าของรัฐละเมิดหลักการของ GATT/WTO ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่หากรัฐสามารถอธิบาย ชี้แจงให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวผ่านเงื่อนไขของข้อยกเว้นทั่วไปดังที่กล่าวมาข้างต้น รัฐก็สามารถคงมาตรการเช่นว่านั้นได้

ประเด็นต่อไปมีว่า เนื่องจากมาตรการข้อยกเว้นตามข้อ XX มีหลายกรณีย่อย หากต่างประเทศคิดจะห้ามการนำเข้า (imported ban) หรือออกกฎหมายในลักษณะเลือกปฏิบัติติต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อโอกาศหรือความสามารถในการแข่งขันผลิตภัณฑ์กะทิของไทยแล้ว  (เช่น ห้ามวางบนชั้นขายของแต่ให้วางจำหน่ายในที่ที่ลูกค้ามองไม่เห็น หรือห้ามโฆษณา เป็นต้น) รัฐที่ใช้มาตรการเหล่านี้จะอ้างข้อยกเว้นในข้อใดเพื่อมาอธิบายถึงตัวมาตรการทางการค้าดังกล่าว ผู้เขียนคิดว่า ในอนาคต หากมีการอ้างข้อยกเว้นขึ้นจริง โอกาสความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะเลือกอ้างมาตรการข้อ XX (a) คือ มาตรการห้ามการนำเข้า (imported ban) หรือการออกกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆที่มีผลกระทบต่อโอกาสหรือความสามารถในการแข่งขันผลิตภัณฑ์กะทิเพื่อ “คุ้มครองศีลธรรมสาธารณะ” (public morals)  ถึงตรงนี้ ผู้อ่านที่ไม่ได้คุ้นเคยเกี่ยวกับกฎหมาย GATT/WTO คงฉงนงงงวยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่รัฐจะออกมาตรการเหล่านี้โดยอ้างเพื่อคุ้มครองศีลธรรมสาธารณะ แล้วจะมีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น ศีลธรรมสาธารณะหมายความว่าอย่างไร ศีลธรรมที่ว่านี้เป็นของใคร ของลิง หรือของคน (ผู้บริโภค) กะทิที่ใช้แรงงานคนเก็บหรือเครื่องมือต่างจากกะทิที่ใช้แรงงานสัตว์เช่นลิงตรงไหน กะทิก็คือกะทิ ต่างก็เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน (like product) รัฐจะเลือกปฎิบัติได้หรือ   GATT/WTO เป็นเวทีการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศมิใช่หรือ มาเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) ได้อย่างไร ที่ผ่านมาเคยมีตัวอย่างคดีทำนองนี้หรือไม่ คำถามเหล่านี้คงเป็นคำถามที่คนทั่วไปสงสัยอยู่ในเวลานี้ และมิใช่เรื่องแปลกที่คำถามดังกล่าวก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงนักวิชาการ ผู้เขียนจะลองตอบคำถามดังนี้

1. ศีลธรรมสาธารณะหมายความว่าอย่างไร

ข้อยกเว้นของ GATT มีมานานมากแล้วตั้งแต่ คศ 1947 แต่ข้อยกเว้นเรื่อง public morals รัฐไม่เคยอ้างเลยจนกระทั่งถึงประมาณคศ 2004 มีการอ้างข้อยกเว้น public morals เป็นคดีแรกขององค์การการค้าโลก คือคดี Online Gambling ระหว่างประเทศ Antigua and Bermuda กับสหรัฐอเมริกา ความสำคัญของคดีนี้คือ Panel ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า public morals เป็นครั้งแรก โดยกล่าวว่า “……..In the Panel's view, the content of these concepts for Members can vary in time and space, depending upon a range of factors, including prevailing social, cultural, ethical and religious values…….. Members should be given some scope to define and apply for themselves the concepts of "public morals" and "public order" in their respective territories, according to their own systems and scales of values.”[2] คำกล่าวของ Panel ในคดีนี้มีนัยนะลึกซึ้งหมายความว่า แต่ละรัฐเป็นผู้ให้ขอบเขตและความหมายของคำว่า public morals ซึ่งเป็นไปตามแต่ละสังคม ผันแปรไปตามกาลและเทศะ การกระทำอย่างหนึ่งในอีกประเทศหนึ่งถือว่าทำได้ แต่ในอีกประเทศหนึ่งอาจเห็นว่าขัดต่อ public morals ก็ได้ ผลกระทบของคำกล่าวของ Panel ในคดีนี้ได้ตีความขอบเขตความหมายของpublic morals ได้กว้างขว้างมาก

2. คุ้มครองศีลธรรมของใคร

เป็นที่ทราบกันดีว่า สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศในตะวันตกเป็นกลุ่มประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าสังคม” (social values) หรืออาจเรียกว่า non-trade concerns กับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยเอา2 เรื่องนี้มาผูกโยงกัน  คำว่า social values หรือ non-trade concerns นั้นมีความหมายกว้างครอบคลุมตั้งแต่ เรื่องสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้แรงงานเด็ก/แรงงานบังคับ รวมไปถึงสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) ประเด็นก็คือ หากรัฐออกมาตรการทางการค้าเช่น ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กหรือไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์หรือมีการกระทำทารุณโหดร้ายแล้ว รัฐจะอ้างคุ้มครองศีลธรรมของใคร คำตอบก็คือ คุ้มครองศีลธรรมของผู้บริโภคภายในประเทศ ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคในประเทศตะวันตกค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว โดยผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินค้าเหล่านี้ การบริโภคสินค้าดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าสินค้าเหล่านี้ใช้แรงงานเด็ก ทำทารุณกรรมสัตว์หรือทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะรู้สึกผิดในใจ ฉะนั้น จึงมีการรณรงค์ให้มีการปิดป้ายฉลากสินค้าว่าปลอดจากการใช้แรงงานเด็ก หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3. กะทิที่มาจากลิงเก็บมะพร้าวกับกะทิที่ใช้คนเก็บใช่ “สินค้าชนิดเดียวกัน” (like product) หรือไม่

คำถามนี้สำคัญในกฎหมาย WTO เนื่องจากภายใต้ความตกลง WTO ห้ามมิให้รัฐเลือกปฏิบัติติสินค้าประเภทเดียวกัน (like product)  ส่วนเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติตินั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 เกณฑ์ คือ องค์ประกอบทางกายภาพของสินค้า (the product's properties, nature and quality) , การบริโภคขั้นสุดท้ายหรือวัตถุประสงค์การใช้สินค้า (the product's end-uses) รสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภค (consumers' tastes and habits)  และพิกัดภาษีศุลกากร (Tariff classification) เกณฑ์ดังกล่าวนี้ใช้พิจารณาประกอบกันเป็นกรณีๆไป (case- by -case)[3]

สำหรับปัจจัยอื่นๆที่อาจนำมาพิจารณาได้แก่ กระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้า Processes and production methods  (PPMs) ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ กระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้า ที่เกี่ยวกับตัวสินค้า (Product related PPMs ) และกระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้าที่ไมํได้เกี่ยวกับตัวสินค้า (Non-Product related PPMs) ที่เป็นปัญหาถกเถียงมากที่สุดคือกระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้าที่ไมํได้เกี่ยวกับตัวสินค้า ยังมีนักวิชาการจากประเทศกำลังพัฒนาคัดค้านมากที่จะนำกระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวสินค้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสินค้าใดเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือไม่ เหตุผลสำคัญที่คัดค้านคือเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างว่า สินค้าที่ผลิตจากแรงงานผู้ใหญ่ ไม่ใช่สินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก ผลก็คือ รัฐสามารถเลือกปฎิบัติได้

กลับมาประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์มะพร้าว จะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าว เช่น กะทิ หากพิจารณาจากองค์ประกอบทางกายภาพแล้ว แทบไม่มีความแตกต่างเลยระหว่างกะทิที่มาจากการเก็บมะพร้าวที่ใช้แรงงานผู้ใหญ่หรือจากเครื่องมือกับกะทิที่มาจากการใช้แรงงานลิง เพราะกะทิก็คือกะทิ แต่หากพิจารณาจากกระบวนการและขั้นตอนการผลิตสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวสินค้า (Non-Product related PPMs) แล้วสินค้าสองประเภทนี้จะไม่เหมือนกันซึ่งรัฐอาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะปฏิบัติติสินค้าสองประเภทนี้ต่างกันได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง Non-Product related PPMs ยังไม่เป็นที่ยอมรับในองค์กรระงับข้อพิพาททางการค้าขององค์การการค้าโลกแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้ก็ตาม แต่ในอนาคตไม่มีใครรับประกันได้ว่าแนวการตีความอาจแปรเปลี่ยนไปก็ได้

4. ตัวอย่างของเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ในการค้าระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) มาก ในอดีตที่ผ่านมา สหภายยุโรปได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ในการค้าระหว่างประเทศหลายครั้ง เช่น การห้ามมิให้ใช้เครื่องมือกับดักสัตว์ (leg-hold traps)[4] เพื่อจับสัตว์มาทำขนเฟอร์ หรือเครื่องนุ่งห่ม ผ้าพันคอ เพราะว่าการใช้เครื่องมือดักสัตว์นั้นก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานสัตว์เป็นอย่างมาก หรือการห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทดลองกับสัตว์ (ban on animal testing)[5] หรือเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง สหภาพยุโรปได้ออก regulation เกี่ยวกับการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์แมวน้ำ[6] ด้วยเหตุผลเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ เนื่องจากแมวน้ำถูกล่าด้วยอาวุธที่มีลักษณะเป็นของแหลม มีคม หรือการของแข็งทุบตี ซึ่งเข้าลักษณะการทำทารุณโหดร้าย การบังคับใช้ regulation ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์แมวน้ำที่เป็นผลมาจากการล่าสัตว์ด้วยวิธีทารุณโหดร้ายครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเพราะนำไปสู่ข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศต่อองค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ประเทศแคนาดาและนอร์เวย์ได้ร้องเรียนว่า regulation ดังกล่าวขัดกับพันธกรณีขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ดีสหภาพยุโรปได้อ้างข้อยกเว้นข้อ XX (a) โดยอ้างว่า มาตรการห้ามนำเข้าดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองศีลธรรมสาธารณะ  คณะผู้วินิจฉัย (Panel) และองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ต่างยืนยันว่ามาตรการทางการค้าดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองศีลธรรมของผู้บริโภคของพลเมืองสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสวัสดิภาพของแมวน้ำ[7] (เนื่องจากการล่าแมวน้ำมีลักษณะทารุณกรรม)  อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝงเนื่องจาก regulation นี้อนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้ คณะผู้วินิจฉัยและองค์กรอุทธรณ์ จึงตัดสินว่า มาตรการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อยกเว้นทั่วไปตามข้อ XX

ผลที่จะตามมาของคำตัดสินนี้มีมากมาย แม้ว่าในคำตัดสินจะวินิจฉัยว่า การใช้มาตรการ (ไม่ใช่ตัวมาตรการ) ดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามข้อ XX ก็ตาม แต่หัวใจของคำตัดสินนี้อยู่ที่ว่า รัฐสามารถออกมาตรการทางการค้าในนามของ “public morals” ได้เพื่อคุ้มครองศีลธรรมสาธารณะของผู้บริโภคได้อันเป็นการช่วยเหลือสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) ไปในตัว[8]  คำตัดสินนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์ทั้งหลายต่างชื่นชมว่าเป็นชัยชนะของผู้ที่รักสัตว์ ไม่ต้องการเห็นสัตว์ถูกทารุณกรรม[9]

บทส่งท้าย

เรื่องลิงเก็บมะพร้าวคงไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้ายที่ประเทศไทยจะเจอ ในอนาคตประเทศคู่ค้าของไทยอาจหยิบยกเรื่องอื่นมาเป็นประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศอีก ไทยควรเตรียมความพร้อมในการชี้แจงอธิบายในเรื่องนี้หากว่าข่าวที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง รวมทั้งศึกษา ติดตามความเปลี่ยนแปลง แนวคิด ค่านิยม ทัศนคติของผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้าที่แปรเปลี่ยนไป การค้าระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมิได้เป็นเรื่องของการค้าขายมิติเดียวอีกต่อไปแต่มีความเกี่ยวข้องโยงใยกับคุณค่าอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพของสัตว์  ยิ่งไปกว่านั้น ในเวทีระหว่างประเทศ มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสวัสดิภาพของสัตว์ (Universal Declaration on Animal Welfare )[10]  และขณะนี้มีความเคลื่อนไหวที่จะทำสนธิสัญญาระดับสากลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์อีกด้วย ชื่อว่า  UN Convention on Animal Health and Protection โดยร่างแรกได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว[11] ฉะนั้น ทิศทางในอนาคต สวัสดิภาพของสัตว์จะเป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป

 

อ้างอิง

 

[2]Report of the Panel, UNITED STATES – MEASURES AFFECTING THE CROSS-BORDER SUPPLY OF GAMBLING AND BETTING SERVICES, WT/DS285/R 10 November 2004,para.6.461

[3]BORDER TAX ADJUSTMENTS Report of the Working Party adopted on 2 December 1970, para. 18

[4] Council Regulation (EEC) No 3254/91 of 4 November 1991

[5] Regulation (EC) No 1223/2009 of the European Parliament and of the Council of 30 November 2009 on cosmetic products 

[6] Regulation (EC) No 1007/2009 of the European Parliament and of the Council of 16 September 2009 on trade in seal products 

[7]EUROPEAN COMMUNITIES – MEASURES PROHIBITING THE IMPORTATION AND MARKETING OF SEAL PRODUCTS REPORTS OF THE PANEL, 25 November 2013, para.7.631-7.632

[8] นัยยะของคำตัดสินนี้ก็คือว่า หากรัฐออกมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองศีลธรรมสาธารณะและสามารถพิสูจน์ได้แล้วและรัฐบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝงแล้ว ก็เท่ากับว่าการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวผ่านเงื่อนไขข้อยกเว้นข้อ XX (a)

[9]https://www.hsi.org/news-media/wto-seals-ruling-052214/ ; Gabriela Steier, Kiran K. Patel, International Farm Animal, Wildlife and Food Safety Law, (Springer International Publishing Switzerland, 2017), p.102

[10] ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท