รับฟังความเห็นนิคมฯ จะนะ กลุ่มค้านถูกคุกคามหนักระบุไม่ขอร่วมเวทีไม่ชอบธรรม

ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 'โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' กลุ่มค้านถูกคุกคามหนักระบุไม่ขอร่วมเวทีไม่ชอบธรรม หลายองค์กรออกแถลงการณ์คัดค้าน 'ศรีสุวรรณ' ชี้ประชาพิจารณ์นิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ที่มาภาพ: iLaw

11 ก.ค. 2563 iLaw รายงานว่าศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่โรงเรียนจะนะวิทยา จังหวัดสงขลา ก่อนหน้าวันจัดเวทีฯ มีการเยี่ยมบ้านประชาชนไม่น้อยกว่าแปดคนและโทรศัพท์ติดตามบุคคลไม่น้อยกว่าสามคน หลายคนมีภูมิหลังเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ต่อมาวันที่ 9 ก.ค. 2563 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคเก้าระดมกำลังเข้ามาปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมการปิดกั้นการจราจร ปิดกั้นเส้นทาง

ต่อมาวันที่ 11 ก.ค. 2563 iLaw อ้างแหล่งข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 03.00 น. มีบุคคลไม่ทราบฝ่ายขับรถยนต์เข้ามาที่ชุมชนบ้านสวนกงและจอดเฝ้าอยู่ เวลา 06.00 น. มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งขับรถยนต์ไม่ติดตราที่เป็นจุดสังเกตใดเข้ามาผลัดเปลี่ยนกับกลุ่มแรก ขณะที่ชาวบ้านจากจังหวัดสตูลที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มคัดค้านถูกสกัดตลอดเส้นทาง

ต่อมาในช่วงสายเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงเรียนจะนะวิทยาเริ่มต้นและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีตัวแทนประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการและไม่เห็นด้วยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ขณะที่ผู้คัดค้านบางส่วน นำโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยืนยันจะไม่เข้าร่วมเวทีนี้เนื่องด้วยไม่ต้องการเป็นฟันเฟืองสร้างความชอบธรรมให้แก่โครงการที่พวกเขาเห็นว่า ไม่ชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้เวทีที่โรงเรียนจะนะวิทยา ศอ.บต. ยังได้จัดเวทีคู่ขนานที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเป็นเวทีคู่ขนาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน มีการแจกข้าวและน้ำให้กับประชาชนที่เข้าร่วม ซึ่งอบต.ดังกล่าว อยู่บนเส้นทางที่เป็นทางเลี่ยงจากหาดใหญ่ ไปสะกอม ทำให้เส้นทางนี้รถติดอย่างหนัก

เวลาเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน โดยเริ่มต้นรวมพลจุดที่หนึ่งก่อนถึงวงเวียนกรงนกเขา ตัวแทนชาวบ้านมีการพูดปราศรัยประมาณ 30 นาที บริเวณดังกล่าวมีบุคคลที่มีลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยถ่ายรูปและวีดีโอ ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 น. ตำรวจในเครื่องแบบได้เข้ามาแจกเอกสารประกาศเรื่องป้องกันการแพร่เชื้อโรค ตอนหนึ่งมีข้อความคล้ายกับประกาศห้ามชุมนุมที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า “ขอความร่วมมือผู้แสดงความคิดเห็น ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำการอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค” ลงชื่อพลตำรวจตรีทิวธวัช นครศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยข้อปฏิบัติที่ระบุในตอนท้ายว่า หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา มีโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.และกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา ก่อนผละออกไป หลังจากนั้นชาวบ้านได้เตือนให้ทุกคนรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโรค

จากนั้นกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นก็เคลื่อนตัวไปยังสี่แยกวงเวียนจะนะเพื่อจะเดินไปที่โรงเรียนจะนะวิทยา แต่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 50 นายมาสกัดไว้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของศอ.บต. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงอ่านแถลงการณ์ (อ่านเพิ่มเติมด้านล่าง) หลังจากนั้นชาวบ้านตัดสินใจไปทำกิจกรรมต่อที่ตลาดจะนะแทนเพราะเห็นว่า จากวงเวียนนกเขาถึงโรงเรียนจะนะวิทยามีระยะทางประมาณสามกิโลเมตร และอาจมีจุดสกัดอีก

ที่ตลาดจะนะ ตัวแทนชาวบ้านผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยโดยมีบุคคลที่มีลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ตามรอบนอกและได้เข้าไปถ่ายรูปและวีดีโอเจาะรายละเอียดอัตลักษณ์ของตัวแทนชาวบ้านตลอด

หลายองค์กรออกแถลงการณ์คัดค้าน

โดยในวันนี้ (11 ก.ค.) ภาคประชาชนหลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ดังเช่น

แถลงการณ์เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรื่อง ร่วมกันยุติความไม่ชอบธรรมทั้งปวง ที่ ศอ.บต.กำลังดำเนินการในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนแล้วว่า เวทีที่ ศอ.บต. พยายามจัดในวันนี้ ไม่ใช่การจัดเวทีอย่างปกติทั่วไป ตามวิสัยของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมอันแท้จริง และยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองและฝายความมั่นคงอย่างเคยชิน เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศเรา ถึงยังดำรงอยู่เช่นทุกวันนี้

โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นโครงการที่มีความผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่อื่นๆของประเทศเราจะต้องดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของระบบและระเบียบของกฏหมายต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งผู้ทำโครงการจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม โดยเฉพาะการสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมอันแท้จริง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองและคุ้มครองไว้ ก่อนที่จะรัฐบาลจะอนุมัติโครงการและงบประมาณดำเนินการต่อไป อันถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากแต่โครงการนี้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษที่แตกต่างกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา คือรัฐบาลได้ “อนุมัติโครงการก่อน แล้วมารับฟังความคิดเห็นตามหลัง” ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้

วาทกรรม “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในมุมมองของ ศอ.บต. คงมีความหมายเฉพาะที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนฉบับต่างๆ ของรัฐไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินขององค์กรนี้ จึงไม่แปลกที่ การปิดกั้น การขัดขวาง การข่มขู่คุกคาม การให้ร้ายป้ายสีต่างๆกับพวกเรา จึงกลายเป็นเรื่องปกติของ ศอ.บต. ที่กำลังดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการนี้

การจัดเวทีในวันนี้ (11 ก.ค. 2563) ของ ศอ.บต. จึงเป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่เขาสร้างขึ้น เพียงเพื่อต้องการความชอบธรรมให้กับโครงการนี้ อันรวมอยู่ในหลายพิธีกรรมที่เขาได้สร้างขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ พวกเราจึงไม่ขอให้คุณค่าใดกับวิธีการดังกล่าว และไม่มีเหตุผลใดที่เราจะยอมรับการจัดเวทีในครั้งนี้ ด้วยเหตุและผลดังกล่าวเบื้องต้น

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวจะนะ ชาวจังหวัดสงขลา และประชาชนทั่วไป ร่วมกันแสดงจุดยืนตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อยุติความไม่ชอบธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากวิธีการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงการหยุดโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบ

ด้วยความเชื่อมั่น
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
วันที่ 11 ก.ค. 2563

แถลงการณ์ หยุดเอื้อนายทุนตามวิถีเผด็จการ หยุดจะนะเมืองอุตสาหกรรม ยุบ ศอ.บต.

โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการของบริษัทเอกชน 2 ราย บริษัททีพีไอ และบริษัทไออาร์พีซี ใช้พื้นที่กว่าหมื่นไร่ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 7 พ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นั่งหัวโต๊ะอนุมัติโครงการฯ ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังอ้างอำนาจ ตามพรบ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ตามมาตรา 10 ประกาศให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาเฉพาะกิจ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยให้ ศอ.บต.ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นกรรมการและเลขานุการ

การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการเพื่อบริษัทเอกชนใหญ่ 2 ราย โดยการใช้อำนาจคณะรัฐมนตรี และอำนาจตาม พรบ.ศอ.บต.ดังกล่าว โดยไม่สนใจฐานการพัฒนาเดิมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการไม่เห็นด้วยกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาโดยตลอด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีบทเรียนจากเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเป็นตัวอย่างของความล่มสลายของชุมชน สังคมคนท้องถิ่น สภาพปัญหาที่รัฐบาล หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้

การขึ้นโครงการฯโดยไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมดังกล่าวจากพื้นที่ หลังมติ ครม.ที่ไม่มีส่วนร่วมจากชุมชนดังกล่าว จึงเร่งกระบวนการประชาสัมพันธ์ สร้างมวลชนขบวนการชาวบ้านมาหนุนโดยยื่นข้อเสนอตอบแทนในลักษณะกองทุน ผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต วาดฝันถึงการมีงานทำสร้างรายได้แก้ไขปัญหาคนตกงานแก้ไขปัญหาความยากจน

ล่าสุด การที่นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้กล่าวในรายการคุณสุทธิชัย หยุ่น suthichai live ในวันที่ 6 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมาได้แสดงเรื่องราวเหล่านี้ชัดเจนอยู่ในตัว และเดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯเพื่อให้จบกระบวนการมีส่วนร่วมแบบเทียมๆ โดยอ้างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายเวที เพื่อให้โครงการผ่านตามขั้นตอนต่างๆ และในรายการดังกล่าว ได้มีการกล่าวอ้างถึง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ว่าได้ประสานงานกันเพื่อจัดทำเวทีธรรมนูญชุมชน และให้ “พอช. ซึ่งเป็นผู้ดูแลเอ็นจีโอ(NGO) และเชิญชวนเอ็นจีโอที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสากรรมจะนะ มาร่วมเวทีการจัดทำธรรมนูญชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น” จน พอช. ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นถึงการกระทำที่ไม่โปร่งใส ไม่ชอบธรรมของ ศอ.บต.

อีกเหตุการณ์ กรณีที่กลุ่มผู้สนับสนุนโครงการฯซึ่งเป็นคนใกล้ชิดและทำงานกับทาง ศอ.บต.มาโดยตลอด ได้ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ การกระทำที่ขยายความขัดแย้งในพื้นที่ในสังคมเช่นนี้ ศอ.บต. จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

และสำหรับการจัดเวทีรับฟังความเห็นที่จัดในวันนี้ 11 ก.ค. 2563 ก่อนการจัดเวทีพบว่ามีการคุกคามประชาชนโดยการให้ทหาร ตำรวจ เข้าไปติดตามแกนนำที่มีความคิดเห็นคัดค้านโครงการที่บ้าน ที่ทำงาน รวมถึงตามคุกคามในการกิจกรรมต่างๆ โดยในเวทีที่อ้างว่ารับฟังความคิดเห็นนั้น มีรายงานจากสื่อมวลชนว่ามีการระดมกำลังตำรวจกว่า 1,000 นายเข้ามาในพื้นที่การจัดเวที โดยอ้างว่ามาดูแลความสงบ แต่กลับพบว่าเป็นการระดมกำลังเพื่อการป้องกันคนเห็นต่างแต่กลับอำนวยความสะดวกมวลชนจัดตั้งเพื่อให้เข้าร่วมเวทีจอมปลอมนี้ รวมถึงยังมีการปิดการจราจรโดยรอบพื้นที่การประชุม จนเป็นที่น่าตั้งคำถามว่านี้คือเวทีรับฟังความเห็นหรือเวทีปิดกันการรับฟังความคิดเห็นกันแน่ และนี้เป็นบทบาท ศอ.บต. ที่ควรทำตามอำนาจหรือไม่?

จากการกระทำดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ศอ.บต. เป็นกลไกที่ไม่เคารพต่อความเห็นของประชาชน มองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นศัตรู เป็นที่น่ากังวลว่าหาก ศอ.บต.ยังแสดงบทบาทเช่านนี้ต่อไปจะเป็นส่วนที่จุดไฟความขัดแย้งครั้งใหม่ขึ้นมาจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้รัฐบาลทบทวน มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับกับโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรม และเริ่มกระบวนการรับฟังผู้มีส่วนได้เสียที่รอบด้าน ที่ไม่ใช่การจัดเวทีที่ใช้อำนาจปิดกั้นประชาชนแล้วอ้างว่า “เป็นเวทีรับฟังความเห็น” เพื่อเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2.ให้รัฐบาลตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. ว่าดำเนินการเกินเลยอำนาจหน้าที่ และละเมิดต่อสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนหรือไม่ และมีเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. คนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเหล่านั้น โดยแถลงผลการตรวจสอบต่อสาธารณะชนให้ได้รับทราบ

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้หากองค์กรหรือกลไกใดมุ่งริดรอดสิทธิเสรีภาพประชาชน ก็ไม่ควรให้มีการดำเนินการต่อไปจึงเสนอให้ ยุบ ศอ.บต.และใช้กลไกที่เคารพประชาชนเคารพประชาธิปไตยเข้ามาทำหน้าที่แทน

จึงแถลงมาเพื่อทราบ
ด้วยความเชื่อมั่น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
11 ก.ค. 2563

แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน
กรณีการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต 
ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 
11 ก.ค. 2563

ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันที่ 11 ก.ค. 2563 นี้ โดยการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างและประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแต่ไม่อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล (ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ) อ.จะนะจ.สงขลา และสร้างบรรยายกาศที่ไม่นำไปสู่การรับฟังอย่างปลอดภัย ด้วยการใช้กองกำลังจำนวนมากในการควบคุมการจัดเวที การปิดเส้นทางผ่านเวทีการประชุม การคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างรวมทั้งนักวิชาการ ทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงออกถึงความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มิอาจสร้างความน่าเชื่อถือและความวางใจได้ ว่าโครงการดังกล่าวที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และรักษาปกป้องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม    
    
ทางเครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน จึงขอแสดงจุดยืนดัง แถลงการณ์เมื่อ 14 พ.ค. 2563 โดยขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและ ศอ.บต. ดังนี้

1. ให้ทบทวนโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ โดยไม่กำหนดการตัดสินใจว่าจะดำเนินหรือไม่ดำเนินโครงการเอาไว้ล่วงหน้า  

2. ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะมีขึ้นในอนาคตขอให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนที่ได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะต้องสามารถเข้ามีส่วนร่วม
ได้อย่างมีความหมาย

3. ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือการคุกคามใดที่เป็นการขัดขวางหรือกีดกันการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติ ดังเช่นกรณีนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ และกรณีอื่นๆ ทั้งที่มีขึ้นแล้วและอาจจะมีขึ้นอีกต่อไป

แถลงการณ์ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สืบเนื่องมาจากการจัดเวทีรับฟังเสียงของประชาชนเรื่อง ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่จัดขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ โดยการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวนั้นมีเหตุอันควรสงสัยเนื่องมาจากการที่เวทีนี้มีการใช้กำลังตำรวจและตั้งด่านไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่รับฟังป็นจำนวนมาก สร้งความยากลำบากให้แก่ประชาชนที่คัดค้านการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นอย่างยิ่ง

การเปิดเวทีรับฟังความเห็นเช่นนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการรับฟังประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จะนะ ดังเห็นได้จากมีการพยายามของประชาชนในการคัดค้านโครงการดังกล่าว อีกทั้งผลประโยชน์ของโครงการที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีป็นประจักษ์เมื่อเทียบกับสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเสียที่ดินทำกินและดำรงชีพไป

ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพขอคัดค้านการผลักดันโครงการดังกล่าวโดยไม่รับฟังประชาชนอย่างแท้จริง
และขอประนามการกระทำของฐที่ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีรับฟังกวามคิดห็น และภาครัฐควรหยุดโครงการ
ผลักดันให้มีนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นการด่วนเพื่อเป็นการเห็นแก่ประชาชนผู้ป็นเจ้าของอำนาจของประเทศนี้ ด้วยความปารถนาว่ารัฐบาลจะรับฟัง

ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
11 ก.ค. 2563

ศรีสุวรรณชี้ประชาพิจารณ์นิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีพยายามผลักดันโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นทีีจังหวัดสงขลา โดยมีมติเมื่อ 4 ต.ค.2559 ในสมัยรัฐบาล คสช.และได้ พยายามผลักดันมาตลอดโดยอาศัย พรบ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ  ศอ.บต.)  ร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 ส่วนหน้า) จนมีมติคณะรัฐมนตรี อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยจะใช้พื้นที่ 3 ตำบล คือตำบลนาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ และจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือประชาพิจารณ์ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ในวันที่ 11 ก.ค. นี้นั้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะตาม ม.58 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมี ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา ดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ทั้งนี้เพราะการจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต้องดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประกาศกำหนดที่ออกตามความใน ม.48 และ ม.51/4 แห่ง พรบ.ส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศดังกล่าวโดยละเอียด ซึ่งจะต้องเปิดให้ประชาชนให้ความเห็นไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงและมีการรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ

 แต่ทว่ารัฐบาลโดย ศอ.บต.กลับอาศัยกฎหมายพิเศษดำเนินการ มีการระดมตำรวจและฝ่ายความมั่นคงจาก จ.สงขลา จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.สตูล มาควบคุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า 4-5 กองร้อย ทำให้การแสดงออกของประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่และไม่เป็นอิสระ ร่วมทั้งการนำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค4 สน.) ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง แต่กลับมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเสียเอง จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิดหน้าที่ จึงไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการดังกล่าวได้แต่อย่างใด การจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้จึงเสียเปล่า ขัดต่อกฎหมาย และหาก ศอ.บต.ยังนำการประชุมครั้งนี้ไปแอบอ้าง ก็ถึงเวลาที่ประชาชนจะนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลต่อไปได้ นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท