Skip to main content
sharethis

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเผย คณะทำงานอัยการเตรียมตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องคดี วรยุทธ หรือ"บอส" อยู่วิทยา ตั้งไว้ 3 ประเด็น ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าจะรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ และหากสอบแล้วพบว่าอัยการผู้สั่งคดีบกพร่องในหน้าที่จะมีการลงโทษหรือไม่

28 ก.ค.2563 ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรอบของการประชุมนัดแรกในการตรวจสอบการพิจารณากรณีอัยการคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ 1 มีคำสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ หรือ"บอส" อยู่วิทยา ว่า คณะทำงานจะพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักตามที่อัยการสูงสุดได้สั่งการไว้ ประเด็นแรกคือ คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่ 2 เป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ ประเด็นที่ 3 มีเหตุและผลอย่างไรที่พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง โดยอัยการสูงสุดมีกรอบให้ทำงาน 7 วัน ในการสรุปประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้คณะทำงานตรวจสอบชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการเรียกสำนวนคดีมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยคณะทำงานทั้ง 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมมีรายชื่อดังนี้

  1. นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
  2. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน
  3. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นคณะทำงาน
  4. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี เป็นคณะทำงาน
  5. นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน
  6. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
  7. นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

ประยุทธยังได้กล่าวถึงคำถามและข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ในรายละเอียดคงไม่สามารถระบุได้ว่าคณะกรรมการจะนำความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ มาเป็นประเด็นพิจารณาหรือไม่ และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ว่าสามารถรื้อฟื้นคดีกลับมาพิจารณาได้อีกหรือไม่ เพราะต้องตรวจสอบสำนวนทั้งหมดก่อน แต่ตามหลักของกฎหมายแล้วหากมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด อัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้ เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี หรือญาติของผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลเอง ซึ่งเป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความกันได้

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดตอบประเด็นเรื่องความเป็นกลางของอัยการสูงสุดว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริง รวมทั้งการสั่งคดี การทำงานของอัยการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า หากตรวจสอบพบว่าอัยการผู้สั่งคดีทำงานบกพร่องจะมีการลงโทษหรือไม่ ขอให้คณะทำงานพิจารณาก่อน

ส่วนกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งตั้ง พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 10 ราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่

พล.ต.อ.ศตวรรษ เปิดเผยว่า แม้จะยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้นัดหมายให้คณะกรรมการที่มีรายชื่อทั้งหมดไปประชุมเรื่องนี้เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการที่จะร่วมพิจารณาข้อเท็จจริง จะเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เช่น จเรตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอการหารือในที่ประชุมก่อน แต่ยืนยันได้ว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว จะเร่งพิจารณาข้อเท็จจริงทันที เพื่อหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อีกทั้ง ผบ.ตร.ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง จึงต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

เรียบเรียงจาก ไทยรัฐออนไลน์ / มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net