ล่า 5 หมื่นชื่อแก้รัฐธรรมนูญรื้ออำนาจ คสช. ก่อนยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญประชาชน

ภาคประชาสังคมรณรงค์ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก่อนที่จะยุบสภาและร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สวัสดิการด้านต่างๆ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

7 ส.ค. 2563 ไอลอว์จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวการรณรงค์ ‘เข้าชื่อ 50,000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ’ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า เป็นเวลาหกปีกว่าแล้วที่ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร แม้จะมีเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วแต่เป็นเการเลือกตั้งที่ออกแบบตามรัฐธรรมนูญของ คสช. เผื่อให้ คสช. ครองอำนาจต่อไป แม้จะไม่ได้ชื่อ คสช. แต่ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดียวกันเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน และการข่มขู่คุกคามประชาชนยังเกิดทุกวันนี้ไม่ต่างกับยุค คสช. เช่น เดือนที่ผ่านมามีตำรวจไปไปถึงบ้านของเยาวชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เผด็จการเกือบทุกจังหวัด 

อีกทั้งยังมีการบังคับสูญหาย การฆ่าผู้ที่ไปต่างประเทศยังเกิดขึ้นอยู่ในปีนี้ และรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่อชนชั้นปกครองที่ปกครองไทยอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นสังคมทุกส่วนต้องการความเปลี่ยนแปลง การยกร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันและรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน 

ในส่วนของไอลอว์ได้ร่วมมือชักชวนองค์กรภาคประชาชนหลายๆ ส่วน ซึ่งทุกส่วนก็มีความประสงค์เช่นเดียวกันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ ร่วมกันปลดล็อกรัฐธรรมนูญเผด็จการ ที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการปลดล็อกเผด็จการ 

“เราไม่อาจมากำหนดว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีหน้าตาหรือเนื้อหาอย่างไร แต่เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศเป็นคนกำหนด เราแค่ระดม 50,000 รายชื่อ เพื่อปลดล็อกโดยยกเลิกและแก้ไขส่วนที่เป็นเผด็จการที่สุดในตอนนี้ เพื่อให้แก้ไขได้ ขั้นตอนนี้ยังไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” จอนกล่าว

จอนกล่าวต่อว่า ในการแก้ไขรวมถึงการกำหนดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน ควรต้องออกแบบโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตอนแรกเราคิดว่า เราจะเริ่มล่า 50,000 รายชื่อ ตอนตุลาคม แต่ปรากฏว่าปัจจุบันนิสิตนักศึกษาได้ลุกมาเรียกร้องให้เผด็จการออกไปและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนแปลงทุกโครงสร้าง เราจึงเห็นว่าต้องเร่งทำ อยากจะย้ำว่ารัฐธรรมนูญของประชาชนจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนแต่ต้องผ่านการต่อสู้ที่ยากลำบากพอสมควร ทุกคนคงเข้าใจ แต่เราทุกคนต้องร่วมกันทำ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวต่อว่าถึงจุดประสงค์ของการทำเปิดให้ลงชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า การที่ต้องใช้ถึง 50,000 รายชื่อถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากจะทำช้าก็ไม่ได้เพราะจะไม่ทัน ต้องหวังพึ่งทุกคนจริงๆ ว่าทุกคนจะกลับไปช่วกันชักชวนคนมาร่วมกันถ้าสามารถส่งรายชื่อให้สภาได้เร็วก็จะดี

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ยิ่งชีพกล่าวต่ออีกว่าวันนี้เป็นวันที่ครบรอบการทำประชามติ 4 ปีเต็มพอดี จากการทำประชามติครั้งนั้นทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาซึ่งถือเป็นความอัปยศอย่างมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นของ คสช. และเนื้อหาก็ตั้งใจทำให้ คสช สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน ตลอดกระบวนการร่างก็ไม่มีขั้นตอนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้เลย 

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าการทำประชามติเมื่อ 4 ปีที่แล้วอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. ทั้งการรัฐประหาร มาตรา 44 การคุมสื่อมวลชนให้นำเสนอข้อมูลด้านเดียว นักศึกษาส่วนนึ่งก็ถูกจับกุมเพราะไปรณรงค์โหวตโน อีกทั้งการทำประชามติครั้งนั้นก็ไม่มีทางเลือกเพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บอกว่าถ้าโหวตโนจนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านแล้วจะอย่างไรต่อ แล้วมีชัย ฤชุพันธ์ก็ยังออกมาบอกอีกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจจะเจอฉบับที่โหดยิ่งกว่านี้ 

“ตอนนี้ก็มีประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกันบนถนน เขาไม่ได้ต้องการแก้ไขเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาเรียกร้องคือพวกเขาต้องการออกจาก ระบอบที่รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบเอาไว้ เขาต้องการเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่” ยิ่งชีพกล่าว

เราเสนอรูปธรรมที่สุดคือรื้ออำนาจของ คสช ออกก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยเปิดทางให้เกิดการร่างฉบับใหม่ เรื่องเหล่านี้ไม่ง่าย และต้องใช้เวลา เราอยากขอให้ประชาชนห้าหมื่นชื่อรวมกันลงชื่อเพื่อแก้ไข โดยมีข้อเสนอเรียกว่า “รื้อ สร้าง ร่าง รัฐธรรมนูญ” ให้ต้อง 5 ยกเลิกและ 5 แก้ไข ได้แก่

สิ่งที่ต้องยกเลิก

  1. ยกเลิกช่องทางที่ทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก 
  2. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช 
  3. ยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ 
  4. ยกเลิกเขตปกครองแบบพิเศษที่เปิดช่องให้ผู้บริหารปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ 
  5. ยกเลิกมาตรา 279 ประกาศคำสั่งใดๆ ของคสช. และการปฏิบัติการในช่วง คสช. ไม่มีความผิด เอาโทษกับคนเหล่านี้ไม่ได้

สิ่งที่ต้องแก้ไข

  1. เปลี่ยนระบบบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเท่านั้น
  2. เสนอแก้ไขสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540
  3. เปลี่ยนที่มาองค์กรอิสระที่ไม่ทำงานในตอนนี้ สร้างระบบสรรหาคณะกรรมการใหม่ 
  4. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา  256 เพื่อให้ใช้เสียงเพียงครึ่งหนึ่งของสภาในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีเสียงของ สว. และไม่ต้องทำประชามติ
  5. ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 200 คนที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อรื้อและทำ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า คสช. ได้เปลี่ยนระบบกฎหมายมาไกลมากทำให้ยากในการจะแก้ไขระบบ มีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง จึงต้องมีกระบวนการรื้อระบอบอำนาจของ คสช.ก่อน แม้จะฟังดูแล้วไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะต้องอยู่กับรัฐบาลและระบอบแบบนี้ต่อไป รัฐธรรมนูญนี้แก้ไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย การล่ารายชื่อนี้เป็นเพียงขั้นตอนเล็กๆ เท่านั้น ถ้าถึงขั้นนี้แล้วยังไม่มีใครมาร่วมมือกันทำก็คงพูดไม่ได้ว่าประชาชนต้องการสิ่งนี้จริงๆ 

ยิ่งชีพกล่าวปิดท้ายว่า การต่อสู้นี้ยังอีกยาวไกล แล้วในเมื่อมีช่องทางที่รัฐธรรมนูญเปิดไว้ให้ก็ต้องใช้ แล้วก็อยากให้สำเร็จเร็วที่สุด 

จากนั้นสมาชิกเครือข่ายได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่เนื่องจากที่ปัญหาต่างๆ ทั้งที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กระบวนการทำประชามติมีปัญหาที่ไม่เปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอีกทั้งยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ทำให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อมาได้ 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เสนอว่า ต้องการให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องถกเถียงเพื่อแก้ไขหมวดหนึ่งหมวดสองที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ขององคมนตรีได้ หรือการยกเลิกองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ขณะนี้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับวงการสิทธิมนุษยชนเลย  และเขายังเสนอให้ยกเลิกการมีสมาชิกวุฒิสภาไปเลย 

ธารารัตน์ ปัญญา จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อเสนอว่า ข้อแรก ให้มีการเลือกตั้ง สสร ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะกิจมาร่างรัฐธรรมนูญและเปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างทั่วถึง ข้อสอง ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลยและการมีวุฒิสมาชิกยังเป็นการทำลายพรรคการเมืองด้วย ข้อสาม ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประกาศ คำสั่ง คสช ยังได้รับการรองรับอยู่ แม้ว่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่าง 

ธารารัตน์ ปัญญา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อยากให้พูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์และเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย และในประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นก็อยากให้มีการพูดถึงว่าจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรให้มีการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นและทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกยกเลิกไม่ได้แม้ว่าจะมีการทำรัฐประหาร นอกจากนั้นจะต้องทำให้ตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้นเพราะเขาเห็นว่าพรรคการเมืองเล็กจะมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีเงินก็ตั้งพรรคการเมืองไม่ได้แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ แล้วถ้าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งแล้ว ตุลาการก็ควรต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนด้วย ไม่ใช่เป็นอำนาจตุลาการที่มาจากพระปรมาภิไทย 

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี จากคณะประชาชนปลดแอก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ จะต้องมีคุณสมบัติสามอย่างที่ควรจะเป็น กำหนดโครงสร้างการเมืองการปกครองของประเทศกำหนดแบบเผด็จการสืบทอดอำนาจ ความสัมพันระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ อำนาจระหว่างพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจแค่ไหนในการตรวจสอบรัฐบาลในขณะที่อง มันบาลานซ์กันหรือไม่ องค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนแต่กลับมีอำนาจมากกว่าสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และจำกัดอำนาจรัฐที่จะมาประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน การคุกคามประชาชนยังมี และแย่กว่าเดิม แต่นอกจากตำรวจทหาร ยังมีครูอาจารย์ในโรงเรียนที่ช่วยเป็นมือเท้าของรัฐบาลอีก

ทัตเทพกล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะฯ ว่า ข้อแรก ต้องหยุดคุกคามประชาชน ข้อสอง แก้รัฐธรรมนูญโดยสสร. และข้อสามต้องยุบสภา แต่หลายคนก็บอกว่ายุบเฉยๆ ไม่ได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งเราก็กังวลว่ากว่าจะมีการยุบสภาก่อนที่จะมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลเดิมกลับมาอีก 

ทัตเทพยังกล่าวอีกว่าภายในสมัยประชุมนี้ สว. ต้องออกไปเลยหากยังอยู่ก็จะไม่เกิดการแก้ไขจากนั้นจึงตั้ง สสร อีกจุดยืนหนึ่งคือไม่เอารัฐประหารซ้อน ต้องเอาพล.อ.ประยุทธ์ออกโดยวิถีทางประชาธิปไตยและไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และหากพรรคใดเข้าไปร่วม บอกเลยว่าพรรคนั้นหมดอนาคตแน่นอน เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สิ่งที่ต้องการคือรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากความต้องการของ ประชาชนจริงๆ อีกและ สสร.ต้องมีเอกสิทธิคุ้มครองในการที่จะถกเถียงเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา

ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เสนอประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมว่า มันมีสิทธิบางประการ ประชาชนต้องเข้าถึงยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และเข้าถึงทนายความ แต่หลักการสิทธิบางประการหายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยถูกทำให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น สิทธิในการเข้าถึงทนายความ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแค่ไหน เพราะถ้าหากเป็นสิทธิก็จะต้องเป็นอำนาจของประชาชนและเจ้าหน้าที่มาเป็นผู้ดำเนินการให้ การให้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมอยู่ในรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชน

สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เสนอว่าต้องแก้หมวดการเลือกตั้งเพราะสร้างปัญหาให้กับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจนทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสับสนในการคิดคำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาตี้ลิสต์ และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สร้างความชัดเจนและไม่เป็นกลาง และเขาคิดว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาใดๆ เราต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำก่อน ประชาชนในประเทศมีรายได้ต่างกันมาก ผู้ที่ถือครองที่ดินกว่า 90% อยู่ในคนไม่กี่คน และเราต้องมีการแก้ไขให้มีสวัสดิการถ้วนหน้า แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาที่ทำให้การคนไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้โดยทำให้เป็นเพียงความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ ใครยากจนน่าสงสารรัฐถึงจะเข้าไปช่วยเหลือ และหากรัฐบาลจะยกเลิกบัตรทองก็ทำได้ไม่ผิดรัฐธรรมนูญด้วยทำให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ยากมากภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว  กล่าวถึงปัญหาการคุกคามนักเรียนที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาทั้งจากตำรวจและครูอาจารย์สร้างแรงกดดันให้กับนักเรียนและครอบครัวซึ่งสะท้อนปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่แต่กลับถูกคุกคาม ซึ่งเขามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเองเท่านั้นทำให้สิทธิเสรีภาพที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้สำคัญอะไรกับรัฐบาลและไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชน

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ

ลภนพัฒน์กล่าวต่อว่าเด็กไทยทุกคนควรได้สิทธิทางการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดสิบสองปี ซึ่งก็ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีอะไรประกันสิทธิตรงนี้ เพราะยังต้องจ่ายค่าเทอมอยู่แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐ เพียงแต่ถูกเปลี่ยนเป็นคำอื่นอย่าง เช่น ค่าบำรุงการศึกษา แทน

ลภนพัฒน์มองว่าสิทธิเหล่านี้จะไม่ได้รับการรับรองถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเพียงเจตนาสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น แม้ว่าจะมีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้ก็ตาม จึงต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นายกรัฐมนตรีมาจากประชาชนเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกมองข้ามอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท